ปลูกกล้วยผสมผสานไม้ผล สู้ชีวิตยามยาก

กล้วย…เป็นพืชอาหารที่มีวิตามินเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค กล้วยที่เรารู้จักมักคุ้นกันดี เช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ หรือกล้วยน้ำว้า กล้วยปลูกได้ทั้งในหัวไร่ปลายนา หรือปลูกในเชิงธุรกิจ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวน การปลูกกล้วยจึงเป็นหนึ่งพืชที่น่าสนใจ สามารถยกระดับรายได้นำไปสู่การยังชีพที่พอเพียงและมั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง กล้วย พืชแซมในสวนไม้ผล มหัศจรรย์พืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่วิถีมั่นคง มาบอกเล่าสู่กัน

คุณต้อย หรือ คุณสุดาพร ภักดีบุตร เกษตรกรปลูกกล้วย เล่าให้ฟังว่า ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจผันผวนได้ส่งผลกระทบต่อวิถีความไม่มั่นคงครอบครัว อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นทางเลือกเพื่อการยังชีพที่เป็นวิถีพื้นฐานที่ทำให้ได้เก็บผลผลิตมากินในครัวเรือน หรือก่อให้มีรายได้จากการขายผลผลิตได้นำมาจุนเจือครัวเรือนหรือใช้เป็นทุนการผลิต

ประชาชนมาเรียนรู้การปลูกกล้วยเป็นพืชแซมในสวนไม้ผล

พื้นที่ปลูกไม้ผล มี 18 ไร่ ปลูกไม้ผลผสมผสานหลายชนิด เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด หรือกล้วย ช่วงเริ่มต้นได้นำกล้วยหอมทองและกล้วยน้ำว้ามาลงปลูกเป็นพืชแซมเพื่อให้เป็นพืชร่มเงาหรือพืชพี่เลี้ยงให้กับไม้ผลหลัก เพื่อให้ได้ผลผลิตเก็บมากินในครัวเรือน ได้ขายผลผลิตกล้วยเพื่อนำรายได้มาเป็นทุนหมุนเวียนใช้ในการผลิตเกษตร

ปลูกกล้วย

การเตรียมหน่อพันธุ์ ได้ซื้อหน่อพันธุ์คุณภาพที่ปลอดโรคทั้งจากในพื้นที่และต่างถิ่น ความสูง 60 เซนติเมตรขึ้นไป ซื้อหน่อละ 20-30 บาท เป็นพันธุ์กล้วยน้ำว้า 4,000 หน่อ และพันธุ์กล้วยหอมทอง 3,000 หน่อ พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมทองได้โดยเฉลี่ยราว 400 ต้น พื้นที่ทั้งหมดจะปลูกกล้วยได้กว่า 7,000 ต้น

การใช้มูลวัวแห้ง ได้ซื้อมูลวัวแห้ง น้ำหนัก 15 ตัน หรือที่บรรจุในรถบรรทุก 10 ล้อ ราคา 22,000 บาท เพื่อนำมาเป็นปุ๋ยรองก้นหลุมปลูกและใช้ปรับสภาพพื้นที่แปลงปลูกไม้ผล

กล้วยหอมทองคือหนึ่งพืชแซมในสวน

การปลูก ได้เริ่มปลูกต้นฝน ขุดหลุมปลูก กว้าง ยาว และลึก ด้านละ 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกแห้ง วางหน่อพันธุ์กล้วยลงปลูกเกลี่ยดินกลบ ระยะระหว่างต้นและแถวปลูก ห่างกัน 4×4 เมตร และ 5×5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกล้วยได้ราว 400 ต้น หลังการปลูกให้น้ำแต่พอชุ่ม เลี้ยงกอให้มี 3-5 ต้นต่อกอ

การใส่ปุ๋ย ได้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยชีวภาพ ใส่อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง เว้นระยะห่างกัน 3 เดือน และก่อนตัดเก็บ 1 เดือน ได้ใส่ปุ๋ยหวาน สูตร 13-13-21 อัตรา 2-3 กำมือต่อกอ แล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม

ช่วยกันจัดวางติดตั้งระบบน้ำสปริงเกลอร์

การให้น้ำ ต้นกล้วยต้องให้ได้รับน้ำพอเพียง ทุก 2-3 วัน จะให้น้ำต่อครั้ง หรือถ้าดินแห้งจัดได้เพิ่มการให้น้ำอีก ในฤดูฝนให้ต้นกล้วยรับน้ำจากน้ำฝน เมื่อปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาดีก็ช่วยให้ได้ผลผลิตกล้วยดีมีคุณภาพ

โรคและแมลงศัตรูกล้วย

สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำขุ่นแนะนำว่า ถ้าพบว่ามีโรคไฟทอปทอร่า ที่ทำให้รากเน่า โคนเน่า ใบเหลืองแห้ง หรือที่เรียกว่า ตายพราย ให้ขุดต้นนำไปทำลายทิ้ง หรือควรคัดเลือกหน่อกล้วยพันธุ์ดีมีคุณภาพและปลอดโรคมาปลูก และหลังการปลูกถ้าพบว่ามีหนอนม้วนใบกัดกินที่ริมใบให้แหว่งเข้าไปเป็นทางยาว ถ้าพบไม่มากให้จับไปทำลายทิ้ง หรือพบว่ามีจำนวนมากให้สวมเครื่องป้องกันและใช้สารเคมีไปฉีดพ่นเพื่อป้องกันกำจัด

หลังจากปลูกต้นกล้วยมีการแตกหน่อมาก ต้องตัดหรือขุดหน่อออกเพื่อแต่งกอให้เหลือ 3-5 ต้น การติดเครือขนาดใหญ่ต้องใช้ไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันต้นกล้วยโค่นล้มทำให้ผลกล้วยเสียหาย เมื่อต้นกล้วยอายุ 9 เดือน ผลกล้วยเริ่มจะสุกได้ตัดเก็บ ตัดที่โคนต้นกล้วย ให้ค่อยๆ โน้มเอนลงมาเพื่อป้องกันเครือกล้วยหรือผลกล้วยกระแทกช้ำ นำไปเก็บรักษาไว้ในโรงเรือนเพื่อรอพ่อค้าเข้ามาซื้อ

ช่วยกันกำจัดวัชพืชไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของโรคแมลงศัตรูกล้วยออกไป

ผลหรือลูก ผลกล้วยน้ำว้าที่นี่ทดลองวัดความยาวได้ 5 นิ้ว วัดรอบผลได้ 6 นิ้ว มีน้ำหนักราว 2-3 ขีด 1 หวี มี 12-14 ผล น้ำหนักต่อหวี 3-4 กิโลกรัม 1 เครือมีมากกว่า 8-12 หวี น้ำหนักทั้งเครือ 40-50 กิโลกรัม

ลักษณะเนื้อ ผลกล้วยน้ำว้าสุก เนื้อมีความเหนียว นุ่ม หวาน มีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีวิตามิน เกลือแร่ที่เสริมสร้างให้ผู้บริโภคมีสุขภาพแข็งแรง ผลขนาดโตกินได้ 3-5 คำ กิน 2-3 ลูกหรือผลก็อิ่มท้อง จึงมักถูกเลือกไว้เป็นผลไม้คู่ครัว

ตัดที่โคนให้ต้นกล้วยค่อยๆ โน้มเอนลง ป้องกันผลกล้วยช้ำ
ได้ผลกล้วยดีมีคุณภาพรสอร่อย

ด้านตลาด

ผลผลิตทั้งกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมทอง เมื่อหักต้นทุนแล้วในปีแรกมีรายได้ 35,000-40,000 บาทต่อไร่ เป็นกล้วยมหัศจรรย์พืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับ พ่อค้าเข้ามาซื้อที่สวน เป็นวิถีที่ทำให้ผู้ปลูกได้สร้างงานสร้างรายได้เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

จากเรื่อง กล้วย พืชแซมในสวนไม้ผล…มหัศจรรย์พืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้สู่วิถีมั่นคง เป็นการปลูกกล้วยในยามวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวน เป็นวิถีดำรงชีพเพื่อการสร้างสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุดาพร ภักดีบุตร เลขที่ 45 หมู่ที่ 3 บ้านห้วยเสลา ตำบลขี้เหล็ก อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 098-512-1697 หรือ คุณลุงโทน โทร. 091-090-2464 ก็ได้ครับ

คุณเสน่ห์ ในจิตร เกษตรอำเภอน้ำขุ่น แนะนำการตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียนที่เป็นพืชหลัก

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564