ทำสวนมะม่วงเขียวเสวย เป็นอาชีพเสริม ผลผลิตดี รายได้ไม่ขาดมือ

คุณเล็ก เบญจวรรณ เกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี ทำสวนมะม่วงเขียวเสวยเป็นอาชีพเสริม เป็นงานที่สร้างรายได้ให้กับเธอได้เป็นอย่างดี เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่มีความชำนาญปลูกมะม่วงเขียวเสวยตัวยง

อาชีพหลักทำนา ทำสวนมะม่วงเสริมรายได้

คุณเล็ก เล่าให้ฟังว่า เริ่มทำสวนมะม่วงเขียวเสวยมาตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งขณะนั้นก็มีอาชีพหลักคือ ทำนา แต่มะม่วงเป็นรายได้เสริมหลังว่างจากทำนา โดยหาซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูกภายในสวนจนเจริญเติบโตได้ผลผลิตจำหน่ายเป็นที่น่าพอใจ เมื่อทำมาได้ประมาณปี 2553 เกิดน้ำท่วมในพื้นที่สวนทำให้มะม่วงเขียวเสวยที่ปลูกตายเกือบหมด จึงต้องเริ่มสั่งกิ่งพันธุ์มาปลูกใหม่ทดแทนอีกครั้ง

“มะม่วงนี่ถือว่าดีมาก เมื่อเทียบกับการทำสวนอื่นๆ เพราะว่าเราสามารถทำออกนอกฤดูได้ ที่ปลูกไปก็มีตายช่วงนั้นที่เกิดน้ำท่วม พอน้ำยุบไปได้สองเดือนตายหมด เลยต้องหามาปลูกใหม่ ก็ปลูกใหม่รอให้ผลผลิตอีกครั้งประมาณ 3-5 ปี” คุณเล็ก เล่าถึงความเป็นมา

วิธีการปลูก มีขั้นตอนดังนี้

คุณเล็ก บอกว่า ในขั้นตอนแรกก่อนที่จะปลูกมะม่วงเขียวเสวยให้ขุดพื้นที่สวนให้มีร่องน้ำ จากนั้นปรับพื้นที่ปลูกให้เรียบร้อย ขนาดของพื้นที่ปลูกจะให้มีขนาดใหญ่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ ทำการปักไม้ให้มีระยะห่าง 4 เมตร ปักแบบสลับช่องโดยที่ไม่ให้ต้นมะม่วงเป็นแถวเดียวกัน เพื่อให้มีพื้นที่ตรงกลางสำหรับใช้เข็นมะม่วงออกจากสวนได้ง่าย ซึ่งสวนแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่กว่า ปลูกมะม่วงเขียวเสวยประมาณ 300 ต้น

“ที่เราต้องเอาไม้มาปักวัดก่อน ก็เพื่อที่เวลาเราสั่งกิ่งพันธุ์มา มันจะได้ไม่เหลือ เพราะบางคนยังไม่ได้กะเนื้อที่ สั่งกิ่งพันธุ์มาเยอะ เนื้อที่ไม่พอปลูกสุดท้ายเหลือ ก็ต้องทิ้งกิ่งพันธุ์อีก ทำให้เราเปลืองเงินโดยใช่เหตุ เมื่อปลูกลงดินหมดแล้วก็ดูแลจนกว่าจะมีอายุครบ 3 ปี ก็จะมีใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 บำรุงบ้าง ปีละ 2 ครั้ง พอครบ 3 ปีผลผลิตช่วงนั้นก็มีออกผลมาบ้าง เราก็เก็บขายนิดหน่อย” คุณเล็ก กล่าว

เมื่อมะม่วงเขียวเสวยในชุดแรกเก็บจำหน่ายหมดแล้ว คุณเล็ก บอกว่า จะทำการดูแลบำรุงต้นใหม่โดยตัดแต่งกิ่งในช่วงเดือนมีนาคม หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้วไม่ต้องรดน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดรดน้ำปกติต้นก็จะแตกยอดมีใบอ่อนออกมา จึงทำการราดสารในช่วงระยะนี้ ประมาณ 2 เดือน มะม่วงจะเริ่มมีช่อดอก

“พอเราได้ช่อดอกออกมา เราก็จะใช้สารดึงช่อออกมาไม่ให้เป็นยอดใบ เราจะบำรุงถึงช่อบาน เพื่อที่ไม่ให้ช่อเป็นกะเทย เพราะเขียวเสวยมันชอบเป็นกะเทย พอช่อสมบูรณ์เราก็จะพ่นยากันเพลี้ยทุก 7 วัน ช่อดอกบานเราก็หยุดพัก ยิ่งช่วงที่ฝนตกที่สวนจะไม่ฉีดพ่นยาเลย พอเข้าเดือนกรกฎาคมมะม่วงก็จะเริ่มติดผลเล็กๆ เหมือนถั่วเขียว พอสิ้นเดือนสิงหาคมก็จะเริ่มเก็บผลผลิตได้ ทั้งหมดนี่ก็ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ตั้งแต่มีนาคมจนถึงเดือนสิงหาคม” คุณเล็ก กล่าวถึงวิธีการดูแลช่อดอกจนติดผลเก็บจำหน่ายได้

ซึ่งวิธีการที่ทำนี้เป็นการบังคับให้มะม่วงออกนอกฤดู เมื่อถึงเวลาเก็บผลผลิตก็สามารถเก็บผลมะม่วงได้หมดทั้งสวน โดยไม่ต้องทยอยเก็บ จากนั้นทำการดูแลแบบเดิมเพื่อให้ออกช่อดอกติดผลอีกครั้ง ทำให้ที่สวนของคุณเล็กสามารถมีมะม่วงจำหน่ายได้ปีละ 2 ครั้ง รวมทั้งมีการใส่ปุ๋ยด้วย

มะม่วงเขียวเสวย นิยมกินดิบมากกว่าสุก

คุณเล็ก เล่าว่า การปลูกมะม่วงหากทำให้ออกผลนอกฤดูได้ จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าที่ดีกว่ามะม่วงที่ออกในฤดู ซึ่งจะได้ราคาเพียงแต่ผู้ปลูกต้องรู้หลักและวิธีการ

“ถ้าเราไม่บังคับให้มันออกผลแบบนี้ มันก็จะเป็นมะม่วงปี แต่ถ้าออกนอกฤดูได้ การปลูกมะม่วงนี่มันดีเลยนะ มันเหมือนได้เงินแบบเสือนอนกิน ได้ง่ายๆ กินแบบสบายๆ แต่ต้องรู้หลักการสักหน่อย เพราะว่าขั้นตอนบางอย่างมันละเอียดอ่อน ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด” คุณเล็ก กล่าว

มะม่วงที่สวนของคุณเล็ก มีคนมารับซื้อถึงที่สวน โดยคนที่รับซื้อจะไปส่งจำหน่ายที่ตลาดไท ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางที่ซื้อขายกันมาตั้งแต่เธอทำสวนเริ่มแรก ซึ่งสมัยก่อนนั้น คุณเล็กบอกว่าได้ราคาดีตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-75 บาท

“ปัจจุบันมานี่ราคามันก็ตกลงมานะ แต่เดี๋ยนี้เราก็จะมีร้านของเราเอง ไปขายที่ตลาดนัดบ้าง เป็นที่ติดใจของคนที่มาซื้อ บอกว่ามะม่วงมีรสชาติหวานอร่อยดี จากที่ขายๆ มา คนจะนิยมกินมะม่วงดิบมากกว่ามะม่วงสุก และดูแล้วอนาคตข้างหน้ามะม่วงน่าจะแพงขึ้นอีก ฟังจากคนที่มารับซื้อเรา เพราะเดี๋ยวนี้มะม่วงน่าจะหากินยากขึ้น” คุณเล็ก กล่าว

มะม่วงจะได้ผลผลิตดี น้ำ เป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อเอ่ยถามถึงอุปสรรคของการปลูกมะม่วงเขียวเสวยของคุณเล็ก ว่าที่ผ่านมามีอะไรบ้างที่ประสบพบเจอ พร้อมให้กล่าวแนะนำสำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มลงมือทำสวนมะม่วง ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อให้ประสบผลสำเร็จเหมือนกับเธอ

“อุปสรรคอย่างอื่นไม่มี จะเป็นเรื่องใหญ่เลยก็คือเรื่องน้ำ พอหน้าแล้งมาขนาดเรามีบ่อสำหรับเก็บน้ำ ก็ยังไม่พอเท่าไหร่ ยิ่งคนที่เริ่มจะมาปลูกแบบพึ่งฝนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีแหล่งน้ำเตรียมไว้เลย เพราะเวลาที่เราราดสารแล้วเราต้องรดน้ำเลย อย่างน้อยๆ ใช้น้ำ 20 วัน ยิ่งเดี๋ยวนี้ฝนไม่ค่อยตกตามฤดูกาล เรายิ่งต้องเตรียมการให้ดี เวลาเราทำออกนอกฤดูมันก็จะง่าย คนที่ปลูกใหม่หรือจะเริ่มปลูกเรื่องโรคแมลงไม่ต้องกลัว มันมีวิธีป้องกัน แต่เรื่องที่ต้องกลัวคือน้ำอย่างเดียวตอนนี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ เราก็ศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จ เดี๋ยวประสบการณ์ก็จะสอนเราเอง” คุณเล็ก กล่าวแนะนำด้วยใบหน้าปนรอยยิ้ม
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2559