“สมทรง แสงตะวัน” ครูภูมิปัญญาเกษตร แนะสร้างคุณภาพส้มโอขาวใหญ่ วิธีนี้ทำมาแล้วไม่เคยพลาด

คุณสมทรง แสงตะวัน อยู่บ้านเลขที่ 9/3 หมู่ที่ 4 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านบางพลับหันมาปลูกส้มโอขาวใหญ่เชิงการค้ากันแบบมีคุณภาพตามแนวทางอินทรีย์ พร้อมไปกับการรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วดึงนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างรายได้ให้ทุกครัวเรือน

ความจริง ส้มโอ เป็นไม้ผลท้องถิ่น ที่รุ่นพ่อ-แม่ ปลูกกันมาก่อน สมัยนั้นชาวบ้านปลูกส้มโอกันหลายพันธุ์ สำหรับขาวใหญ่ไม่นิยมปลูก เนื่องจากให้ผลผลิตน้อย แต่สำหรับคุณสมทรงกลับมองว่า ขาวใหญ่ เป็นพันธุ์ส้มโอที่มีคุณลักษณะเด่นหลายอย่างควรอนุรักษ์ไว้ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่มาตั้งแต่ ปี 2520

คุณสมทรง เล่าว่า ที่ดินที่ปลูกส้มโออยู่ตอนนี้ซื้อมาจากการเป็นสวนมะพร้าวเก่า แล้วมีส้มโอขาวใหญ่อยู่ในแปลงจำนวน 3 ต้น เมื่อคุณสมทรงเห็นว่าต้นส้มโอมีสภาพสมบูรณ์จึงขยายพันธุ์ด้วยวิธีตอนกิ่ง จำนวน 300 กิ่ง แล้วแบ่งปลูกในพื้นที่ 7 ไร่ โดยใช้ระยะปลูก 6 คูณ 6 เมตร แบบยกร่องสวน ใช้น้ำจากธรรมชาติหล่อเลี้ยงผสมกับการจัดระบบน้ำขึ้น-ลง ทางธรรมชาติ การดูแลต้นส้มโอจะเน้นใส่ปุ๋ยคอกแล้วใช้กระบวนการทางอินทรีย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมักและน้ำชีวภาพ ก่อนถึงช่วงมีดอกจะใส่ปุ๋ยคอก ต้นละ 1-2 กิโลกรัม แล้วเพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อต้นโตขึ้นเรื่อยๆ จนเวลา 3 ปี จึงเริ่มมีดอก

ภายหลังที่ คุณสมทรง มีโอกาสได้ไปอบรมการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ทำให้เขามองว่าแนวทางนี้จะช่วยสร้างคุณภาพส้มโอและขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุน จากนั้นจึงกลับมาชักชวนชาวบ้านในพื้นที่เพื่อตั้งกลุ่มปลูกส้มโอขาวใหญ่จำนวน 57 คน ในชุมชนตำบลบางพรม มีพื้นที่รวม 300 กว่าไร่ และถือเป็นกลุ่มแรกของจังหวัดสมุทรสงครามที่ปลูกส้มโอขาวใหญ่

คุณสมทรง(ซ้าย)กับลูกชายคุณโต้งที่เป็นกำลังสำคัญ

แนวทางการพัฒนาวิธีปลูกส้มโอขาวใหญ่จนมีคุณภาพนั้น คุณสมทรง เผยว่า อย่างแรกเมื่อนำต้นพันธุ์ปลูกลงดินไม่จำเป็นต้องลึกเหมือนอย่างคนสมัยก่อนปลูก เนื่องจากรากของต้นพันธุ์จากกิ่งตอนจะเจริญเติบโตขนานไปกับพื้นแล้วกลบดินให้นูนเป็นก้นกระทะ นำเลนในร่องตักขึ้นมาสาดบนคันปลูกทุกปี ก็ทำให้เป็นการพอกพูนเนื้อดินให้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในเลนจะมีธาตุอาหารสมบูรณ์มาก ช่วยในการเจริญเติบโตเป็นอย่างดี

“ลักษณะการปลูกแบบกระทะคว่ำ คือขุดหลุมวางต้นแล้วกลบดินให้นูนสูงคล้ายก้นกระทะ เพราะเท่าที่สังเกตวิธีปลูกแบบเดิมจะขุดหลุมลึกมาก รากต้องใช้เวลาการเจริญเติบโตเพื่อหาอาหาร จึงส่งผลให้ได้ผลผลิตจำนวนน้อยจึงเข้าใจว่า ส้มโอพันธุ์นี้ไม่มีคุณภาพ เลยหันไปปลูกพันธุ์อื่น อย่าง ขาวจีน ขาวแป้น ขาวพวง”

รสชาติดี เนื้อล่อน ไม่ติดเปลือก เมล็ดไม่มี แล้วยังมีสีขาวอมน้ำผึ้ง

คุณสมทรง ถือเป็นเกษตรกรชาวสวนสมุทรสงครามที่สามารถกำหนดผลผลิตส้มโอนอกฤดูกาลได้ ด้วยการแกล้งต้นส้มโอโดยงดให้น้ำส้มโอ ประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อปล่อยให้ต้นขาดน้ำ พอต้นส้มโอดูทรุดโทรมเหี่ยวเฉา ดินแห้งแตก ใบเหลืองร่วงสัก 30-40 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นค่อยปล่อยน้ำเข้าไปในร่องให้เต็ม รดน้ำทุกวัน เกิดรากอ่อน แตกใบอ่อน แล้วมีดอก โดยใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 8 เดือน จึงสามารถเก็บผลผลิตขาย

Advertisement

“วิธีนี้ทำมาแล้วไม่เคยพลาด ถือว่าเป็นการควบคุมเพื่อให้มีผลผลิตตรงกับความต้องการของตลาด อันจะนำมาสู่ราคาขายที่สูงกว่าในช่วงปกติหลายเท่า ซึ่งแต่เดิมส้มโอพันธุ์นี้มีลูกน้อย โดยให้ผลผลิตเพียงปีละ 25 ผล ต่อต้น แต่ภายหลังเมื่อปลูกอย่างจริงจังด้วยการบริหารจัดการวิธีปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ใช้เวลาเพียง 3 ปีสามารถติดดอกให้ผลดกมาก พอทำได้เช่นนี้ก็มีชาวบ้านสนใจจำนวนมาก จึงชวนกันตั้งเป็นกลุ่มเพื่อสร้างผลผลิตป้อนตลาด”

คุณสมทรง ชี้ว่า ต้นส้มโออายุ 5 ปีขึ้นไป จะเก็บผลไว้ไม่เกินต้นละ 80 ผล ผลใดที่ไม่สมบูรณ์จะตัดออก แล้วนำไปเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าอย่างอื่นโดยไม่มีการทิ้งให้เสียเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการนำผลส้มโอไปเผาเป็นถ่าน ใช้สำหรับดูดกลิ่น หรือทำส้มโอแช่อิ่ม ฯลฯ แล้วหากเสียหายมากก็จะนำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ

Advertisement
ส้มโอขาวใหญ่ชุดสุดท้าย

ไม่เพียงเท่านั้นชาวสวนส้มโอรายนี้ยังสร้างความหวานให้ผลผลิตด้วยการนำขี้แดดนาเกลือมาใส่ คุณสมทรง เล่าว่า ขี้แดดนาเกลือ เป็นผลมาจากเมื่อชาวบ้านที่ต้องการทำนาเกลือในพื้นที่จะจัดการขูดผิวที่เป็นขี้นาเกลือออกเพื่อปรับสภาพพื้นที่ให้พร้อมกับการเริ่มทำนาเกลือรอบใหม่

ฉะนั้น สิ่งที่ขูดออกเป็นตะกอนจากน้ำทะเลที่สะสมไว้แล้วตกผลึก ซึ่งชาวบ้านมักนำขี้แดดนาเกลือไปทิ้ง คุณสมทรง มองว่า ขี้แดดนาเกลือเหล่านี้เป็นแหล่งรวมสารอาหารที่ดีของพืช จึงนำไปใส่ที่โคนต้นส้มโอ จากนั้นเมื่อได้ผลผลิต พบว่า รสชาติส้มโอมีความหวาน แล้วได้ส่งเข้าประกวด ได้รางวัล เลยทำให้เป็นที่สนใจจากชาวบ้านในชุมชนหันมาใช้วิธีเดียวกัน

สำหรับขี้แดดนาเกลือจะใส่กับต้นส้มโอในช่วงเดือนที่ 6 ก่อนเก็บผลผลิต 2 เดือน จะใส่ต้นละ 2 กิโลกรัม รอบชายพุ่ม รดน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จนถึงเดือนที่ 8 แล้วจึงเก็บผลผลิต ก็จะพบว่าส้มโอมีรสชาติหวานชื่นใจ ไม่แห้ง ไม่เป็นข้าวสาร เนื้อจะล่อนจากเปลือกได้ง่าย

นอกจากนั้น ยังต่อยอดนำขี้แดดนาเกลือไปใช้กับผลไม้ชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แก้วมังกร ฝรั่ง ชมพู่ มะพร้าวน้ำหอม ส่วนทางภาคใต้นำไปใส่ปาล์ม ดังนั้น จากสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ทิ้งขว้างกลับกลายมาเป็นของที่มีมูลค่าขายได้

ลิ้นจี่ เป็นไม้ผลอีกชนิดที่ชาวสมุทรสงครามปลูกกันไว้เป็นเวลาหลายสิบปี ในอดีตถือว่าลิ้นจี่ในจังหวัดนี้ได้รับความนิยม เพราะมีความหวานที่พอเหมาะ ล่อน เนื้อมาก

คุณสมทรง ปลูกลิ้นจี่มานานกว่า 30 ปี เป็นพันธุ์ค่อม ปลูกไว้จำนวนกว่า 300 ต้น แต่ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาลิ้นจี่ประสบปัญหาทางธรรมชาติ จึงไม่มีผลผลิตเลย จึงทำให้ต้องตัดทิ้งออกเป็นส่วนใหญ่แล้วปลูกไม้ผลชนิดอื่นแทน อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 เพิ่งมาติดผล ทำให้ชาวบ้านที่ยังเก็บต้นลิ้นจี่ไว้พอมีรายได้

 

   

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2561