แบ่งพื้นที่ทำเกษตร ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำได้หลายอย่าง สร้างรายได้หลายทาง

บ้านหนองสามพราน ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตัวอย่างของการทำเกษตรภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

คุณพิเชษฐ์ เจริญพร ผู้ใหญ่บ้านหนองสามพราน เล่าว่า เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นไร่อ้อย ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่บ้านหนองสามพราน โดยมีเนื้อที่ทำศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มี 20 ไร่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับมาจากหน่วยงานของจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้มีองค์ประกอบที่หลากหลาย ที่เหมาะแก่การทำพืชสวนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญในการทำการเกษตร

ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ แบ่งพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่ โดยออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ซึ่ง 30% ส่วนแรกสำหรับแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร โดยขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มพูนรายได้

คุณพิเชษฐ์ เจริญพร

ส่วนที่ 2 แบ่ง 30% สำหรับเพาะปลูกพืชไร่ ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว การปลูกไร่อ้อย และหญ้าเนเปียร์ หญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงช้างซึ่งกำลังนำหญ้าชนิดนี้มาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรได้รายได้ดี ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันใช้บริโภคและนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้

ส่วนที่ 3 แบ่งเป็น 30% โดยจะใช้ทำเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ เช่น หมูหลุม ไก่ไข่ และเป็ดไข่ อีกทั้งยังเลี้ยงสัตว์น้ำที่เลี้ยงในบ่อ ได้แก่ ปลากดเหลือง ปลากดคัง ปลาสวาย ปลาบึก ซึ่งล้วนเป็นสัตว์กินพืช รวมกว่า 2,500 ตัว นอกจากนี้ ยังเลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 225 ตัว ไก่ไทย 20 แม่พันธุ์ พร้อมเครื่องฟักลูกเจี๊ยบ เป็ด 220 ตัว หมูหลุม 20 ตัว และกำลังสร้างคอกกบอีกประมาณ 500 ตัว

ส่วนสุดท้าย ประมาณ 10% แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้กับที่พักของคนทำสวน และยังใช้ทำเป็นถนนหนทางต่างๆ รวมถึงโรงเรือนอื่นๆ

จากโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สามารถทำให้เกษตรกรไทยลืมตาอ้าปากได้ โดยมีรายได้จุนเจือครอบครัวทั้งแบบรายวัน จากการเก็บไข่ไก่ ไข่เป็ด รายได้รายเดือนจากพืชอายุสั้น อาทิ มะเขือเทศ พืชผัก และรายได้รายปีจากไม้ผล ปศุสัตว์-สัตว์น้ำ

บริเวณใกล้เคียงยังมีศูนย์วิทยาเขตกำแพงแสน ที่คอยช่วยเหลือในด้านการดูแลพันธุ์พืชในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ด้วย อีกทั้งยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่ได้มอบเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศมาให้ทางศูนย์ได้ทดลองปลูก ซึ่งมะเขือเทศพันธุ์นี้ สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องฉีดยาใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อผลมะเขือเทศเติบโตสมบูรณ์แล้วสามารถรับประทานได้ทันที

แบ่งระยะการปลูก เพื่อเพิ่มรายได้ตลอดปี

ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ แบ่งสัดส่วนการปลูกแบบใหม่หรือการปลูกแบบ 3 ระยะ ได้แก่ รายได้รายวัน รายเดือน และรายปี ซึ่งรายได้รายวันนั้นจะได้มาจากไข่ไก่กับไข่เป็ด ส่วนรายเดือนจะได้จากมะเขือเทศ กล้วย และพืชผักต่างๆ และก็มีมะละกอแทรกเข้าไปหรือพืชอายุสั้น และรายปีจะเป็นไม้ผลกับปลา โดยปลาที่ทดลองเลี้ยง มีปลากดเหลือง ปลากดคัง ปลายี่สก ปลาสวาย แล้วก็ปลาบึก (พันธุ์บิ๊กสยาม) ซึ่งทั้งหมดนี้จัดอยู่ในจำพวกปลากินพืชทั้งหมด ปลาเหล่านี้จึงอยู่ด้วยกันได้ทั้งหมดและสามารถเลี้ยงในบ่อเดียวกันได้ ในขนาดบ่อ 3 ไร่ โดยจะปล่อยปลาชนิดละ 2,500 ตัว ไก่เลี้ยงไว้ 225 ตัว เป็ด 220 ตัว หมูหลุม 20 ตัว ไก่ไทยอีกประมาณ 20 แม่พันธุ์ ส่วนบ่อเลี้ยงกบ สร้างหลังคาเป็นสีฟ้าเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ ทำให้กบที่เลี้ยงเหมือนอยู่ในธรรมชาติปกติ

ส่วนการเลี้ยงเป็ดไข่ โดยใช้เทคนิคด้วยการสร้างอ่างน้ำไว้ให้เป็ดโดยเฉพาะ เพราะตามธรรมชาติของเป็ดแล้ว ถ้าเป็ดไม่ว่ายน้ำ มันก็จะมีผลทำให้เป็ดไม่ผลิตไข่ออกมา จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องสร้างอ่างน้ำไว้ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำลำคลองที่เป็นแบบธรรมชาติของจริง และเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 3 วัน ส่วนน้ำที่ถูกเปลี่ยนถ่ายออกจะถูกนำไปใช้รดพืชในสวนอีกที

แหล่งน้ำ หัวใจสำคัญ

ของศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่

แหล่งน้ำของที่นี่เปรียบเสมือนกับหัวใจของแปลงเกษตร เพราะจังหวัดกาญจนบุรีจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ร้อนและแห้งแล้งมาก ซึ่งสิ่งที่ต้องแก้ทุกๆ ครั้งในช่วงหน้าร้อนคือ การหาแหล่งน้ำเพื่อให้กับพืชผักได้อยู่รอดถึงวันเก็บเกี่ยว ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ได้งบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำเพื่อมาลอกลำห้วยเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร รวมทั้งยังจัดทำฝายชะลอน้ำและก็ขุดสระเพื่อสร้างแหล่งน้ำเพิ่มอีกด้วย

“ที่นี่ปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ โดยการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งให้ได้มากที่สุด เพราะเราเชื่อว่าเมื่อเกษตรกรในหมู่เรามีน้ำใช้อย่างไม่ขัดสน พืชผลทางการเกษตรที่พวกเขาปลูกก็จะเจริญเติบโตเป็นอย่างดี และยังได้ผลกำไรที่เหมาะสมตามมาอีก” ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ บอก

วิธีการให้น้ำ เริ่มจากการดึงน้ำมาจากต้นน้ำให้มาอยู่ส่วนกลาง แล้วจึงปล่อยไปตามแปลงของชาวบ้าน แต่น้ำเหล่านี้มีต้นทุนในการสูบ เนื่องจากต้องใช้กระแสไฟฟ้าการสูบทุกครั้ง บางคนอาจจะคิดว่ามันอาจเป็นการสิ้นเปลือง แต่ในช่วงหน้าแล้งจะเห็นผลได้ชัดเจนเลย ว่าน้ำเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสวนพืชผักของเกษตรกรค่อนข้างมาก

ทุกครั้งที่ใช้น้ำเราไม่ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างสิ้นเปลือง เพราะพื้นที่เป็นที่ปฏิรูปที่ดิน จึงต้องจัดสรรและควบคุมเป็นพิเศษ โดยน้ำที่ได้มาจะถูกส่งไปตามท่อที่ถูกฝังไว้ในดิน โดยได้แนวความคิดมาจากประเทศอิสราเอล

ระบบสหกรณ์ของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ ในหมู่บ้านยังมีสหกรณ์โคนมกาญจนบุรี แล้วก็คลังอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ 2 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์โคนม และสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินหนองสามพราน สหกรณ์โคนมมีสมาชิก 36 ราย และมีวัวทั้งหมด 368 ตัว ทั้งฝูงประมาณกว่า 800 ตัว

ทางสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินก็ได้ให้นโยบายไว้ว่า ให้สหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผลิตหญ้าเนเปียร์ขายให้เพื่อรองรับสหกรณ์โคนม ซึ่งสหกรณ์โคนมไม่ต้องปลูกเอง แต่จะให้ทางสมาชิกสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินได้ปลูกเอง ซึ่งตอนนี้มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ที่ใช้สำหรับปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อส่งให้สหกรณ์โคนม เป็นการปลูกที่ไม่ต้องใช้สารเคมีเลย ใช้เพียงแค่ท่อนพันธุ์ในการปลูก

การปลูกหญ้าเนเปียร์ ในรอบแรก ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน รอให้หญ้าเนเปียร์โตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนรอบที่ต่อๆ ไประยะเวลาในการเติบโตของหญ้าจะเหลือเพียง 2 เดือน ซึ่งถ้าเทียบกับอ้อย อ้อยจะปลูกและตัดได้เพียงปีละ 1 ครั้ง แต่สำหรับหญ้าเนเปียร์สามารถตัดได้มากถึง 5-6 ครั้งในปีเดียว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีกำไรโดยหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือประมาณแสนกว่าบาท

ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ บอกว่า ในช่วงหลังๆ พยายามให้เกษตรกรเปลี่ยนจากพื้นที่ทำอ้อยมาปลูกหญ้าแทน เพราะจะได้กำไรตอบแทนดีกว่า ใช้เวลาปลูก 60 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยว และหักลบรายได้แล้ว ก็จะมีรายได้ประมาณ 20,000 กว่าบาท ต่อครั้ง จากพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งปีหนึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 6 ครั้งเลยทีเดียว ส่วนของน้ำนมดิบที่ได้จากโคนม จะเน้นทำนมเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งบริษัทโดยเฉพาะ

หากผู้อ่านมีความสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่พิเชษฐ์ เจริญพร ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-425-1163

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

Update 22/07/2021