ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ ไม่ใช้สารเคมี ต้นทุนต่ำ รายได้ดี มีตลาดรับซื้อแน่นอน

การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในโครงการที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกในช่วงหน้าแล้ง เพื่อลดพื้นที่การทำนาปรัง ทั้งนี้ ได้มีการประสานงานพร้อมกับได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเปิดตลาดรับซื้อข้าวโพดจากชาวบ้านที่ปลูกมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด

คุณแสวง ทองท่อน อยู่บ้านเลขที่ 61 หมู่ที่ 6 ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชาวบ้านที่ยึดอาชีพเกษตรกรรมด้วยการปลูกข้าว สลับกับการปลูกพืชอายุสั้นอย่างมะเขือลาย แต่ต้องใช้สารเคมีมากจนทนไม่ไหวจึงเลิกเพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อตัวเองและผู้บริโภค จากนั้นจึงหันมาปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์แทนเพราะไม่ต้องใช้สารเคมี แถมยังทำให้ต้นทุนต่ำ

คุณทวี มาสขาว (ขวา) เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เข้าเยี่ยมชมไร่ข้าวโพดของคุณแสวง

คุณแสวงใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด 8 ไร่ แล้วใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 22 กิโลกรัม เป็นข้าวโพดพันธุ์แปซิฟิก 99 เหตุผลที่เลือกใช้พันธุ์นี้เพราะได้รับการแนะนำจากเพื่อนบ้านหลายราย เนื่องจากมีข้อดีคือให้ความเข้มข้นของแป้งสูง อีกทั้งยังให้ผลผลิตมากด้วย

การเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพด คุณแสวง บอกว่า หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้วจะไถกลบ แล้วปั่นดินให้ละเอียด จากนั้นจึงยกร่องกว้างสัก 75 เซนติเมตร นำเมล็ดพันธุ์ไปหยอดตามหลุมที่ขุดไว้ ใส่มูลไก่ต้นละกำมือ แล้วไถกลบ สำหรับปุ๋ยมูลไก่ คุณแสวง บอกว่า ในพื้นที่จำนวน 8 ไร่ ใช้ประมาณ 300 กระสอบ ราคากระสอบละ 30 บาท

คุณแสวงเพิ่งเริ่มปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ และไปเก็บผลผลิตเดือนพฤษภาคม ซึ่งหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้วจะปั่นข้าวโพดไถกลบเพื่อเตรียมปลูกข้าวต่อ

ข้าวโพดใช้เวลาปลูกจนเก็บผลผลิตได้จำนวน 120 วัน ในระยะที่เริ่มปลูกยังไม่ต้องให้น้ำ พอเริ่มมีฝักอ่อนจึงรดน้ำ พร้อมกับได้รับน้ำฝนด้วย

ตลาดรับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ของคุณแสวงคือ ร้านก้าวหน้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจเอกชนที่รับซื้อข้าวโพดจากเธอ โดยมีการตกลงกันว่าหากข้าวโพดมีความชื้น 14 เปอร์เซ็นต์ จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 8 บาท แล้วถ้าหากความชื้นมากขึ้นราคาจะลดลง

ไร่ข้าวโพดอาหารสัตว์ของคุณแสวง

คุณแสวง เผยว่า ชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ตำบลแสนสุขพบว่า ส่วนมากจะปลูกแล้วได้ปริมาณแป้งสูงมาก พร้อมกับเปรียบเทียบการมีปริมาณแป้งสูงของข้าวโพดพันธุ์นี้ว่า ถ้าลองนำไปปั่นทำเป็นขนมชั้นหรือข้าวปาดทางภาคอีสาน จะใช้ข้าวโพดที่ฝานเมล็ดออกจำนวน 10 ฝัก ก็สามารถทำขนมชั้นข้าวโพดได้ขนาดถาดใหญ่มาก

เกษตรกรรายนี้ตระหนักถึงพิษภัยที่เกิดจากการใช้สารเคมี ดังนั้น ข้าวโพดอาหารสัตว์ที่คุณแสวงปลูกจึงไม่ได้ใช้สารเคมีแต่อย่างใดเลย เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ด้วยการใช้ปุ๋ยคอกใส่ นอกจากนั้น จะไม่ใช้ยาฆ่าหรือป้องกันแมลง แต่หากเดินตรวจตราในแปลงแล้วพบว่ามีแมลงก็จะใช้วิธีกำจัดแมลงด้วยมือเปล่า

ตลอดระยะเวลาที่ปลูกจำนวน 120 วัน ไร่ข้าวโพดจะรดน้ำเพียง 10 ครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่อายุต้น 1 เดือน จำนวน 1 ครั้ง พอเข้าเดือนที่ 2 จะเพิ่มจำนวนขึ้น จนกระทั่งก่อนเก็บผลผลิต 1 เดือน จึงรดน้ำเป็นครั้งสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นจะมีน้ำฝนเข้ามาช่วยด้วย

เธอบอกถึงเหตุผลที่รดน้ำไม่มากเพราะดินที่บริเวณพื้นที่แห่งนี้มีความชื้นสูง ซึ่งพิสูจน์ได้จากการขุดบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำมาใช้ จะมีความลึกเพียง 6 เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ลึกมากก็เจอแหล่งน้ำแล้ว จึงไม่เดือดร้อนจากปัญหาความแห้งแล้ง อีกทั้งตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่ตำบลแสนสุขนี้ไม่เคยพบว่าขาดแคลนน้ำเลย

ความได้เปรียบทางธรรมชาติจากคุณภาพความชื้นในดินเช่นนี้ จึงทำให้คุณแสวงคาดว่าผลผลิตข้าวโพดที่จะเก็บได้ในรอบนี้น่าจะได้สักไร่ละ 1 ตัน หรือรวม 8 ไร่ ประมาณ 8 ตัน ขณะเดียวกัน ถ้าโชคดีได้ความชื้นตามที่กำหนดอาจจะได้เงินประมาณ 60,000 กว่าบาท แล้วดูจะมั่นใจมากขึ้นเนื่องจากน้องสาวเคยปลูกเพียง 6 ไร่ ได้น้ำหนักถึง 10 ตัน

ทางด้านต้นทุนปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ที่คุณแสวงจะต้องจ่าย ได้แก่ ค่าจ้างเก็บข้าวโพดด้วยการใช้รถเก็บไร่ละ 700 บาท เป็นเงินรวม 5,600 บาท แล้วคิดว่าอื่นๆ อีก รวมแล้วต้นทุนน่าจะสัก 20,000 บาท แล้วคงเหลือเป็นของเราเองสัก 40,000 บาท

คณะเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอวารินชำราบพร้อมผญบ.(ขวาสุด)

แม้คุณแสวงจะเป็นมือใหม่สำหรับผู้ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ แต่ด้วยประสบการณ์ ตลอดจนความเอาใจใส่อย่างเต็มที่ จึงทำให้คุณภาพข้าวโพดมีความสมบูรณ์เต็มที่ มีเมล็ดข้าวโพดเรียงแถวตรง ขนาดฝักและเมล็ดมีขนาดใหญ่ แล้วสม่ำเสมอ

การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์นับเป็นพืชทางเลือกอีกชนิดที่ทำรายได้อย่างดีให้เกษตรกรในอำเภอวารินชำราบ ที่ทำหลังเก็บเกี่ยวข้าว ทั้งนี้ เพราะมีตลาดรองรับที่ชัดเจน อีกทั้งพื้นที่ปลูกยังเอื้อประโยชน์กับข้าวโพดได้เป็นอย่างดีทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณแสวง ทองท่อน โทรศัพท์ (088) 043-4406

ขอขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอวารินชำราบ ที่ได้อำนวยความสะดวกในการทำรายงานพิเศษ