4 ขั้นตอน เปลี่ยนยอดมะเดื่อพื้นบ้าน มาเป็น มะเดื่อฝรั่ง

“มะเดื่อฝรั่ง” หรือ “ฟิกส์” (FIGS) ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปี อาจจะเป็นผลไม้ที่แทบจะไม่ค่อยมีคนรู้จักเลยในบ้านเรา แต่เมื่อได้รับความสนใจมากขึ้นว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ มีการเผยแพร่ออกสื่อต่างๆ มีกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับมะเดื่อฝรั่งในโลกโซเชียล ทำให้มะเดื่อฝรั่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คนทั่วไปรู้จัก ทานมะเดื่อฝรั่งเป็น มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องสายพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาปลูกในบ้านเรานับร้อยสายพันธุ์จากทั่วโลก เทคนิควิธีการปลูก การบำรุงดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ การแปรรูป รวมถึงวิธีการขยายพันธุ์ที่มีการประยุกต์และพัฒนาในหลายๆ รูปแบบ เนื่องจากมะเดื่อฝรั่งเป็นอีกพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธีมาก

ทาง “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ที่เป็นสวนหนึ่งที่เริ่มปลูกมะเดื่อฝรั่งในเชิงการค้าในยุคแรกๆ เพื่อจำหน่ายผลสด มานานเกือบ 15 ปี ซึ่งได้การตอบรับในการซื้อผลผลิตดีมาก โดยจำหน่ายได้ กิโลกรัมละ 150-300 บาท เลยทีเดียว ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีราคาค่อนข้างดีสำหรับเกษตรกร เนื่องจากสามารถผลิตในเชิงปลอดสารพิษหรือแบบอินทรีย์ได้ตามแนวทางของแต่ละสวน เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีโลกและแมลงศัตรูไม่มาก ที่สำคัญก็จะมีนกมาจิกผล (ก็จะห่อผล)

โดยที่สวนคุณลี ปลูกมะเดื่อฝรั่งแบบกลางแจ้งเหมือนไม้ผลทั่วไป ก็ปลูกมะเดื่อฝรั่งทั้งจากต้นที่ขยายพันธุ์มาจากการตอนกิ่ง, การปักชำ, การเปลี่ยนยอดบนต้นตอขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การติดตา, เสียบเปลือก, เสียบตรง เป็นต้น ซึ่งต้นตอที่นิยมนำมาใช้ก็คือต้นมะเดื่อฝรั่งสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการ หรือต้นมะเดื่อฝรั่งที่มีนิสัยทนทาน หากินเก่ง มีระบบรากแข็งแรง เช่นที่สวนคุณลี จะใช้มะเดื่อฝรั่งพันธุ์ออสเตรเลียเป็นต้นตอเกือบทั้งหมด วิธีการคือปลูกมะเดื่อพันธุ์ออสเตรเลียลงแปลงไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อต้นมะเดื่อออสเตรเลียมีขนาดที่เราพอใจแล้ว (3-6 เดือน ตามความพอใจ) ก็จะเปลี่ยนยอดสายพันธุ์ที่เราต้องการ แต่ในบ้านเรามีมะเดื่อพื้นบ้านและมะเดื่อป่า ซึ่งจัดว่าอยู่ในวงศ์เดียวกันกับมะเดื่อฝรั่ง

จากการที่สวนคุณลีได้ลองทำมานับ 10 ปี มะเดื่อฝรั่งก็สามารถเปลี่ยนยอดบนต้นตอมะเดื่อพื้นบ้านหรือมะเดื่อป่าได้ และสามารถเจริญเติบได้ดีมาก ให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี แต่การขยายพันธุ์อาจจะต้องมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้แผลประสานหรือเนื้อไม้เข้ากันได้ดี ทาง “สวนคุณลี” จึงนำวิธีการเปลี่ยนยอดมะเดื่อฝรั่งบนต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่า ให้ท่านนำไปประยุกต์ปรับใช้กันต่อไป

การต่อกิ่ง หรือการเสียบยอด เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยไม่ใช้เพศที่สามารถทำได้โดยการนำกิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า 1 ตา มาต่อบนต้นตอ เพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญทั้งสองเชื่อมประสานเป็นต้นเดียวกัน การขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่อกิ่งจะดีกว่าการติดตามาก เพราะจะได้รอยต่อที่แข็งแรงกว่ามาก การต่อกิ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีกับพืชบางชนิด เช่น เฟื่องฟ้า มะม่วง พุทรา ขนุน องุ่น ฯลฯ

ความมุ่งหมายที่สำคัญของการต่อกิ่งพืช คือ เพื่อต้องการเชื่อมประสานเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน ให้มีชีวิตและเจริญเติบโตร่วมกัน เสมือนเป็นพืชต้นเดียวกัน ทั้งนี้ การต่อกิ่งพืช สามารถเลือกทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ฤดูกาล และความชำนาญของผู้ต่อกิ่ง

การต่อกิ่งมีคุณค่าและความสำคัญต่อวงการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจน  ได้แก่ การเพิ่มและช่วยเปลี่ยนยอดพันธุ์เดิมที่ปลูกอยู่แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มยอดกิ่งเฟื่องฟ้าให้มีหลากหลายสี การเปลี่ยนยอดต้นโมกเขียวให้เป็นโมกด่าง การเปลี่ยนยอดมะม่วงให้เป็นมะม่วงแฟนซี คือมีหลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน นอกจากนี้ การต่อกิ่ง ยังเป็นการช่วยซ่อมแซมส่วนของต้นพืชที่ได้รับอันตรายจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากต้นตอที่มีลักษณะทนทานต่อสภาพแวดล้อมและศัตรูพืช

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการต่อกิ่ง หรือการเสียบยอด

  1. พืชที่นำมาเสียบเข้าด้วยกันต้องเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่อาจต่างพันธุ์กันได้ เช่น นำยอดมะนาวเสียบกับต้นตอส้มต่างประเทศ หรือ ต้นตอส้มโอ เป็นต้น
  2. กิ่งพันธุ์ดีจะต้องมีความสดอยู่เสมอ ซึ่งควรเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นในกรณีที่นำสายพันธุ์มาจากที่อื่น แต่หากตัดสดแล้วนำมาต่อกิ่งหรือเสียบยอดเลยจะดีที่สุด
  3. รอยแผลที่เสียบจะต้องแนบกันสนิทให้เนื้อเยื่อเจริญของพืชทั้งสองส่วนสัมผัสกันมากที่สุด เพื่อจะได้เชื่อมประสานกันได้รวดเร็ว
  4. เลือกตาพันธุ์ที่กำลังพักตัว คือ พร้อมที่จะแตกยอดใหม่ ถ้าเป็นมะเดื่อฝรั่ง ตาจะต้องปูดโปนคล้ายๆ กำลังจะแตกยอด
  5. ใช้แถบพลาสติกขยายพันธุ์พันทับรอยต่อ ไม่ให้น้ำและเชื้อโรคเข้าแผลได้
  6. รอยแผลจะต้องรักษาความสะอาดให้มากที่สุด ระวังอย่าให้สัมผัสน้ำ หรือความชื้นมากเกินไป
  7. ลิดใบพันธุ์ดีทิ้ง และใช้พลาสติกคลุม ป้องกันการคายน้ำ และรักษาความชื้น หรือใช้แผ่นพาราฟิล์ม (Parafilm) ซึ่งไม่ต้องคลุมถุงเพื่อรักษาความชื้น ซึ่งสวนคุณลีจะเลือกใช้แผ่นพาราฟิล์มในส่วนการพันยอดพันธุ์ดี เพราะมีข้อดีหลายประการ คือนอกจากจะรักษาความชื้นของยอดพันธุ์แล้ว ยังกันน้ำได้ดี แล้วเมื่อยอดพันธุ์แตกตาผลิใบใหม่ออกมาก็สามารถแทงผ่านแผ่นพาราฟิล์มออกมาได้โดยที่ไม่ต้องใช้มีดกรีดช่วยเหมือนการใช้พลาสติกขยายพันธุ์ แล้วแผ่นพาราฟิล์มนั้นก็จะย่อยสลายไปเอง
อุปกรณ์ในการขายพันธุ์ คือ มีด กรรไกรตัดกิ่ง เทปพลาสติกขยายพันธุ์ แผ่นพาราฟิล์ม และยอดมะเดื่อฝรั่ง

ข้อควรพิจารณาในการต่อกิ่ง
ได้แก่ การเลือกต้นตอ

จะต้องให้มีขนาดเหมาะสมกับกิ่งพันธุ์ดี มีความแข็งแรง ปราศจากศัตรูพืช มีระบบรากแข็งแรง และหาง่าย แต่ก็ไม่ได้จำกัดเรื่องของขนาดซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนได้

การเลือกกิ่งพันธุ์ ควรเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีตา (ที่ไม่ใช่ตาดอก)

การเตรียมต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ในการเฉือนแผลต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ควรจะให้รอยแผลเรียบ และไม่ช้ำ (เกิดจากการผ่า หรือเฉือนหลายครั้ง จึงต้องมีความชำนาญในการเฉือนเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีช้ำ)

การป้องกันเชื้อโรค การทำให้เกิดบาดแผลแก่ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดเชื้อโรค จึงต้องระวังในเรื่องของความสะอาด โดยเฉพาะมีดต้องสะอาดและคม

การวางแนวเยื่อเจริญระหว่างต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ต้องอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อให้รอยประสานเกิดได้เร็วขึ้น เช่น กรณีต้นตอใหญ่กว่าแผลยอดพันธุ์ดีก็ต้องเสียบยอดพันธุ์ดีให้แผลชิดด้านใดด้านหนึ่ง ให้เนื้อเยื่อต้นตอกับยอดพันธุ์ดีตรงกัน

ฤดูกาลที่เหมาะสำหรับต่อกิ่ง ควรเป็นระยะที่พืชมีการเจริญเติบโตดี โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว รองลงมาคือ กลางฤดูฝน

เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อกิ่ง ส่วนของพืชที่จะขยายพันธุ์ คือ กิ่งพันธุ์ดี ส่วนของพืชที่เป็นระบบราก คือ ต้นตอ มีดขยายพันธุ์ หรือ คัตเตอร์ กรรไกรตัดแต่งกิ่ง พลาสติกพันกิ่ง วัสดุที่ใช้ในการคลุมกิ่ง เช่น เชือก ถุงพลาสติกขนาดเล็ก ถุงกระดาษคลุมกิ่ง แผ่นพาราฟิล์ม

ยอดมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่า ที่แตกมาจากต้นใหญ่ เลือกขนาดกิ่งที่ใกล้เคียงกับยอดพันธุ์ดี

ขั้นตอนการขยายพันธุ์แบบต่อกิ่งมะเดื่อฝรั่ง บนต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือป่า

  1. การเตรียมต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่า เลือกยอดของต้นตอ หรือกิ่งแขนงตามลำต้นที่มีขนาดใกล้เคียงกับกิ่งมะเดื่อฝรั่งพันธุ์ดี เช่น มะเดื่อพันธุ์ญี่ปุ่น, บราวน์ตุรกี, โคนาเดีย เป็นต้น เลือกตัดกิ่งแขนงของต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่าบริเวณที่ไม่มีข้อ หรือตา ให้เป็นมุมฉากเพื่อใช้มีดผ่าง่าย และแผลเรียบ สวย ผ่าต้นตอตามยาว ให้ลึกประมาณ 1-2 นิ้ว แล้วแต่ขนาดของกิ่ง
  2. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี และเลือกกิ่งพันธุ์ดีให้มีขนาดใกล้เคียงกับต้นตอ ใช้มีดปาดเฉือนโคนกิ่งมะเดื่อฝรั่งพันธุ์ดีให้เฉียงลงทั้งสองข้างให้เป็นรูปลิ่ม ให้แผลมีความยาว ประมาณ 1-1.5 นิ้ว
  3. การเสียบกิ่งพันธุ์ดีบนต้นตอ ใช้มีดผ่ากลางบนต้นตอ ลึก 1-1.5 นิ้ว ให้ใกล้เคียงกับแผลยอดมะเดื่อพันธุ์ดี จากนั้นเสียบโคนกิ่งพันธุ์ดีให้แนวเนื้อเยื่อเจริญของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีทับแนบกันให้มากที่สุด แต่ในกรณีที่ขนาดแผลของต้นตอใหญ่กว่ายอดมะเดื่อฝรั่งพันธุ์ดี ก็จะต้องเสียบยอดให้แผลของเนื้อไม้ชิดกันด้านใดด้านหนึ่ง พันด้วยเทปพลาสติกให้แน่นบริเวณจากด้านล่างขึ้นบน พันบริเวณรอยต่อให้แน่นไม่ให้น้ำเข้าแผลได้ ส่วนเหนือแผลขึ้นมาคือตายอดพันธุ์ดี จะใช้แผ่นพาราฟิล์มพันส่วนยอดเอาไว้เพื่อรักษาความชื้นของยอดมะเดื่อฝรั่ง (ซึ่งแผ่นพาราฟิล์มจะนำมาใช้แทนถุงพลาสติก (ถุงร้อน) มาครอบยอดเอาไว้) ไม่นานหลังเสียบยอดประมาณ 7-10 วัน ยอดมะเดื่อฝรั่งก็จะแตกยอดอ่อนแทงทะลุแผ่นพาราฟิล์มออกมาโดยที่เราไม่ต้องไปกรีดช่วยแต่อย่างใด แล้วแผ่นพาราฟิล์มก็จะย่อยสลายไปเองโดยที่ไม่ต้องไปทำอะไรเลย
  4. หลังเปลี่ยนยอดได้ สัก 4-8 เดือน ยอดมะเดื่อฝรั่งที่เปลี่ยนยอดก็พร้อมจะให้ผลผลิต แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ คือ การลิดใบของมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่า ต้นตอที่จะแตกออกมา ซึ่งอาจจะแย่งอาหารมะเดื่อฝรั่งที่เราเสียบเอาไว้
ตัดยอดมะเดื่อต้นตอทิ้งไป
ใช้มีดผ่ากลางลำต้นของต้นตอที่จะเสียบ หรือต่อยอด
ผ่าให้แผลมีความลึก 1-1.5 นิ้ว
ใช้มีดปาดโคนกิ่งด้านที่หนึ่งให้เฉียงลงดังภาพ
ปาดด้านที่สองให้แผลเฉียงลงเช่นกัน
จะได้แผลเป็นรูปลิ่มดังภาพ โดยแผลก็ต้องมีความยาว 1-1.5 นิ้ว ใกล้เคียงกับแผลของต้นตอ
นำยอดมะเดื่อฝรั่งเสียบลงที่เเผลของต้นตอ
พันพลาสติกขยายพันธุ์จากด้านล่างขึ้นข้างบนให้แน่น
พันให้มิดรอยต่อของแผลให้แน่น
จากนั้นพันพลาสติกวนลงมาด้านล่างอีกครั้งให้แน่น
เสร็จขั้นตอนการพันรอยเชื่อมของแผล
พันแผ่นพาราฟิล์มในส่วนของยอดมะเดื่อฝรั่งจากด้านล่างขึ้นข้างบน
พันให้มิดยอดมะเดื่อฝรั่งไม่ให้น้ำเข้าได้
หลังจากนั้น 7-10 วัน ยอดมะเดื่อฝรั่งก็จะแทงทะลุแผ่นพาราฟิล์มออกมาเอง
.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562