“สารวัตรข้าว” ผู้พิทักษ์ “ชาวนาไทย”

คุณประสงค์ ทองพันธ์ นำทีมสารวัตรข้าวตรวจสอบโรงสี วังเป็ดเกษตรยนต์

การทํานา เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไทย แต่การผลิตข้าวของไทยกลับได้ผลผลิตต่ำและมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคือ การปลูกข้าวนาหว่าน เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตในปริมาณมากและมีรวงเยอะๆ แต่วิตกกังวลว่า ข้าวที่หว่านจะไม่งอก จึงใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่สูงเกินความจําเป็น เฉลี่ย 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่ แถมใช้ปุ๋ยจำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง

จุดอ่อนประการต่อมาคือ เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีคุณภาพ มีข้าวดีด ข้าวเด้ง ปะปนกับเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ทําให้มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ และมีปัญหาสิ่งเจือปนสูง แถมพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกยังไม่ต้านทานต่อโรคและแมลง เพราะเกษตรกรจำนวนมากนิยมเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง หรือซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีคุณภาพมาปลูก

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กรมการข้าว ได้ตรวจสอบพบ ผู้รวบรวมและร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวบางแห่งไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืชฯ มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น ไม่มีฉลากแสดงรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์ ไม่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง ตลอดจนโฆษณาอวดอ้างคุณภาพเกินจริงและจำหน่ายในราคาสูงเกินความเป็นจริง ล้วนเป็นการเอารัดเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาที่จ่ายเงินจำนวนมากซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพต่ำไปปลูกด้วยความไม่รู้เท่าทัน

 

ฤดูผลิต 60/61 ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 1.2 ล้านตัน

สำหรับฤดูการเพาะปลูก ปี 2560/61 กรมการข้าว คาดการณ์ว่า จะมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศโดยรวม 65.40 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ  25.24 ล้านไร่ ข้าวหอมปทุม 1.47 ล้านไร่ ข้าวเจ้า 20.62 ล้านไร่ ข้าวเหนียว 17.77 ล้านไร่ และข้าวอื่นๆ 3 แสนไร่ มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ประมาณ 1,218,992 ตัน มาจาก 3 ช่องทาง ได้แก่

  1. แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ จำนวน 420,00 ตัน คิดเป็น 34.47% ประกอบด้วย ศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว 81,900 ตัน สหกรณ์ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 37,000 ตัน ผู้ประกอบการ 25,080 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชน 50,500 ตัน
  2. การส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้เอง ปี 2559/60 คิดเป็น 3.71% ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในครัวเรือน จำนวน 5,162 ตัน ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ปี 2557-2559 รวม 73 แห่ง จำนวน 4,000 ตัน โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพ จำนวน 21,025 ตัน โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและควบคุมการผลิต (นาแปลงใหญ่) จำนวน 15,050 ตัน
  3. เกษตรกรชาวนาเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 26.25% จากการใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพปีที่ผ่านมา 320,000 ตัน อีกกลุ่ม 35.57% มาจากยุ้งฉาง/แลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวกับเพื่อนบ้าน ประมาณ 433,555 ตัน
ท่านรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ชมพันธุ์ข้าวจำหน่าย ของคูโบต้าทั่งทองพิจิตร

กรมการข้าว เร่งยกระดับคุณภาพข้าว

งานพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นภารกิจหลักที่กรมการข้าวให้ความสำคัญและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมาตลอด นับตั้งแต่ ปี 2555 โดยสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว” ขึ้น ทั่วทั้งประเทศ จำนวน 50 ชมรม มีสมาชิก จำนวน 2,131 ราย โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เพียงพอกับการใช้เพาะปลูกของชาวนา ซึ่งมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ เฉลี่ยปีละ 1.2 ล้านต้น

สารวัตรข้าว ตรวจสอบ “วังเป็ดเกษตรยนต์” ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่จังหวัดพิษณุโลก

ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร กรมการข้าว จึงกำหนดภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายหลัก โดยมุ่งควบคุมปัจจัยการผลิตและกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะ “เมล็ดพันธุ์ข้าว” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญ จึงเร่งสร้างความเชื่อมั่นในด้านมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยของกระบวนการผลิตและการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวในตลาดเมล็ดพันธุ์ให้เกิดขึ้น

นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมการข้าว มีหน้าที่รับผิดชอบด้านข้าวของประเทศไทยทั้งระบบ ตั้งแต่การปรับปรุงพัฒนาปลูกข้าวให้มีผลผลิตต่อพื้นที่และคุณภาพสูงขึ้น การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์ และคุ้มครองพันธุ์ การส่งเสริม สนับสนุนและเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การตรวจรับรอง มาตรฐานข้าว การตลาด การแปรรูป และการจัดการอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว รวมทั้งดำเนินการผลิตและส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าว

นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ่ายรูปร่วมกับสารวัตรข้าว

สำหรับในส่วนของเมล็ดพันธุ์ ควบคุมข้าวเปลือก จะมีสมาคม/ชมรม และผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นผู้ผลิตและผู้ขายให้กับเกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ ภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯ หรือสารวัตรข้าว ทำหน้าที่ในการตรวจติดตาม ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518    ตลอดจนดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรที่จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับเพาะปลูกได้สินค้าที่มีคุณภาพดีราคาเหมาะสม

 

บทบาท “สารวัตรข้าว” ผู้พิทักษ์ชาวนา

คุณประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว เปิดเผยว่า อธิบดีกรมการข้าวได้มอบหมายให้กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ เร่งดำเนินการตรวจสอบ กำกับและควบคุมการผลิตและการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากพันธุ์ข้าวเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หากเกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ตั้งต้นที่ดีมีคุณภาพ ผลผลิตข้าวที่ออกมาก็จะมีมาตรฐาน เป็นการเพิ่มโอกาสและรายได้ให้กับเกษตรกร ที่สำคัญยังสามารถยกระดับคุณภาพข้าวในภาพรวมของประเทศไทยได้ด้วย อีกทั้งเป็นการรองรับปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจะได้รับเครื่องหมาย Q ส่วนแหล่งรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพ จะได้รับสัญลักษณ์ Q Seed Shop เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ

คุณประสงค์ ทองพันธ์ โชว์บัตร “สารวัตรข้าว”

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้ากว่า 500 ราย และร้านขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมกว่า 18,000 ราย บางรายยังดำเนินกิจการโดยขาดความเข้าใจและไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืชฯ ปัจจุบัน กรมการข้าว มี “สารวัตรข้าว” กระจายอยู่ตามศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ ออกปฏิบัติการตรวจสอบ กำกับ ควบคุมการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวของผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาพบผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่ พ.ร.บ. พันธุ์พืชฯ กำหนด จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับสถานประกอบการ จำนวน 12 ราย อายัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพได้กว่า 100 ตัน

จากการปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มข้นของสารวัตรข้าว โดยบูรณาการความร่วมมือจากส่วนกลางและสารวัตรข้าวในพื้นที่  ได้จัดทีมแบ่งตามภาค ได้แก่ ทีมสารวัตรข้าวภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคกลาง เวลาลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ได้รับความร่วมมือจากร้านค้าเมล็ดพันธุ์เป็นอย่างดี ส่งผลให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดน้อยลง

คุณประสงค์ กล่าวว่า ในปีนี้กรมการข้าวได้รับรองแหล่งรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์แล้ว จำนวน 60 ร้านค้า ตั้งเป้ารับรองเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 15,000 ตัน ขอแนะนำให้เกษตรกรเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ที่ผ่านการขออนุญาตจำหน่ายอย่างถูกต้องและมีกระบวนการผลิตตามมาตรฐาน โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ Q ที่ผลิตภัณฑ์ เพื่อจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานคุณภาพดีไปเพาะปลูก เพื่อยกระดับการผลิตข้าวคุณภาพดีต่อไร่ให้สูงขึ้นและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยในเวทีการค้าโลกในระยะยาว

 

ติดตามภารกิจ “สารวัตรข้าว”

นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะสื่อมวลชนไปติดตามการทำงานของสารวัตรข้าว ที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงสีข้าว ของ บริษัท คูโบต้าทั่งทองพิจิตร จำกัด ในพื้นที่อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร โดยเปิดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อการค้า “ช้างทองพันธุ์ดี”

คุณประสงค์ ทองพันธ์ นำทีมสารวัตรข้าวตรวจสอบโรงสี วังเป็ดเกษตรยนต์

ปัจจุบัน โรงสีแห่งนี้ จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 10 สายพันธุ์ เช่น ข้าว กข 29 (ชัยนาท 80) ข้าว กข 31 (ปทุมธานี 80) ข้าว กข 41 ข้าว กข 47 ข้าว กข 49 ข้าว กข 57 ข้าว กข 61 ข้าวพิษณุโลก 2 ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวปทุมธานี 1  การลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวในแต่ละครั้ง สารวัตรข้าวจะใช้วิธีสุ่มตรวจร้านค้าจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวและโรงสีผู้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยไม่แจ้งล่วงหน้า เริ่มจากตรวจสอบใบอนุญาตว่าหมดอายุหรือไม่ เพราะใบอนุญาตมีอายุแค่ 1 ปี ต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกปี รวมทั้งใบประกอบการค้าของกระทรวงพาณิชย์ และใบรับรองมาตรฐาน Q seed

สารวัตรข้าวเช็กข้อมูลร้านค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวผ่านระบบสมาร์ทโฟน

สารวัตรข้าว จะเจาะสุ่มตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บรรจุอยู่ในกระสอบพร้อมจำหน่าย ชั่งให้ได้ 500 กรัม นำไปสีกับโรงสีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์ตรวจสอบ เมื่อสีเสร็จก็นำมาแผ่กระจายเพื่อตรวจหาข้าวแดงหรือข้าววัชพืช ตามกฎหมายกำหนดให้เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือก 500 กรัม จะมีข้าวแดงได้ไม่เกิน 10 เมล็ด หรือ 1 กิโลกรัม ไม่เกิน 20 เมล็ด นั่นเอง นอกจากนี้ ยังตรวจสอบปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวในโกดังว่ามีจำนวนกี่ตัน ในเบื้องต้นจะใช้การคาดคะเนโดยสายตา หากไม่แน่ใจหรือดูแล้วผิดปกติ จะตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง