“ซีรูเลียม” มหัศจรรย์ พืชคลุมดินในสวนยาง

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกยางเดิมและดินพื้นที่ปลูกยางใหม่ เป็นดินเสื่อมโทรม มีความสมบูรณ์ต่ำ อันเกิดจากดินขาดอินทรียวัตถุ เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน การสูญเสียธาตุอาหารพืชโดยติดไปกับผลผลิตสภาพแวดล้อมธรรมชาติเปลี่ยนแปลง สภาวะโลกร้อนทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต ทำให้ต้นทุนในการผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน ตลอดจนไม้ผลสูง

การปลูกพืชคลุมดินในสวนยาง เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในสวนยาง ทั้งนี้ เศษซากพืชคลุมดินเมื่อย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ช่วยปรับโครงสร้างดินและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งผลให้การเจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็วขึ้นและให้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้นด้วย การปลูกพืชคลุมดินไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินเท่านั้น  แต่ยังช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รักษาความชื้นในดิน ควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดวัชพืช  ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ได้แก่ จุลินทรีย์ เช่น เชื้อรา และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น มด แมลง หนอน ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ และยังช่วยเพิ่มฮิวมัสให้แก่ดินอีกด้วย

สถาบันวิจัยยาง ได้มีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชคลุมดินในสวนยางช่วงเวลาเดียวกันกับการปลูกยาง โดยปลูกในระหว่างแถวยางที่ไม่มีการปลูกพืชแซมยาง พืชคลุมดินที่นิยมปลูกในสวนยาง ได้แก่ พืชคลุมดินตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนียม เซ็นโตรซีมา และเพอราเรีย เป็นต้น ปัจจุบัน มีพืชคลุมดินอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับนำมาปลูกในสวนยาง คือ ซีรูเลียม (Calopogonium caeruleum) เป็นพืชคลุมดินที่สามารถเจริญเติบโตคลุมดินได้ดี และช่วยเพิ่มธาตุอาหารตลอดจนอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้ดีกว่าพืชคลุมดินชนิดอื่นๆ

ซีรูเลียมเจริญเติบโตได้ดี ใต้ร่มเงาของสวนยาง

ซีรูเลียมพืชคลุมดิน
อีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร

ซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินตระกลูถั่ว อายุข้ามปีและเป็นพืชวันสั้น มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ รากจะมีปมตรึงไนโตรเจนจากอากาศ สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของลำต้นเป็นเถาเลื้อยแข็งแรง เห็นขนไม่ชัด ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันคล้ายใบโพธิ์ ใบค่อนข้างหนา ดอกเป็นช่อสีม่วง ซีรูเลียมจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์  ฝักจะมีลักษณะแบนยาวมีสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่ ฝักจะแตกออกมาเองเมื่อแห้งจัด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา เมล็ดมีสีเหลืองจนถึงน้ำตาล ผิวเรียบเป็นมัน น้ำหนัก 1 ก.ก. จะมีเมล็ดประมาณ 28,420 เมล็ด ระบบรากมีทั้งรากแก้วและรากฝอย

ซีรูเลียม มหัศจรรย์พืชคลุมดินในสวนยาง

ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย ให้ข้อมูลว่า พืชคลุมดินซีรูเลียม มีการนำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย ในปี 2519 จนถึงปัจจุบัน จากการทดลองปลูกปรากฏว่าควบคุมวัชพืชได้ดี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุอาหารในดิน ช่วยลดปัญหาการเกิดไฟไหม้ในสวนยาง และยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ

สามารถควบคุมวัชพืชได้ดี

คุณสมบัติพิเศษของซีรูเลียม จากการทดลองปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวต้นยางและไม้ผล พบว่า เมื่อพืชคลุมซีรูเลียมเจริญเติบโตเต็มที่จะคลุมดินได้หนาแน่นจนวัชพืชอื่นไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และยังสามารถควบคุมวัชพืชในระหว่างแถวยางและไม้ผลได้ถาวรตลอดไป เมื่อเปรียบเทียบกับพืชคลุมดินชนิดอื่นๆ พบว่า พืชคลุมดินซีรูเลียมสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีที่สุด  ดังนั้นซีรูเลียมจะประหยัดในการจ้างแรงงานกำจัดวัชพืช ช่วยลดการใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชในสวนยาง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัวด้วย

ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง และร่มเงา

พืชคลุมดินโดยทั่วไปไม่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง พืชคลุมดินจะแห้งตายในฤดูร้อน ซากกองพืชคลุมจะเป็นเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดไฟไหม้สวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และสวนไม้ผลที่ปลูกพืชคลุมเหล่านี้

จากการศึกษาและประสบการณ์ในการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวยางและไม้ผล พบว่า พืชคลุมซีรูเลียมมีอายุยืนยาว และมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ปลูกยางใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

พืชคลุมโดยทั่วไปไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงา โดยปกติพืชคลุมจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อปลูกในระหว่างแถวยางที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ เมื่อต้นยางเจริญเติบโตมีร่มเงาเกิดขึ้นในระหว่างแถวพืชคลุมอื่นมักจะตายหรือเจริญเติบโตไม่ดี แต่พืชคลุมซีรูเลียมไม่ตายและยังคงสามารถเจริญเติบโตและควบคุมวัชพืชได้ดีในสภาพร่มเงา สามารถคลุมพื้นที่ได้ภายใน 4-6 เดือน ขณะเดียวกันก็เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สวนยางพาราจากการที่ปมรากจะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และการย่อยสลายตัวของเศษซากพืชคลุม

ซีรูเลียมป้องกันการชะล้างพังทลายในพื้นลาดชัน

ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมเปิดกรีดยางได้เร็วขึ้น

จากการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของต้นยางในแปลงที่มีพืชคลุมตระกูลถั่วและแปลงหญ้าคา ในสวนยางที่ปลูกพืชตระกูลถั่วจะมีการเจริญเติบโตเป็นสองเท่าของสวนยางที่มีหญ้าคาปกคลุม และสามารถเปิดกรีดยางภายใน 6-7 ปี และกรีดยางได้ก่อนสวนยางที่มีหญ้าคาขึ้นปกคลุม ประมาณ 3-4 ปี

จากการทดสอบการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในแปลงเอกชนที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ปรากฏว่า สามารถเปิดกรีดยางได้ก่อนแปลงของเกษตรกรที่ไม่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียม ประมาณ 1 ปี และผลผลิตในแปลงที่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมให้ปริมาณน้ำยางที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียม

ระบบรากฝอยหนาแน่น ป้องกันการพังทลายหน้าดิน

โดยปกติฝนตกในบริเวณสวนยาง ทรงพุ่มต้นยางจะช่วยซับและรับปริมาณน้ำฝนส่วนหนึ่งไว้ที่ใบ น้ำฝนบางส่วนจะระเหยก่อนลงสู่พื้นดิน บางสวนจะไหลลงมาตามลำต้น และบางส่วนจะตกผ่านทรงพุ่มลงสู่พื้นดิน การปลูกซีรูเลียมในระหว่างแถวยางจะช่วยรับน้ำที่ผ่านทรงพุ่มชั้นหนึ่งก่อนลงสู่พื้นดิน  เนื่องจากพืชคลุมซีรูเลียมมีคุณสมบัติคลุมอย่างถาวร มีพื้นที่ใบคลุมดินหนาแน่น ซากพืชซีรูเลียมที่แห้งตายถูกปลดปล่อยลงไปช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยในการดูดซับและเก็บกักน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ รากฝอยที่หนาแน่นของซีรูเลียมจะช่วยยึดอนุภาคและโครงสร้างของดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้ดีขึ้น

โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียม

จากคุณสมบัติที่ดีกว่าพืชคลุมดินอื่นๆ ซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินที่เหมาะสมที่จะปลูกในสวนยางพาราในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ (ปีที่ 1-6) เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมจึงเป็นที่ต้องการของเกษตรกรชาวสวนยาง แต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับช่วงแสงและอากาศ ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและมีราคาสูง

เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมค่อนข้างจะได้ผลดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สถาบันวิจัยยางจึงได้เริ่มโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมขึ้น ในปี 2554 เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเมล็ดพันธุ์และทำการผลิตพันธุ์ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมอบให้ศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรทั่วประเทศ ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมเพื่อสนองความต้องการเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร

คุณกัลยารัตน์ หมื่นวณิชกูล เลขานุการคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ยางพารา โดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้ยางพาราฯ โดยการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดของการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียม ในปี 2554 การผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ

1.เมล็ดจะมีความงอกต่ำ เนื่องจากสารที่เปลือกหุ้มเมล็ดบางชนิดไม่ยอมให้น้ำและอากาศผ่าน

2.เปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดน้อย ซึ่งเกี่ยวกับช่วงแสงในแต่ละพื้นที่ และความต้องการอากาศที่เย็นในช่วงการออกดอก ทำให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีราคาสูงถึง กก.ละ 500-700 บาท

“จากการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดดังกล่าว เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ได้ผลผลิตประมาณ 40 กก./ไร่” คุณกัลยารัตน์ กล่าว

การขยายพันธุ์ซีรูเลียมระดับเกษตรกร

ถ้าเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้กล้าซีรูเลียมไปขยายพันธุ์สามารถทำได้ไม่ยาก คุณกัลยารัตน์ อธิบายว่า การขยายพันธุ์ซีรูเลียม ถ้าเราปลูกคลุมดินในสวนยาง ธรรมดาก็จะออกดอกและติดฝัก แต่ติดไม่มากเมื่อเราปล่อยให้เลื้อยไปตามพื้นดิน ซีรูเลียมจะเจริญเติบโตทางด้านลำต้นมากกว่าที่จะไปผลิตดอกออกฝัก แต่ถ้าเราต้องการขยายพันธุ์ เราก็ต้องทำค้างเหมือนกับค้างถั่วหรือค้างผัก จะทำให้ติดฝักได้มาก ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีได้ทดลองปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์โดยขึ้นค้าง จะได้เมล็ด 50 กก./ไร่  ดังนั้น การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดสามารถเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกและติดเมล็ดได้ดีกว่าขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำลำต้น ขณะนี้ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรากำลังทดลองผลิตเมล็ดพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การขึ้นค้างเพื่อเก็บเมล็ด จำเป็นต้องทำนอกสวนยางหรือไม่

“ไม่จำเป็น” คุณกัลยารัตน์ บอก

แต่ถ้าต้นยางอายุมากแล้วจะมีร่มเงามาก ซีรูเลียมจะเจริญทางลำต้นมากกว่า เราปลูกพร้อมปลูกยางขึ้นค้างได้เลย ร่มเงาของต้นซีรูเลียมก็จะทำให้วัชพืชไม่ขึ้นได้เหมือนกัน การปลูกพืชคลุมดิน ศูนย์ฯ ได้ทดลองปลูกเป็นแถว ระยะห่าง 50 ซม. ต่อหลุม ทดลองปลูกประมาณ 2 เดือน ก็คลุมดินได้หมดแล้ว

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2562