เกษตรกรเมืองอุบลฯ ปลูกเงาะ ได้ผลดี ฟันกำไรงาม

ลุงเสงี่ยม สีสันต์ อยู่บ้านเลขที่ 50 หมู่ที่ 6 ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อาชีพหลักสมัยก่อนโน้น ที่ลุ่มแบ่งทำนา สูงขึ้นมาหน่อยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก่อนปี 2535 มีคนชวนลุงเสงี่ยมไปเป็นเพื่อนเพื่อซื้อเงาะจากจังหวัดจันทบุรีมาขาย ลุงชอบ เพราะได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ เรื่องเงินทองรายได้ไม่ได้คิด หลายครั้งหลายหนที่ไปเห็นต้นเงาะของชาวสวนเมืองจันท์สุกแดงเต็มต้น จึงอยากปลูก

ที่อยากปลูกเนื่องจากท้องถิ่นอำเภอน้ำยืน อยู่ชายแดนติดกับกัมพูชา ดินดี ฝนตกดี ที่สำคัญ ลุงมีความขยันหมั่นเพียร ความรู้ และวิธีการปลูกน่าจะหาทางศึกษาได้ ลุงเสงี่ยม มีประสบการณ์เรื่องราคาข้าวโพด ช่วงเก็บผลผลิตขาย บางปีพออยู่ได้ แต่บางปีขาดทุน เมื่อไปเห็นเขาปลูกเงาะที่เมืองจันท์ จึงตัดสินใจปลูกเงาะโรงเรียนบนที่เนินใกล้บ้าน

ทางเจ้าหน้าที่เกษตรแนะนำว่า งานปลูกไม้ผลควรขุดหลุมให้ลึก แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ขี้วัว ขี้ควายเก่าๆ ลุงตัดสินใจปลูกเมื่อปี 2535 ช่วงนั้นการทำนายังใช้ควายตัวเป็นๆ ยังไม่ใช้ควายเหล็ก ปุ๋ยคอกจึงหาได้ง่าย

สำหรับระยะปลูก ระหว่างต้นระหว่างแถว 8 คูณ 8 เมตร พื้นที่ไร่หนึ่งจึงปลูกได้ 25 ต้น พืชอื่นที่ปลูกมี ทุเรียน ลองกอง สะตอ หลังๆ มีขนุนเข้ามาเสริม ส่วนนาก็ยังทำอยู่  ปลูกไปได้ 3 ปี เงาะเริ่มมีดอกออกมาให้เห็น สร้างความมั่นใจให้กับครอบครัวสีสันต์อย่างมาก

จนถึงปีที่ 4 ลุงเสงี่ยมและภรรยา คือ คุณป้าภัสสร สามารถเก็บผลผลิตเงาะไปจำหน่ายได้ ทุเรียนที่ปลูก เข้าสู่ปีที่ 5 มีผลผลิต จากนั้นลองกองก็ตามมา แต่ทุเรียนและลองกอง ปลูกไม่มากนัก
มีเงาะโรงเรียนที่ปลูกมาก ทุกวันนี้มีอยู่ 120 ต้น อายุ 25 ปี ผลผลิตที่เก็บได้ 200-300 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ปริมาณผลผลิตแต่ละปีมากบ้างน้อยบ้าง เก็บได้ – 280 กิโลกรัม ต่อต้น

ปลูกและดูแลอย่างไรจึงจะได้ผลดี

เงาะโรงเรียนกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การดูแลและปัจจัยการผลิตแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่รายได้ก็แตกต่างกัน ลุงเสงี่ยม เรียนรู้การปลูก การดูแลรักษา จากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำยืน เมื่อเขาอบรมความรู้การเกษตรที่ไหน ลุงไม่เคยขาด นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อก่อน ปัจจุบัน มีคนแวะเวียนมาเรียนรู้วิธีการปลูกเงาะโรงเรียนกับลุง ทีมงานนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านก็ได้ความรู้และวิธีการมาเผยแพร่

ต้นสะตอ
ต้นมังคุด

วิธีการดูแลรักษาเงาะโรงเรียนนั้น ลุงอธิบายไว้ดังนี้

หลังเก็บเกี่ยว…อยู่ราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เจ้าของตัดแต่งกิ่งให้ ตัดออกราว 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ขาดไม่ได้คือปลายกิ่งที่ให้ผลผลิต ต้องตัดเพื่อให้แตกยอดใหม่ จากนั้นใส่ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม ต่อต้น ที่ขาดไม่ได้คือขี้วัว จำนวน 1 กระสอบปุ๋ย ขี้วัวจำเป็นมาก เพราะจะช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดี จะมีอยู่ไกลแค่ไหน หายากอย่างไร เจ้าของต้องนำมาใส่ให้กับเงาะโรงเรียน ช่วงนี้เรื่องน้ำไม่ต้องห่วงเพราะฝนตกดีอยู่แล้ว

สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือแมลง ที่ลุงเรียกว่าบุ้งมากัดกินใบอ่อน
เป็นธรรมชาติของต้นไม้อย่างเงาะ เมื่อตัดแต่งกิ่งแล้วได้ปุ๋ย จะมียอดใหม่ขึ้นมา ยอดใหม่อ่อนๆ เป็นที่ปรารถนาของแมลง หากแมลงทำลายใบไม่สมบูรณ์ โอกาสออกดอกติดผลไม่ดี แต่เมื่อพบระบาด ควรกำจัดด้วยสารเคมี จะช่วยให้เงาะใบสมบูรณ์ พร้อมที่จะมีดอกในฤดูกาลต่อไป

เตรียมออกดอก

ราวเดือนพฤศจิกายน ลุงเสงี่ยม ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ให้กับเงาะ 2 กิโลกรัม ต่อต้น สูตรนี้เป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ สะสมอาหาร เตรียมการออกดอก หลังให้ปุ๋ยถ้าฝนไม่ตกควรรดน้ำตาม
เดือนธันวาคมฝนหยุด เข้าสู่เดือนมกราคม เจ้าของจะหมั่นสังเกต ดูใบเงาะไม่สดชื่น ลุงเสงี่ยมบอกว่า “ใบเหงา” จึงให้น้ำกับเงาะ นาน 30 นาที…3 วัน ให้ครั้งหนึ่ง เงาะ 1 ต้น มีหัวสปริงเกลอร์ 2 หัว

เรื่องน้ำสำคัญมาก หากฝนหยุดตกแล้วเจ้าของไม่หยุดให้น้ำ ต้นเงาะจะไม่โศกหรือไม่เหงาอย่างที่ลุงเสงี่ยมว่า โอกาสออกดอกจะมีน้อย  ปัจจัยการออกดอกดีหรือไม่ดี อยู่ที่การให้อาหารหรือให้ปุ๋ยหลังการเก็บเกี่ยวด้วย

หลังการเก็บเกี่ยว หากได้ปุ๋ยสมบูรณ์ ผลผลิตในฤดูกาลใหม่ก็จะมีมาก เมื่อเริ่มให้น้ำ ต้นและใบสมบูรณ์ดี ลุงเสงี่ยม ฉีดพ่นสารเปิดตาดอกให้ 1 ครั้ง ราวกลางเดือนมกราคมถึงปลายเดือน เงาะก็เริ่มแทงช่อดอก ปริมาณน้ำที่ให้ จึงเพิ่มทีละนิด

เมื่อออกดอกแล้ว ผู้ปลูกเงาะบางคนจะมีเงาะตัวผู้เพื่อช่วยในการผสมเกสร หรือไม่ก็ใช้ฮอร์โมนช่วย แต่ที่ส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องมีต้นตัวผู้ ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน ลุงเสงี่ยม บอกว่า แมลงช่วยผสมเกสร เงาะดกดีทุกปีไม่มีปัญหา

หลังออกดอก และผลพัฒนา ต้องระวังเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง หากมีต้องป้องกันกำจัด เพราะผลผลิตอาจจะเสียหายได้ แทนที่จะจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 25 บาท อาจจะเหลือ 15 บาท
“ของไม่งามมีปัญหา” ลุงเสงี่ยม บอก

เป็นเกษตรกรสมบูรณ์แบบ

ปัจจุบัน ลุงเสงี่ยม ยังคงมุ่งมั่นกับงานสวน ถึงแม้อายุเพิ่มขึ้น แต่ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ลูกๆ ก็เข้ามาสืบทอด นอกจากปลูกเงาะโรงเรียนแล้ว ลุงเสงี่ยมยังมีปลูกขนุน จำนวน 50 ต้น ให้ผลผลิตดีมาก มีผู้ค้ามาตัด ชั่ง แล้วก็จ่ายเงิน ราคามีขึ้นมีลง
“ขนุนดูแลง่าย” ลุงบอก

ขนุนดูแลง่าย ผู้ซื้อมาตัดเอง พืชอื่นๆ ทุเรียนเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ให้ผลผลิตดีพอสมควร เจ้าของพยายามนำมาปลูกทดแทน ลองกอง เหมือนจะปลูกไว้กิน เพราะไม่มากต้นนัก แต่ก็ติดผลดีเหลือกินจนต้องขาย

พืชชนิดหนึ่งที่ปลูกมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน คือ ข้าว ทั้งนี้ เพราะข้าวเป็นอาหารหลักที่สำคัญ ในส่วนนี้คุณลุงมีเครื่องอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการทำนา ซื้อมาหลายแสนบาท ถือว่ากิจกรรมการเกษตรของลุงประสบผลสำเร็จ สิ่งที่สำเร็จได้ อยู่ที่ตัวลุงและครอบครัว คือมีความขยันหมั่นเพียร หมั่นหาความรู้…

ต้นทุเรียน
ต้นขนุน

ขอเอ่ยนามบุคคลที่มีส่วนในความสำเร็จนี้คือ คุณสมนึก ดอกแขมกลาง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำยืน ปัจจุบัน เกษียณจากราชการแล้ว คุณสมนึกแวะเวียนมาให้คำปรึกษา รวมทั้งนำโครงการจากราชการมาสู่เกษตรกรในเขตนั้น ต้องการปรึกษาหารือเรื่องการปลูกเงาะโรงเรียน หรือซื้อผลผลิต ติดต่อได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (081) 789-7210

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2564