คนพิมาย ปลูกไผ่ขาย-แปรรูป “หน่อไม้อัดถุง” สร้างรายได้เสริมนอกฤดู หลักแสนต่อปี

อย่างที่หลายท่านทราบกันดีว่า “ไผ่” เป็นพืชที่มีประโยชน์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบ หรือหน่อ ทุกส่วนล้วนแล้วนำมาทำประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านของสิ่งปลูกสร้าง คือส่วนของลำ นำมาสร้างที่อยู่อาศัย ทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ตู้ เตียง รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ใบ นำมาทำเป็นปุ๋ยปลูกพืชผักได้ และส่วนของหน่อ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และยังไม่นับรวมในส่วนของการนำมาทำพลังงานเชื้อเพลิง รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม เพราะฉะนั้นแล้วไผ่จึงถือเป็นพืชมากประโยชน์ และมีอนาคตสดใส ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ไผ่ ก็ยังเป็นพืชที่สร้างอนาคตได้อยู่ดี

คุณสมพร แก่นคำ หรือ พี่อ๊อด

คุณสมพร แก่นคำ หรือ พี่อ๊อด อยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่บ้านถาวรพัฒนา ตำบลนิคมสร้างตนเอง  อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรอำเภอพิมาย ที่ยืนหยัดปลูกไผ่เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้มานานกว่า 30 ปี โดยให้เหตุผลที่ว่า ไผ่ เป็นพืชที่มากประโยชน์ ทุกส่วนของไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด รวมไปถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากใครได้เรียนรู้และคลุกคลีอยู่กับไผ่จะรู้ดีกันอยู่แล้ว

พี่อ๊อด เล่าถึงการปลูกไผ่ให้ฟังว่า ตนเริ่มปลูกไผ่เป็นอาชีพเสริมมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งสาเหตุที่เลือกปลูกไผ่ก็ไม่มีอะไรมาก อย่างที่คนทั่วไปรู้กันดีคือ ไผ่ เป็นพืชมากประโยชน์ ทุกส่วนสามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้มากมายมหาศาล ถือเป็นการสร้างรายได้เข้ามาหลายทาง และไม่ต้องยุ่งยากในการดูแล เพราะไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย ขอแค่มีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ก็สามารถออกหน่อ ออกลำ มาให้เก็บกิน เก็บขายได้ทุกปี

ล้างทำความสะอาด

                                 ไผ่ 1 กอ                         หน่อไม้กำลังออก

โดยที่สวนจะเลือกปลูกไผ่ทั้งหมดอยู่ 3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ 1. ไผ่เลี้ยงหวาน มีจุดเด่นคือ ถ้ามีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ หน่อจะออกตลอดทั้งปี ลำต้นแข็ง ตรง สวย ใช้งานได้หลายประเภท และส่วนของใบสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพได้ดีมาก 2. ไผ่บงหวาน มีจุดเด่นคือ สามารถรับประทานหน่อสดได้ รสชาติหวาน หอม กรอบ อร่อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู 3. ไผ่ตง มีจุดเด่นคือ หน่อโต น้ำหนักต่อหน่อ ประมาณ 2-10 กิโลกรัม ให้ผลผลิตดกกว่าไผ่พันธุ์อื่นๆ หลายเท่า และนอกจากนี้ยังนิยมนำลำต้นไปทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องจักสาน

ไผ่ตง

ปลูกไผ่ 3 สายพันธุ์ 500 กอ
มีรายได้หลายแสนบาทต่อปี

เจ้าของบอกว่า ตอนนี้ตนปลูกไผ่รวมทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ปลูกอยู่ประมาณ 500 กอ มีวิธีการปลูกการดูแลไม่ยุ่งยากอะไร ส่วนใหญ่ที่สวนจะเน้นให้ธรรมชาติดูแล คืออาศัยน้ำฝนช่วยรดน้ำ เน้นปลูกให้ผลผลิตออกตามฤดูกาล พื้นที่ปลูกที่เหมาะสมคือ สามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ ขอแค่มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยจะเริ่มลงมือปลูกช่วงต้นฝน

ตัดลำไผ่ขายสร้างรายได้
นำไม้ไผ่ในสวนมาทำแปลงผัก

ในการปลูกสำหรับไผ่เลี้ยงหวาน แนะให้ปลูกความห่างระหว่างต้น 3×3 เมตร เพื่อสะดวกในการจัดการ ใน 1 กอ จะอยู่ได้ไม่เกิน 10 ต้น ส่วนระยะห่างของไผ่ตง ความห่างอยู่ที่ระยะ 10 เมตร เนื่องจากลำที่ใหญ่ กอใหญ่ จึงจำเป็นต้องใช้ระยะการปลูกที่ห่างกันมาก

สำหรับการปลูกก็ไม่ยุ่งยาก ขุดหลุมแค่พอให้เหง้าลงปลูกได้ หลังจากปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแล…อาศัยลงปลูกช่วงต้นฝน ไม่มีการดูแลอะไรมาก อาศัยให้ธรรมชาติดูแล ปุ๋ยไม่ใส่ เนื่องจากใบไผ่ที่หล่นลงมาเมื่อย่อยสลายก็กลายเป็นปุ๋ยไปในตัว ซึ่งใบไผ่มีคุณสมบัติทำให้ดินร่วนซุยดีอยู่แล้ว

ผลผลิต…จะเริ่มเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผลผลิตของที่สวนออกมาเป็นที่น่าพอใจ มีหน่อให้เก็บขายทุกวัน เฉลี่ยแล้วต่อ 1 กอ เก็บได้ประมาณ 5-6 กิโลกรัม ต่อวัน หรือประมาณ 7-10 หน่อ ต่อกอ

เตรียมแปรรูป

พืชสร้างรายได้

มีเข้ามาหลายทางด้วยกัน ดังนี้ 1. รายได้จากการขายลำไผ่ จะเลือกตัดเฉพาะลำที่พักหน่อแล้ว ตัดขายในราคาลำละ 10-25 บาท ขนาดความกว้าง 2 นิ้ว ขายอยู่ที่ราคา 10 บาท ต่อลำ ส่วนราคาลำละ 25 บาท จะต้องมีขนาด 2.5-3 นิ้วขึ้นไป ซึ่งที่สวนสร้างรายได้จากการขายลำไผ่ปีละประมาณ 7,000-8,000 บาท ส่วนราคาของไผ่ตง ค่อนข้างมีลำใหญ่ ขายได้ราคาดีลำละ 100 บาท 1 กอ มีเยอะเป็น 100 ต้น ใช้ระยะเวลาปลูก 3 ปี ขายลำได้ ถือว่าคุ้มค่ามากๆ 2. รายได้จากการขายหน่อ ทั้งขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อประจำและมีหน้าร้านขายเอง โดยจะขายส่งในราคาถุงละ 25 บาท ขายเองราคาถุงละ 30 บาท เฉลี่ยแล้วมีรายได้จาการขายหน่อสดประมาณวันละ 1,000 บาท  3. รายได้จากการขายกิ่งพันธุ์ ราคาขายตามอายุที่ชำ ถ้าชำอยู่ประมาณ 2 เดือนแล้ว จะขายอยู่ที่กิ่งพันธุ์ละ 50 บาท แต่ถ้า 3-4 เดือนแล้วหน่อเริ่มออกจะขยับราคาขึ้นเป็นกิ่งพันธุ์ละ 80 บาท และ 4. รายได้จากการแปรรูป หน่อไม้อัดถุง ซึ่งการแปรรูปตรงนี้ถือเป็นวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มที่ง่าย แต่ได้ผลตอบรับที่ดีมากๆ สรุปแล้วในแต่ละปีตนสามารถสร้างรายได้จากการปลูกไผ่ได้ปีละกว่าหลายแสนบาท ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเป็นอาชีพที่มีอนาคตสดใสมาตลอด

 

“หน่อไม้อัดถุง” สินค้าแปรรูป
สร้างรายได้นอกฤดู

พี่อ๊อด บอกว่า ผลิตภัณฑ์หน่อไม้อัดถุงนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาที่ตนเองใช้เวลาคิดค้นมานานหลายปี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารแบบง่ายๆ แต่ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ เพราะถ้าทำไม่ดี ไม่ถูกขั้นตอน และกรรมวิธีที่ไม่ถูกต้องก็สามารถเน่าเสียหายก่อนถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายๆ เช่นกัน

โดยกรรมวิธีในการทำหน่อไม้อัดถุงของตนนั้น เริ่มต้นจากการนำผลผลิตหน่อไม้ที่ล้นจากออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งในแต่ละวันมาแปรรูป ไว้ขายฤดูที่หน่อไม้ขาดตลาด หรือช่วงที่ผลผลิตออกน้อย โดยมีขั้นตอนกระบวนการทำดังนี้

  1. เลือกสายพันธุ์ที่จะนำมาแปรรูปให้เหมาะสม ซึ่งที่สวนจะเลือกไผ่เลี้ยงหวานในการนำมาแปรรูป
  2. นำหน่อไม้ที่ล้นออเดอร์ของแต่ละวันนำมาแปรรูป นำมาล้างทำความสะอาด แล้วตัดให้ได้ขนาดอ่อน ปอกเปลือกล้างทำความสะอาดอีกครั้ง

    เตรียมแปรรูป
  3. จากนั้นนำมาบรรจุใส่ในถุงพลาสติกที่เตรียมไว้ จะบรรจุถุงละกี่กิโลก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน โดยที่สวนเคยบรรจุอยู่ 2 รูปแบบ คือ บรรจุใส่ถุงปริมาณถุงละ 3 กิโลกรัม และถุงละ 1.7 กิโลกรัม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม

    ล้างทำความสะอาด
  4. จากนั้นนำถุงผ้าสำหรับนึ่ง ห่อสวมทับไปอีกชั้น
    บรรจุใส่ถุงพลาสติก

    ห่อด้วยถุงผ้า
  5. นำไปนึ่ง ทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง

    นึ่งทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง
  6. หลังจากนึ่งเสร็จถอดถุงผ้าที่สวมไว้ตอนนึ่งออก แล้วใช้ถุงพลาสติกอีกใบห่อสวมทับถุงพลาสติกไปอีกชั้น แล้วมัดแขวนเก็บไว้บนราวไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ โดยขั้นตอนการทำจะต้องทำในขณะที่หน่อไม้ยังร้อนๆ อยู่เพราะถ้าเย็นแล้วอากาศภายนอกจะเข้าไปทำให้หน่อไม้เสีย

    นึ่งเสร็จสวมพลาสติกอีกชั้นแล้วนำแขวนไว้
  7. โรงเรือนที่เก็บรักษาจะต้องเป็นที่แสงส่องเข้าไม่ถึง เพราะว่าถ้าหน่อไม้ได้รับแสงจากภายนอกกิริยาของหน่อไม้จะเปลี่ยนไปทำให้เกิดการเสีย

ลักษณะของโรงเรือนถนอมอาหาร ที่สวนจะใช้ประโยชน์จากต้นไผ่ นำมาสร้างทำเป็นโรงเรือนเก็บรักษา ด้วยการนำไม้ไผ่มาตีเป็นคอก โดยจะใช้ไม้ไผ่ตีติดกับเสาปูน ทำเป็นคอกสี่เหลี่ยม แล้ววางไม้ไผ่เป็นชั้น ทำแบบง่ายๆ ตามภูมิปัญญาชาวบ้านและวัสดุที่มีอยู่ภายในสวน

ส่วนปริมาณการผลิตนั้นแล้วแต่ฤดูกาล หากปีไหนออกเยอะก็จะผลิตได้เยอะ หากปีไหนฝนฟ้าอากาศไม่ค่อยเป็นใจ ผลผลิตออกน้อย ก็นำมาแปรรูปได้น้อย ยกตัวอย่างปีที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล สามารถทำหน่อไม้แปรรูปได้ประมาณ 3.6-4 ตัน แต่ถ้าปีไหนฝนตกน้อยก็จะผลิตได้ประมาณ 1.5-2 ตัน

รสชาติของหน่อไม้อัดถุง…รสชาติจะเหมือนหน่อไม้สด หวาน หอม กรอบ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งคาวและหวาน อย่างเมนูทั่วไปที่คนนิยมบริโภคคือ ซุบหน่อไม้ ห่อหมกหน่อไม้ กระเพาะปลา ก็อร่อยไม่เบา

เมนูซุบหน่อไม้
ห่อหมกหน่อไม้

ข้อดีของการแปรรูป….คือหน่อไม้เราไม่เสียหาย สามารถขายได้ราคาในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาล ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมา ผลิตหน่อไม้แปรรูปได้ 3.6 ตัน ขายได้หมดในเวลาเพียง 3 เดือน ราคาถุงละ 50-100 บาท ตามปริมาณที่บรรจุ ถือเป็นรายได้ที่ดี ยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่เกิดความวุ่นวายแบบนี้ การแปรรูปสร้างมูลค่าถือเป็นอีกแนวทางเพื่อการอยู่รอดที่ดีมากๆ “ตลอดเวลากว่า 30 ปี ที่ผมปลูกไผ่มา ไผ่ไม่เคยทำให้ผมผิดหวังเลยสักปี” พี่อ๊อด กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร.(063) 628-8812