ปลูก “มะม่วงหิมพานต์” ไว้กินเล่นที่บ้าน ปลูกง่าย โตเร็ว แค่ 2 ปี ให้ผลผลิตนานหลายสิบปี

ปี 2560 อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน มีหลายชุมชนเกษตรที่พิจารณาจัดทำโครงการขยายพันธุ์พืช เพื่อจะได้มีพันธุ์พืชปลูกในพื้นที่ พืชหลักๆ ที่ขยายพันธุ์ โดยฝีมือเกษตรกรเอง แต่ตามหลักวิชาการเกษตร มีพืชที่เพาะขยายด้วยเมล็ด ลงถุงขนาดตามความเหมาะสม และวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนนำไปดำเนินการต่อ เช่น นำไปปลูกในสวน นำไปตั้งประดับบ้านเรือน ผลผลิตที่ชุมชนเกษตรอำเภอน้ำปาดทำได้ รวมจำนวน 2,248,900 ต้น

ประกอบด้วย ต้นดาวเรือง กว่า 160,000 ต้น มะม่วง 374,600 ต้น มะขามเปรี้ยว 277,800 ต้น ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ซางหม่น กว่า 43,000 ต้น และที่มีความตั้งใจผลิตออกมาเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน และวาดฝันให้พื้นที่เกษตรอำเภอน้ำปาด เป็นแดนพืชผลที่อนาคตไกล คือ มะม่วงหิมพานต์ ผลผลิตกว่า 1,364,000 ต้น ณ วันนี้ เริ่มทยอยจากเรือนเพาะชำทั้ง 23 โรงเรือน 4 ชุมชน สู่ชุมชน สู่ผืนดิน เพื่อนำมาซึ่งความยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

การเกษตรหลายพื้นที่ กำลังคิดจะเปลี่ยนแปลงปลูกพืชอื่น เพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง อาทิ ด้านราคาตกต่ำ การระบาดของศัตรูพืช ความผันผวนของดินฟ้าอากาศ การขนส่งผลผลิต ครั้นจะรื้อไร่นาสวนผสม ปลูกพืชใหม่เลยก็ตัดสินใจยาก จึงอยากแนะนำให้ปลูก “มะม่วงหิมพานต์” แซมในไร่ในสวน สัก 2 ปี พอปีต่อไปจะทิ้งพืชเดิม หรือจะเอาไว้เป็นพืชแซมกันก็ได้

มะม่วงหิมพานต์ พืชตระกูลเดียวกับมะม่วงทั่วไป แต่มีความแปลกพิสดารที่ลักษณะผล เมล็ดโผล่อยู่นอกผลห้อยติดอยู่ตรงปลายลูก ดูแปลกประหลาดจากไม้ผลทั่วไปที่สุด ซึ่งที่จริงแล้วในทางพฤกษศาสตร์ ผลที่เห็นเป็นสีเขียวเหลืองหรือเมื่อแก่จะสุกแดงน่ากินนั้นคือ การพองตัวของก้านดอก เป็นผลปลอมหรือผลเทียม ส่วนผลจริงนั้นคือ เมล็ดที่ติดอยู่ส่วนปลาย สีเทาหรือดำ เมื่อกะเทาะเอาเนื้อในสีขาว เอามาตากแห้งทอดหรืออบให้สุก ก็คือ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เราๆท่านๆ ชอบใช้เป็นของขบเคี้ยวยามว่าง

เดิมทีนั้น มะม่วงหิมพานต์ มีอยู่แถวทวีปอเมริกาใต้ คือถิ่นกำเนิดเขาอยู่ที่โน่น แถบประเทศบราซิล มีชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นนักล่าขยายอาณานิคม นำเอามะม่วงหิมพานต์ จากโน่นไปแพร่ขยายไปทั่ว ในสมัยศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะถิ่นที่เป็นเขตอิทธิพล เช่น ทวีปแอฟริกา ประเทศโมซัมบิก แทนซาเนีย เคนยา มาดากัสการ์ เข้ามาถึงเอเชีย ประเทศอินเดีย แถบฝั่งมลายู เข้าพม่ามาสู่เขตประเทศไทยที่จังหวัดระนอง

Photo by ISSOUF SANOGO / AFP

เชื่อว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซัมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้นำมาแพร่ขยาย จนมีปลูกกันทั่วประเทศ และมีอีกหลายท่านที่นำมะม่วงหิมพานต์เข้ามาปลูกในไทย เช่น พ.ศ. 2504 นายเธท ซีน จากองค์การ เอฟ เอ โอ. นำพันธุ์มาให้กรมกสิกรรม (สมัยนั้น) จำนวน 80 เมล็ด ปลูกที่สถานีทดลองไหมจังหวัดศรีสะเกษ และปลูกที่สถานีโป่งแรด จังหวัดจันทบุรี ปี 2511 นายมาซูโอ ชาวญี่ปุ่น นำพันธุ์มะม่วงหิมพานต์จากอินเดีย อีก 20 สายพันธุ์ มาปลูกที่สถานีทดลองพืชสวนฉวี จังหวัดชุมพร ปี 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์มาจากบราซิล ทดลองปลูกที่สถานีทดลองยางกระบุรี จังหวัดระนอง ปัจจุบันขยายไปทั่วประเทศไทย

มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ผลยืนต้นเขตร้อน ประเภทไม้ผลัดใบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ANACADIACEAE ชื่อสามัญว่า Cashew หรือ Cashew Nut “แคชชู” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษาอินเดียนแดงเผ่าทาปิ ในประเทศบราซิล เรียกว่า อาคาฮู แต่ชาวโปรตุเกสเรียกสั้นลงว่า คาฮู เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า CASHEW มีชื่อภาษาไทยว่า มะม่วงหิมพานต์ บางแห่งเรียก ยาร่วง เล็ดล่อ กาหยู มะม่วงสิงหล ฯลฯ

เป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว เพียงแค่ 2 ปี ให้ผลผลิตนานหลายสิบปี ไม่ยุ่งยากในการดูแลรักษา ปลูกทิ้งปลูกขว้างก็ทำได้ บางทีปลูกทิ้งไว้หัวไร่ปลายนา ข้างรั้วก็เก็บเมล็ดขายได้ เดี๋ยวนี้มีปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน ก็ต้องปลูกกันแบบนักเกษตรกรรมเขาทำกัน ก็คือ ต้องอิงหลักวิชาการเกษตรเข้าช่วย ไม่ใช่ว่าจะปลูกปล่อยทิ้งขว้าง เหมือนเมื่อก่อนปลูกเล่นๆ ไม่หวังได้ขึ้นได้ขาย แต่ถ้าเราปลูกเพื่อเป็นรายได้ละก็ต้องเพิ่มทักษะเข้าไปด้วย

พันธุ์มะม่วงหิมพานต์ มีมากกว่า 400 พันธุ์ ถ้าแยกตามสีผลก็มี สีเหลือง สีแดง สีครั่ง และสีแดงปนชมพู พันธุ์ที่ปลูกต้องให้ผลผลิตเมล็ดสูง ขนาดเมล็ดต้องใหญ่ มีน้ำหนักไม่เกิน 200 เมล็ด ต่อกิโลกรัม คุณภาพเมล็ดดี สีสวย เปอร์เซ็นต์กะเทาะดี ไม่น้อยกว่า 25% ต้านทานโรคแมลงศัตรูพืชได้ดี ผลปลอมมีขนาดเล็ก ติดช่อมาก เมล็ดเนื้อในแน่นไม่เป็นโพรง เปลือกบาง น้ำมันน้อย กะเทาะง่าย ทรงต้นเตี้ย ปลูกได้จำนวนต้นต่อไร่มาก พันธุ์ที่มีส่งเสริมให้ปลูก ได้แก่ พันธุ์ ศรีสะเกษ 60-1 (ศก 5.0), 60-2 (ศก 5.10) พันธุ์ศิริชัย 25 พันธุ์อินทร์สมิต เป็นต้น

ใบมะม่วงหิมพานต์

การปลูกสามารถปลูกด้วยเมล็ดแก่ที่แช่น้ำแล้วนำลงหยอดหลุมได้เลย หรือเพาะเมล็ดลงถุงดินก่อน 2 เดือน ย้ายปลูก  เมล็ดนั้นต้องคัดเอามาจากต้นพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง การปลูกด้วยกิ่งตอน ต้องเป็นกิ่งที่ตอนมาจากต้นอายุ 5-6 ปีแล้ว กิ่งต้องสมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงรบกวน ปกติการตอนจะใช้ฮอร์โมน ไอบีเอ ความเข้มข้น 500 ppm. หรือจะปลูกด้วยกิ่งที่ติดตา หรือเสียบยอดใหม่ ระยะปลูก ระหว่างต้น 6 เมตร ระหว่างแถว 6-7 เมตร จะปลูกเป็นตารางสี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยม ในระยะปลูกนี้ก็ได้

ถ้าปลูกแซมพืชอื่น ควรเว้นช่องหลุมปลูกเพื่อเอาผลผลิตพืชนั้นออก หลุมปลูก 50 เซนติเมตร ลึกพอประมาณ ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับหน้าดินกลบต้น การให้ปุ๋ยเคมี ใช้สูตรคำนวณแบบวิชาการ วัดจากโคนต้นขึ้นมา 90 เซนติเมตร วัดเส้นผ่าศูนย์กลางต้น 2.5 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม แต่ถ้าจะให้ดีเจาะดินไปตรวจวิเคราะห์หาค่าธาตุอาหารพืชก่อนจะดีมาก

มะม่วงหิมพานต์ มีประโยชน์ สารประกอบที่มีอยู่ในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ได้แก่ น้ำ 5.9% โปรตีน 21.0% ไขมัน 47.0% คาร์โบไฮเดรต 22.0% แร่ธาตุ 2.4% แคลเซียม 0.5% ฟอสฟอรัส 0.4% เหล็ก 5.0 มิลลิกรัม แคโรทีน 100 i.u/100 กรัม

แต่ที่เปลือกหุ้มเมล็ดจะมีน้ำมันออกฤทธิ์เป็นกรดอย่างแรง คือกรดอานาคาร์ดิก 90% และกรดคาดอล 10% ถ้าถูกผิวหนังจะพองเป็นแผลเปื่อย แต่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทำสีย้อม และใช้ทาผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆป้องกันปลวก มอด แมลง ผสมน้ำมันก๊าด หรือพาราฟินเหลว ราดแอ่งน้ำกำจัดลูกน้ำยุง เปลือกใช้เผาสุมไฟป้องกัน หรือไล่ยุงได้ เป็นยารักษาโรคผิวหนัง อุตสาหกรรมพลาสติก สี ผ้าเบรกรถ แผ่นคลัตช์รถ กระเบื้องยางปูพื้น ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้า สามารถทนต่อกรด ด่าง ความร้อน และแรงเสียดสีได้ดี

ณ วันนี้ มะม่วงหิมพานต์ มีปลูกกันแพร่หลายไปทั่ว กำลังจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของบ้านเรา ถึงแม้จะต้องแข่งขันกับประเทศต้นกำเนิดและประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ แต่เชื่อเหลือเกินว่าด้วยศักยภาพของพื้นที่ ของเกษตรกร ของระบบการพัฒนาผลิตผลการเกษตรของประเทศไทย เราสู้เขาได้สบายมาก โดยเฉพาะถ้าเกษตรกรเรามีแนวคิดเปลี่ยนปรับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มักจะได้รับผลกระทบเชิงลบ มาปลูกพืชผสมดูบ้าง แล้วเราคงจะห่างไกล และหลุดพ้นจากคำว่า “ปัญหา” ไปได้อย่างยั่งยืน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.256