หว้า เป็นพืชอาหารมากคุณค่า เป็นยาสรรพคุณสูง

ในช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าว เหงื่อไหลไคลย้อยกัน มองในแง่ดี ที่คงจะช่วยลดน้ำหนักได้มากโขอยู่ มองในแง่ร้าย ก็เป็นความทุกข์ทางกายอย่างหนึ่ง ที่ไม่สดชื่นรื่นรมย์นัก พาลหงุดหงิด อารมณ์เสีย หาที่ร่มเย็นๆ หลบไอร้อนใต้ต้นไม้ใหญ่ดีนักแล และเหมือนธรรมชาติจะสร้างโลกให้มีสิ่งดับร้อนให้มนุษย์ ร่มไม้ ชายป่า ขุนเขา น้ำตก ลำธาร ทะเล และยังมีผลไม้ ให้กินชุ่มคอดับร้อนได้อีกมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลาย ทั้งคนแก่ เด็กหนุ่มสาว ชื่นชอบ และชื่นชมว่าดีแท้ หลบมาใต้ร่มไม้ชนิดหนึ่ง ออกลูกเป็นพวงโต สีม่วงแดงคล้ำถึงดำ ผลคล้ายองุ่น กลมรีทรงกระบอก เขาเรียกกันว่า “ลูกหว้า” ไม้ที่ให้ร่มเงาคือ “ต้นหว้า”

ต้นหว้า (Jambolan Plum) เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาว เป็นพืชในวงศ์ MYRTACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium cumini มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียเขตร้อน ตั้งแต่อินเดีย พม่า ไทย ไปทั่วทั้งอาเซียน พบมากในป่าดิบชื้น ป่าผลัดใบ ใกล้แหล่งน้ำ ตั้งแต่ชายทะเลถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,000 เมตร และพบมีแพร่ขยายเข้าสู่เขตเมือง ชุมชน สวนหลังบ้าน ในป่าจะพบต้นหว้า สูง 10-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีเทา ผิวเปลือกเรียบ แตกกิ่งมาก ถ้าขึ้นในที่โล่ง ในสวน ในชุมชน ต้นจะแผ่พุ่มกว้าง เนื่องจากได้แสงแดดมาก แตกกิ่งมาก แข็งแรง ต้านทานลมแรงได้ดี ปลายกิ่งจะห้อยย้อยลง ไม้หว้าใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่มได้ดี ใบต้นหว้าจะดก ใบใหญ่ หนา แน่นทึบ ออกดอกเป็นช่อ เป็นกระจุกที่ซอกใบ และปลายยอด กลีบดอกสีขาว ฐานรองดอกรูปกรวย มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ มีเกสรตัวผู้มาก ออกดอกติดผลราวเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อผลเริ่มแก่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพู สีม่วงแดง แล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ เมื่อแก่จัด ผลเป็นรูปรี รูปกระสวย ทรงกระบอก ปลายผลบุ๋มเป็นหลุม ผลขนาดเท่าข้อปลายนิ้วมือ รสเปรี้ยว ฝาด ในผลมีเมล็ดรูปไข่ 1 เมล็ด

หว้า มีชื่อเรียกแต่ละถิ่นต่างกัน เช่น ห้าขี้แพะ ไม้ห้า หว้าป่า หว้าขี้นก หว้าขาว (ชนิดผลสีขาว) มีพืชชนิดเดียวกัน แต่ต่างกันที่ขนาด รูปทรงผลเล็กน้อย ทางเหนือ เรียก “มะเกี๋ยง” เป็นไม้ในตระกูลเดียวกัน เหมือนกันมาก มะเกี๋ยง จะมีผลกลม สั้นป้อม ใบยอดอ่อนมีก้านสีแดง เป็นไม้ป่าของไทยแท้ๆ นำมาเป็นผลไม้ แปรรูปเป็นน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ ทำแยม ทำไวน์ ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ฯลฯ ได้เช่นเดียวกับลูกหว้า ส่วนหว้า เป็นไม้จากชมพูทวีป ก็คือทาง อินเดีย เนปาล ถึงปากีสถาน ชาวฮินดู เรียกว่า “จามาน หรือ จามูน” มีวางขายในตลาดสดของแถบนั้นมากมาย มีหลายเกรด หลายขนาด และหลายสายพันธุ์ เป็นที่นิยมรับประทานของชาวฮินดู และเข้าใจกันว่า หว้า เป็นผลไม้ 1 ใน 8 ชนิด ที่สามารถนำมาทำ “น้ำปานะ” สำหรับถวายพระสงฆ์ นักบวช ได้

ลูกหว้า มีรสเปรี้ยว เมื่อผลแก่ งอม ฉ่ำนิ่มเกือบเละแล้ว มีรสหวาน อร่อยมาก ผลแก่จิ้มเกลือกินแก้ร้อนได้ดีมาก ผลสุกลูกหว้า นำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม ได้เครื่องดื่มที่มีสีม่วง อร่อย เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แก้ท้องร่วง แก้บิด บำรุงร่างกาย ทำน้ำผลไม้ ทำไวน์ ผลดิบรสฝาด เป็นยากินแก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง ผลตากแห้งบดละเอียด หรือผลสดต้มน้ำดื่ม แก้อาการหอบหืด แพ้อากาศ วัณโรค ใบและเปลือกต้นหว้า สกัดได้น้ำมันหอมระเหย ใช้ผสมหรือใช้เป็นยา ช่วยย่อยอาหาร ลดการจับตัวลิ่มเลือด ต้านแบคทีเรียบางชนิด ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง บิด ใช้อมแก้ปากเปื่อย คอเปื่อย ใบกินแก้บิด เมล็ดแก่ เป็นยาถอนพิษ แก้บิด แก้ท้องร่วง มีธาตุเหล็ก ให้คุณค่าในการบำรุงรักษากระดูกและฟัน ใบและเมล็ด มีสารช่วยลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวานได้ดี เชื่อว่าทุกส่วนของต้นหว้า มีสารต้านอนุมูลอิสระก่อเกิดมะเร็งร้ายด้วย

ประโยชน์ทางอาหาร นอกจากจะใช้ยอดอ่อนเป็นผักกินกับอาหารประเภท ลาบ ยำ น้ำพริกได้แล้ว ที่ผลลูกหว้า ยังให้คุณค่าทางอาหารแก่ร่างกาย ประกอบด้วย พลังงาน 60 กิโลแคลอรี เส้นใยอาหาร 0.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 14.0 กรัม โปรตีน 0.995 กรัม ไขมัน 0.23 กรัม วิตามินบีหนึ่ง หรือไทอะมีน 0.019 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง หรือไรโฟลาวิน 0.009 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม หรือไนอะซิน 0.245 มิลลิกรัม     วิตามินบีหก หรือไพริด็อกซิน 0.038 มิลลิกรัม วิตามินซี 11.85 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 55.0 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 35 มิลลิกรัม โซเดียม 26.2 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 15.6 มิลลิกรัม แคลเซียม 11.65 มิลลิกรัม เหล็ก 1.41 มิลลิกรัม

ต้นหว้า เป็นต้นไม้ในตำนานเล่าขาน บันทึกในคัมภีร์พุทธประวัติ ภาษาบาลีสันสกฤต ว่า พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังพระชนม์เพียง 7 พรรษา ได้เสด็จตามพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ไปพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้ประทับหลบร้อนใต้ต้น “ชมพู” ก็คือ “ต้นหว้า” นั่นเอง เป็นพุ่มไม้ที่มีความดกหนากำบังแสงแดด ความร้อนได้ตลอดทั้งวัน ไม่ว่าดวงตะวันจะเคลื่อนคล้อยเปลี่ยนทิศเปลี่ยนเวลาไป อย่างไรก็ตาม เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น ยังมีร่มเงาใต้ต้นที่ร่มรื่นอยู่เช่นนั้น เนื่องเพราะขณะพระองค์ประทับนั่งสมาธิใต้ร่มต้นหว้า หรือต้นชมพู จนเกิดความวิเวก กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก บรรลุปฐมญาณ เกิดปาฏิหาริย์ เงาตะวันไม่เคลื่อนที่ จนพระเจ้าสุทโธทนะ ก้มกราบพระราชบุตร ณ กาลเวลานั้น ด้วยความศรัทธา ต้นหว้า หรือต้นชมพู คือที่มาของคำว่า “ชมพูทวีป” ดินแดนภารตะที่รู้จักกันทั่วไป

ลูกหว้า ผลไม้ป่าที่เชื่อว่าจะมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่างต่อไปได้ และในวันนี้ ผลลูกหว้า เริ่มเข้าสู่ตลาดสดกันบางพื้นที่แล้ว เนื่องจากเวลานี้ ค่านิยมของคนมากขึ้น และพบเห็นต้นหว้าในพื้นที่ต่างๆ มีมากขึ้น เชื่อว่าเป็นการแพร่พันธุ์โดยสัตว์ เช่น นก กระรอก กระแต หนู และที่สำคัญคือ คน ได้เริ่มช่วยจัดการแพร่พันธุ์กันมากยิ่งขึ้น อาจจะถึงขั้นปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในอนาคต ของดีดีมีประโยชน์ต่อคนเราอย่างนี้ ชวนให้ติดตามเป็นที่สุดเลย

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564