แนะวิธีลดต้นทุนผลิตในสวนยาง ด้วยการเสริมรากและทำปุ๋ยเอง

สวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ในช่วงที่ราคายางและปาล์มสูง เกษตรกรมีความสุข เดิมทีการกรีดยางในระยะแรก ใช้แรงงานครอบครัวกรีดยางกันเอง ต่อมามีแรงงานชาวอีสานหันมารับจ้างกรีดยาง โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ ระหว่างเจ้าของสวนยางกับแรงงานอยู่ที่ 60 : 40 เป็นมาตรฐาน โดยเจ้าของสวนได้ 60% คนกรีดได้ 40% อาจมีแตกต่างกว่านั้นแล้วแต่ตกลงกัน       

เมื่อชาวอีสานเริ่มปลูกยางได้ ก็พากันกลับบ้าน คนงานต่างด้าวซึ่งเป็นชาวพม่าเข้ามาแทนที่ ในจังหวะที่ราคายางสูงลิบ ทั้งคนงานและเจ้าของสวนต่างมีความสุขดี เมื่อเจอภาวะยางราคาตก ชาวพม่าค่อยๆ หนีไปทำงานก่อสร้างในเมือง ทิ้งให้ชาวสวนยางกรีดกันเอง เมื่อเจ้าของสวนลงมือกรีดยางเอง จึงพบว่า ช่วงที่ราคายางแพงนั้น ลูกจ้างชาวพม่าเอายาเร่งน้ำยางทามีดกรีดเพื่อให้ได้น้ำยางเยอะๆ ต้นยางจึงโทรมเร็ว ไม่สามารถกรีดได้ครบ 25 ปี จึงเกิดวลีคำหนึ่งว่า “พม่ากรีด ไทยตัด” คือหลังพม่ากรีดยางแล้ว ไทยต้องโค่นยางทิ้งปลูกใหม่ เพราะต้นยางโทรมมาก

คุณชาตรี แสงทอง เกษตรกรชาวสวนยาง อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 3 ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โทรศัพท์ 086-497-7665 คุณชาตรีเป็นเกษตรกรชาวสวนยางโดยกำเนิด เพราะตั้งแต่ลืมตามาก็เห็นพ่อทำสวนยางพารา ในสมัยเด็กได้มีโอกาสช่วยพ่อแม่ทำสวนยาง จึงซึมซับความเป็นเกษตรกรมาโดยไม่รู้ตัว

ปัจจุบัน คุณชาตรียังทำอาชีพสวนยางตามบรรพบุรุษ โดยปลูกและกรีดยางเองทั้ง 17 ไร่ ความจริงแล้ว 1 ครอบครัว ดูแลพื้นที่สวนยางได้ประมาณ 15 ไร่ กำลังพอดี ไม่น้อยและมากเกินไป ในช่วงที่ราคายางกิโลกรัมละ 100 ชาวสวนยางยิ้มแย้มได้ เศรษฐกิจภาคใต้เฟื่องฟู หลังเจอปัญหาราคายางตกต่ำ คุณชาตรีก็ไม่ได้มีผลกระทบมากเหมือนคนอื่นเขา เพราะน้ำยางที่ได้ราคาเท่าไรก็เข้ากระเป๋าตัวเองเองทั้งหมด

คุณชาตรีมีโอกาสเข้าอบรมศึกษาดูงานสวนยางในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในจังหวัดพังงา จังหวัดใกล้เคียง และมีโอกาสดูงานในพื้นที่ภาคกลาง ได้เรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ จึงเกิดแนวคิดทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้เองในสวนยางพารา เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ที่ผ่านมา พื้นที่ทำกินมีต้นยางเก่าที่หมดอายุจำเป็นต้องโค่นทิ้ง คุณชาตรีตัดสินใจโค่นต้นยางทิ้ง เพื่อนำไปปลูกพืชชนิดอื่น เหลือพื้นที่สวนยางเพียงแค่ 7 ไร่เนื่องจากแปลงปลูกสวนยางดังกล่าวเป็นที่ลุ่มชุ่มน้ำ รากต้นยางไม่ค่อยแข็งแรง ในช่วงหน้าฝนที่มีลมแรง ต้นยางมักโค่นล้มจนต้องปลูกแซมกันบ่อยครั้ง คุณชาตรีอยากให้รากต้นยางแข็งแรง จึงใช้วิธีเสริมรากต้นยางพารา เช่นเดียวกับการปลูกทุเรียนเสริมราก

วิธีทำต้นยางพาราเสริมราก

คุณชาตรีถอนต้นยางพันธุ์พื้นบ้าน ขนาดลำต้นประมาณนิ้วชี้ อายุประมาณ 1 ปี จำนวน 2 ต้น นำมาปลูกใกล้ๆ กับต้นยางพันธุ์ 600 หรือ 251 ซึ่งเป็นต้นยางติดตาพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคใต้ รอเวลาประมาณ 6 เดือน ให้ต้นยางทั้ง 3 ต้น เติบโตดี หลังจากนั้น ใช้มีดคมๆ ปาดต้นยางพันธุ์และต้นยางพันธุ์พื้นบ้าน ให้มีรอยแผลกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1 นิ้ว จากนั้นนำรอยแผลของต้นยางพื้นบ้านที่ใช้เสริมรากมาทาบตรงรอยแผลของต้นยางพันธุ์ หมายถึงต้นยางพันธุ์จะถูกปาด 2 รอย เพราะต้องเอายางเสริมมาทาบ 2 ต้น หลังจากนั้น เอาผ้าเทปสำหรับตอนกิ่งพันให้แน่น ไม่ให้น้ำเข้า ใช้เวลาปลูกดูแลประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ในช่วงนั้นให้นำเชือกมาผูกรวบโคนยางทั้ง 3 ต้นให้โน้มเข้าหากัน เพื่อกระชับไม่ให้แผลเปิดอ้า เมื่อรอยแผลประสานติดกันดีแล้ว ให้ตัดยอดต้นยางเสริมจากรอยแผลขึ้นมา 1 นิ้ว และหมั่นปลิดยอดยางเสริมออก ถ้ามียอดแตกออกมา

ต้นยางที่เสริมรากจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี แผลก็จะเชื่อมติดกันสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ต้นยางที่เสริมรากนี้นอกจากจะทำให้ระบบรากแข็งแรง โค่นล้มยากแล้ว ต้นก็จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นยางที่มีรากเดียว ในช่วงดังกล่าวคุณชาตรีได้ให้ปุ๋ยเคมี สูตร 27-6-6 เพื่อบำรุงต้น ประมาณต้นละ 100 กรัม ปีละ 3 ครั้ง ในช่วงก่อนฝน กลางฝน และปลายฝน ส่วนปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวิภาพที่ทำเองจะให้ในช่วงที่มีเวลาว่างจากงานประจำ

น้ำหมักชีวภาพสำหรับต้นยาง

คุณชาตรีจะทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ โดยใช้ถังสีฟ้า ขนาด 200 ลิตร วัสดุดิบที่นำมาใช้ ได้แก่ ปลา หรือไส้ปลา หรือหอยเชอรี่ (สับหรือบด) จำนวน 30 กิโลกรัม ไข่ไก่หรือไข่เป็ด 50 ฟอง นมสดให้ซื้อตามห้างที่หมดอายุแล้วจะได้ของราคาถูก จำนวน 20 ลิตร กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม สาร พด.2 ของกรมพัฒนาที่ดินจำนวน 2 ซอง กรณีมีกลิ่นเพิ่มกากน้ำตาลได้ และใช้ผลไม้ที่ไม่มีรสเปรี้ยว เช่น ฝรั่ง มะละกอ กล้วย หน่อกล้วย ไส้กล้วย จำนวน 50 กิโลกรัม ส่วนผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น สับปะรด มะม่วง มะยม ใช้ไม่ได้

หั่นวัสดุทั้งหมดเอาแค่หยาบๆ ก็พอ ใส่ลงในถังหมักปากกว้างที่มีฝาปิด นอกจากนี้ นำไข่ไก่ที่ต่อยให้แตกใส่ลงไปทั้งเปลือก ใส่น้ำจำนวน 30 ลิตร หรือพอท่วมวัสดุ สูตรน้ำหมักชีวภาพที่คุณชาตรีทำไว้ใช้ในสวน นิยมใช้น้ำหมักจากต้นกล้วยมาแทนน้ำเปล่า เพื่อให้มีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น โดยคนวัตถุดิบทั้งหมดให้เข้ากัน ประมาณ 2-3 วัน ค่อยมาคนกลับวัสดุในถัง ใช้ฝาปิดไว้อย่าให้มิด เพื่อเป็นการระบายแก๊ส ถังหมักน้ำชีวภาพควรเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแดด ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือสังเกตว่าฟองอากาศที่เคยขึ้นมาตอนคนจะหายไป ก็กรองแล้วนำมาใช้ได้ ส่วนเศษวัสดุที่เป็นส่วนผสมยังคงย่อยไม่หมด แต่จะค่อยๆ ย่อยไปได้เรื่อยๆ น้ำหมักชีวภาพจะจำหน่ายลิตรละ 50 บาท

น้ำจากไส้กล้วย
หมักได้ที่แล้ว

คุณชาตรีจะใช้น้ำหมักชีวภาพในสวนยาง 2 รูปแบบ คือ ใช้รดที่โคนต้น ในอัตราส่วนครึ่งลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ด้วยเครื่องพ่นสะพายหลัง วิธีที่สอง ใช้ฉีดพ่นทางใบเพื่อเป็นฮอร์โมนพืช โดยใช้อัตราส่วนที่เจือจางกว่าลงครึ่งหนึ่ง น้ำหมักชีวภาพสูตรนี้ สามารถใช้ปรับสภาพในบ่อปลา ผสมน้ำให้สัตว์เลี้ยงกินได้

น้ำหมักสูตรนี้คุณชาตรีใช้ในสวนยางอย่างสม่ำเสมอ และแนะนำให้เกษตรกรที่รู้จักกัน นำไปใช้ในแปลงปลูกเมล่อน ปรากฏว่าได้ผลดี จึงมาซื้อไปใช้ในการปลูกเมล่อน ครั้งละหลายสิบลิตร นอกจากนี้ สามารถนำไปคลุกกับขุยมะพร้าวที่ใช้ในการตอนพืช ช่วยให้รากพืชเจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรงมาก

 

สูตรการทำปุ๋ยหมัก

นอกจากนี้ คุณชาตรียังได้ผลิตปุ๋ยหมักขึ้นใช้เอง โดยใช้วัตถุดิบคือ มูลวัวหรือมูลสัตว์อื่นๆ ประมาณ 500 กิโลกรัม เศษพืชผักหรือผลไม้ต่างๆ ในสวน กรณีนี้สามารถใช้ผลไม้เปรี้ยวได้ จำนวน 500 กิโลกรัม ใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตไว้แล้วจำนวน 30 ลิตร กระดูกวัวเผา 200 กิโลกรัม ถ้าไม่มีใช้แร่ฟอสเฟตแทนก็ได้ สาร พด.1 จำนวน 1-2 ซอง

หมักด้วยเศษผลไม้ในสวน
มีท่อไว้ระบายอากาศ

การหมักปุ๋ยควรทำอยู่ในโรงเรือน แบ่งวัสดุหลักคือ มูลสัตว์และพืชผักเป็นอย่างละ 3 ส่วน ครั้งแรกโรยมูลสัตว์ลงไปก่อนแล้วทับด้วยเศษพืชผัก ใส่กระดูกวัวเผาหรือแร่ฟอสเฟตลงไป รดด้วยน้ำหมักชีวภาพแบบเข้มข้นไม่ต้องผสมน้ำ 10 ลิตร ผสม สาร พด.1 ลงไปด้วย ทำแบบนี้อีก 4 ชั้น ก็ได้กองปุ๋ยหมักที่มีพืชผักอยู่บนสุด อย่าลืมใส่ท่อพีวีซี หรือใช้ไม้ไผ่เป็นท่อระบายอากาศ สัก 9-10 อัน หมักประมาณ 15 วัน จึงกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานอย่างทั่วถึง ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หรือหมดกลิ่น หรือกองปุ๋ยหมักมีอุณหภูมิปกติก็นำไปใช้งานได้ ก่อนนำไปใช้งาน ควรนำปุ๋ยหมักมาบดให้ละเอียดก่อน ปัจจุบัน คุณชาตรีได้ใช้ปุ๋ยหมักภายในสวนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย มีเหลือขายอยู่จำนวนไม่มากนัก

ปุ๋ยที่หมักเสร็จแล้ว

ปัจจุบันสวนยางของคุณชาตรีที่ปลูกด้วยวิธีเสริมราก ทำให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปกติ เมื่อบำรุงต้นยางด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพที่ทำใช้เองเสริมเข้าไปด้วย ยิ่งทำให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2559

Update 22/07/2021