“เท้ายายม่อม” แป้งจากพืชที่เหมาะกับคนมากที่สุด ของแท้หากินยาก ใกล้สูญพันธุ์

“ต้นเท้ายายม่อม” เป็นพืชใช้ทำแป้งชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยเฉพาะ จ.ชลบุรี เป็นพืชที่ใกล้สูญหายไปจากชุมชน

เมื่อหลายสิบปีก่อน หากใครไปเที่ยวชลบุรี บางแสน แล้วแวะซื้อขนมของฝากแถบตลาดหนองมน จะพบว่ามีขนมไทยโบราณหลายเจ้า สารพัดทั้งขนมชั้น ขนมกล้วย เปียกปูน ครองแครง ฯลฯ น่าจะคงยังพอจำรสชาติ ความหอม หนืด หยุ่นๆ เหนียวนุ่มพอดีของขนมดังกล่าวที่มาจากแป้งชนิดหนึ่งได้ดี นั่นคือ แป้งเท้ายายม่อม ซึ่งจะมีความแตกต่างจากแป้งมันสำปะหลัง หรือแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว และแป้งข้าวโพดมาก

ขนมเปียกปูนแป้งเท้ายายม่อม

คุณสมบัติของแป้งเท้ายายม่อมคือมีความละเอียดมาก มีสีขาว ใสและคงรูปไม่เหลวแตกต่างจากแป้งชนิดอื่นจนสัมผัสและสังเกตุได้ ทางด้านสรรพคุณ บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่นอารมณ์ดี ช่วยผู้ป่วยฟื้นไข้เร็วขึ้นทำให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร นักโภชนบำบัดสมัยใหม่ระบุว่า แป้งเท้ายายม่อมมีคุณสมบัติที่เหมาะกับระบบทางเดินอาหารมากที่สุด

เท้ายายม่อม เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีหัวสะสมอาหารกลมๆ แป้นๆ ลักษณะคล้ายหัวบุกแต่ขนาดเล็กกว่า ดอกเป็นช่อสูงได้ถึงเมตรหรือ 2 เมตร มีหนวดยาวสีเขียวเหลือบม่วงดำเป็นพู่กลมๆ ยาวได้ถึง 1 ฟุต ก็มี มีเกสรตัวผู้ 6 อัน เกสรตัวเมียเป็นรูปคล้าย 3 แฉก ภาคตะวันออกพบขึ้นได้ตั้งแต่ป่าละเมาะ หาดทราย ไปจนถึงบนเขาหินปูนที่ไม่สูงมากนัก ใบมีลักษณะเป็นแฉกๆ มีร่องเว้าลึกสวยงาม

หัวของพืชชนิดนี้นำไปทำแป้ง ที่เรียกแป้งเท้ายายม่อม เป็นพืชในฤดู พอถึงช่วงฤดูฝนต้นจะงอก แล้วสะสมอาหาร ถึงฤดูหนาวจะยุบ ใบจะเหลือง เราก็เลือกขุดหัวใหญ่ไปใช้ เหลือหัวเล็กเอาไว้สะสมอาหารในหน้าร้อน เมื่อวนกลับมาฤดูฝนหัวที่เล็กมีการสะสมอาหารมาแล้วจะพร้อมขุดไปทำแป้งแปรรูปอาหารอีกครั้ง

วันนี้เราต้องรู้ว่าพืชที่เราปลูกทำอะไรได้บ้าง ทำเป็นอะไรคนถึงจะชอบ เท้ายายม่อม ลักษณะพิเศษของเท้ายายม่อมจะใสและอยู่ตัว เทียบง่ายๆ ตามท้องตลาดเป็นแป้งจากโรงงานจะอ้างสรรพคุณว่านี่คือแป้งเท้ายายม่อม แต่เมื่อไปดูส่วนประกอบไม่ใช่แป้งท้าวยายม่อมเป็นแป้งที่ทำมาจากมันสำปะหลัง

วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ละลายน้ำง่าย ถ้าเป็นแป้งมันสำปะหลังจะมันๆ เมื่อนำไปทำอาหารคืนตัวเร็ว แต่ถ้าเป็นแป้งเท้ายายม่อมแท้จะคืนตัวช้า

บ้านคนเก่าแก่ยุคก่อนๆ มักจะมีแป้งเท้ายายม่อมติดครัวไว้เสมอสำหรับละลายน้ำร้อน เปียกทำวุ้น ทำขนมให้คนชราหรือผู้ป่วยกิน เชื่อว่าให้พลังงานดี กระชุ่มกระชวย ช่วยสร้างสมดุลร่างกาย ลดอาการซึมเศร้า ถือว่าเป็นตัวช่วยในการปรับสภาพอารมณ์ (Mood stabilizer)

ยอดอ่อนนำมาผัดกับกะทิสด เคี่ยวกะทิไฟอ่อนๆ พอข้นนิดๆ ใส่ยอดเท้ายายม่อมลงไปผัดต่อพอสะดุ้งไฟ กินกับน้ำพริกกะปิ กลมกล่อม ขมนิดๆ หอม มัน อร่อยมาก แป้งเท้ายายม่อมสำเร็จรูปแล้ว เม็ดจะโตกว่าแป้งทั่วไปมีสีขาวอมเทานิดๆ มีความเงาใสในตัวเอง เวลาจะใช้ก็เอามาบดเป็นผงละเอียด

อย่างที่บอก แป้งชนิดนี้จะมีความหนืด นุ่ม เหนียวกว่าแป้งอื่นมาก เมื่อนำมาอุ่นจะไม่ค่อยคืนตัวสามารถพลิกแพลงทำขนมและอาหารได้หลายอย่างสารพัดเมนู ปัจจุบันมักมีการนำเอาแป้งมันสำปะหลังมาหลอกขายเป็นแป้งเท้ายายม่อมกันให้เกลื่อน เพราะแป้งเท้ายายม่อมหายาก ราคาแพง กิโลกรัมละ 300-400 บาท เลยทีเดียว

มีนิทานเก่าของภาคตะวันออกมาเล่าให้ฟังที่มาของชื่อ “เท้ายายม่อม”

เรื่องมีอยู่ว่า ยายม่อม กับตาแม้น เป็นสามีภรรยากัน ตาแม้นเป็นชาวประมงท้องถิ่นออกเรือหาปลา จับกุ้ง งมหอย ส่วนยายม่อมทำขนมขายตลาดหนองมนหรือเปล่าไม่รู้นะ มีลูกด้วยกันคนหนึ่งเป็นลูกชายพิการ อยู่มาวันหนึ่งยายม่อมกลับจากตลาดโดนโจรใจร้ายปล้น ฆ่าหั่นศพทิ้งอย่างทารุณ เหลือเพียงนิ้วเท้า 6 นิ้ว ตาแม้นพอเห็นสภาพศพเมียก็แทบเป็นลม นำไปทำพิธีฌาปนกิจ ฝังไว้ที่ป่าช้า ตัวแกเองก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ ผ่ายผอมหัวโต ร่างกายทรุดโทรมป่วยไข้ไม่เป็นอันเลี้ยงดูลูกพิการ

จนวันหนึ่งแกคงเมามานอนร้องไห้คิดถึงที่ข้างหลุมศพยายม่อมจนหมดสติ สลบไป…ยายม่อมด้วยความรักผัว ความห่วงลูกพิการ เลยมาเข้าฝัน ปลอบอกปลอบใจตาแม้นว่าอย่าเสียใจไปเลย ให้เอานิ้วเท้าฉันนี่แหละไปทำมาหากินเลี้ยงลูกเถอะ พร้อมกับสอนวิธีทำแป้งให้ตาแม้นในฝันเสร็จสรรพเรียบร้อย พอตาแม้นฟื้นขึ้นมาได้ก็เห็นข้างๆ ตัวมีหัวพืช กลมๆ ตกอยู่ 6 หัว เลยเลือกหัวใหญ่ที่สุดมาทำอาหารกินจนตัวเองมีเรี่ยวแรงมีกำลังวังชาขึ้นมาได้ ที่เหลือนำไปปลูกตามที่เมียบอกในฝัน เพาะพันธุ์เท้ายายม่อม ทำแป้ง ทำขนมเลี้ยงลูกชายพิการได้ตลอดรอดฝั่ง เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

 

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562