สร้างรายได้งาม เปลี่ยนป่าไผ่ดั้งเดิม เป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

คุณณรงค์ ไทยเจริญ เจ้าของสวนไผ่เนื้อที่ 22 ไร่ ในพื้นที่ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เขาชื่นชอบต้นไผ่เป็นอย่างมาก ปลูกไผ่จำนวน 3 พันธุ์ คือ ไผ่หม่าจู ไผ่รวก และไผ่เลี้ยง

ไผ่หม่าจู

คุณณรงค์ชื่นชอบการปลูกไผ่หม่าจูเป็นพิเศษเพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งจากหน่อและลำต้น ลำต้นไผ่หม่าจูสามารถทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เตียง ส่วนหน่อไม้พันธุ์หม่าจู มีรสชาติหวานกรอบอร่อย ไม่มีขม ไผ่หม่าจูจัดอยู่ในตระกูลไผ่หวาน มีสีเนื้อที่ขาวปราศจากสารฟอกสี นำไปรับประทานได้โดยที่ไม่ต้องต้มน้ำเพื่อลวกหน่อไม้ นำมาปรุงอาหารได้เลย

ไผ่พันธุ์หม่าจู ขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ 1. การตอนกิ่งแขนง ไม่สามารถนำกิ่งที่มีความอ่อนมาใช้ได้ กิ่งที่นำมาใช้จะต้องอยู่ในช่วงกลางๆ ไปจนถึงระดับที่เรียกว่าแก่เลยทีเดียว 2. การเพาะชำเหง้า หากช่วงนั้นพื้นดินมีความชื้นสูงๆ ก็สามารถนำลำต้นปักลงหลุมได้ทันที

ใบไผ่ที่สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้

ไผ่รวก ไม้อเนกประสงค์

ส่วนไผ่รวก คุณณรงค์ปลูกเป็นแถวเพื่อใช้เป็นแนวบังลม เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีลมค่อนข้างแรงในบางฤดู ไผ่รวกเป็นไผ่ที่ปลูกได้ง่าย แต่ใช้เวลาปลูกดูแลนานถึง 4 ปีเลยทีเดียว กว่าที่ไผ่รวกจะเติบโตโดยสมบูรณ์แบบ ส่วนหน่อไผ่รวก เก็บได้ตั้งแต่ปีที่ 3 คุณณรงค์บอกว่า หากอยากได้หน่อไม้คุณภาพดี ควรเก็บในปีที่ 4 ขึ้นไป นอกจากได้รสชาติที่ดีแล้ว มอดยังน้อยอีกด้วย

ด้านลำต้นของไผ่รวก คุณณรงค์ตัดไปทำเป็นหลักวัวหรือแผงกั้นที่มีลวดเป็นตัวนำไฟฟ้า ทำเป็นรั้วไฟฟ้า เพราะพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม ส่วนใหญ่ทำอาชีพเลี้ยงวัว ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงนำไม้ไผ่รวกมาแปรรูปเป็นหลัก ขาย 1 ท่อน (1 เมตร 20 เซนติเมตร) ในราคาประมาณ 4 บาท ไผ่หนึ่งลำสามารถตัดได้ 4-5 ท่อน ไผ่หนึ่งลำต้น มีค่าประมาณ 20 บาท ส่วนเศษไม้ที่ตัดเป็นข้อๆ ไม่ได้ทิ้ง นำมาเผาถ่าน เพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง

หน่อไม้ดอง แปรรูปเองจากสวนคุณณรงค์

ไผ่เลี้ยง

ส่วนไผ่เลี้ยง แม้ไม่ใช่ไม้หลักที่เลือกปลูก แต่มีประโยชน์และการเจริญเติบโตคล้ายกับไผ่รวก คุณณรงค์จึงเลือกใช้ประโยชน์จากหน่อกับลำต้น ที่มีลักษณะเหมือนไผ่รวกเกือบทุกอย่าง

สวนแห่งนี้ คุณณรงค์ยังปลูกสมุนไพรต่างๆ อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นสมุนไพรปรับสมดุลร่างกาย สามารถใช้รักษาโรคแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้เงินในการรักษา ซึ่งสมุนไพรในนี้มีมากกว่า 30-40 ชนิด มีทั้งสมุนไพรที่เป็นไม้ยืนต้น-สมุนไพรที่เป็นไม้ล้มลุก และสมุนไพรที่เป็นพืชข้ามปี กลายเป็นป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคม ช่วยอนุรักษ์ดิน น้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ มีป่าไม้ มีอาหารกิน มีไม้ใช้สอยในครัวเรือน และเป็นสินค้าออกขาย สร้างรายได้ในระยะยาว

คุณณรงค์ นำแนวคิดป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาใช้กับสวนแห่งนี้ด้วย โดย ประโยชน์ 3 อย่าง ได้แก่ ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้กินได้ และป่าไม้เศรษฐกิจ ส่วนประโยชน์ 4 อย่าง คือสามารถนำมาเป็นอาหารได้ ซึ่งที่สวนแห่งนี้จะมีเพกา มะขามป้อม กล้วย ขี้เหล็ก มะละกอ ฯลฯ แล้วก็ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่อยู่ในสวน ส่วนใหญ่ล้วนจะเป็นสมุนไพรที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้จักกับประโยชน์อย่างเด่นชัด

ประโยชน์ที่สอง นำสิ่งที่มีอยู่ในสวนไผ่มาใช้สอย เพื่อสร้างเป็นที่พักอาศัย หรือทำเป็นพวกเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้

ประโยชน์ที่สาม สามารถใช้ในการนำไปจำหน่ายได้ หรือจะนำมาเป็นพลังงาน เช่น การเผาถ่านก็ได้

ส่วนประโยชน์ข้อสุดท้าย พันธุ์ไม้เหล่านี้เมื่อปลูกแล้ว จะไม่มีการไปรบกวนธรรมชาติแม้แต่น้อย มีแต่จะรักษาเกื้อหนุนป่าไม้และสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ แถมยังเป็นการสร้างสมดุลของระบบนิเวศภายในสวนได้อีกด้วย

 

ให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด

สวนแห่งนี้ คุณณรงค์ ให้น้ำระบบน้ำหยด ในช่วงหน้าแล้ง เพื่อให้พื้นที่เพาะปลูกมีความชื้นอยู่ตลอดเพราะสวนแห่งนี้มีหิ่งห้อยอยู่หนึ่งสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตอยู่ในป่าแห่งนี้ก็คือ หิ่งห้อยป่าไม้ มีลักษณะหัวส้ม ปีกดำ ตัวค่อนข้างใหญ่ สามารถอาศัยอยู่ในป่าไม้ได้โดยที่ไม่ต้องอยู่ในน้ำ ใช้ความชื้นที่อยู่ในป่าไผ่ เพื่อขยายพันธุ์ เนื่องจากสวนแห่งนี้ไม่ใช้สารเคมี ทำให้หิ่งห้อยป่าไม้เจริญเติบโตได้ดี ใน 1 ปี  มีเพียงแค่ 2 อาทิตย์ ที่หิ่งห้อยจะโผล่ออกมาให้เห็น

 

หิ่งห้อย กับป่าไม้ไผ่

สาเหตุที่คุณณรงค์อยากเก็บรักษาหิ่งห้อยเหล่านี้ เพื่อให้ลูกหลานได้มาศึกษาเรียนรู้ว่า หิ่งห้อยเหล่านี้นอกจากจะให้ความสวยงามแล้ว ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศด้วย เพราะสวนที่มีหิ่งห้อยอยู่ในพื้นที่ บ่งชี้ว่า มีแหล่งน้ำที่สะอาด ปลอดสารเคมีอีกด้วย นอกจากสวนแห่งนี้ยังมีหิ่งห้อยสายพันธุ์น้ำจืดอีกหนึ่งชนิด อาศัยอยู่บริเวณสระด้านล่างสวน ถือเป็นหิ่งห้อยสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยอีกด้วย

ขั้นตอนการทำหลักหรือรั้วล้อมคอกวัว
นำต้นไผ่มาแปรรูปเป็นหลักวัวหรือรั้วไฟฟ้า

คุณณรงค์ มีคำแนะนำถึงผู้สนใจปลูกไผ่ว่า

“ผมแนะนำให้เลือกปลูกไผ่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหน่อทั้งลำเพราะไม่ต้องดูแลอะไรมาก และสามารถขายได้ทั้งหน่อและลำต้นไผ่ นอกจากใส่ใจเรื่องสายพันธุ์ไผ่ที่จะใช้ปลูกแล้ว ต้องใส่ใจเรื่องแหล่งน้ำด้วย เพราะช่วง 2 ปีแรกของการปลูกไผ่นั้น ต้นไผ่ต้องการน้ำค่อนข้างมาก

เดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงที่หน่อไม้ออกผลออกหน่อมาก สวนของผมไม่เน้นขายหน่อไม้เพราะหน่อไม้มีราคาถูก 1 กิโลกรัม ขายได้เพียง 10 บาท ผมเน้นขายลำต้นไผ่เพราะได้ราคาดี ลำละ 20 บาท พื้นที่จังหวัดลพบุรีเลี้ยงปศุสัตว์เยอะ ผมเน้นไม้ไผ่สำหรับทำหลักวัว-รั้วไฟฟ้าขายเป็นส่วนใหญ่” คุณณรงค์ กล่าว

ถ่านไม้ไผ่

ถ่านไม้ไผ่ สร้างมูลค่าเพิ่มเศษไม้

คุณณรงค์ มีรายได้เสริม โดยนำเศษไม้ไผ่ท่อนเล็กๆ ที่เหลือจากการทำรั้วไฟฟ้า นำไปเผาเป็นถ่านไม้ไผ่ ซึ่งประโยชน์ของถ่านไม้ไผ่คือ ให้พลังงานเยอะกว่าถ่านทั่วไป สามารถซับกลิ่น ดูดสารพิษต่างๆ ได้ดี ดีกว่าถ่านไม้ทั่วไป ถ่านไม้ไผ่นำไปพัฒนาต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมหรือขายเป็นสินค้าโอท็อปได้มากมาย เช่น สบู่ และสินค้าอื่นๆ สามารถบดเป็นผง นำไปผสมกับเครื่องดื่ม มีฤทธิ์ดูดซับสารพิษในร่างกายได้ ช่วยลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้ดีอีกด้วย

วิธีการเผาถ่านไม้ไผ่ ทำได้ง่าย โดยนำถังน้ำมัน ขนาดบรรจุ 200 ลิตร มาเจาะรูที่ก้นถัง ประมาณ 20 รู และขุดหลุมในพื้นที่สำหรับการเผาให้ลึกพอประมาณ นำถังที่เตรียมเผาไปวางไว้บนหลุม จากนั้นนำไม้ที่เหลือจากการทำหลักวัว ที่มีลักษณะเป็นข้อๆ หรือเศษไม้ไผ่ชิ้นเล็ก มาใส่ในถังให้พอประมาณแล้วจึงปิดฝา ใช้ดินจำนวนหนึ่งมาวางลงบนฝาถัง พร้อมก่อไฟในหลุมที่ขุดเพื่อเผาได้ทันที ซึ่งการเผาใช้เวลาวันต่อวัน เมื่อเผาเสร็จ จะได้ถ่านไม้ไผ่ประมาณ 1 กระสอบ

หากใครสนใจเรื่องการปลูกไผ่หรือการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มจากไม้ไผ่ สามารถติดต่อมาได้ที่ คุณณรงค์ ไชยเจริญ เบอร์โทรศัพท์หมายเลข 081-946-3318