สาวอุดรฯ ต้นแบบเกษตรรุ่นใหม่ ปลูก-แปรรูป ข้าวโพดหวานราชินีทับทิมสยาม พร้อมจัดการแปลงแบบ Zero waste

Zero waste เป็นแนวคิดในการที่จะทำให้ไม่เกิดของเหลือหรือทำให้เกิดของเหลือน้อยที่สุดในกระบวนการผลิต แล้วจึงนำส่วนที่เหลือไม่สามารถใช้ประโยชน์แล้วไปกำจัด เริ่มมีการนำมาใช้ในช่วง ค.ศ. 1970 ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมยังได้มีการแลกเปลี่ยนหรือขายของเหลือดังกล่าวให้กับโรงงานหรือสถานประกอบการอื่นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปทำให้ของเหลือเหล่านั้นมีจำนวนน้อยลง ถือเป็นแนวคิดการจัดการที่เป็นประโยชน์กับทั้งสิ่งแวดล้อมและภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง

คุณอภิรนันท์ ธรรมจันท์สนิท หรือ พี่ข้าว อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี อดีตข้าราชการครูหัวใจเกษตร จากมือสมัครเล่นสู่เกษตรกรมืออาชีพ พร้อมแนวคิดการจัดการแปลงแบบเกษตรกรยุคใหม่ ด้วยการนำแนวคิด Zero waste มาใช้ในการปลูกข้าวโพดหวานสีแดงราชินีทับทิมสยาม โดยไม่ให้เกิดขยะเหลือทิ้ง คือทุกส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์หมุนเวียนได้ทั้งหมด จนเกิดเป็นการสร้างอาชีพต่อยอดอนาคตได้อย่างยั่งยืน

คุณอภิรนันท์ ธรรมจันท์สนิท หรือ พี่ข้าว

พี่ข้าว เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรให้ฟังว่า อดีตตนเองเคยเป็นครูมาก่อน แต่ด้วยลักษณะนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนรักอิสระจึงคิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานที่ทำอยู่ จึงได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูเพื่อมาเป็นเกษตรกร แต่ต้องบอกก่อนว่าในตอนนั้นก่อนที่ตนเองจะออกจากงาน ก็ได้ทดลองทำอะไรหลากหลาย เพื่อค้นหาความชอบของตนเอง ทำมาหลายอย่าง ทั้งเลี้ยงสัตว์ ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ก็นานกว่าจะได้ผลผลิตแต่ละครั้ง หรือจะเป็นด้านไม้ประดับก็เคยทำแต่แล้วก็ไม่ใช่ทาง จนสุดท้ายมาจบที่การปลูกข้าวโพด เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย ปลูกครบ 65 วัน ได้เก็บขายแน่นอน

 

ข้าวโพดหวานราชินีทับทิมสยาม
ปลูก
2 ไร่ สร้างประโยชน์รอบด้าน
ทั้งขายฝักสด-แปรรูป-เป็นอาหารสัตว์

เจ้าของบอกว่า ตอนแรกที่มุ่งมั่นจะปลูกข้าวโพดเป็นพืชหลักสร้างรายได้ก็ยังไม่ค่อยมีความมั่นใจเท่าไรนัก แต่พอได้ลงมือทำไปแล้วผลลัพธ์ออกมาดี ทั้งคนในครอบครัวและคนรอบข้างที่รู้จักกัน เมื่อได้เห็นผลผลิตที่ตนเองปลูกแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวโพดของเราสวยน่ากิน ตรงนี้จึงเป็นตัวจุดประกายว่าจะลองปลูกขายแบบจริงจัง บวกกับพื้นฐานเดิมเป็นคนชอบกินข้าวโพดเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้วจึงทำให้สนุกไปกับการปลูกทดลองหาพันธุ์แปลกๆ ไปเรื่อย เพราะนอกจากความสนุกแล้วยังถือเป็นการได้หาจุดเด่นของไร่ไปในตัว จนกระทั่งไปถูกใจอยู่กับข้าวโพดสายพันธุ์หนึ่ง คือข้าวโพดราชินีทับทิมสยาม มีจุดเด่นที่สีสันสวยงาม สามารถกินดิบได้ รสชาติหอมหวาน และที่สำคัญมีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านของสุขภาพและการต่อยอดแปรรูปออกมาได้หลากหลายผลิตภัณฑ์

ดูแลแปลงปลูกอย่างดี

โดยที่สวนเริ่มต้นปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ 3 งาน และค่อยๆ มีการขยับขยายพื้นที่ปลูกมาเป็น 2 ไร่ แบ่งปลูกเป็นรุ่น รุ่นละ 1,000 ต้น เพื่อให้มีผลผลิตเก็บขายได้ตลอดทั้งปี และปลูกเท่าที่ทำไหว ที่เหลือจะเป็นการขยายเครือข่ายให้คนในชุมชนได้ปลูกแล้วส่งขายให้กับเรา และทำหน้าที่หาเมล็ดพันธุ์และแนะนำวิธีการปลูกดูแลให้กับเครือข่าย เพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาได้คุณภาพเหมือนกันทุกฝัก

“เมื่อก่อนพี่เคยมีประสบการณ์นำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดราชินีทับทิมสยามไปให้ชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายปลูก เขาก็บอกว่าเขาปลูกเป็นเพราะเคยปลูกข้าวโพดมาก่อน แต่พอถึงเวลาเก็บผลผลิตที่ได้คุณภาพไม่เหมือนที่เราปลูกเอง พี่ก็เลยลองไปดูว่าเขาปลูกยังไง ก็ได้เห็นว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดทั่วไปเขาไม่ได้ใส่ใจเท่าเราปลูก เพราะเทคนิคการปลูกของเรากว่าจะได้ผลผลิตที่ออกมาดีนั้น เราจะเริ่มต้นนับทุกสิ่งที่เกี่ยวกับข้าวโพด นับตั้งแต่วันเพาะเมล็ดลงถาด กำหนดระยะเวลากี่วันที่จะย้ายเมล็ดในถาดลงดิน นับเวลาให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ตรวจแปลง ซึ่งเราละเอียดมาก ถึงได้ผลผลิตที่คุณภาพดีขนาดนี้”

ระบบน้ำอย่าให้ขาด

แนวคิดจัดการแปลง Zero waste

เกิดจากความเสียดายเนื่องจากในตอนแรกคิดแค่เพียงจะปลูกแค่การขายฝักสดเท่านั้น แต่เมื่อได้ลองคลุกคลีอยู่กับข้าวโพดจริงๆ จึงได้รู้ว่าข้าวโพด 1 ต้น สามารถนำมาสร้างประโยชน์อะไรได้บ้างนอกจากการขายฝัก คือ

  1. ต้นข้าวโพดหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วสามารถนำมาบดสับแล้วหมัก นำมาเป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยงภายในฟาร์มกินได้
  2. กากของข้าวโพดที่เหลือจากการแปรรูป นำมาหมักเป็นอาหารเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดภายในฟาร์ม
  3. นอกจากเป็นอาหารสัตว์ได้แล้ว ยังสามารถนำมาทำน้ำหมักรดพืชผักภายในสวนได้อีก
  4. การนำมาแปรรูปเป็นได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวโพดของที่ฟาร์ม เช่น ทองม้วน คุกกี้ ข้าวเกรียบ น้ำนมข้าวโพด และสบู่ ที่ทำมาจากข้าวโพดราชินีทับทิมสยามทั้งหมด
ข้าวโพดราชินีทับทิมสยามสดๆ จากไร่ลุงสนิท

จุดเด่นข้าวโพดราชินีทับทิมสยาม…สามารถกินดิบได้ ไม่อืดท้อง มีแป้งน้อย และที่สำคัญ สีของฝักเป็นสีแดง ซึ่งหลายคนต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่าผลไม้ที่มีสีแดง สีม่วง และสีน้ำเงิน เช่น องุ่น ทับทิม และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ จะมีสารแอนโทไซยานินสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ชะลอความเสื่อมของดวงตาได้อีกด้วย


ขั้นตอนการแปรรูปน้ำนมข้าวโพด
ผลิตภัณฑ์เด่นสร้างรายได้

พี่ข้าว บอกว่า การเริ่มต้นแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดนั้น เป็นวิธีแก้ปัญหาในช่วงที่ตลาดฝักสดไม่ราบรื่น ขายออกได้ช้า และด้วยเงื่อนไขของข้าวโพดสำหรับกินฝักสดนั้นหากเก็บไว้นานรสชาติจะไม่อร่อย จึงต้องหาวิธีระบายของออกที่นอกจากการทิ้งและให้วัวกิน จนได้เป็นแนวคิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหลากหลาย ซึ่งจากวันที่เริ่มต้นแปรรูปจนถึงวันนี้คิดว่าตนเองคิดถูกมากๆ เพราะการแปรรูปถือว่าไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกแต่ยังเป็นทางรอดที่ดีในการระบายสินค้าและยังเป็นการสร้างช่องทางเพิ่มได้มาจนถึงปัจจุบัน

ผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยว

ขั้นตอนแปรรูปน้ำนมข้าวโพดราชินิทับทิมสยาม

  1. การเลือกวัตถุดิบ ข้าวโพดที่เหมาะสำหรับการนำมาแปรรูปคือต้องเป็นข้าวโพดที่สดใหม่เท่านั้น ส่วนรูปร่างลักษณะของฝักจะเล็กหรือใหญ่ก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน
  2. แกะเปลือกข้าวโพด แล้วฝานเมล็ดนำไปปั่น หากท่านใดอยากลองทำดื่มเองที่บ้านสามารถใช้เครื่องปั่นน้ำผลไม้ทั่วไปได้
  3. 3. เมื่อปั่นเสร็จให้ใช้ถ้วยตวงวัตถุดิบให้ได้สัดส่วน 1 ต่อ 1 คือถ้าใช้ข้าวโพด 1 ถ้วย ก็ต้องใส่น้ำ 1 ถ้วย ถือเป็นจุดแข็งของที่ฟาร์มที่ใส่เนื้อข้าวโพดเยอะ ด้วยความที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบเอง ดังนั้น วัตถุดิบที่ใส่จะไม่มีการหวง
  4. 4. ต้มน้ำให้เดือดแล้วใช้แกนของข้าวโพดที่ฝานเนื้อออกอย่าเพิ่งทิ้ง ให้นำเอาแกนตรงนั้นมาต้ม จะได้สารแอนโทไซยานิน คือสารสีแดง และวิตามินที่อยู่ในจมูกข้าวโพดที่ติดอยู่ที่แกน
  5. 5. ต้มให้เดือดแล้วเอาแกนออก จากนั้นใส่เนื้อข้าวโพดที่ฝานไว้ลงไป ต้มต่ออีกประมาณ 10 นาที เติมเกลือลงไปเล็กน้อย และใส่ใบเตยลงไปอีกนิดหน่อย แล้วปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น
  6. 6. นำมาบรรจุใส่ขวด หรือภาชนะที่เตรียมไว้ (โดยสูตรของเราไม่ได้มีการเติมน้ำตาล เพราะฉะนั้น ความหวานที่ได้จะมาจากข้าวโพดล้วนๆ)

ปริมาณการผลิต…500 ขวด ต่อ 1 รอบการผลิต สินค้าขายหมดอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 2 วัน ราคาขายขวดละ 20 บาท ถือเป็นราคาที่ถูกมากๆ เพราะปลูกเองถึงสามารถขายราคานี้ได้

ผลิตภัณฑ์แปรรูปน้ำนมข้าวโพด

การสร้างมูลค่าเพิ่ม…รายได้ 25,000-30,000 บาท ต่อเดือน จากการขายน้ำนมข้าวโพด ถือว่าตนเองคิดไม่ผิดที่หาทางออกด้วยการแปรรูป เพราะ 1. จากเมื่อก่อนมีรายได้จากการขายฝักสดเพียงอย่างเดียว หากวันไหนฝนตกก็กระจายสินค้าออกได้ยาก หรือฝักที่ตกเกรด ฝักเล็กแม่ค้าไม่รับซื้อแทนที่จะทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ก็สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 2. ช่วยยืดอายุการขายได้นานขึ้น ไม่ต้องรีบขาย ไม่ต้องลดราคาสินค้าของตนเองลง และ 3. นอกเหนือจากการสร้างรายได้คือเรื่องของคุณค่าทางจิตใจ ที่ตนเองรู้สึกภูมิใจที่ทำให้คนในชุมชนที่เมื่อก่อนเคยปลูกแต่อ้อยกับมัน ต้องรอผลผลิตรายปี แต่เมื่อเขามาทำกับเรา เขาสามารถแบ่งพื้นที่เล็กๆ มาปลูกข้าวโพด 2 เดือน เก็บผลผลิตได้ก็สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในครอบครัวระหว่างรอรายได้ประจำปี

ข้าวโพดราชินีทับทิมสยาม ราคาเพียงฝักละ 20 บาท

ฝากถึงเกษตรกรทั้งมือเก่า-ใหม่

“การแปรรูปถึงแม้จะเป็นการเพิ่มกระบวนการและเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่นี่ก็เป็นช่องทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและยืดอายุให้สินค้าเราได้เหมือนกัน จึงอยากจะแนะนำกับเกษตรกรทุกท่านว่าถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็ให้ลองหันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มีในไร่ในสวนของตัวเองกันเถอะ มันเป็นทางออกที่ดีจริงๆ ยิ่งช่วงที่เกิดโควิด-19 ยิ่งเห็นได้ชัดว่าการแปรรูปสำคัญแค่ไหน หากที่สวนของพี่ยังขายแต่ฝักสดอย่างเดียวคงจะต้องเหลือทิ้ง และมีรายได้แค่ทางเดียว แต่เมื่อหันมาแปรรูปรู้สึกว่าไม่ต้องรีบกระจายสินค้า ขายไม่หมดก็นำมาแปรรูปขายได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ ถือเป็นการเพิ่มช่องสร้างรายได้ในยุคที่เศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก” พี่ข้าว กล่าวทิ้งท้าย  

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. (093) 567-6728 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : บ้านไร่ลุงสนิทฟาร์ม และติดตามยูทูป ที่ช่อง : ฟาร์มสนุก channel