ปลูกมัลเบอร์รี่แบบอุโมงค์ ดูแลจัดการง่าย ดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี

ที่สวนแม่หม่อน ใช้วิธีการปลูกแบบแบ่งโซน มีการจัดกิ่งให้โน้มเข้าหากันคล้ายอุโมงค์ เพื่อง่ายต่อการดูแลเก็บเกี่ยวผลผลิต และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม เก็บผลสดถ่ายรูปได้ตลอดทั้งปี วิธีการไม่ยาก แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน ถ้าปลูกที่บ้าน ให้ปลูกแค่ 4 ต้น สมมุติว่า ที่สวนมี 400 ต้น ให้แบ่งปลูกเป็นโซน โซนละ 100 ต้น

คุณนันทวัน โตอินทร์ หรือ ครูไก่ เจ้าของสวนแม่หม่อน

100 ต้นแรก ให้ตัดแต่งกิ่งและยอด เอาใบออก แล้วจับกางออกให้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง แล้วนับตั้งแต่วันตัดแต่งกิ่ง 50 วัน จะเริ่มเก็บลูกได้ ระยะเวลาในการเก็บลูก 20 วัน ถึง 1 เดือน ลูกจะหมด เพราะฉะนั้น 100 ต้นแรก แต่ง วันที่ 1 ของเดือนมกราคม เว้นไว้ 1 เดือน วันที่ 1 ของเดือนกุมภาพันธ์ มาแต่งอีกโซน ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 4 โซน พอครบก็จะกลับมาโซนที่ 1 ใหม่ 1 ต้น 1 ปี จะตัดได้ 3 ครั้ง ด้วยวิธีนี้มัลเบอร์รี่ที่นี่จึงไม่ขาดลูกเลยตลอดทั้งปี

ระยะห่างระหว่างแถว 4×4 เมตร
ต้นโตดี ให้ผลผลิตดก

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้สอนให้เจ้าของรู้ เริ่มต้นเคยปลูกห่างกันแค่ 2 เมตร ผ่านมา 1 ปี ต้นโตชนกัน พอชนเรามาคิดละว่า ทำไงดี จึงใช้วิธีขุดล้อมยกทั้งเบ้าไปปลูกที่อื่น หลังจากนั้น จึงค้นพบว่า ระยะห่างที่เหมาะสมคือ 4×4 เมตร เพื่อให้กิ่งแผ่รับแสงแดดได้เต็มที่ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ทำงานสะดวก เก็บผลง่ายเวลาเดินเก็บไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง” ครูไก่ บอก

ระบบน้ำ เนื่องจากอำเภอวังน้ำเขียว เป็นอำเภอที่มีหมอกหนา น้ำค้างเยอะ ที่สวนจึงใช้สปริงเกลอร์สูง รดจากด้านบนลงมา ตั้งแต่ตี 5 ข้อดีคือ ชุ่มชื้น ล้างใบป้องกันโรคได้ดี แต่ข้อเสียของสปริงเกลอร์คือ เปลืองน้ำ หญ้าขึ้นเยอะ

อุโมงค์มัลเบอร์รี่เอาใจนักท่องเที่ยว

ตัดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ย

เจ้าของบอกว่า ให้นับตั้งแต่วันที่เก็บลูกรุ่นแรกหมด พักไว้แล้วใส่ปุ๋ยคอก รดน้ำ พักทิ้งไว้ให้ต้นเก็บอาหารอย่างน้อย 2 เดือน แล้วตัดใหม่ ปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ตามสูตรของวิศวกรรมแม่โจ้ ลงสม่ำเสมอ เยอะไม่เป็นไร จะเป็นมูลอะไรก็ได้ ที่นี่จะใช้มูลวัว เพราะโดยแวดล้อมเกษตรกรเลี้ยงวัวเยอะ ถ้าที่อื่นมีฟาร์มหมูหรือฟาร์มไก่ ก็ใช้ได้เช่นกัน

ศัตรูพืชน้อย
ป้องกันและกำจัดโรคแมลงไม่ยาก

ที่สวนแม่หม่อน จะไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง เพียงแค่ปรับวิธีคิดใหม่ ขยันมากขึ้น ถึงเวลาตัดแต่งกิ่ง เมื่อทำเสร็จจะเก็บไปทำปุ๋ยทันที จะไม่กองทิ้งไว้ในแปลง เพราะหัวใจหลักของการป้องกันโรคแมลงคือ ความสะอาด คือ

Advertisement
  1. เมื่อตัดกิ่งและใบ อย่าทิ้งไว้ ให้นำไปทิ้งหรือทำปุ๋ย เพราะการที่กองกิ่งและใบไว้ถือว่าเป็นการสะสมโรคแมลง
  2. ตัดหญ้าให้เตียน เพื่อไม่ให้แมลงหวี่ขาวมารุม
  3. ใช้สารชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาที่ป้องกันเชื้อรา

ปุ๋ยหมักคุณภาพ
สูตรวิศวกรรมแม่โจ้ ประหยัดต้นทุนได้เยอะ

ปุ๋ยหมักที่นี่ทำไม่ยาก ใช้สูตรวิศวกรรมแม่โจ้ ค้นหาตามอินเตอร์เน็ตได้เลย ทำง่าย นำใบและกิ่งที่ตัดทิ้งมาเข้าเครื่องย่อย ให้ได้ 1 กอง ตั้งกองสามเหลี่ยมขึ้นสลับกับมูลวัวเป็นชั้น ที่ตั้งเป็นสามเหลี่ยมเพราะน้ำจะไม่เข้าไปข้างใน สามารถทำกลางแจ้งได้ ไม่ต้องกลับกอง 10 วันแรก รดน้ำทุกวัน หลังจากนั้น เอาไม้แหลมเจาะรูทั่วกอง ห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร เจาะแล้วเอาน้ำกรอกเข้าไป กรอกเสร็จให้ปิดรู เพื่อให้มีความชื้นอยู่ข้างใน 3 เดือน ใช้ได้  ถือว่าเป็นการประหยัดต้นทุน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ผลผลิตดก 75 กิโลกรัม ต่อต้น

ผลผลิตออกตลอดทั้งปี 1 ต้น ใน 1 รุ่น ให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม ต่อต้น 1 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้ 3 ครั้ง ใน 3 รุ่น ได้ผลผลิต 75 กิโลกรัม ต่อต้น

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 100 ต้น

ผลหม่อนส่วนใหญ่แล้วลูกดำจะหวาน แต่บางคนก็ชอบแดง จะมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ทางสวนเปิดให้เดินเก็บเอง ส่วนที่ชิมไม่คิดเงิน แต่จะมีตะกร้าให้เดินเก็บ ตะกร้าละ 50 บาท ถ้าเบื่อแล้วเก็บไม่เต็ม เจ้าของจะเติมให้เต็ม