สัมภาษณ์พิเศษ ทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี “อยากให้อุบลฯ มีชื่อเรื่องผลไม้เหมือนในอดีต”

พื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานีกว้างใหญ่ไพศาล มีทั้งหมด 25 อำเภอ

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี คือหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนรับผิดชอบในงานพัฒนาอาชีพและรายได้ของชาวบ้าน

คุณทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานขององค์กรนี้

มารับรู้เรื่องราวจากท่านเกษตรจังหวัด ว่ามีอะไร ที่ไหน อย่างไร

…………………………………………….

พืชเด่นของจังหวัดอุบลราชธานี ข้าวดี มันสำปะหลังอินทรีย์ตลาดต้องการ

มีหลายตัว ข้าว พืชไร่…พืชไร่มีมันสำปะหลัง ผลไม้มี กล้วยน้ำว้า มะละกอ เงาะ ทุเรียน มะม่วง มะขาม ไม้ยืนต้นยางพารา รายได้หลักของอุบลราชธานีมาจากภาคเกษตร มาจากข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ติดชายแดนจังหวัดศรีสะเกษมีเงาะ ทุเรียน ปลูกพร้อมๆ กันโซนทางเทือกเขา

เราดูพืชตัวเด่นๆ ของจังหวัด ข้าวจะเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตเพิ่มมูลค่า ดูเรื่องการตลาด คุณภาพ ความปลอดภัยต่อสุขภาพ เน้นปริมาณผลิตแบบอินทรีย์มากขึ้นตั้งแต่การเริ่มผลิต ช่วงหลังๆ มีการปรับเปลี่ยนและขยายตัวมากขึ้น ของเราปลูกข้าว 4.3 ล้านไร่ เป็นข้าวหอมมะลิเสียส่วนใหญ่ ผลผลิต 1.8 ล้านตัน จำนวนนี้ 1.2 ล้านตันข้าวเปลือกออกตลาดหมด ถ้าเทียบกับข้าว จีเอพี กับข้าวอินทรีย์ ส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพ จีเอพี

นอกจากพัฒนาข้าว เรายังพัฒนามันสำปะหลัง โรงงานต้องการมันสำปะหลังอินทรีย์มากแต่ยังไม่มีเลย พื้นที่ปลูก 600,000 ไร่ ผลผลิต 2 ล้านตัน มันอินทรีย์ แป้งอินทรีย์ยังไม่มี…แต่ตลาดต้องการ จะพัฒนามันอินทรีย์ มีทดลองแล้ว 5,000 ไร่ ช่วงแรกผลผลิตไม่ดีนัก หลังๆ จะดีขึ้น ผลผลิตต่อไร่ 5 ตัน ผลผลิตอินทรีย์มีกำไร ราคาบวกเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ ต่อกิโลกรัม เป็นหัวมันสด พื้นที่ปลูกอยู่อำเภอนาเยีย เดชอุดม ที่ทำเรื่องนี้

ปลูกพืชหลังน้ำลดริมโขง

แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีเที่ยวได้ทั้งปี

มีหลายแห่ง

หนึ่ง. ด้านผลไม้ อยู่โซนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ช่องอานม้า จะไปทางโน้น ตรงข้ามกับเขาพระวิหาร มีแหล่งท่องเที่ยวหลัก ผามออีแดง ของศรีสะเกษ อุบลราชธานีเป็นช่องอานม้า ช่องตาบู ที่จะข้ามไปกัมพูชา จังหวัดพระวิหาร ตั้งแต่พฤษภาคม-สิงหาคม คนไปเที่ยวเยอะ

สอง. แหล่งท่องเที่ยวเชิงไม้ดอกไม้ประดับอยู่ใกล้เมือง อำเภอวารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ ม่วงสามสิบ ปลูกไม้ดอกเบญจมาศ ติดกับวัดหนองป่าพง วัดป่านานาชาติ ลำน้ำมูล หาดภูเดื่อ ทางสว่างวีระวงศ์ก็อยู่ไม่ไกล

สาม. ทางโขงเจียม มีลำไย ส้มโอ ไม้ดอกไม้ประดับ กล้วย แคนตาลูป พืชผัก มีแหล่งท่องเที่ยวผาแต้ม ผาชนะได เสาเฉลียง สามพันโบก แก่งสะพือ

ทางโพธิ์ไทร มีแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่นน่าไปเที่ยว มีคนไปเที่ยวกันมาก

จังหวัดอุบลราชธานี ท่องเที่ยวได้ทั้งปีผสมผสานทางการเกษตรและท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

พืชผักอุดมสมบูรณ์

ผลการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่  ต้นทุนลด ผลผลิตเพิ่ม

เรื่องของแปลงใหญ่ หมายความว่าให้พี่น้องเกษตรกรมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ต่อรอง รับประโยชน์…ทำคนเดียวไปได้ยาก เรื่องของแปลงใหญ่ยึดหลักของบิ๊กฟาร์มให้เป็นฟาร์มขนาดใหญ่…แปลงใหญ่เอาเกษตรกรรายย่อยมารวมกันให้ได้ขนาดใหญ่ขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามาโละแปลงนารวมกัน แต่หมายความว่าให้มาวางแผนการผลิตด้วยกัน มาบริหารจัดการด้วยกัน นี่คือ หลักแปลงใหญ่

เริ่มมา 2 ปี มีความเจริญก้าวหน้า คิดว่าส่วนใหญ่มีความเข้าใจ

มีข้าว มันสำปะหลัง ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผัก ใช้หลักแปลงใหญ่ เริ่มแรกทำเฉพาะข้าว

จากการประเมินเปลี่ยนแปลง 4 ด้าน

หนึ่ง. ลดต้นทุนทางด้านเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ลง เดิมนิยมหว่าน เมื่อมาวางแผนทำนาหยอด จาก 30 กิโลกรัม ต่อไร่ ก็ลดลงไม่เกิน 10 กิโลกรัม ต่อไร่ ลดลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ลดปุ๋ย ลดการระบาดของโรคแมลง ข้าวไม่หนาแน่น คือมิติลดต้นทุน

สอง. ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น การดูแลรักษาดีขึ้น

สาม. การเพิ่มมูลค่า แทนที่จะขายข้าวเปลือก หันมาทำข้าวเมล็ดพันธุ์ แปรรูปมากยิ่งขึ้น ทำขนมนมเนย อาหารสัตว์

สี่. ตลาด ทำให้พี่น้องเกษตรกรเห็นตลาด ขณะเดียวกันตลาดก็ลงมาเชื่อมโยงกระบวนการผลิต โรงสีต้องการข้าวอย่างไร ก็จะมาให้ข้อมูลกับเกษตรกร ให้เกษตรกรคัดเลือกให้ เขาจะซื้อเพิ่มขึ้น ตันละ 250 บาท สูงกว่าราคาตลาด ร่วมกันทั้งโรงสีและสหกรณ์

มีความก้าวหน้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากยิ่งขึ้น มีความชัดเจน เกษตรกรผลิตให้ตรงความต้องการของตลาด เข้าคอนเซ็ปต์ของแปลงใหญ่ คือการเอาตลาดนำการผลิต

คิดว่าใครเป็นรัฐบาลคงทำ เพราะอยากเห็นเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลักการคงมีความยั่งยืน

กล้วยน้ำว้า ต้องปลูกเพิ่ม

ผลการดำเนินการศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร เกษตรกรไปได้เร็ว

หลักศูนย์การเรียนรู้คือ จะทำการเกษตรให้ได้ผลต้องมีต้นแบบให้ดู มีที่เรียนรู้ ถ้าไม่มีตัวอย่างให้ดู การเกษตรจะไปได้ช้า ในอำเภอหนึ่งควรมีแหล่งเรียนรู้ให้เห็นตัวอย่าง ทุกอำเภอมี 1 จุด ให้พี่น้องเกษตรกรได้ดูเป็นตัวอย่าง แม้แต่แปลงใหญ่เองก็ต้องเรียนรู้เรื่องข้าวที่ศูนย์ฯ เมื่อเรียนรู้จบก็ไปปฏิบัติ วิธีปฏิบัติก็คือใช้ระบบแปลงใหญ่

ศูนย์ฯ ที่มีอยู่ เปรียบเสมือนวิทยาลัยเกษตรกรรม ให้คนมาเรียนรู้ว่าเขาทำอย่างไร ลดต้นทุนกันอย่างไร เขาเพิ่มประสิทธิภาพ เขาบริหารงานกันอย่างไร เขามีการทำการตลาดอย่างไร ศูนย์เรียนรู้มีพี่น้องเกษตรกรเรียนรู้เยอะ มีเครือข่ายแตกออกไป เช่น เครือข่ายการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เครือข่ายทำเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายประมง เครือข่ายปศุสัตว์ แตกออกไป ทั้งทำนาเลี้ยงสัตว์ด้วย ทำนาด้วยปลูกพืชด้วย ปลูกพืชหลังฤดูการทำนา ปลูกพืชไร่พืชผัก พวกนี้จะเป็นกิจกรรมผสมผสาน มีสถานีย่อย ให้ไปเรียนรู้แล้วกลับมาปฏิบัติที่แปลงของตนเอง

 

การทำเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง ประสบความสำเร็จ หมู่บ้านละ 1 ตัวอย่าง

เป็นหลักปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมมาก โดยเฉพาะเกษตรกรระดับกลางและระดับย่อยลงมา แต่ไม่ได้หมายความว่าระดับใหญ่ทำไม่ได้ ทำได้ทุกระดับ

จะช่วยแก้ไขปัญหา สร้างรายได้ค่อนข้างดี ในที่ของตนเองนำมาบริหารจัดการเรื่องของการปลูกข้าว บริหารเรื่องน้ำ ปลูกพืชอย่างอื่น หรือทำปศุสัตว์ แนวคิดแบบนี้ ขยายผลออกไปค่อนข้างเยอะ มีน้ำให้แก้ไขจัดการ บริหารแก้ไขวิกฤตในช่วงขาดน้ำ เป็นการบริหารจัดการภาคการเกษตร วางแผนการผลิต แก้ไขสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น วางแผนบริหารจัดการเรื่องผลผลิตที่จะออกมา เป็นเกษตรผสมผสานภายใต้หลักคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ มีทั้งเรื่องข้าว น้ำ เลี้ยงสัตว์ ที่อยู่อาศัย มีการบริหารจัดการให้กลมกลืน พอเหมาะ พอควร

ขณะนี้มีแปลงทุกตำบล อย่างน้อย 1-2 ตัวอย่าง มีกระจายไปทุกหมู่บ้าน ในอุบลราชธานีมี 2,699 หมู่บ้าน อย่างน้อยทำประสบผลสำเร็จ หมู่บ้านละ 1 ตัวอย่าง

ข้าวปลูก 4.3 ล้านไร่

โครงการใหม่ๆ  นำพืชผัก ผลไม้ ของดีของเดิมกลับมา

ที่อุบลราชธานี เดิมสิ่งที่ขึ้นชื่อมีมะขาม ลำไย กล้วย มะม่วง พริกหัวเรือ เป็นสินค้าขึ้นชื่อ ช่วงหลังพี่น้องเกษตรกรลดปริมาณลง มีพืชตัวใหม่มาแทน ไม่ว่าจะเป็นยูคาลิปตัสและยางพารา เพราะฉะนั้นตอนนี้ทำให้อุบลฯ มีสินค้าไม่เพียงพอต่อการบริโภคในจังหวัด ทุกตัวเคยเป็นของตัวเองเคยส่งไปขายที่อื่น อย่าง มะขามหวาน พันธุ์ “พระโรจน์”

พอลดการผลิตต้องซื้อเข้ามา ไม่เพียงพอ เราวางแผนโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะดึงไม้ผลพวกนี้คืน

ลำไย สร้างรายได้ให้เกษตรกรดีมาก

มีโครงการผลไม้เศรษฐกิจเกิดขึ้น ใช้งบประมาณเกือบ 100 ล้านบาท เริ่มปี 2560 มาส่งเสริมในการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนมากยิ่งขึ้น…ที่มี 2,000 ไร่ ให้มี 4,000 ไร่

เงาะขยายเพิ่ม

ลำไยเพิ่มพื้นที่ กล้วยน้ำว้าขึ้นชื่อมาก มะขามเปรี้ยวหายไปจะนำกลับมา

จังหวัดอุบลราชธานีมีศักยภาพเรื่องดิน พี่น้องเกษตรกรก็เคยปลูก มีตลาดรองรับ

กล้วยน้ำว้าต้องสั่งซื้อจากเมืองเลยและเมืองลาวเข้ามา ต้องปลูกเพิ่ม

มะละกอ สั่งเข้ามา วันละ 20 ตัน จะวางแผนผลิตแล้วขยายออกไป รวมทั้งผลไม้ตัวอื่น มะขามเปรี้ยว ลำไย ของเรามีศักยภาพ เราติด 2 ประเทศ เป็นจุดกึ่งกลาง ลาวและกัมพูชา

เราเป็นจุดกึ่งกลาง กระจายสินค้าไปลาว เวียดนาม จีน ได้ อุบลฯ เป็นจุดรวมแม่น้ำ มูล ชี โขง เซบก เซบาย โดมน้อย โดมใหญ่ มารวมที่นี่ สถาบันการศึกษามีเยอะ มีโครงการอยากให้อุบลฯ สร้างชื่อเรื่องผลไม้ขึ้นมาเหมือนในอดีต