ปลูก “สับปะรดฉีกตา” มีผลผลิตกิน-ขายทั้งปี

คงไม่ต้องเสียเวลาแนะนำกันอีกแล้ว สำหรับสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 1 หรือที่รู้จักกันดีในนามสับปะรดฉีกตา ผลงานการวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้เพราะมีปลูกและบริโภคกันมากขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน

คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ กับผลสับปะรดเพชรบุรี 1 ที่สุกแก่แล้ว
คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ กับผลสับปะรดเพชรบุรี 1 ที่สุกแก่แล้ว

คุณบุญส่ง พูลพัฒน์  อดีตนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันคือเจ้าของ “ไร่ส่งตะวัน” บ้านห้วยเกษม ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ก็เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ปลูกสับปะรดพันธุ์นี้อย่างจริงจัง สามารถนำผลผลิตออกจำหน่ายหมุนเวียนทั้ง 12 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 5 ตัน

คุณบุญส่ง เป็นคนเพชรบุรีโดยกำเนิด หลังเรียนจบก็ทำงานคลุกคลีกับเกษตรกรมายาวนาน สุดท้ายได้ลงหลักปักฐาน ทำงานเกษตรที่บ้านห้วยเกษม ในพื้นที่ 100 ไร่ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับอาทิจันท์ผา ลีลาวดี (ลั่นทม) เฮลิโคเนีย (ธรรมรักษา) ทางด้านไม้ผล มีขนุนทองประเสริฐ กล้วยหายากร่วม 100 สายพันธุ์ รวมทั้งพืชผักสมุนไพรหายาก เช่นข้าวไร่ในท้องถิ่น สมุนไพรเขยตายแม่ยายปก มะแข่วน(พริกพราน) เป็นต้น

สำหรับสับปะรด คุณบุญส่งเรียนรู้มานานแล้ว ช่วงที่รับราชการอยู่ ได้แต่ศึกษาและวิจัย จนกระทั่งเออรี่จากงาน จึงทำจริงจัง ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจมาก ผลผลิตที่ออกสู่ตลาด คนถามหากันอย่างต่อเนื่อง เขาจึงผลิตไม่ให้ขาดช่วง ปัจจัยหนึ่งที่หนุนส่งให้นักวิชาการเกษตรท่านนี้ประสบผลสำเร็จ เพราะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จึงนำมารดต้นไม้ได้อย่างดี

“ในฐานะคนเพชรบุรี อยากให้สับปะรดพันธุ์นี้อยู่คู่กับเพชรบุรี คนผ่านไปผ่านมาได้ชิม หรืออยากปลูกก็ทดลองปลูกกันได้ หมายถึงจังหวัดอื่น ภาคอื่น” คุณบุญส่งบอก

สภาพแปลงปลูก
สภาพแปลงปลูก

สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 1 มาจากไหน?

สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 1 เป็นสับปะรดกลุ่มควีนที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์จากประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นสับปะรดพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2541 ทำการรวบรวมและศึกษาพันธุ์ที่สถานีทดลองพืชสวนเพชรบุรี (ชื่อเดิม) เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะต่อการรับประทานผลสด ให้ผลผลิตสูง
และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ดังกล่าวได้

ลักษณะเด่นของพันธุ์เพชรบุรี คือ ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ภูเก็ตร้อยละ 17.7 และสูงกว่าพันธุ์สวีร้อยละ 23.2 อยู่ในกลุ่มพันธุ์เดียวกัน รสชาติหวานอมเปรี้ยวปริมาณและสัดส่วนของน้ำตาลสูงถึง 16.9 องศาบริกซ์ และมีปริมาณกรดค่อนข้างต่ำราวร้อยละ 0.45 มีกลิ่นหอมแรง เนื้อกรอบใกล้เคียงกับพันธุ์สวีและพันธุ์ภูเก็ต สีเนื้อเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ สามารถแกะแยกผลย่อยหรือตา (fruitlet) ออกจากกันโดยง่าย และรับประทานแกนผลได้ ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย สามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ไม่ชอบพื้นที่ที่มีน้ำขัง

Advertisement

ทะยอยปลูกหมุนเวียน 12 ไร่

คุณบุญส่งเล่าว่า พื้นที่ปลูกสับปะรดของตนเอง ลาดเทเล็กน้อย ก่อนปลูกไถพรวน แล้วปลูกสับปะรดด้วยหน่อ พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ 7,500 ต้น

ที่มาของต้นพันธุ์นั้น คุณบุญส่งสะสมมานาน ปลูกครั้งแรกไม่กี่ต้น จากนั้นขยายเพิ่มขึ้น หากมีการซื้อขายกัน หน่อสับปะรดเพชรบุรี 1 ตกหน่อละ 10-15 บาท เป็นหน่อขนาดใหญ่ คุณภาพดี เมื่อนำลงปลูก ให้ผลผลิตตามระยะเวลาที่ต้องการ สนนราคาหน่อพันธุ์ หากมีการซื้อขายกันมากๆ ราคาก็มีการขยับได้

Advertisement

อดีตนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรบอกว่า ตนเองปลูกสับปะรด 12 ไร่ ทั้งนี้เพื่อให้มีผลผลิตทยอยเก็บเดือนละ 1 ไร่  ในทางปฏิบัติ อาจจะปลูกพร้อมกันครั้งละ 3 ไร่ แต่ระยะเวลาที่กำหนดได้คือการหยอดแก๊สที่ยอด จะหยอดเดือนละ 1 ไร่

หน่อพร้อมปลูก
หน่อพร้อมปลูก

ผลผลิตของสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 1 เฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัมต่อผล นั่นหมายถึง จำนวนต้นที่ปลูก 7,500 ต้น คิดผลละ 1.5 กิโลกรัม จะได้ผลผลิตต่อไร่ 11,250 กิโลกรัม หรือ 11 ตันเศษๆ แต่คุณบุญส่งบอกว่า ตนเองคัดผลผลิตที่มีคุณภาพ จะได้ของดีจริงๆ ออกวางขายในตลาด 5,000 กิโลกรัม หรือ 5 ตันต่อไร่ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภค ได้บริโภคของดี จะได้มีทัศนคติที่ดีต่อสับปะรดพันธุ์นี้และพันธุ์อื่นๆ

“สับปะรดส่งโรงงาน ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้ 4 ปี ของผมนี่ ปลูกเก็บผลผลิตครั้งเดียว รื้อปลูกใหม่ เพราะจะควบคุมคุณภาพได้ ความหวานของสับปะรดที่ปลูก อยู่ที่ 15-17 บริกซ์” คุณบุญส่งบอก

 

หน้าแล้งต้นเขียวขจีเพราะมีระบบน้ำให้
หน้าแล้งต้นเขียวขจีเพราะมีระบบน้ำให้

ดูแลทั่วถึง ใช้ปัจจัยการผลิตเท่าที่จำเป็น

หลังปลูก หากไม่ใช่ช่วงฝน คุณบุญส่งจะให้น้ำกับสับปะรดโดยระบบสปริงเกลอร์ ด้วยเหตุนี้ หลังปลูกไป 1 เดือน สับปะรดจะรากเดินอย่างรวดเร็ว เจ้าของจึงใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ให้ที่โคนต้น จำนวน 30 กิโลกรัมต่อไร่

เมื่อสับปะรดอายุได้ 4 เดือน ใส่ปุ๋ยที่โคนต้น สูตร 15-5-20 จำนวน 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงนี้ดูใบสับปะรดประกอบ หากงามมากๆ ก็อาจจะใส่ให้แค่ 30 กิโลกรัมต่อไร่

พอถึงเดือนที่ 6 เจ้าของฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 46-0-0  บวกกับสูตร 0-0-60 เพื่อเตรียมตัวบังคับให้ออกดอก

เดือนที่ 7 เจ้าของหยอดแก๊สแคลเซี่ยมคาร์ไบน์ให้ที่ยอด ต้นละ 2 หยิบมือเล็กๆ คุณบุญส่งบอกว่า ตนเองถนัดแบบนี้ ซึ่งแก๊สแคลเซี่ยมคาร์ไบน์ มีขายกิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนที่อื่น อาจจะใช้อเทธิฟอนฉีดพ่นให้

ก่อนหยอดแก๊ส ที่ยอดสับปะรดควรมีน้ำขัง หากไม่ใช่ช่วงฝน เจ้าของจะให้น้ำระบบสปริงเกลอร์

หลังจากหยอดแก๊สได้ 45 วัน สับปะรดก็จะมีดอกและผลสีแดงแทงออกมาที่ยอด

หลังออกดอกราว 4 เดือนครึ่ง คุณบุญส่งบอกว่า สามารถเก็บผลผลิตได้

ที่เห็นอีก 2 เดือนก็เก็บผลผลิตได้
ที่เห็นอีก 2 เดือนก็เก็บผลผลิตได้

“ให้สังเกตเมื่อดอกสีม่วงของสับปะรดโรย ฉีดพ่นปุ๋ยสูตร 10-20-30 บวกกับปุ๋ยที่มีธาตุอาหารรองให้ ต่อมากอีก 1 เดือน ฉีดพ่นสูตรเดียวกันนี้อีกครั้งหนึ่งก็เก็บผลผลิตได้ การให้ปุ๋ยทางใบประหยัดกว่าให้ปุ๋ยเม็ดทางดินเสียอีก ต้นไม้รับได้ง่าย”

คุณบุญส่งบอก เละเล่าอีกว่า

“ปุ๋ยให้ 5 ครั้ง ทางดิน 2 ครั้ง ฉีดพ่นให้อีก 3 ครั้ง ศัตรูอย่างอื่น วัชพืชหมั่นดูแล ถากถางบ้าง ใช้สารกำจัดวัชพืชบ้าง แมลงมีเพลี้ยแป้ง ผมใช้น้ำส้มควันไม้ได้ผลดี โรคเน่าไม่เจอ ของผมพื้นที่ค่อนข้างลาดชัน ปัจจัยการผลิตใช้เท่าที่จำเป็น อะไรที่ทำได้ก็ทำ ไม่ต้องจ้างเขา”

อยู่ห่างกรุงเทพฯ 120 กิโลเมตร แวะเวียนไปปรึกษาหารือได้

คุณบุญส่งบอกว่า ผลผลิตที่มีอยู่ ตนเองได้นำออกจำหน่ายตามรีสอร์ทต่างๆ ตามร้านขายกาแฟ  รวมทั้งร้านขายผลไม้ที่รู้จักกัน

ราคาขายนั้น นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรบอกว่า เขาตั้งไว้ค่อนข้างชัดเจนและคงที่ โดยแบ่งเป็น 2 แบบด้วยกัน

แบบแรกขายให้คนที่ซื้อไปกินโดยตรง

แบบที่สอง ขายให้กับผู้ค้า เพื่อนำไปขายต่ออีกทีหนึ่ง

ราคาทั้งสองแบบ มิตรภาพมากๆ ส่วนจะเท่าไหร่นั้นต้องคุยกับคุณบุญส่ง

สำหรับผู้ที่อยากจะไปติดต่อเพื่อซื้อขาย ให้คุณบุญส่งผลิตให้โดยตรง จำนวนเท่านั้นเท่านี้ เจ้าของบอกว่ายินดีจะพูดคุยด้วย

ไร่ส่งตะวัน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 120 กิโลเมตร คุณบุญส่งแนะนำว่า แถบนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่นน้ำตก ตลาดน้ำ และที่พิเศษสุดนั้น ที่นั่นมีน้ำพุร้อน องค์กรในท้องถิ่น จัดที่ให้อาบน้ำแร่สะอาดเป็นสัดส่วน

ใครที่ไปหนองหญ้าปล้อง แล้วจะต่อไปยังแก่งกระจานก็ใกล้มาก หรือจะออกไปสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ก็ใช้เวลาไม่นาน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2562