ที่มา | เกษตรสร้างชาติ |
---|---|
ผู้เขียน | นวลศรี โชตินันทน์ |
เผยแพร่ |
สะตอ เป็นผักพื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากสะตอเป็นพืชผักที่มีรสชาติดี สามารถปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ มีคุณค่าทางอาหารสูง มีคุณค่าทางเภสัชวิทยา คือช่วยลดความดันโลหิต ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และยังช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้อีกด้วย
สะตอ เป็นพืชพื้นเมืองขึ้นอยู่ตามป่าภาคใต้ เกษตรกรจะเก็บมาปลูกแซมกับพืชอื่น ในอดีต สะตอ ที่ขึ้นชื่อที่สุด จะเป็น สะตอบ้านแร่ สะตอดีจากพัทลุง
จาก สะตอบ้าน พัฒนามาเป็น สะตอตรัง
คุณบุญชนะ วงศ์ชนะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า ก่อนจะมาเป็น ผอ.ศวส. เชียงราย เป็นนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เห็นว่าผลผลิตสะตอในอดีตได้จากการเก็บจากในป่าทางภาคใต้ และเกษตรกรได้นำมาปลูกแซมกับพืชหลักชนิดอื่นๆ จนปัจจุบันมีผู้รู้จักและนิยมรับประทานสะตอกันมาก จึงทำให้ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มสูงขึ้น และได้มีการปลูกสะตอกันอย่างแพร่หลายไปเกือบทุกภาคของประเทศ ถึงอย่างไรก็ตาม ผลผลิตสะตอในปัจจุบันก็ยังไม่พอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากสะตอให้ผลผลิตเป็นช่วงฤดู คือจะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เท่านั้น
คุณบุญชนะ บอกว่า นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกเมล็ดสะตอไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีการส่งออกเมล็ดสะตอสดวันละ 1 ตัน ดังนั้น จึงมีปริมาณการส่งออกมากกว่า 200 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 60 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า การส่งออกเมล็ดสะตอจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากการขยายพันธุ์สะตอของเกษตรกร จะใช้วิธีการเพาะเมล็ด ทำให้ได้ผลผลิตช้า ลักษณะประจำพันธุ์ก็จะแตกต่างกันไป และการให้ผลผลิตสะตอในรอบปีหนึ่งจะมีปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จึงมีความคิดที่จะปรับปรุงสะตอพื้นบ้าน เพื่อให้ได้พันธุ์สะตอที่สามารถให้ผลผลิตทั้งในฤดูและนอกฤดูที่สูง และมีคุณภาพดี
เริ่มสำรวจคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตนอกฤดู
คุณบุญชนะ และคณะจึงเริ่มดำเนินการสำรวจคัดเลือกสายต้นสะตอ (Clone) ที่ให้ผลผลิตนอกฤดู คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน จากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ คือจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้มาทั้งหมด 118 ต้น แล้วบันทึกประวัติการให้ผลผลิตนอกฤดูของสะตอที่ได้มาทั้งหมด
“พวกเราดำเนินการสำรวจตั้งแต่ ปี 2540-2543 และติดตามบันทึกประวัติจนสามารถคัดเลือกสะตอข้าวที่มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตนอกฤดู ได้จำนวน 12 ต้น จากจังหวัดสงขลา 2 ต้น พัทลุงเป็นสะตอข้าว 6 ต้น สตูล 1 ต้น นครศรีธรรมราช 2 ต้น และปัตตานี 1 ต้น” คุณบุญชนะ เล่า
สะตอที่คัดมาจากจังหวัดดังกล่าว 12 ต้น นำมาปลูกเปรียบเทียบสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตนอกฤดู ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544-2545
ปี 2554-2556 เก็บข้อมูลการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต โดยมีหลักการคัดเลือกคือ สามารถให้ผลผลิตนอกฤดูและให้ผลผลิตรวมต่อต้นต่อปีสูง ซึ่งสามารถผ่านเกณฑ์การคัดเลือกได้ 6 ต้น คือ สะตอจากสงขลา 1 ต้น สตูล 1 ต้น พัทลุง 3 ต้น และนครศรีธรรมราช 1 ต้น
จากการนำพันธุ์สะตอจากจังหวัดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นมาขยายพันธุ์โดยการติดตา ปลูกทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต การให้ผลผลิตนอกฤดู และคุณภาพของผลผลิตในศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 จนถึงปัจจุบัน คุณบุญชนะ บอกว่า สะตอที่นำมาจากจังหวัดสตูล ที่นำมาปลูกทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ที่ ศวส. ตรัง ให้ผลผลิตที่ดีที่สุด ทั้งในฤดู นอกฤดู ผลผลิตสูง และรสชาติดี
“เนื่องจาก สะตอจากสตูล ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จึงตั้งชื่อสะตอสายต้นสตูล เป็นสะตอพันธุ์แนะนำ โดยให้ชื่อว่า สะตอพันธุ์ตรัง 1 (Trang 1)” คุณบุญชนะ บอก
ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ได้ทำแปลงต้นพันธุ์ และเพาะต้นกล้าพันธุ์ตรัง 1 ไว้สำหรับติดตาขยายพันธุ์ เพื่อที่จะเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นการค้า เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
ลักษณะเด่นของ พันธุ์ตรัง 1
- ให้ผลผลิต 2 ครั้ง ในรอบปี คือระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และนอกฤดูระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน การให้ผลผลิตนอกฤดูเป็นลักษณะประจำพันธุ์ที่สำคัญ เพราะราคาผลผลิตนอกฤดูสูงมากกว่าในฤดู 2-3 เท่า
- จำนวนเมล็ดมากกว่า 15 เมล็ด ต่อฝัก ลักษณะฝักตรง เมล็ดมีขนาดสม่ำเสมอเรียงชิดติดกัน ทำให้ง่ายต่อการบรรจุฝักลงภาชนะขนส่ง
- ให้ผลผลิตเร็ว เริ่มออกดอกเมื่ออายุ 3 ปี หลังปลูก ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ
คุณบุญชนะ อธิบายเพิ่มเติมว่า การให้ผลผลิตของสะตอพันธุ์ตรัง 1 จะเพิ่มขึ้นตามอายุ เมื่ออายุ 10 ปี ความสูงของต้นเฉลี่ย 5 เมตร ขนาดทรงพุ่มเฉลี่ย 8 เมตร ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 200 ฝัก/ต้น/ปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดสำหรับสะตอพันธุ์ตรัง 1 คือ การปลูกปีแรกลำต้นจะมีลักษณะเลื้อยเอน ต้องใช้ไม้ค้ำยัน ประคองลำต้นให้ตรง ต้องคอยตัดยอดจัดทรงพุ่มให้มีลักษณะที่สมดุล และไม่ควรปลูกในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง
สร้างเครือข่ายผู้ผลิตสะตอพันธุ์ตรัง 1
คุณฉัตรชัย กิตติไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มียอดสั่งจองสะตอพันธุ์ตรัง 1 เข้ามาจำนวน 75,000 ต้น ซึ่งทางศูนย์วิจัยพืชสวนตรังยังไม่สามารถผลิตพันธุ์สะตอตรัง 1 ให้ทันกับความต้องการของเกษตรกรได้ ศูนย์จึงจัดทำโครงการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตต้นพันธุ์สะตอพันธุ์ตรัง 1 เพื่อจะได้ช่วยกระจายแหล่งผลผลิตให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยตั้งเครือข่ายจากกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเป็นเครือข่ายผลิตสะตอพันธุ์ตรัง 1 หนึ่งกลุ่ม กับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรจังหวัดตรังอีก 4 กลุ่ม คาดว่าเครือข่ายแหล่งผลิตพันธุ์สะตอพันธุ์ตรัง 1 จะช่วยผลิตต้นพันธุ์สะตอพันธุ์ตรัง 1 ให้ทันกับความต้องการของเกษตรกร
ขณะนี้จังหวัดตรังกำลังดำเนินการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียน สะตอพันธุ์ตรัง 1 ให้เป็นสินค้า GI ตามนโยบายพัฒนาสินค้าเกษตรของจังหวัดตรังให้ดังกว่าเดิม ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงาน พร้อมจัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน คาดว่าจะทำให้สะตอเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่ชาวตรังภาคภูมิใจต่อไป
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150 โทร. 081-373-0930
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 10 มิ.ย. 2021