ใช้ประโยชน์จากเศษถ่านไม้ไผ่ ทำเครื่องผลิตพลังงาน พารถยนต์วิ่งได้ คุณประโยชน์จาก “ไผ่” มีมากมายนานัปการ

“ไผ่” คือ คำตอบสำหรับการจัดการทรัพยากรพื้นที่ให้กับชาวชุมชนผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกไผ่ของชุมชนผาปัง มีเกือบ 20,000 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ ที่ดินสิทธิทำกิน และพื้นที่ป่าชุมชน

ไผ่ที่ปลูกเกือบทั้งหมดเป็นไผ่ซาง ได้แก่ ไผ่ซางหม่น ไผ่ซางนวล ไผ่ซางบ้าน มีบ้างที่เป็นไผ่รวก เพราะเป็นไผ่ชนิดเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว

แต่ไม่ว่าจะเป็นไผ่ชนิดใด คุณรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ที่ปรึกษาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผาปัง ก็ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า ไผ่ทุกชนิดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งยังเป็นพืชพลังงานสูง และในเชิงเศรษฐกิจเป็นพืชที่ลงทุนในปีแรกเท่านั้น

ปลายปี 2558 มีข่าวว่า วิสาหกิจชุมชนผาปังแห่งนี้ ได้ทดลองโดยการนำถ่านไม้ไผ่มาผลิตเป็นแก๊สรถยนต์จนประสบความสำเร็จ และเป็นรถยนต์ที่ใช้แก๊สจากถ่านไม้ไผ่คันแรกในเอเชีย เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นกับตา

กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า มีการก่อตั้งขึ้น ภายใต้ชื่อ วิสาหกิจผลิตไฟฟ้าชีวมวลพลังงานทดแทนชุมชน เป็นวิสาหกิจต่อเนื่องที่นำเศษข้อไผ่ จำนวน 800-2,400 กิโลกรัมต่อวัน มาเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตก๊าซซิฟิเคชั่น (Gasification) ขนาดกำลังการผลิต 70 กิโลวัตต์ เป็นระบบที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือมีผลกระทบน้อยที่สุด โดยจับคู่ธุรกิจชุมชน (Business Matching) ในความร่วมมือสนับสนุนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มูลนิธิสร้างสุขชุมชน โดยชุมชนร่วมเป็นหุ้นส่วนและเป็นเจ้าของในลักษณะการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง

ที่น่าทึ่งและนับว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมจากไผ่คือ การทดลองนำถ่านไม้ไผ่มาผลิตเป็นพลังงานอเนกประสงค์ตามคำบอกของ คุณรังสฤษฏ์ ว่า เมื่อขับออกจากบ้าน คือรถยนต์ ไปถึงทุ่งนา สามารถแปลงกายเป็นเครื่องสูบน้ำ กลางวัน เมื่อกลับเข้าบ้านใช้เป็นแก๊สหุงต้ม กลางคืน แปรสภาพเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งหากทำได้ทั้งหมดนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมแน่นอน และชุมชนผาปังทำสำเร็จแล้ว

การประยุกต์ใช้พลังงานชุมชนในที่นี้ มีการศึกษาวิจัยระบบผลิตซินก๊าซ Syngas พลังงานทดแทนชุมชนจากถ่านไผ่ นำมาเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสูบน้ำเพื่อการเกษตร และยานพาหนะขนส่ง เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่ายด้านพลังงาน ลดการนำเข้าพลังงาน ลดต้นทุนการผลิตเพื่อการเกษตร ลดสิ่งแวดล้อมและรักษาสุขภาพ

เทคโนโลยีผลิตซินก๊าซ Syngas ทดแทนการใช้ LPG ในครัวเรือน ร้านอาหาร และอบสมุนไพร ซึ่งถ่านไผ่ จำนวน 1 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง (4 บาท) = LPG 0.45 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง (10 บาท)

เทคโนโลยีตัวนี้ ยังสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชน ตั้งแต่ 2-50 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้อีกด้วย

คุณรังสฤษฏ์ อธิบายว่า การนำถ่านมาผลิตเป็นแก๊สนั้น เป็นทฤษฎีสากลทั่วไป ซึ่งเดิมวิถีชีวิตของคนเราก็ใช้ถ่านกันมานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องถ่านไม้ไผ่ตั้งแต่ที่มีองค์การแบตเตอรี่ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปองค์การแบตเตอรี่ก็ถูกยกเลิก การวิจัยเรื่องถ่านไม้ไผ่ก็หายไปด้วย เปลี่ยนมาเป็นแบตเตอรี่ที่นำเข้าจากประเทศอื่น แต่ในเมื่อกลุ่มของเรามีวัตถุดิบที่เป็นถ่านไม้ไผ่ เปรียบคือ คาร์บอน และอากาศก็เปรียบคือ ออกซิเจน เมื่อรวมกันกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นแก๊สได้ และเห็นว่าแก๊ส LPG และ NGV ก็สามารถนำมาใช้ในรถยนต์ได้ จึงเริ่มทดลองนำถ่านไม้ไผ่ ซึ่งมีพลังงานความร้อนสูงมาก มาประยุกต์ทำเป็นแก๊ส โดยเริ่มทดลองกับแก๊สหุงต้มก่อน จึงขยับมาทดลองกับเครื่องยนต์ และทดลองกับรถยนต์ ตามลำดับ จนประสบความสำเร็จใช้งานได้จริง

“รถยนต์ที่นำมาทดลองติดตั้งแก๊สจากถ่านไม้ไผ่นั้น เป็นรถกระบะ มีถังสำหรับใส่ถ่านไม้ไผ่ ความจุ 25 กิโลกรัม ใช้วิธีการติดไฟให้ถ่านมีความร้อนอยู่ตลอดเวลา ใช้เครื่องยนต์ดูดแก๊สเข้าไปให้เครื่องยนต์ทำงานลักษณะเดียวกับแก๊ส LPG และ NGV ซึ่งถ่านไม้ไผ่ 5 กิโลกรัม รถจะวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เพราะฉะนั้น หากบรรจุถ่านเต็มถัง 25 กิโลกรัม รถจะวิ่งได้ระยะทาง 500 กิโลเมตร และราคายังถูกกว่าแก๊สรถยนต์อื่นๆ เนื่องจากถ่านที่ใช้หากเผาเองจะราคากิโลกรัมละ 6 บาท ถังหนึ่งอยู่ที่ราคา 150 บาท เท่านั้น หากซื้อถ่านจากร้านค้าทั่วไป อยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท เท่ากับถังละ 250 บาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 0.50 บาท เท่านั้น ถูกกว่าแก๊ส LPG และ NGV มาก เชื่อว่ารถยนต์คันนี้เป็นรถยนต์ที่ใช้แก๊สจากถ่านไม้ไผ่คันแรกของประเทศไทย และถือว่าเป็นคันแรกของเอเชียเลยก็ว่าได้”

Mr. Koen Uan Looken วิศวกรหนุ่มชาวเบลเยียม ผู้ที่ให้ความสนใจในการผลิตพลังงานจากไผ่ของชุมชนผาปัง อาสาตัวเข้ามาช่วยในเรื่องของการดำเนินการวิจัยและการทดลอง รวมถึงการพัฒนาให้การผลิตพลังงานจากไผ่ของชุมชนผาปังก้าวไปข้างหน้า โดย Mr. Koen Uan Looken กล่าวว่า ชิ้นส่วนของไผ่ที่เหลือจากอุตสาหกรรมทั้งระบบ นำไปเข้าเตาเผา นาน 3-6 ชั่วโมง เมื่อได้ถ่านไม้ไผ่แล้ว ก็นำเข้าเครื่องบดหยาบ หากต้องการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงต้นทางของพลังงาน เมื่อนำไปใส่ยังเครื่องผลิตพลังงานจากไม้ไผ่มีลักษณะเป็นถัง มีท่อเชื่อมต่อไปยังแหล่งกำเนิดพลังงาน ไม่ได้มีระบบซับซ้อนแต่อย่างใด เป็นการแปรรูปพลังงานอย่างง่าย ไม่มีระบบออโตเมติกแม้แต่ชิ้นเดียว

“เราเรียกว่า พลังงานไฟฟ้า ใช้ถ่านไผ่เป็นเชื้อเพลิง เวลาใส่ถ่านไผ่เข้าไปที่เครื่องก็ควรใส่ให้เต็ม เป็นการเผาไหม้ที่ 1,500 องศาเซลเซียส เริ่มจากการจุดไฟที่ด้านล่างของอุปกรณ์บรรจุถ่านไผ่ 3-4 วินาที จากนั้นปิดฝา การจุดไฟที่ด้านล่างของอุปกรณ์ตามช่องที่มี เป็นการไล่ความชื้นจากถ่านออก เมื่อความชื้นหายไปจะทำให้ติดไฟ หากใช้แทนก๊าซหุงต้มก็สามารถเชื่อมต่อท่อจากเครื่องไปยังเตาแก๊ส แล้วจุดไฟตามปกติ ก็ได้แก๊สสำหรับหุงต้ม”

Mr. Koen Uan Looken อธิบายว่า การเผาไหม้ของถ่านเมื่อใช้กับแก๊สหุงต้มจะไม่เกิดเขม่าหรือขี้เถ้า แต่จะหลงเหลือซิลิกาขนาดเล็กไว้แทน ซึ่งส่วนนี้ทางวิสาหกิจชุมชนผาปังก็นำไปจำหน่ายให้กับโรงงานทำกระจก เป็นรายได้จากไผ่อีกทอดหนึ่ง เมื่อถ่านไผ่ปริมาณลดลงตามการใช้งานก็สามารถเติมถ่านไผ่เข้าไปได้อีก

เมื่อมีโอกาสได้เห็นกับตา และพูดคุยกับคุณรังสฤษฏ์ และ Mr. Koen Uan Looken แล้ว เชื่อว่า ถ่านไม้ไผ่ให้พลังงานที่สะอาด และสามารถนำไปใช้ได้หลากหลายมากกว่าที่คิด ซึ่งคุณรังสฤษฏ์ ยืนยันว่า หากท่านใดมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมถึงชุมชนผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง แล้ว จะสามารถกลับไปทำด้วยตนเองได้อย่างแน่นอน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2559