“เห็ดถัง” จุดเริ่มต้นสร้างอาชีพเสริม จากต้นทุน 50 บาท สู่งานสร้างรายได้แซงงานประจำ ของหนุ่มขอนแก่น

ที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกท่านคงเคยเห็นวิธีการเพาะเห็ดกันมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะในโรงเรือน เพาะในถุง เพาะในตะกร้า เพาะในวงบ่อซีเมนต์ หรือจะเพาะในขอนไม้ ก็เคยเห็นกันมาหมดแล้ว ฉะนั้น ในครั้งนี้เทคโนโลยีชาวบ้านก็จะมาแบบธรรมดาไม่ได้ เพราะเรามีไอเดียการเพาะเห็ดรูปแบบใหม่มานำเสนอให้กับแฟนๆ ทุกท่าน นั่นก็คือ การเพาะ “เห็ดถัง” ซึ่งขอบอกว่าวิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่น้อย อาศัยอยู่ในเมือง หรือท่านที่อาศัยอยู่ตามคอนโดฯ อพาร์ตเมนท์ ที่อยากเพาะเห็ดไว้กินเอง หรือจะเริ่มเพาะเพื่อสร้างรายได้เสริม ใช้เงินลงทุนไม่มาก ก็ถือเป็นไอเดียที่ดีไม่น้อย

คุณสงกรานต์ ทองสุขนอก ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ขอนแก่น อยู่บ้านเลขที่ 344 หมู่ที่ 8 ตำบลดอนหัน อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น หนุ่มพนักงานประจำ ใช้เวลาว่างเพาะเห็ดสร้างรายได้เสริม จนวันนี้สามารถสร้างรายได้แซงงานประจำไปแล้ว ด้วยเทคนิคการเริ่มต้นจากการเพาะเห็ดในถัง เพราะมีต้นทุนที่ต่ำ ทำง่าย ความเสี่ยงน้อย แต่ได้ผลดี แล้วจึงค่อยๆ เริ่มต้นขยับขยายในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มีมากขึ้น

คุณสงกรานต์ ทองสุขนอก

พี่สงกรานต์ เล่าถึงที่มาของการเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริมว่า เริ่มต้นจากที่ตนทำงานเป็นพนักงานประจำอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง แล้วมีเวลาว่างช่วงเสาร์-อาทิตย์ จึงคิดมองหาอาชีพเสริมและได้ทดลองทำมาหลายอย่าง จนมาจบที่การเพาะเห็ด เนื่องด้วยลักษณะนิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบกินเห็ดเป็นชีวิตจิตใจ แต่พอหาซื้อมากินทีไรก็ไม่ถูกใจทุกที จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นที่จะเพาะเห็ดไว้กินเอง และก็มาประจวบเหมาะกับที่ทำงานมีโครงการฝึกอบรมอาชีพเสริม จึงได้มีโอกาสเข้าโครงการฝึกอาชีพเพาะเห็ดตั้งแต่ตอนนั้นมา

โดยเริ่มต้นจากการเพาะเห็ดเพียง 100 ก้อน ซึ่งมองว่าขั้นตอนและวิธีการก็ไม่ได้ยาก เพียงแค่รดน้ำเช้า-เย็น ก่อนไปทำงาน เพียงเท่านี้ผลผลิตก็ออกมาให้เก็บกินได้ ก็เริ่มติดใจมาตั้งแต่ตอนนั้น และหลังจากนั้นจึงได้เริ่มศึกษาหาข้อมูลเพื่อเริ่มทำแบบจริงจัง และมีแนวคิดอยากที่สร้างจุดขายให้กับฟาร์มเห็ดของตนเอง จึงได้ลองค้นคว้าหาวิธีเพาะเห็ดรูปแบบใหม่ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศเพื่อดึงดูดลูกค้า จนได้ไอเดียการเพาะเห็ดในถังขึ้นมา ซึ่งการเพาะเห็ดในถังถือเป็นเทคนิคที่เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเพาะไว้กินเอง และมีพื้นที่จำกัด หรือท่านที่อยากฝึกทดลองทำเพื่อหารายได้เสริมค่ากับข้าว และหากท่านใดสนใจ ตนก็ยินดีสอน หรือท่านใดสนใจการเพาะในรูปแบบโรงเรือนก็ยินดีเช่นกัน เพราะในตอนนี้ตนได้ขยายการผลิตที่ใหญ่ขึ้น มีการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มากขึ้น จำนวน 2 โรงเรือน ซึ่งในอนาคตวางแผนจะขยายให้ได้อีกประมาณ 6 โรงเรือน และมีโรงทำก้อนเชื้อเห็ดเป็นของตัวเองอีก 1 โรงเรือน ซึ่งทุกวันนี้จากอาชีพเสริมเล็กๆ น้อยๆ เริ่มจากเงินทุนเพียงหลักสิบได้กลายเป็นงานสร้างรายได้แซงงานประจำไปแล้ว

ตัวอย่างการเพาะเห็ดถัง ต้นทุนหลักสิบ

เทคนิคการเพาะเห็ดในถัง ต้นทุนหลักสิบ
จุดเริ่มต้นหาค่ากับข้าว สำหรับมือใหม่

ก่อนที่จะไปถึงเทคนิคการเพาะเห็ดถัง เจ้าของบอกว่า อยากให้ทุกท่านได้ทราบถึงข้อดีและจุดประสงค์ของเห็ดถังกันก่อนว่ามีอะไรบ้าง

  1. 1. เห็ดถัง สามารถปลูกที่ไหนก็ได้ จุดประสงค์เพื่อต้องการให้คนที่อยู่หอพักได้มีเห็ดกิน เพราะถ้านำเอาก้อนไปเปิดบนหอพักจะไม่เหมาะเท่าไร แต่ถ้าทำเห็ดถังไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ สามารถนำไปตั้งไว้มุมใดมุมหนึ่งของห้องได้ เป็นระเบียบ สวยงามอีกด้วย
  2. สำคัญมากๆ คือ ประหยัดต้นทุน สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพราะตัวข้างในจะใช้ฟาง ไม่ได้ใช้ขี้เลื่อย หาซื้อได้ง่าย สามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่า

 

เทคนิคการเพาะ

1.เตรียมอุปการณ์ ดังนี้

– ถังพลาสติก หาซื้อได้ตามร้านทุกอย่าง 20 บาท แนะนำให้ซื้อขนาดที่พอดี เพื่อไม่ให้เปลืองวัสดุที่ใส่ลงไป

– ฟาง ปริมาณ 4-5 ขีด

– แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม

– กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง

– ภูไมท์ 300 กรัม

– รำละเอียด 2 กำมือ

  1. 2. วิธีทำ
  2. 1. นำฟางไปต้มในน้ำเดือด ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้ฟางอ่อนตัว จากนั้นนำฟางไปผึ่งให้แห้ง
  3. 2. หลังจากนั้นเอามาสับเพื่อให้ย่อยง่าย แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้ากัน ก็คือ น้ำตาลทรายแดง 300 กรัม ภูไมท์ 300 กรัม แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม รำละเอียด 2 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน
  4. 3. จากนั้นนำเชื้อเห็ดมาหยอด โดยเชื้อเห็ดจะเป็นแบบแท่ง หรือเป็นแบบข้าวฟ่างก็ได้ หยอดในปริมาณที่มากพอสมควร ซึ่งชนิดเห็ดที่เหมาะสำหรับการเพาะเห็ดถัง เป็น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เนื่องจากวัสดุส่วนผสมที่นำมาเพาะเหมาะกับการเพาะเห็ดเหล่านี้
  5. 4. เสร็จแล้วเอาใส่ถัง ปิดฝาให้แน่น แล้วเจาะรูบริเวณข้างถัง แล้วเอาสำลีอุดรูไว้ แล้วบ่มทิ้งไว้ประมาณ 20-25 วัน ถ้าหากอากาศร้อน อุณหภูมิสูงมาก ให้บ่มไว้ประมาณ 30 วัน
  6. 5. เมื่อครบกำหนดเวลา เปิดจุกสำลีออก หลังจากนั้นอีกประมาณ 7 วัน ไม่เกิน 15 วัน เห็ดก็จะเริ่มออก

ผลผลิต 1 ถัง เก็บผลผลิตได้ประมาณ 1 เดือน ปริมาณผลผลิตออกมาให้เก็บแต่ละครั้ง ประมาณ 4-5 ขีด ให้ผลผลิตเร็วและเยอะกว่าการเพาะในโรงเรือน เหมาะสำหรับเพาะไว้กินเองหรือขายเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าหากอยากทำเป็นเชิงธุรกิจหลักจะไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ เนื่องจากจะเกิดความยุ่งยากในการเลือกหาวัตถุดิบ จากต้นทุนต่ำจะกลับกลายเป็นต้นทุนสูงได้

ต้นทุนต่อถัง ไม่เกิน 50 บาท เชื้อเห็ดหาซื้อได้ตามร้านขายก้อนเชื้อเห็ดหรือตามร้านช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วไป ราคาขวดละประมาณ 15 บาท 1 ขวด สามารถทำได้มากถึง 10 ถัง

 

เทคนิคที่ควรรู้สำหรับ
การเพาะเห็ดในโรงเรือน

เจ้าของบอกว่า ลักษณะโรงเรือนที่จะเพาะเห็ดได้ดีต้องเป็นทรงจั่ว ดูแลง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งขนาดโรงเรือนเพาะเห็ดของที่ฟาร์ม ทำขนาดความกว้าง 4 เมตร ยาว 6-8 เมตร สูง 2.50 เมตร ทรงจั่วด้านข้างสูง 1.80 เมตร โครงสร้างเป็นเหล็กเน้นความมั่นคงเป็นหลัก เผื่อในอนาคตสามารถดัดแปลงมาใช้ประโยชน์ทำอย่างอื่นได้ต่อ เช่น ดัดแปลงทำเป็นเล้าไก่ หรือปลูกผักได้

เทคนิคการเพาะเห็ดในโรงเรือน สำคัญที่สุดคือ ความสะอาด ดอกเห็ดจะสวยหรือไม่สวยขึ้นอยู่ที่ความสะอาดเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าโรงเรือนสะอาดเห็ดจะไม่บิดไม่เบี้ยว เพราะว่าไม่มีแมลงมารบกวน ส่วนการให้ความชื้นจะต้องใช้ประสบการณ์ของคนเพาะเห็ดเป็นหลัก คือ

  1. ต้องมีฐานความรู้เบื้องต้นเรื่องเห็ดที่ดี
  2. ต้องเรียนรู้จากข้อผิดพลาด การเพาะเห็ดไม่มีสูตรความสำเร็จที่ตายตัว เพราะในแต่ละวันเจอปัญหาไม่เหมือนกันต้องเรียนรู้และปรับแก้กันไป
การเพาะเห็ดในโรงเรือนไม้แบบเก่า

การให้น้ำ ถ้าเป็นเห็ดเย็น เช่น เห็ดนางฟ้า นางรม จะให้น้ำ 3 เวลา คือ เช้า เที่ยง เย็น หรือถ้าหากเป็นหน้าฝนอาจจะลดลงมาเหลือวันละ 2 ครั้ง เน้นให้น้ำตอนเช้าเยอะๆ หลังจากนั้นให้ไม่ต้องเยอะ ให้เพื่อรักษาความชื้นได้

ซึ่งระบบน้ำหากที่บ้านใครมีเครื่องปั๊มน้ำอยู่แล้ว แนะนำไม่ต้องใช้ไอพ่นหมอก แต่ให้ใช้สปริงเกลอร์หัวผีเสื้อแทน ตัวนี้จะให้ละอองฝอยได้ดี ให้ความชื้นที่สูง และช่วยประหยัดน้ำได้ดีมาก

ผลผลิตที่ได้ 200 กิโลกรัม ต่อ 1 โรงเรือน ในเวลา 3 เดือน ถือว่ากำลังดี

ตลาด ทำอยู่ 3 ตลาดหลักๆ คือ

  1. 1. ตลาดในชุมชน มีวิธีทำการตลาดแบบง่ายๆ สไตล์ชาวบ้าน แต่ทำทีไรก็ได้ผลทุกรอบคือ ทำไปแจกให้ชาวบ้านได้ลองชิม เพื่อให้เขาได้รับรู้ว่าที่ฟาร์มของเราเพาะเห็ด มีเห็ดคุณภาพขายนะ หลังจากนั้น เมื่อเขาอยากกินเห็ดหรืออยากนำไปขายเขาจะนึกถึงเราเป็นคนแรก เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลมาตลอด
  2. 2. ตลาดห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นตลาดที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงแต่ที่ห้างยังต้องการผลผลิตเห็ดอีกมากมาย เพียงแค่ต้องทำให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่ทางห้างต้องการ มีมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ GAP ถ้าทำได้ถือเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจของเกษตรกรเลยทีเดียว และ
  3. 3. ตลาดออนไลน์ โพสต์ขายผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ถือเป็นตลาดที่มาแรง และสำคัญมากในยุคที่มีโรคระบาดแบบนี้
เห็ดนางรมทอง และเห็ดนางนวลสีชมพู ผลผลิตออกมาสวยงาม

ราคาขาย แล้วแต่ช่วงสถานการณ์ หากเป็นช่วงที่เห็ดออกสู่ตลาดเยอะที่ฟาร์มจะขายส่งราคากิโลกรัมละ 60 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงที่เห็ดขาดตลาดจะขายส่งราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท ส่วนราคาก้อนเชื้อเห็ดจะขายอยู่ที่ราคา ก้อนละ 7 บาท

รายได้ คำนวณจากน้ำหนักของดอกเห็ดที่เก็บเป็นหลัก หากคิดเป็นรายได้ออกมา ตกอยู่ที่เดือนละประมาณ 20,000 บาท ซึ่งถือเป็นอาชีพที่ทำง่าย ดูแลง่าย เหมาะกับคนที่มีงานประจำแต่อยากหาอาชีพเสริมก็ถือว่าเหมาะมากๆ

ฝากถึงมนุษย์เงินเดือนอยากทำเกษตร

“การทำเกษตรสำคัญที่สุดคือ เรื่องเวลาต้องมีเวลาที่ชัดเจน ถ้าเรารู้ว่ามีเวลาว่างช่วงไหนแล้ว เราค่อยมาเลือกสิ่งที่เราต้องการจะทำ บางคนอาจจะชอบปลูกแค็กตัส หรือชอบเลี้ยงสัตว์ แตกต่างกันออกไป งานทุกงานเป็นอาชีพได้หมด ถ้ามีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง สามารถแก้ปัญหาได้ ผมว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็สามารถสร้างรายได้ได้ทั้งนั้น” คุณสงกรานต์ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดการเพาะเห็ดถัง หรือเห็ดในโรงเรือนเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 096-242-2741

วางขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
ภรรยาผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
อบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านที่สนใจเพาะเห็ดสร้างอาชีพ