ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การทำเกษตรให้ดี มีกำไร พิสูจน์แล้วว่าไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก ไม่ต้องมีเงินทุนมาก ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน เพียงก่อนทำต้องมีการวางแผนให้รัดกุม เลือกชนิดพืชให้เหมาะกับพื้นที่ และเงินทุนที่มี หรือถ้าอยากทำแล้วได้ผลเร็ว เกษตรกรต้องมีไหวพริบสักหน่อย พยายามหาพืชที่มีราคา หากเลือกพืชที่คนทั่วไปปลูกได้ราคาหลักสิบ ก็จะได้จับเงินหลักสิบ แต่ถ้าเลือกปลูกพืชที่ตลาดต้องการ มีคนทำน้อย ราคาต้นละเป็นพันบาทคุณก็ขายได้
คุณปฏิภาณ ฤทธิ์นอก (สิทธิ์) เกษตรกรสายชิล เลือกปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง มีพื้นที่น้อยแต่รายได้มาก อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 4 บ้านห้วยไผ่ ตำบลห้วยส้ม อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เล่าว่า เดิมทำงานเป็นโอเปอเรเตอร์อยู่ที่จังหวัดชลบุรีมาก่อน แต่มีใจรักธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก เห็นพ่อแม่ทำก็ซึมซับมาเรื่อยๆ คิดว่าสักวันจะต้องกลับบ้านมาสร้างสวนในฝันให้ได้
“ตอนทำงานประจำ คิดมาตลอดว่า ถ้าออกจากงานเพื่อไปทำเกษตร จะทำอย่างไรให้มีรายได้เดือนละสองสามหมื่น หลายเสียงพูดว่า จะต้องมีพื้นที่เยอะ มีเงินทุนมาก และต้องมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์นะถึงจะทำได้ แต่เราไม่มองแบบนั้นเราคิดนอกกรอบไปอีกว่า การทำเกษตรให้อยู่รอด ต้องมีความรู้ครบองค์ประกอบ เช่น ถ้าจะปลูกต้นไม้ ต้องรู้วิธีการทำปุ๋ย ต้องรู้ปัญหาและธรรมชาติของต้นไม้
ที่สำคัญปลูกแล้วขายใคร ผลผลิตออกช่วงไหน เรียนรู้เลยว่าคนในประเทศไทยกินอะไรเป็นหลัก จำแนกออกเป็นกลุ่ม ถ้าในชุมชนเรากินอะไร เขาก็กินแบบนั้น แต่ถ้าเป็นตลาดออนไลน์ จะมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนรักสุขภาพ ผักต้องเป็นผักอินทรีย์ ผักออร์แกนิก เราต้องจำแนกสินค้าและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ถ้าทำได้ก็ไม่สำคัญว่าจะมีพื้นที่น้อย เงินลงทุนน้อย”
เริ่มต้นทำเกษตร ด้วยเงินทุน 2,000 บาท
ต่อยอดเป็นเงินหลักแสน
ก่อนจะลาออกจากงานประจำ คุณปฏิภาณปูทางงานเกษตรด้วยงบเพียง 2,000 บาท ช่วงนั้น ปี 2554 จำได้ว่า มะนาวราคาแพง คุณปฏิภาณมองเห็นช่องทางจึงเลือกหารายได้เสริมด้วยการตอนกิ่งพันธุ์มะนาวขายให้เพื่อนที่ทำงาน เริ่มจากซื้อมะนาวมา 10 ต้น เป็นเงิน 1,000 บาท ซื้อวงบ่อซีเมนต์ 10 บ่อ บ่อละ 100 บาท ทำขายต่อยอดจากเงิน 2,000 เป็นเงิน 15,000 บาท ตลาดไปได้ดีจึงตัดสินใจขยายแปลงปลูกเพิ่ม แต่พื้นที่มีจำกัด จึงเปลี่ยนจากการขยายพันธุ์เองเป็นการส่งเงินกลับไปให้พ่อกับแม่ขยาย แล้วช่วยกันขายแทน ผ่านไป 5 เดือน ขายกิ่งตอนมะนาวได้เงินแสนกว่าบาทก็นำมาต่อยอด ขยายแปลงปลูกไผ่เพิ่มอีก 1 ไร่
ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง พืชสร้างรายได้งาม
ตลาดมีความต้องการสูง
เจ้าของบอกว่า หากท่านใดอยากออกจากงานประจำมาทำเกษตร ขอย้ำทุกคนว่า อย่าใจร้อน ถ้าคิดจะออกท่านต้องปูทางปลูกพืชไว้ก่อนออกจากงาน และพืชที่ปลูกไว้ต้องสร้างรายได้ให้เราอย่างน้อย 2-3 ชนิด ถ้ายังไม่เริ่มต้นทำล่วงหน้าแต่ออกจากงานเพื่อมาลุยทำเกษตร แนะนำว่าอย่า เพราะหนทางข้างหน้าจะมืดมาก
“ก่อนออกจากงาน ผมเลือกที่จะปลูกไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้งไว้สร้างรายได้เป็นขั้นที่หนึ่ง ไผ่ตัวนี้ผมศึกษาหาข้อมูลมานานกว่า 8 ปี ถือเป็นพืชที่น่าสนใจ และคิดว่าจะสร้างรายได้ดีในอนาคต ด้วยคุณสมบัติที่พิเศษ รสชาติหวาน สามารถทานดิบได้ คนเป็นเก๊าต์ทานได้ ไม่มีไซยาไนด์ ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมาก มีเวลาว่างช่วงไหนค่อยกลับมาขุดขายสร้างรายได้หลายหมื่น” เจ้าตัวบอก
ขั้นตอนการปลูก…ลงทุนด้วยงบ 20,000 บาท ปลูกแค่ 1 ไร่ 200 ต้น ขุดหลุมกว้างxยาวxลึก 30x30x30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 2×4 เมตร ถ้าปลูกลึกกว่านี้ เวลาขุดหน่อจะลำบากมาก แต่ทางที่ดีต้องเลือกแปลงทำพันธุ์กับทำหน่อ มีที่ไม่เยอะจึงทำได้เท่านี้
การดูแล…ง่ายมาก หากอยากให้หน่อออกตลอดทั้งปีช่วงหน้าแล้ง ให้รดน้ำ ปลูก 1 เดือน ใส่ปุ๋ย ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใส่ขี้ไก่แกลบแทน ใส่ทุกๆ สองเดือน และหาใบไม้หรือฟางมาคลุมเพื่อรักษาความชื้นและทำให้หน้าดินร่วนซุย
ระบบน้ำ… 1 ไร่ ไม่ต้องใช้ระบบน้ำ รากสายยางรด ให้รดน้ำตั้งแต่วันแรกที่ปลูก รดน้ำทุก 3 วัน ฤดูปลูกที่เหมาะสมให้ปลูกก่อนฤดูฝน 1 เดือน จะประหยัดค่าน้ำ หลังจากนั้นให้ฝนช่วย ไผ่ถ้าติดแล้วจะไม่ตาย ปลูกทิ้งแล้วไปทำงาน มีเวลาค่อยกลับมาขุดขายก็ไม่มีปัญหา
เจ้าของเล่าต่ออีกว่า ตอนเริ่มปลูกไผ่คิดว่าจะปลูกเพื่อขายหน่อ คำนวณว่าจะตัดหน่อขายได้ วันละ 30-40 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 60 บาท จะได้เงินวันละ 2,000 บาท แต่พอผลผลิตออกมาจริงๆ กลับมีอะไรที่คุ้มค่ากว่านั้นคือ การขุดต้นพันธุ์ขาย ตอนแรกไม่ได้คิดอะไร ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊กตามปกติ แต่พอลงไปแล้วเพื่อนในเฟซบุ๊กเมนต์มาถามกันเป็นจำนวนมากว่า คือไผ่พันธุ์อะไร เราก็บอกว่าเป็นไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง สามารถรับประทานดิบได้ คนเป็นเก๊าต์ก็รับประทานได้ ออกหน่อทั้งปี แค่รดน้ำ เท่านั้นแหละ ยอดสั่งซื้อมาเป็นหลักแสน แต่ทำให้ไม่ทัน จึงเริ่มมองเห็นโอกาสเบนเข็มมาขายต้นพันธุ์แทน
คิดง่ายๆ ว่า ไผ่ 1 ลำ สามารถทยอยเก็บหน่อขายได้ทุกวันก็จริง ถ้าขายหน่อจะเก็บได้วันละประมาณ 40 กิโลกรัม ขายส่งกิโลกรัมละ 40 บาท คิดเป็นรายได้วันละพันกว่าบาท แต่ถ้าขายต้นพันธุ์เราขุดขายได้ต้นละ 100 บาท
ไผ่สามารถขุดได้ปีละ 2 ครั้ง ใน 1 กอ อาจจะมี 15-18 ลำ ซึ่งใน 1 กอนั้น ให้เก็บไว้ 5-6 ลำ ที่เหลือขุดไปขายให้หมด
ดังนั้น ไผ่เฉลี่ย 200 กอ เราขุดต้นพันธุ์ได้ 8-10 ต้น/กอ คิดเป็นเงิน 800-1,000 บาท/กอ แล้วคูณ 2 เข้าไป เพราะ 1 ปี ขุดได้ 2 ครั้ง ถือเป็นพืชที่สร้างรายได้ดีมากๆ แต่คนมองข้าม ทุกวันนี้ผมปลูกไผ่ 1 ไร่ แต่สร้างรายได้จากการขายต้นพันธุ์ได้ปีละ 200,000 บาท
ปลูกไผ่สำเร็จ วางแผนปลูกผักเมืองหนาว
เสียบยอดไม้ผล สร้างรายได้เพิ่มอีก 2-3 ชนิด
หลังจากปลูกไผ่ได้สำเร็จ คุณสิทธิ์ได้ขยายแปลงปลูกผักเมืองหนาว และเสียบยอดไม้ผลอีกหลายชนิดเพื่อเป็นการเสริมรายได้เพิ่ม โดยแบ่งเป็นปลูกผักสวนครัวและผักเมืองหนาว 2 งาน ปลูกไม้ผลเพื่อขยายพันธุ์อีก 2 งาน และแบ่งพื้นที่ไว้เลี้ยงไก่ไข่ไว้รับประทานเองอีกเล็กน้อย ทำมา 1 ปี ตอนนี้เริ่มมีรายได้มาบ้างแล้ว
ตอนนี้การขายต้นพันธุ์ไผ่ถือเป็นรายได้หลัก ส่วนตัวที่กำลังสร้างรายได้ตามไผ่มาติดๆ คือ การเสียบยอดไม้ผลขาย วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย ได้เงินไว มีพื้นที่น้อยก็ทำได้ หลักการคือ การเสียบยอดไม้ผลขาย มีหลายชนิด เช่น ฝรั่ง อะโวกาโด มะเดื่อฝรั่ง ลำไยแดง ข้าวโพดหลายสายพันธุ์ ผักหวานป่า 1,000 ต้น โดยซื้อมาแค่อย่างละ 2 ต้น นำมาขยายพันธุ์เอง
ยกตัวอย่าง ถ้าเราอยากทำพันธุ์ฝรั่งขาย เราไม่จำเป็นต้องปลูก ผมแค่ซื้อต้นมาต้นละ 3 บาท นำมาชำไว้ 1 เดือน แล้วสั่งยอดมาเสียบ คิดง่ายๆ ว่า เราสั่งมา 100 ยอด ยอดละ 50 บาท คิดเป็นเงิน 5,000 บาท ต้นตอต้นละ 8 บาท แต่ทำขายได้ ต้นละ 100 บาท ทำได้ 5,000 ต้น เท่ากับเงิน 50,000 บาท ในเวลา 3 เดือน แบบไม่ต้องลงแรงให้เหนื่อย
เกษตรกรยุคใหม่ หาตลาดไม่ยาก
ใช้สื่อโซเชียลในมือให้เป็นประโยชน์
หากเปรียบการตลาดสมัยก่อนกับสมัยนี้ ความสะดวกสบายต่างกันอยู่มาก เมื่อก่อนหากเจ้าของธุรกิจเจ้าของสินค้าอยากที่จะลงโฆษณาสินค้า จะต้องเสียเงินหลายบาทเพื่อที่จะซื้อพื้นที่บนสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ แต่ในยุคปัจจุบันการตลาดหาได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว
“ตอนนั้น ผมอายุ 19 ปี คิดว่าถ้าทำเกษตรสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตลาด ต้องโปรโมตผ่านหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือทำโบชัวร์ แต่เมื่อโซเชียลเข้ามา มีเฟซบุ๊กเราไม่ต้องทำไรมาก แค่สร้างพืชและสร้างสตอรี่ของสวนเราเท่านั้น ผมเป็นเกษตรกรสายชิว ตอนเช้าลุกมาทำสวนถึง 11 โมง แล้วกลับเข้าบ้านไปพัก บ่ายสามค่อยออกมาทำต่อ ผมไม่เคยประกาศขายของเลยสักครั้ง แต่ในเฟซบุ๊กของผมกลับมีแต่คนสนใจเข้ามาสั่งสินค้าของผม
ผมแนะว่าเกษตรกรรุ่นใหม่ไม่ต้องทำไรมาก แค่หมั่นสร้างสตอรี่ หมั่นนำเสนอตัวเองในกลุ่มต่างๆ ขยันถ่ายรายละเอียดก่อนและหลังปลูกพืช โพสต์เรื่องราวในสวนเรื่อยๆ พอมีคนมาชอบ มีคนมาคอมเมนต์ เราก็กลับไปแอดคนเหล่านี้ให้หมด การตลาดก็ได้มาแต่ตอนนั้นผลผลิตมีเท่าไรก็ไม่พอ รายได้ถืออยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทำงานแบบสบาย อยากตื่นตอนไหนก็ตื่น อยากนอนตอนไหนก็ได้” เกษตรกรสายชิวบอก
ฝากไว้ให้คิด ก่อนลาออกจากงานประจำมาทำเกษตร
ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ข้อคิดดีๆ จากคุณสิทธิ์
ก่อนลาออกจากงานประจำมาทำเกษตร ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงอยากมีอิสรภาพทางการเงินและเวลา โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่ไปทำงานโรงงาน งานบริษัทในเมืองใหญ่ หลายคนอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง และหลายคนอยากกลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว แต่ด้วยภาระและหน้าที่ และไม่รู้จะเริ่มทำอะไรดี ถึงยังกลับมาอยู่บ้านไม่ได้
และช่วงนี้ที่เห็นเป็นกระแสคือ การออกจากงานมาทำเกษตร ซึ่งผมจะบอกว่า การทำเกษตรมันไม่ยากหรอก ถ้าคุณไม่ทำขาย แต่จะเริ่มยากตรงที่คุณอยากได้เงินจากการทำเกษตร เพราะผมเห็นหลายคนที่ลาออกจากงานมาทำเกษตรแล้วไปไม่รอด ต้องซมซานกลับไปหางานทำในเมืองอีก ซึ่งถือว่าไม่ค่อยดีนัก
ผมมีหลักการบางสิ่งจะบอกกล่าวให้คนที่อยากออกงานมาทำเกษตรให้เป็นแนวทางไว้ได้คิดกันเล่นๆ คนที่ทำงานประจำแล้วอยากออกงานมาทำสวน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ จะเบื่องาน เบื่อคน เบื่อเวลา อยากกลับบ้าน ข้อควรคิดคำนึงก่อนออกมาทำสวนคือ
1. ต้องปลอดหนี้ คือต้องไม่มีหนี้สิน เพราะถ้าออกงานมาทำสวนแล้วยังมีหนี้สินอยู่ งานเข้าแน่ เพราะจะเป็นอุปสรรคบั่นทอนและเป็นแรงกดดันมหาศาลให้กับเราแน่ๆ
2. เตรียมความพร้อมก่อนออกงาน คือในช่วงขณะที่เราทำงานอยู่ เราก็เจียดเงินในแต่ละเดือนมาซื้อต้นไม้และอุปกรณ์ที่ใช้ในภาคเกษตรไปลงในสวนก่อน โดยเฉพาะต้นไม้ ควรปลูกไว้ให้เกือบได้ผลผลิตหรือได้ผลผลิตค่อยออกงานมาทำ จะลดความเสี่ยงลงได้เยอะมากๆ
3. วางแผน…ต้องกำหนดเป้าหมาย ว่าเราจะทำสวนแนวไหน วางแผนเงินทุน วางแผนเวลา วางแผนการตลาดและการผลิต วางแผนเจาะกลุ่มเป้าหมาย (ถ้าคิดจะทำผลผลิตขาย)
4. โมเดล หรือรูปแบบการทำสวน ควรเขียนโมเดลสวนออกมาก่อนจะปลูกหรือลงทุนลงแรง เพราะจะได้เป็นระบบและลงทุนได้ถูก ไม่เสียเวลาทำ วาดเขียนออกมาหลายๆ โมเดล โดยดูจากพื้นที่เราเป็นองค์ประกอบหลัก…
5. ความรู้…ความรู้เป็นสิ่งสำคัญในระดับต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการตลาด การขาย ความรู้ด้านต้นไม้ ด้านพืช เพื่อเตรียมพร้อมสู้กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวัน…ถ้าเรามีความรู้เราจะสามารถผ่านทุกปัญหาไปได้
6. เงินทุน…แน่นอนล่ะ เงินทุนก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี จะมีมากมีน้อยก็ต้องมีสำรองไว้ยามฉุกเฉิน
7. คอนเน็กชั่น…เราควรมีคอนเน็กชั่นดีๆ ไว้ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะหาได้…คอนเน็กชั่นคือ การมีเพื่อนหรือเครือข่ายผู้คน ถ้าคุณมีเครือข่ายเยอะๆ คุณจะผ่านได้เกือบทุกปัญหา…เเละบางทีคุณอาจจะไม่ต้องลงทุนหรือใช้เงินในการทำเกษตรเยอะก็ได้ …
8. ตลาด…ถ้าคิดอยากมีรายได้จากภาคเกษตร เราก็ต้องรู้จักหาตลาดให้เป็น ติดต่อคนให้ได้ ประสานงานให้เป็น ไม่ว่าจะตลาดออนไลน์ หรือตลาดในพื้นที่
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2562