“ปลูกกระชาย” แซมสวนผสม จากพืชแซมสู่รายได้หลักไม่ยาก

การปลูกกระชายในเขตนี้น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีของระบบเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเกษตรกรจะปลูกกระชายแซมในพืชหลัก เช่น ปลูกแซมในสวนผสม ขนุน กล้วย กระท้อน สะเดา มะม่วง ฯลฯ เป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เกษตรได้อย่างครบถ้วน” นี่คือคำพูดของ คุณวิโรจน์ เทียนขาว เกษตรกรนครสวรรค์ จัดเป็นเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการปลูกกระชาย หลายคนต่างก็ทราบดีว่า “กระชาย” เป็นพืชผักสมุนไพรที่มีความสำคัญเคียงคู่ครัวไทยมาทุกยุคทุกสมัย ในตำราอาหารคาว “กระชาย” จะใช้เพิ่มรสเผ็ดร้อนและช่วยดับกลิ่นคาวของอาหาร

ประชาชนในชนบทจะนิยมปลูกกระชายเป็นแบบพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้านหรือใต้ร่มต้นไม้ผล เกษตรกรบางรายปลูกกระชายเป็นรายได้เสริม แต่สำหรับคุณวิโรจน์ปลูกกระชายในสวนผลไม้เก่าจากที่เคยเป็นรายได้เสริมมาสู่รายได้หลักในปัจจุบัน จากประสบการณ์ในการปลูกกระชายมานานกว่า 20 ปี ทำให้ทราบถึงวิธีการปลูกและบำรุงรักษา รวมทั้งเทคนิคต่างๆ มากมาย

ในทางพฤกษศาสตร์ “กระชาย” จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุยืนและเป็นพืชที่ตอบสนองต่อช่วงแสง คือจะเจริญเติบโตทางลำต้นให้เห็นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (ต้นฤดูฝน) เรื่อยไปจนถึงเดือนธันวาคม (ฤดูหนาว) หลังจากนั้นใบจะเหลืองและต้นตาย โดยจะคงเหลือแต่เหง้าสดและรากติดอยู่ในดินได้นานถึง 4 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนเมษายน) ถ้าไม่มีการเก็บเกี่ยวเหง้าออกมา เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนของปีถัดไป ต้นกระชายก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ไม่ควรปลูกกระชายใต้ร่มเงา
ต้นมะปรางและมะขาม

จากประสบการณ์ของคุณวิโรจน์ เริ่มต้นก่อนปลูกกระชายจะต้องเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ว่างใต้สวนผลไม้บางชนิดอาจจะไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกระชาย ตัวอย่าง เกษตรกรที่ทำสวนมะปรางหวานและมะยงชิดพันธุ์ดี หรือทำสวนมะขามหวาน คุณวิโรจน์บอกว่า ไม่ควรปลูกกระชายใต้ร่มเงาของไม้ผลทั้ง 2 ชนิดนี้ เนื่องจากต้นกระชายจะยุบตายก่อนที่ลงหัว แต่ถ้าเป็นไม้ผลชนิดอื่น เช่น ขนุน สะเดา มะม่วงและกล้วย เป็นต้น เมื่อปลูกกระชายแซมในสวนผลไม้เหล่านี้ การเจริญเติบโตของต้นกระชายจะดีมาก มีการลงหัวที่ดี รากอวบใหญ่และได้น้ำหนัก

จะทำสวนกระชาย
ต้องเริ่มต้นอย่างไร 

เกษตรกรจะต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า กระชายเป็นพืชที่ชอบสภาพแสงรำไร ดังนั้น การปลูกกระชายส่วนใหญ่จะต้องปลูกภายใต้ร่มเงาของไม้อื่น ถ้าเป็นสวนผลไม้เก่าจะดีมาก โดยเฉพาะในสภาพพื้นที่ที่มีการปลูกกล้วยจะดีมาก ในการเตรียมดินจะไม่ยุ่งยากเหมือนกับการปลูกพืชอื่น เพียงแต่ตัดต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ออกบ้างให้มีพื้นที่ว่างปลูกกระชายได้ ตามปกติแล้วจะเริ่มขุดพรวนดินประมาณเดือนพฤษภาคม มีเกษตรกรบางรายได้ใช้รถไถเล็กเข้าไปพรวนดิน

สำหรับเคล็ดลับสำคัญในการเตรียมดินปลูกกระชายนั้น คุณวิโรจน์จะมีการขุดตากดินนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้แสงแดดส่องฆ่าเชื้อโรคและทำลายศัตรูของกระชายให้ลดลง และถ้าจะให้ต้นกระชายเจริญเติบโตลงรากใหญ่ คุณวิโรจน์แนะนำให้ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ไปพร้อมกับการพรวนดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ คุณวิโรจน์ย้ำว่า “ปลูกกระชายถ้าใส่ขี้ไก่ ต้นจะเจริญเติบโตดีมาก ปริมาณรากมาก แต่ไม่แนะนำให้ใส่ขี้วัว เพราะหญ้าจะขึ้นมาก กำจัดยากและสิ้นเปลืองเวลา” โดยปกติแล้วสภาพดินที่จะปลูกกระชายควรจะดินร่วนซุย มีความลึกของหน้าดินอย่างน้อย 1 คืบ (กระชายไม่ชอบดินเหนียวและดินลูกรัง) นอกจากนั้น ยังมีเกษตรกรบางรายปลูกกระชายด้วยวิธีการยกร่อง ร่องที่ยกนั้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ไม่ควรยกร่องให้ต่ำกว่านี้ เพราะเมื่อฝนตกลงมาจะทำให้ร่องต่ำลงไปอีก

เกษตรกรจะต้องอย่าลืมว่า กระชายเป็นพืชที่มีตุ้มต่อจากหัว ส่วนหัวจะเป็นก้อนค่อนข้างกลมติดกับลำต้นเป็นก้อนไม่ใหญ่นัก ผู้ซื้อต้องการได้ตุ้มหรือส่วนที่เป็นรากยาวๆ ถ้าส่วนนี้สั้นๆ มักจะขายไม่ได้ราคา สาเหตุที่ตุ้มหรือรากสั้นนั้นเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ดินใต้ต้นกระชายแข็ง ทำให้ตุ้มเจริญเติบโตลงไปในดินไม่ได้ อีกประการหนึ่งคือต้นกระชายได้ปุ๋ยไม่เพียงพอ

เลือกปลูกกระชายพันธุ์ไหนดี

คุณวิโรจน์ได้อธิบายถึงสายพันธุ์กระชายที่ปลูกอยู่ในบ้านเราในปัจจุบันนี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ “กระชายพื้นบ้าน” หรือบางคนเรียก “กระชายปุ้ม” กระชายพันธุ์นี้รากจะสั้นและเป็นปุ้มตรงปลายและเป็นพันธุ์ที่จะต้องปลูกใต้ร่มรำไรเท่านั้น แต่กระชายพันธุ์นี้แม่ค้าจะนิยมซื้อและให้ราคาค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นกระชายที่มีกลิ่นหอม เหมาะต่อการประกอบอาหารและเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกง แต่มีข้อเสียตรงที่หั่นยาก ในขณะที่กระชายอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ “พันธุ์รากกล้วย” เป็นกระชายที่นิยมปลูกกันมากในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี ฯลฯ เป็นสายพันธุ์กระชายที่สามารถปลูกได้ในสวนผลไม้เก่า ปลูกเป็นพืชแซมหรือจะนำมาปลูกในสภาพกลางแจ้งในเชิงพาณิชย์ก็ได้ ปลูกได้เหมือนกับการปลูกพืชผักชนิดอื่นๆ ลักษณะรากของกระชายพันธุ์รากกล้วยจะมีลักษณะยาวตรงและอวบ เหมือนกับรากกล้วย ให้ผลผลิตค่อนข้างดี น้ำหนักมาก

ปลูกกระชายได้ 2 วิธี คือปลูกโดยใช้ต้นและปลูกโดยใช้เหง้า วิธีการในการเตรียมเหง้าพันธุ์กระชาย ควรคัดเลือกหัวพันธุ์ที่มีอายุเฉลี่ย 7-9 เดือน มีตาสมบูรณ์และไม่มีโรคแมลงทำลาย แบ่งหัวพันธุ์ด้วยการหั่น ขนาดของเหง้าควรจะมีตาอย่างน้อย 3-5 ตาหรือแง่ง มีน้ำหนักประมาณ 15-50 กรัม ต่อแง่ง ก่อนปลูกควรแช่หัวพันธุ์ด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อราและสารฆ่าแมลงที่ป้องกันแมลงในดิน แช่ไว้นานประมาณ 30 นาที

การปลูกกระชายของคุณวิโรจน์ จะขุดหลุมให้มีระยะระหว่างแถวประมาณ 30 เซนติเมตร และระยะระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ปลูกต้นกระชายด้วยต้นหรือเหง้าลงไปในดินและกดดินให้แน่น ถ้าฝนไม่ตกอาจจะต้องให้น้ำอย่างน้อย 1-2 ครั้ง จะช่วยให้ต้นกระชายตั้งตัวได้เร็วขึ้น เมื่อต้นกระชายตั้งตัวได้แล้วไม่ต้องทำอะไรอีก นอกจากคอยดูแลเรื่องวัชพืชอย่าให้ขึ้นคลุมต้นกระชายเท่านั้น

สำหรับคำแนะนำในการปลูกกระชายของฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะแนะนำให้ปลูกโดยใช้ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว 30×30 เซนติเมตร ขุดหลุมปลูกขนาด กว้าง ยาว และลึก 15 เซนติเมตร ก่อนปลูกให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยขี้ไก่เก่า หลุมละ 200 กรัม (ประมาณ 1 กระป๋องนม) คลุมแปลงปลูกด้วยฟางข้าวหนาประมาณ 2 นิ้ว เพื่อป้องกันการงอกของวัชพืชและยังช่วยรักษาความชื้นในดิน หลังจากปลูกเสร็จให้รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นกระชายงอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เกษตรกรควรรีบกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่

 

ป้องกันโรคเน่า
ในแปลงปลูกกระชายอย่างไร

คุณวิโรจน์บอกว่า ปัญหาที่สำคัญในการปลูกกระชายคือ ปัญหาโรคเน่า และได้แนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกควรหมั่นตรวจแปลงปลูกกระชายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคเน่าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เมื่อตรวจพบว่าค่าความเป็นกรด-ด่างของดินมีสภาพความเป็นกรดสูงจะต้องรีบแก้ไขด้วยการใส่ปูนขาวในอัตรา 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยหว่านรอบโคนต้นหรือจะใส่ในช่วงของการเตรียมดินก็ได้ อีกประการหนึ่งที่เกษตรกรไม่ควรลืมก็คือ การจุ่มเหง้ากระชายด้วยสารป้องกันและกำจัดเชื้อราก่อนปลูก ช่วยป้องกันการเกิดโรคเน่าได้ นอกจากนั้น คุณวิโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการใส่ปุ๋ยเคมีให้กับต้นกระชายมากๆ จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นกระชายเน่าตายได้เช่นกัน

ปลูกกระชายไปได้ 8 เดือน
ขุดรากขึ้นมาขายได้

หลังจากปลูกกระชายไปได้นาน 8 เดือน คือเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมครบ 8 เดือนในเดือนธันวาคม ในช่วงเดือนมกราคมจะเริ่มขุดรากขึ้นมาขายได้ โดยวิธีการสังเกตที่ใบและต้นของกระชาย จะเริ่มมีสีเหลืองและยุบตัวลง จะขุดโดยใช้จอบ คุณวิโรจน์ย้ำว่า ในการขุดกระชายในแต่ละครั้งจะต้องขุดในขณะที่ดินมีความชื้น ก่อนขุดถ้าดินแห้งให้รดน้ำก่อนเพื่อให้ดินนุ่ม วิธีการนี้จะช่วยลดความเสียหายของรากกระชายไม่ให้หักหรือขาดได้ ขณะที่ขุดรากกระชายขึ้นมานั้นมีเกษตรกรหลายรายจะใช้วิธีการฝังเหง้าเล็กๆ ลงไปพร้อมกับตอนขุดเลย เป็นการประหยัดแรงงานไม่ต้องเสียเวลาในการปลูกรุ่นต่อไป ทำงานไปพร้อมกัน แต่ถ้าเราขุดกระชายขึ้นมาพบว่ามีปริมาณของรากน้อยเกินไป ไม่ควรจะขุดขึ้นมา รอให้ถึงปีหน้าถึงจะขุดได้รากกระชายที่มีปริมาณมากขึ้น

กระชายเป็นพืชที่ได้เปรียบ
ตรงที่รอเวลาการขุดขายได้

หลังจากที่ขุดกระชายขึ้นมา เกษตรกรจะต้องนำไปล้างทำความสะอาดและตัดแต่งเหง้าหรือรากที่ฉีกขาดออกก่อนที่จะบรรจุลงถุงขาย แต่ถ้าเราขุดรากกระชายขึ้นมาแล้วปรากฏว่าราคาในขณะนั้นไม่เป็นที่พอใจ คุณวิโรจน์แนะนำให้เก็บรากกระชายที่ขุดขึ้นมาใส่กระสอบปุ๋ยเก็บไว้โดยไม่ต้องล้างทำความสะอาด รากกระชายจะยังคงความสดไม่เน่าเสีย อย่าลืมว่าอย่าล้างน้ำเด็ดขาด จะล้างก็ต่อเมื่อจะนำไปขายเท่านั้น ข้อดีอีกประการหนึ่งของการปลูกกระชายก็คือ กระชายเป็นพืชที่เราไม่ต้องรีบขุดมาขายเหมือนพืชอื่น ช่วงไหนราคาไม่ดีก็ปล่อยทิ้งไว้จนกว่าราคาจะอยู่ในระดับที่พอใจจึงขุดขึ้นมาขาย คุณวิโรจน์ย้ำว่า “การปลูกกระชายเหมือนกับการฝากธนาคาร เก็บไว้นานได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น” จากการสำรวจราคาซื้อ-ขายกระชายในแต่ละปีพบว่า กระชายจะมีราคาสูงสุดในช่วงแล้งก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์

กระชายจัดเป็นอีกพืชหนึ่งที่การบำรุงรักษาน้อย มีโรคและแมลงรบกวนไม่มาก มีความต้องการของตลาดตลอดทั้งปี เก็บไว้ได้นาน ไม่เสียหาย ถ้าราคาไม่ดี ชะลอการขุดเพื่อรอราคาได้ เกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรไม่มากหรือมีสวนผลไม้เก่าควรปลูกกระชายเพื่อเป็นรายได้เสริมเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“กระชาย” จึงเป็นอีกพืชหนึ่งที่หมาะต่อการทำการเกษตรแบบพอเพียง แต่สำหรับคุณวิโรจน์ “กระชาย” จากพืชรอง กลับสร้างรายได้หลัก

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2562