หัวใจการปลูกผักอินทรีย์ อยู่ที่การจัดการ “ดินปุ๋ย-ศัตรูพืช”

คุณนิยม ไข่มุกข์ ผอ.ศวพ.นครพนม(ข้างหน้า)กับเกษตรกรเข้าของแปลงผักที่เข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ อ.ศรีสงคราม

ปัจจุบันกระแสรักสุขภาพมาแรง ทั่วโลกต่างต้องการบริโภคพืชผักผลไม้อินทรีย์ที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ทั้งตัวผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สินค้าพืชผักผลไม้อินทรีย์สามารถขายได้ราคาดีกว่าพืชที่ปลูกด้วยเคมี ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงหันมาสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์กันมากขึ้น

แปลงผักต้นแบบเกษตรอินทรีย์

หัวใจการผลิตผักอินทรีย์ อยู่ที่การจัดการธาตุอาหารและศัตรูพืชที่เหมาะสม

1.การจัดการธาตุอาหาร แนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับการปลูกผักกวางตุ้งและหอมแบ่ง หากมีอินทรียวัตถุในดินน้อยกว่า 1.5% ต้องใส่ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพอัตรา 2.8 ตัน ต่อไร่ ส่วนแปลงปลูกกะหล่ำปลี คะน้า และกวางตุ้ง ที่มีอินทรียวัตถุในดินต่ำ ควรทำปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศในอัตรา 2 ตัน ต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง หลังย้ายปลูก 10 และ 30 วัน

2.การจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสม ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ผสมปุ๋ยหมักคลุกดิน หรือรองก้นหลุมพร้อมปลูก เช่น

– โรคเน่า โคนเน่า ในกะหล่ำปลี กวางตุ้ง และคะน้า สามารถควบคุมได้โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา รองก้นหลุมในอัตรา 10 กรัม ต่อวัน

แปลงหอมแบ่งของเกษตรกร ศวพ.นครพนมเริ่มทำการทดสอบ
แปลงปลูกผักกวางตุ้ง

โรครากเน่า โคนเน่า ของหอมแบ่ง สามารถดูแลป้องกันได้โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาอัตรา 100 กรัม ต่อตารางเมตร

โรคใบจุดหรือใบไหม้ ฉีดพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

ด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก หนอนคืบกะหล่ำ สามารถควบคุมได้โดยใช้ไส้เดือนฝอย 10 ถุง ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 3-5 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง สำหรับกะหล่ำปลี นอกจากใช้ไส้เดือนฝอยแล้วให้ฉีดพ่นสลับกับบีทีในอัตรา 60 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 3-5 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง

แปลงปลูกผักกาดหอม บ.หนองบาท้าว อ.ศรีสงคราม

นครพนม-กาฬสินธุ์ แหล่งผลิตผักอินทรีย์

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีศักยภาพ ได้แก่

จังหวัดนครพนม เป็นแหล่งผลิตผักตระกูลกะหล่ำ หอมแบ่ง ผักกาดหอม ผักชี แตงร้าน พริก และมะเขือเทศ ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์เน้นผลิตผักกินใบ ได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า กะหล่ำปลี และหน่อไม้ฝรั่ง ทั้งสองจังหวัดมีพื้นที่และแหล่งน้ำเพียงพอ มีระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองได้ สามารถเพิ่มและสร้างช่องทางการตลาดได้

แปลงผักเกษตรอินทรีย์ที่ บ.หนองบาท้าว อ.ศรีสงคราม

แม้เป็นแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ที่มีศักยภาพแต่ทั้งสองจังหวัดยังประสบปัญหาการระบาดของศัตรูพืช และผลผลิตต่ำ เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ และ สวพ.3 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จึงดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตผักอินทรีย์ในพื้นที่ สองจังหวัดดังกล่าว (ปี 2559-2562)

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ด้านการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  จึงส่งเสริมความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสม แปลงปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและหอมแบ่งที่ปลูกในดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำ สนับสนุนให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีวัสดุอินทรีย์หลายอย่างรวมกันและมีธาตุอาหารในปริมาณที่เพียงพอ ปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า ของพืชตระกูลกะหล่ำและหอมแบ่ง แก้ไขปัญหาได้โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ส่วนด้วงหมัดผักและหนอนผีเสื้อกินใบ สามารถดูแลควบคุมได้โดยใช้ไส้เดือนฝอยหรือบีทีควบคุมหนอนผีเสื้อกินใบ

นางคำตา จันทะ เกษตรกร เจ้าของแปลวต้นแบบเกษตรอินทรีย์ นำผลผลิตมาขายที่ตลาดประชารัฐ ธกส.อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ปัจจุบัน เกษตรกรทั้งสองจังหวัดสามารถผลิตพืชอินทรีย์ปลอดภัยจำนวน 3,448 ราย และเกิดเครือข่ายผู้ผลิต พืชอินทรีย์ที่จังหวัดนครพนม 4 กลุ่ม  210 ราย ผู้ผลิตผักปลอดภัย 10 กลุ่ม 300 ราย สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดเครือข่ายผู้ผลิตพืชอินทรีย์ 22 กลุ่ม 793 ราย และกลุ่มผู้ผลิตผักปลอดภัย 23 กลุ่ม 1,291 ราย

ทั้งนี้ ผู้สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกรนครพนม เลขที่ 144 หมู่ที่ 1 ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม 48000 โทร. (081) 579-2954, (042) 532-586 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ เลขที่ 140 หมู่ที่ 10 ตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 46120 โทร. (043) 891-338

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2564