“เทคนิคการต่อกิ่งมะม่วง” ให้ได้ผลดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีคำตอบ

การขยายพันธุ์พืชไม้ผล เพื่อเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ดีให้มากขึ้น สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีความยากง่ายและมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น “ เทคนิคการต่อกิ่ง ”ซึ่งเป็นศิลปะของการต่อชิ้นเนื้อเยื่อพืช 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน ด้วยวิธีต่างๆ เมื่อแผลเชื่อมกันสนิทแล้วเจริญเติบโตเป็นต้นเดียวกันชิ้นส่วนที่อยู่ด้านบนรอยต่อเรียกว่า “ กิ่งพันธุ์ดี ”ส่วนที่อยู่ด้านล่างรอยต่อทำหน้าที่รากเรียกว่า “ต้นตอ” ปัจจุบันการต่อกิ่งได้รับความนิยมจากเกษตรกรทั่วไป นิยมทำเชิงการค้าในไม้ผลหลายชนิด ได้แก่ พืชตระกูลส้ม มะม่วง มะขาม ขนุน มะปราง และน้อยหน่า

ในครั้งนี้ ขอนำเสนอ “ เทคนิคการต่อกิ่งมะม่วง ”  คือการสอดส่วนของพืชหรือกิ่งพืชต้นหนึ่งลงบนต้นพืชอีกต้นหนึ่ง และส่วนทั้งสองของพืชจะเชื่อมประสานติดต่อกัน และเจริญไปเป็นพืชต้นใหม่ โดยส่วนที่อยู่ใต้รอยต่อจะทำหน้าที่เป็นรากดูดน้ำ และแร่ธาตุอาหาร เรียกว่า ต้นตอ (rootstock, understock, stock) และส่วนที่อยู่เหนือรอยต่อจะทำหน้าที่เป็นกิ่งก้านสาขาที่ให้ดอกและผลเรียกว่า กิ่งพันธุ์ดี (Scion or cion)

การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม (Cleft or Wedge grafting) นิยมทำในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนยอด และมักเป็นกิ่งที่มีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ได้ วิธีการคือ ผ่าครึ่งต้นตอความยาวประมาณ 2.5-5.0 เซนติเมตร (1-2 นิ้ว) ขึ้นอยู่กับชนิดพืชและอายุของต้นตอ เทคนิคการผ่าต้นตอโดยวางใบมีดให้เอียงด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้รอยแผลเรียบ

หากใช้มีดผ่าโดยตรง จะทำให้รอยแผลแตกนำไปก่อนที่คมมีดจะไปถึง จะทำให้แผลไม่เรียบ การเตรียมยอดพันธุ์ดี ปกติควรมีตา 3-4 ตา เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มยาวเท่ากับรอยแผลของต้นตอ สอดรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดี ตรงรอยแผลของต้นตอจัดเนื้อเยื่อเจริญของต้นตอและยอดพันธุ์ดีให้ชิดกัน ถ้าต้นตอมีขนาดใหญ่กว่ากิ่งพันธุ์ดี ควรจัดรอยแผลให้ชิดด้านใดด้านหนึ่ง แล้วนำไปใส่ในถุงพลาสติคใส มัดปากถุงให้แน่น เก็บไว้ในโรงเรือนที่มีแสงส่องผ่านไม่เกิน 30%

ในกรณีของมะม่วง มะขาม ขนุน น้อยหน่า และส้ม จะใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน จึงเปิดปากถุง โดยจะสังเกตเห็นยอดพันธุ์ดีบางต้นจะเริ่มแตกใบ แต่ถ้าเป็นลำไย ลิ้นจี่ และมะปรางจะใช้เวลาอยู่ในถุงอบนาน 45-60 วัน ในกรณีที่ไม่นำต้นที่ต่อกิ่งใส่ในถุงอบ ต้องริดใบของยอดพันธุ์ดีออกให้หมด แล้วพันด้วยพลาสติคตั้งแต่รอยแผลจนมิดยอดพันธุ์ดี วิธีนี้จะง่ายและทำได้รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2560