ผู้ว่าฯ จันทบุรี…สร้างมือตัดทุเรียน แก้ปัญหาทุเรียนอ่อน

ปี 2564 ปีทองทุเรียนต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 คาดว่าน่าจะสร้างมูลค่ารายได้ประมาณ 70,000 ล้านบาท เปิดฤดูกาลด้วยกระดุม กิโลกรัมละ 190-200 บาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ทุเรียน และต้นฤดูกาลเดือนเมษายน หมอนทอง ราคา 170-180 บาท กระดุม 165 บาท ก้านยาว 150-160 บาท ชะนี 135 บาท สูงกว่าปี 2563 และคาดว่าช่วงที่กระจุกตัวจะเป็นช่วงสั้นๆ ราคาน่าจะไม่ต่ำกว่า 90-95 บาท ภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง ตราด) ปี 2564 ข้อมูล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี ทุเรียนภาคตะวันออกจาก 3 จังหวัด ปริมาณทั้งหมด 575,542 ตัน จันทบุรี มีปริมาณ 398,618 ตัน หรือคิดเป็น 69% ระยอง 120,080 ตัน หรือ 21% และ ตราด 56,844 ตัน หรือ 10%

คุณสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบรี

คุณสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี มีความมุ่งมั่นแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนอย่างจริงจัง เพราะได้รับการร้องเรียนมาจากผู้บริโภค ชาวสวน ผู้ส่งออก ปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อน มือตัดจากต้นทางสำคัญที่สุด

ช่วงต้นฤดูกาล ทุเรียนมีปริมาณน้อย ราคาสูง ล้งมีจำนวนมาก มีการแข่งขันสูง บางคนตัดตามสั่งเพื่อส่งทุเรียนอ่อนไปทุบราคาตลาดปลายทาง ทำให้ได้กำไรมาก ส่วนคนตัดได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ปัญหาทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ ทำให้ทุเรียนไทยสูญเสียความเชื่อมั่นตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดหลัก และยังต้องแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ปลูกทุเรียนจำนวนมาก ปีนี้ได้ร่วมมือกับทีมกรมวิชาการเกษตรภาคตะวันออก กำหนดมาตรการและใช้กฎหมายเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด โดยกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทอง วันที่ 10 เมษายน 2564 ครบกำหนดวันดอกบาน 110-120 วัน และได้มาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียน 32% และดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดซื้อ-ขายทุเรียนอ่อน ต่างจากปีก่อนใช้กฎหมายแพ่ง และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ไกล่เกลี่ยยอมความได้ ช่วงต้นฤดูกาลปีนี้สกัดทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกสู่ตลาดได้ ทำให้ราคาทุเรียนพุ่งแรงมากกว่าทุกปี หากมือตัดอิสระ มือตัดล้ง เจ้าของสวน-ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ร่วมมือกันจะสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพตนเอง

ดร.พีรพงศ์ แสงวางค์กูล (ขวา) คุณศิริพร วรกุลดำรงชัย ผอ.สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

“ปัญหาวังวนทุเรียนอ่อนผู้เกี่ยวข้องมี 3 กลุ่ม คือ ชาวสวน คนเหมาสวน และผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งมือตัดทุเรียนถือว่าต้นทางที่นำไปสู่ปัญหาทุเรียนอ่อน จำเป็นต้องสร้างและพัฒนามือตัดทุเรียนให้มีความชำนาญก้าวสู่มืออาชีพอย่างมีจิตสำนึก โครงการอบรม “หลักสูตรนักคัด-นักตัดทุเรียนมืออาชีพ” เป้าหมายสร้างมือตัดจำนวน 200 คน แม้ว่าภาคเกษตรกรรมไม่ใช่รายได้สูงสุดของจังหวัดจันทบุรี แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนมากที่สุด ทุเรียนที่ส่งออกสร้างเม็ดเงินกว่า 60,000 ล้านบาท ผลผลิตของจันทบุรี เกือบ 400,000 ตัน  มีล้งถึง 500 ล้ง เทียบกับระยอง 40-50 ล้ง ตราด 2-3 ล้ง ทำให้ทุเรียนไหลมาที่จันทบุรี รวมทั้งทุเรียนอ่อน จึงต้องลบล้างทุเรียนอ่อนออกจากจังหวัดจันทบุรีให้ได้ และการทำคุณภาพที่เหนือกว่าเพื่อนบ้านคือวิธีการเดียวที่จะอยู่รอดในตลาดได้” ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าว

หลักสูตรครบวงจร…คัด-ตัดทุเรียนแก่ ล้งส่งออก
การฝึกอบรม “หลักสูตรนักคัด-นักตัดทุเรียนมืออาชีพ” ด้วยสถานการณ์โควิด-19 รอบ 3 จึงจัดแบ่ง 5 รุ่น ใช้เวลาอบรม 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 20-29 เมษายน โดยมีศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี คุณสมพร เหรียญรุ่งเรือง ผู้อำนวยการศูนย์และคณะเป็นผู้ดำเนินการ การอบรมมีฝึกปฏิบัติจริงในสวน และโรงคัดบรรจุมาตรฐานส่งออกของ ส.ว.อุดม วรัญญูรัฐ เกษตรกรและพ่อค้าตัวจริง ผู้เข้าอบรมเป็นคนรุ่นใหม่ลูกหลานเจ้าของสวน ผู้ประกอบการค้าแผงทุเรียน ผู้ค้าออนไลน์ และล้ง เนื้อหาประกอบด้วย การจัดการทุเรียนก่อน-หลังการเก็บเกี่ยว โดย ดร. พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาตรฐานสินค้าทุเรียน GAP/GMP จาก สำนักวิจัยและการพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 การทดสอบวิเคราะห์หาร้อยละน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน คณะศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี การดูทุเรียนแก่-อ่อน และฝึกตัด-คัดทุเรียนมาตรฐานการส่งออก โดย คุณประสาทพร ศรีสกุลเดช รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียนจันท์ และที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย

ศ.ดร.จริงแท้ ศิริพานิชผู้เริ่มวิจัยเปอร์เซนต์เนื้อแห้งทุเรียน
ทีมวิทยากร

มาตรฐานเปอร์เซ็นต์เนื้อแป้งหมอนทอง 32%…ทุเรียนก่อน-หลังการเก็บเกี่ยว

ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้บุกเบิกงานวิจัยเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนสำเร็จและนำมาใช้เป็นมาตรฐาน กล่าวว่า มาตรฐานทุเรียนมีความสำคัญทำให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จากปี 2557-2558 มูลค่าการขยายตัวลดลงมาก จาก 69.3% เหลือ 6.5% เพราะปัญหามาตรฐานสารพิษตกค้าง แต่มูลค่าทุเรียนส่งออกไปจีนเพิ่มสูงถึง 5 เท่า จากปี 2557 จำนวน 12,436 ล้านบาท ปี 2563 มูลค่า 65,631 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณเพิ่มขึ้น 2 เท่า ไทยมีโอกาสดีที่จีนให้นำเข้าผลสดได้ประเทศเดียว และตลาดจีนยังมีโอกาสเติบโตได้มาก ทุเรียนไทย 600,000 ตัน แค่ 1% ของประชากรจีน 1,500 ล้านคน ยังมีผู้บริโภคอีก 99% ปัญหาทุเรียนล้นตลาดไม่น่ากลัวเท่าทุเรียนด้อยคุณภาพ เพราะอนาคตจีนอาจจะให้เวียดนาม มาเลเซีย นำเข้าผลสดได้เหมือนไทย

ทดสอบทุเรียนแก่ อ่อน

ทุเรียนไทยส่งตลาดจีน กำหนดมาตรฐานด้านคุณภาพ คือ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP (Good Agricultural Practices) และมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ GMP (Good Manufacturing Practice) มาตรฐานสารพิษตกค้าง มกษ. 9002-2556 และปัญหาทุเรียนอ่อน คือมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.3-2556 (ปรับปรุง มกษ.3-2546) กำหนดการใช้น้ำหนักเนื้อแห้งเป็นเกณฑ์มาตรฐานความแก่ทุเรียน 4 พันธุ์ คือ หมอนทอง น้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 32% ชะนี พวงมณี 30% กระดุมทอง 27% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสุด อย่าง หมอนทอง สูงถึง 40/42/43% ปัญหาทุเรียนอ่อนคือ เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งไม่ได้มาตรฐาน เกณฑ์เป็นขั้นต่ำ แม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตในจีน ยังกำหนด 35% การลดเปอร์เซ็นต์ทำได้ง่าย แต่ไทยจะสูญเสียตลาดให้เพื่อนบ้านหรือไม่ อย่าง มูซันคิง ของมาเลเซียยังต้องนำเข้าแช่แข็งอยู่ รสชาติเป็นที่ยอมรับ สุก 100% เทียบทุเรียนไทยสุก 75-80% หรือเวียดนาม ที่ยังทำคุณภาพสู้ไทยไม่ได้

Advertisement
ทุเรียนแก่อีก 4 วันสุก

“คุณภาพทุเรียนนอกจากทุเรียนอ่อนแล้ว ยังมีเรื่องปัญหาแมลง โรคผลเน่า จากแปลงต้นทางผลทุเรียนภายนอกไม่ผิดปกติ แต่อาจจะมีเชื้อราในลูกทุเรียนเติบโตในตู้คอนเทรนเนอร์ที่มีความชื้น ระยะเวลา 7-10 วัน ถึงปลายทาง ผลแตก เน่า มีหนอน เกิดจากไม่ดูแลพ่นยาก่อนการเก็บเกี่ยว หรือผลแตกจากการใช้น้ำยาเร่งสุกเอทีฟอน (Ethephon) เข้มข้นเกินไป ทุเรียนที่เก็บเกี่ยวแล้วขั้วหัก ก้านหัก หนามช้ำ ต้องคัดออกเพราะเชื้อราจะเติบโตและไปทำลายผลผลิตอื่นๆ เสียหายด้วย หรือผลทุเรียนร่วงหล่นบนพื้นดินต้องคัดออก เพราะดักแด้ทิ้งตัวในดินเติบโตอาจจะชอนไชไปในหนามและเติบโตในผล จึงต้องมีวิธีจัดการทุเรียนก่อน-หลังการเก็บเกี่ยวให้ถูกต้อง” ดร. พีรพงษ์ กล่าว

 

Advertisement

เทคนิคดูทุเรียนแก่…จากผู้มีประสบการณ์กว่า 40 ปี

คุณประสาทพร ศรีสกุลเดช หรือ “หนุ่ย” รองประธานกลุ่มวิสาหกิจทุเรียนจันทบุรี และที่ปรึกษาสมาคมทุเรียนไทย “เกษตรกรตัวจริง” มีประสบการณ์ด้านทุเรียนมากว่า 40 ปี บอกเทคนิคเฉพาะตัวการดูทุเรียนแก่ง่ายๆ โดยมีความเข้าใจองค์ประกอบสำคัญ คือ 1. เริ่มต้นนับตั้งแต่วันดอกทุเรียนบานถึงวันเก็บเกี่ยว ทุเรียนจะใช้เวลาออกดอก 7 วัน ออกดอกตั้งแต่ยอด ปลายกิ่ง ไล่ลงมา แต่ละสายพันธุ์ระยะเวลาไม่เท่ากัน 2. การเก็บเกี่ยวผล ปกติทุเรียนจะแก่จากยอดลงมากิ่งล่างสุด ต้นหนึ่งตัดไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ปัญหาทุเรียนอ่อน คือ “ตัดรูด” เก็บทั้งต้นพร้อมกัน 3. การดูลูกทุเรียนแก่ ขั้วบนสีจางกว่าขั้วล่างๆ ลูบจะสากมือ ช่องปลิงห่าง หัวขั้วเป็นวงแหวนลึกชัดเจน ร่องน้ำสีน้ำตาลเข้ม แบ่งพูชัดเจน โคนหนามเหี่ยวยุบลงเห็นรอยชัดเจน ปลายหนามจะชี้ไปทางหัวขั้ว แยกซ้าย-ขวา ทุเรียนจะสุกจากก้นไปหัวพู ก้นเม็ดจะดำมากกว่าหัว และมีตัวแปรทำให้กำหนดวันแก่คลาดเคลื่อน ช้า เร็ว เช่น สภาพอากาศแปรปรวนที่ทุเรียนแตกใบอ่อน แป้งสะสมไม่พอต้องยืดอายุการตัด ความชื้นในดินค่าเป็นบวกแก่ช้า น้อยแก่เร็ว แดดร้อนยาวนานอุณหภูมิร้อนมากกว่า 35 องศาเซลเซียส สุกแก่เร็ว ถ้าต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส สุกแก่ช้า แต่ละสายพันธุ์จะแปรผันต่างกัน

คุณประสาทพร ศรีสกุลเดช

“ทุเรียนแก่ดูลักษณะภายนอกชัดเจนผิวจะแห้งทั้งลูก ถ้าสุกต้องมีกลิ่นหอม รับประทานอร่อยต้องตอนอากาศร้อนเนื้อทุเรียนจะแห้ง เพราะทุเรียนมีชีวิต เมล็ดคือลูกที่แท้จริง เนื้อคืออาหารของเมล็ด ถ้าตอนเช้าอากาศชื้นเมล็ดคายน้ำทำให้เนื้อทุเรียนมีเหงื่อ (น้ำ) และการตัดทุเรียนต้องส่งล้งภายใน 3-6 ชั่วโมง ไม่ค้างคืน เพราะค้างคืนคายน้ำออก น้ำหนักจะหายไป 20% เวลาเคาะฟังเสียงเสียงจะเปลี่ยนไป แต่ไม่ได้บอกความอ่อนแก่เช่นเดียวกับเมล็ดสีเข้มใช้สารป้ายขั้วได้” คุณหนุ่ย สรุปง่ายๆ

การติดอาวุธให้นักตัด มือตัดทุเรียนที่มีสำนึกความรับผิดชอบครั้งนี้…คือ พลังขับเคลื่อนมาตรฐานทุเรียนไทยให้เกิดความเชื่อมั่นกับตลาดต่างประเทศอย่างยั่งยืน

ฝึกตัดทุเรียนแก่ในสวนส.ว.อุดม

“โอบ” ใฝ่ฝันมือตัดอาชีพ ทำทุเรียนออนไลน์แบบฉบับชาวสวน

 คุณหนุ่ย พาไปดูโรงคัดบรรจุส่งออกส่วนใหญ่รับจ้างแพ็กให้บริษัทจีนเป็นผู้ส่งออก กิโลกรัมละ 7 บาท ผู้อบรมสนใจใช้ความรู้นี้ตั้งล้งเล็กๆ หรือเป็นมือคัดทุเรียนบรรจุกล่องส่งออก ต้องเปอร์เซ็นต์เนื้อแห้ง 32-34% แบ่งเกรด A B และ C ลูกขนาด 2-6 กิโลกรัม บรรจุกล่องละ 6 ลูก น้ำหนัก 18-19 กิโลกรัม แต่ต้องคำนึงถึงการสูญเสียน้ำหนัก ถึง 20% ที่ต้องนำไปต่อรองราคาค่าแรง แต่ถ้าเราไม่ฝากลมหายใจไว้กับคนจีน แนะนำให้ชาวสวนเลือกทุเรียนพรีเมี่ยมเกรด A B ทำออนไลน์ ต้นละ 1-2 ลูก เพื่อให้ได้ต้นทุนคืนเร็วๆ คิดจากต้นทุนต้นละ 2,000-2,500 บาท ขายต้นละ 2 ลูก ลูกละ 1,000 บาท กล่องละ 2,000-2,500 บาท มี 100 ต้น ขายได้ 200,000-250,000 บาท ตอนนี้มีลูกค้าประจำ 300 กว่าคน ที่เหลือขายล้งเป็นกำไร คาดว่าปีนี้ไม่น่าจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท

คุณโอบ และแม่

คุณโอบนิธิ กล่ำใส อายุ 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา คณะธุรกิจระหว่างประเทศ ปีที่ 4 หนึ่งในผู้สมัครเข้าอบรม เล่าว่า มาอบรมกับแม่ คุณเพ็ญประภา กล่ำใส ครอบครัวมีสวนทุเรียน 40 ไร่ ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ปกติพ่อแม่จะทำสวนทุเรียนเป็นอาชีพเสริมเป็นการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับการตัดทุเรียนต้องจ้างทีมงานมาตัด ซึ่งคุณโอบสนใจการตัดทุเรียน เพราะเป็นอาชีพที่ทำรายได้สูง อย่างมือตัดธรรมดาๆ ได้ค่าจ้าง 1,200-1,500 บาท/รอบ (วัน) ถ้าเก่งๆ ค่าจ้างสูงถึง 1,600-1,800 บาท ทีมรับค่าจ้าง 700-800 บาท หรืออัตรา 60 : 40 คุณโอบทำงานอยู่กับทีมมือตัดของล้งมาได้ 3 ปีแล้ว ใช้เวลาช่วงปิดเทอม แต่ยังเป็นคนรับ เป้าหมายจะพัฒนาเป็นมือตัดอาชีพ นำมาใช้กับที่สวนตัวเองและรับจ้างตัดอิสระ หรือมือตัดของล้ง

“ต่อไปจะฝึกประสบการณ์กับมือตัดของล้ง กว่าจะเป็นมือตัดได้น่าจะฤดูกาลหน้า เพราะทุเรียนไม่ใช่แค่ดูขั้ว หนาม ร่องพู อย่างทุเรียนหนามเขียวแต่แก่ดูยาก หรือหนามแห้งเพราะถูกแดดไม่ใช่ทุเรียนแก่ และบางลูกอยู่สูงต้องใช้กรรไกรสอย อย่างไรมือตัดทุเรียนยังมีไม่เพียงพอเพราะพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นหลายเท่า ล้งส่วนใหญ่จะสร้างมือตัดเป็นของตัวเอง มือตัดเป็นอาชีพที่รายได้ดี ไม่มีค่าใช้จ่าย ทุเรียนถูกแพงมือตัดมีรายได้ที่แน่นอน” คุณโอบ เล่าถึงแผนก้าวสู่มือตัดอาชีพ