ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มะม่วง มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า mangifera indica
คำว่า indica มาจากอินเดียนั่นเอง
เนื่องจากนำเข้ามาปลูกเป็นเวลานาน คนไทยส่วนหนึ่ง มีความรู้สึกว่า มะม่วงเป็นไม้ท้องถิ่น พันธุ์ที่ปลูกก็เป็นเอกลักษณ์ ดูแตกต่างจากที่ประเทศอื่นมีอยู่อย่างสิ้นเชิง
เดิมที มะม่วง มีฐานะเหมือนไม้ผลชนิดอื่น คือเสนอตัวให้เกษตรกรเลือกปลูก เสนอตัวต่อผู้บริโภค เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มะม่วงจึงครองใจเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภค ตัวเลขระยะหลังๆ ถือว่ามะม่วงเป็นพืชที่มีพื้นที่ปลูกมาก คือ กว่า 2 ล้านไร่
ผลผลิตเดิมซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในประเทศ ต่อมามีการส่งออก ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัมพันธ์กับงานพัฒนาการปลูกมะม่วงในประเทศไทย
มะม่วงปลูกได้ทั่วถิ่นไทย
พื้นที่ปลูกมะม่วงที่สำคัญนั้นอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้เพราะมะม่วงเป็นไม้เมืองร้อน เหมาะกับสภาพอากาศอย่างไทย
เพราะเป็นไม้ที่ปลูกได้ดี จึงมีพันธุ์ประจำถิ่น
เมื่อก่อนทางภาคเหนือ มีมะม่วง “งา” รูปทรงคล้ายๆ หนังกลางวัน ระยะหลังๆ ทางเหนือปลูกได้หลากหลายพันธุ์ โดยเฉพาะมะม่วงที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทางไต้หวัน ซึ่งมีสีสันสดใส สีชมพู สีแดง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน เดิมเป็นถิ่นของมะม่วงแก้ว ต่อมาเริ่มปลูกเป็นการค้าหลายจังหวัด เช่น ที่อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ผลผลิตส่วนหนึ่ง เขาขนออกจากพื้นที่ปลูก นำไปขายยังเวียดนามและจีน โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ
ภาคกลาง เป็นถิ่นเดิมของมะม่วงที่มีความหลากหลายทางด้ายสายพันธุ์ ทั้งนี้ คงเป็นเพราะเมื่อก่อนนิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ภาคใต้ เดิมมีความเชื่อกันว่า ปลูกมะม่วงได้ดีเฉพาะพันธุ์นาทับและเบาปักษ์ใต้ พันธุ์อื่นมีความเข้าใจว่า ช่วงออกดอกมักจะกลัวฝน
คุณสุรศักดิ์ ศรีอำนวย มีพื้นเพอยู่ทางภาคใต้ แต่มาปลูกมะม่วงอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันเขาสะสมมะม่วงไว้กว่า 70 พันธุ์ เกษตรกรรายนี้เน้นขายกิ่งพันธุ์ ซึ่งมีคนซื้อไปปลูกทุกภูมิภาคของประเทศไทย
คุณสุรศักดิ์ ทดลองนำมะม่วงโชคอนันต์ มันเดือนเก้า สามฤดู แม่ลูกดก ลงไปปลูกในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและบริเวณใกล้เคียง ปรากฏว่า ให้ผลผลิตดี ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะมะม่วงที่เอ่ยชื่อพันธุ์มา เขาออกดอกติดผล ช่วงหน้าฝนทางภาคกลางได้ดีนั่นเอง
รูปแบบการผลิตมะม่วง
สามารถแยกแยะงานปลูกมะม่วงได้ 3 ลักษณะ ด้วยกัน
หนึ่ง.ปลูกไว้รอบบ้าน
พบเห็นกันมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ตามหมู่บ้านจัดสรร จำนวนอาจจะ 1-2 ต้น เจ้าของไม่ได้เน้นว่า จะต้องมีผลผลิตเก็บกิน สิ่งที่ได้คือ ร่มเงา ให้นก กระรอก ได้อยู่อาศัย แต่เมื่อโตขึ้นอาจจะเป็นภาระ ต้องจ้างคนตัดแต่งกิ่ง บางคราวก็ลุกล้ำเขตแดนของเพื่อนบ้าน
หากเจ้าของเข้าใจ เลือกพันธุ์ที่ออกดอกติดผลง่าย เช่น มะม่วงโชคอนันต์ พิมเสนทะวาย แม่ลูกดก ศาลายา เพชรปทุม ก็จะมีผลมะม่วงกินทุกปี
การดูแลอย่างอื่นก็มีความสำคัญ เช่น การตัดแต่งกิ่ง รวมทั้งงดน้ำก่อนที่ต้นมะม่วงจะออกดอก
มะม่วงก็จะมีวงจร ให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
โดยทั่วไปแล้ว ตามหมู่บ้านจัดสรร มักปล่อยให้มะม่วงต้นใหญ่ กิ่งยาว ขาดการเอาใจใส่จากเจ้าของ ทั้งนี้คงเป็นเพราะเจ้าของขาดอุปกรณ์ และไม่มีทักษะ
ถึงแม้มะม่วงไม่ค่อยให้ผลผลิตให้กับเจ้าของ แต่ถือว่ายังดี มีต้นไม้ให้ร่มเงา
สอง.ปลูกผสมผสานกับกิจกรรมเกษตรอื่น
เกษตรกรที่ทำกิจกรรมหลายอย่าง มักมีมะม่วงปลูกผสมผสานเข้าไป
ยกตัวอย่าง นาย ก. มีที่ดิน 10 ไร่ ทำนาข้าว 6 ไร่ ที่เหลือ 4 ไร่ ปลูกผัก เลี้ยงปลา ปลูกไม้ผล
ไม้ผลที่ปลูกสามารถผสมผสานได้หลายชนิด ตั้งแต่กล้วย มะพร้าว ขนุน น้อยหน่า รวมทั้งมะม่วง
มะม่วง 20-30 ต้น ในระบบผสมผสานอาจจะสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกช่วงเดือนเมษายน ตั้งแต่หลักพันบาท ถึงหลักหมื่นบาท มากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของปีนั้นๆ รวมทั้งความเอาใจใส่ดูแลของผู้ปลูก
สาม.ปลูกเป็นการค้าจริงจัง
“ข้าวสุกจากเหนือลงใต้ หมากไม้สุกจากใต้ขึ้นเหนือ”
คนสมัยเก่าก่อนบอกไว้ว่า ข้าวทางเหนือเก็บเกี่ยวได้ก่อนทางภาคกลางและภาคใต้ ส่วนผลไม้ สุกแก่จากทางภาคกลางขึ้นไปทางภาคเหนือ เป็นคำที่กล่าวถึงข้าวและผลไม้ในฤดูปกติ โดยมีเรื่องของสภาพอากาศ มาเกี่ยวข้อง
มะม่วง ตรงกับสิ่งที่คนสมัยก่อนบอกไว้ คือมีผลผลิตเก็บขายทางภาคกลางก่อน ภาคเหนือตอนบน อย่างทางเชียงใหม่เก็บได้หลังสุด
ขอแนะนำแหล่งปลูกมะม่วงเป็นการค้าจริงจัง จากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ
แหล่งปลูกเป็นการค้าจริงจังล่างสุดคือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ถือว่าเป็นภาคตะวันตก
ขยับเหนือขึ้นมาหน่อยเป็นภาคตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว
ภาคกลาง มีสระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อุทัยธานี
ตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย กาฬสินธุ์ อุดรธานี
ภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบน ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย
เหนือสุดของประเทศ มีลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน
แหล่งปลูกเพื่อการค้าที่สำคัญ อยู่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ พื้นที่รวมกว่า 2 แสนไร่
งานดูแลมะม่วง ไม่ใช่เรื่องยาก
มะม่วง เป็นพืชที่มีความอดทน อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมะม่วงยืนต้นอยู่ตามคันนา พุ่มใบขนาดใหญ่ ถึงต้นปีก็ออกดอก เข้าสู่ต้นฝนก็ให้เจ้าของเก็บกินได้ ถือว่า เป็นมะม่วงที่ปล่อยให้มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ
อาจารย์สมาน ศิริภัทร นักวิชาการเกษตรอาวุโส เคยกล่าวไว้ว่า “ปลูกมะม่วง ต้องดูแลอย่างมะม่วง” ขยายความได้ว่า มะม่วงมีความอดทนแข็งแรง ไม่ต้องดูแลมาก หากดูแลมาก สิ่งที่ตามมาคือ ความอ่อนแอของต้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
งานปลูกมะม่วงที่ไม่ได้ทำเป็นการค้า อาจจะไม่จำเป็นในเรื่องปัจจัยการผลิต แต่หากเป็นการค้าแล้วต้องเพิ่มปัจจัยให้ แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องครบ 100 เปอร์เซ็นต์ นานมาแล้ว ลุงเที่ยง สุขนิยม อยู่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ปลูกมะม่วงโชคอนันต์ 3,000 ไร่ ไม่มีระบบน้ำให้เลย แต่ก็สามารถเก็บขายได้ดี ปัจจุบัน ลุงเที่ยงเสียชีวิตแล้ว มีลูกดูแลกิจการต่อ
คุณสุวิทย์ คุณาวุฒิ ปลูกมะม่วงส่งออกอยู่อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ 250 ไร่ ไม่มีระบบน้ำให้ จึงต้องเร่งใส่ปุ๋ยก่อนหมดฝน ผลผลิตออกมามีคุณภาพเช่นกัน คุณสุวิทย์ บอกว่า หากมีระบบน้ำก็ดี จะสามารถวางแผนระยะผลผลิตออกสู่ตลาดได้
ยุคเก่าก่อน งานดูแลมะม่วง อาจจะเป็นเรื่องยาก
ปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ผู้อยากปลูกมะม่วง สามารถหาความรู้ได้จากเกษตรกรข้างเคียง สื่อต่างๆ ก็มีอยู่มากมาย ที่สำคัญ เรื่องของการปลูกเป็นการค้า เขารวมกลุ่มกัน มีนักวิชาการเกษตรไปให้ความรู้ มีตัวแทนผู้ซื้อส่งออกไปย้ำคุณสมบัติมะม่วงที่ตลาดต่างประเทศต้องการ
เพราะการสื่อสาร รวมทั้งสังคมชาวสวนได้พัฒนาขึ้น วิธีการผลิตมะม่วงนอกฤดู จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ปลูกน้อยขายยาก ปลูกมากขายง่าย
มะม่วง เป็นผลไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่ บริโภคได้ง่าย…ยกตัวอย่างหากมีข้าวเหนียวมูนสักเล็กน้อย กับมะม่วงน้ำดอกไม้ 1 ผล ก็สามารถกินได้หมด อิ่มพอดี
หากจะกินมะม่วงสุกเปล่าๆ ก็ทำได้ ผลหนึ่งไม่อิ่มก็ต่อผลที่สอง
เพราะแบบนี้เอง ทำให้มะม่วงครองใจผู้บริโภคมาต่อเนื่อง
ปีหนึ่งๆ มะม่วงของไทยมีผลผลิตมากกว่า 3 ล้านตัน
ผลผลิตที่มีอยู่ บริโภคกันภายในประเทศ ในรูปของมะม่วงดิบ (มัน) มะม่วงสุก และมะม่วงแปรรูป
สำหรับการส่งออก มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะมีตลาดใหม่ ไม่ไกลจากไทย ขนส่งได้เร็วขึ้นอย่างเวียดนาม จีน
มีคนพูดถึงตลาดมะม่วงไว้ว่า “ปลูกน้อยขายยาก ปลูกมากขายง่าย” ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย ทุกวันนี้ เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกัน เช่น กลุ่มบ้านแฮด ขอนแก่น กลุ่มวังโป่ง เพชรบูรณ์
ที่รอยต่อสามจังหวัด อย่าง พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ยามใดมีผลผลิต ผู้ซื้อจะนำตู้คอนเทนเนอร์ไปจอด เก็บผลผลิตส่งออกเลย สำหรับประเทศปลายทางที่ไม่ต้องอบกำจัดไข่แมลงผลไม้
กรณีพื้นที่ปลูกมาก ผลผลิตมีมาก เมื่อเข้าไปซื้อ ผลผลิตจึงเพียงพอ ลดต้นทุนการขนส่งได้มาก เรื่องของการปลูกมากขายง่าย จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริง
มะม่วง สร้างงานทำเงินอย่างต่อเนื่อง
มะม่วง เป็นพืชที่ช่วยสร้างงานทำเงินอย่างต่อเนื่อง
มีผู้ผลิตกิ่งพันธุ์มะม่วงจำหน่ายมานานแล้ว แต่ก็ยังสามารถยึดเป็นอาชีพได้อยู่ สาเหตุเพราะมะม่วงที่ปลูกอยู่ได้ตายลงจึงปลูกทดแทน พันธุ์เก่าๆ โบราณ อย่าง พราหมณ์ขายเมีย น้ำตาลเตา ขายตึก ยังมีเสน่ห์อยู่คนจึงหาซื้อปลูก
ครั้นเมื่อมีพันธุ์ใหม่ๆ เซียนมะม่วงก็ไม่อยากพลาด อย่าง พันธุ์ผลใหญ่สีสวย หลังๆ มาจากไต้หวัน
พื้นที่ปลูกมะม่วงมีมาก ส่งผลให้ปัจจัยการผลิตจำหน่ายได้ดี ปัจจัยการผลิตที่ว่า มีตั้งแต่เครื่องจักรกลการเตรียมดิน สารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ย อุปกรณ์การแปรรูป อุปกรณ์ห่อผล รถยนต์ขนผลผลิต รวมไปถึงธนาคารพาณิชย์ที่รับฝากเงินของเกษตรกรที่ได้จากการขายมะม่วง
มะม่วงช่วยให้คนมีงานทำ
มะม่วง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวคนไทย
สุดท้าย มะม่วงนำเงินตราเข้าประเทศ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560