ป้านุ้ย-ลุงเจตน์ สุดยอดเกษตรกรสร้างชาติ ที่สมุย ทำเกษตรผสมผสาน ลดต้นทุนการผลิต จัดการระบบน้ำ “ไม่รู้จักคำว่าแล้ง”

หากเอ่ยถึงเกาะสมุย หลายท่านคงนึกไปถึงหาดทรายสวยๆ น้ำทะเลใสๆ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากสิ่งสวยงามที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมาแล้ว ยังมีสิ่งสวยงามที่มนุษย์ได้สรรค์สร้างขึ้นมาอีกมากมาย โดยที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และกลายเป็นแหล่งอาหารและผักผลไม้อินทรีย์ชั้นดีให้กับพี่น้องชาวเกาะสมุยได้กินกันอีกด้วย

คุณเตือนใจ สมวงษ์ หรือ ป้านุ้ย และ คุณสมเจตน์ สมวงษ์ หรือ ลุงเจตน์ อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 5 ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สองสามีภรรยาเจ้าของธุรกิจบังกะโลที่หาดละไม ผันบั้นปลายชีวิตเป็นเกษตรกร ซื้อที่ดินกว่า 60 ไร่ ที่ตำบลมะเร็ต เพื่อทำเกษตรผสมผสาน ปลูกทุเรียน มังคุด และกล้วยหอมไต้หวัน สร้างรายได้หลัก และปลูกอะโวกาโด ส้มโชกุน แก้วมังกร เป็นผลไม้สร้างรายได้เสริม รวมถึงมีการเลี้ยงสัตว์ไว้ในสวนไม้ผล ทั้งเพื่อความสวยงามและเลี้ยงไว้เพื่อศึกษา บนแนวคิดการจัดการสวนแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยได้ไปรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ประเภทรับรองแหล่งผลิต จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วเป็นที่เรียบร้อย ทีนี้มาดูกันว่า        สองลุงป้าหัวใจเกษตร จะมีวิธีการจัดสวนเกษตรอินทรีย์ที่น่าทึ่งขนาดไหน

ป้านุ้ย-ลุงเจตน์ สองสามีภรรยาเกษตรสร้างชาติ

ผลผลิตเสียหายเพราะสารเคมี
ค่อยๆ ลด ละ เลิก ทำเป็นสวนเกษตรอินทรีย์

ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ป้านุ้ย บอกว่า ที่สวนแห่งนี้มีการใช้เคมีมาก่อน โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากที่ระเม็ตมีคนประกาศขายที่ดิน แล้วป้ากับลุงสนใจเพราะมีแนวคิดอยากทำสวนจากความชอบของสามีคือลุงเจตน์ ที่เป็นคนชอบกินทุเรียนเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อสบโอกาสตรงนี้ป้าและลุงเจตน์จึงได้ตัดสินใจซื้อที่บนเขากว่า 60 ไร่ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของตัวเอง ที่อยากมีสวนไว้ปลูกผักผลไม้ที่ตนเองชอบ โดยการเริ่มต้นทำเกษตรเมื่อปี 2530 เป็นการทำเกษตรเคมี ซึ่งในปีแรกที่เริ่มปลูกก็เริ่มเจอกับอุปสรรค ถูก “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ถล่มในปี 2532 ผลผลิตทุเรียนที่เพิ่งเริ่มปลูกก็พังเสียหาย จึงต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการนำมังคุดมาปลูกแซมจำนวน 200 ต้น และค่อยๆ กลับมาฟื้นฟูปลูกทุเรียนกันอีกครั้ง จนถึงปัจจุบันที่สวนสามารถบริหารจัดการพื้นที่จำนวน 60 ไร่ ให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มพื้นที่ ปลูกข้าว ปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์ เลี้ยงสัตว์ รวมถึงการปลูกป่าตะเคียนทอง และต้นไม้สารพัดผสมผสานไว้อยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด แต่ก่อนจะไปถึงความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานมาก่อน

“ตอนเริ่มปลูกก็เจอเข้ากับพายุ แต่ผ่านไปสักพักก็ประสบปัญหากับสารเคมีที่ตัวเองใช้แบบผิดๆ ใช้สารเคมีจนเคยชิน จนวันหนึ่งต้นทุเรียนจากที่เคยให้ผลผลิต ก็ไม่ให้เหมือนอย่างเคย ต้นโทรม ใบเหลือง และสิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือการไม่โทษตัวเองที่ทำแบบนี้ แต่กลับไปโทษคนอื่น โทษปุ๋ยบ้าง โทษคนขายปุ๋ยบ้าง ว่าเอาของไม่ดีมาขายให้ แต่ไม่เคยโทษตัวเองที่เป็นคนกระทำดิน ย่ำยีธรรมชาติ ทำให้ดินไม่มีชีวิต”

ส้มโชกุน

ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็เริ่มคิดได้และโทษตัวเองเป็น จนได้พบกับแสงสว่าง ได้พบกับแนวทางเกษตรอินทรีย์ และค่อยๆ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2554 เป็นต้นมา แล้วหันมาทำสารปรับปรุงดินจากขยะเปียกที่ทำเอง ใช้เอง โดยมีทั้งหมด 2 สูตร คือสูตรที่ทำจากปลา และสูตรที่ทำจากเศษอาหารเหลือทิ้ง ซึ่งป้าจะใช้ชื่อเรียกปุ๋ยทั้ง 2 สูตรนี้ว่า ปุ๋ยซีฟู้ด คือปุ๋ยที่ทำจากปลา และปุ๋ยโต๊ะจีน คือสูตรที่ทำจากอาหารเหลือทิ้งตามงานพิธีต่างๆ

 

“ปุ๋ยซีฟู้ด” และ “ปุ๋ยโต๊ะจีน”
สุดยอดปุ๋ยหมักบำรุงพืชผล
ลดต้นทุนการผลิตของป้านุ้ย-ลุงเจตน์

ป้านุ้ย บอกถึงเคล็ดลับการทำปุ๋ยหมักสูตรซีฟู้ดและสูตรโต๊ะจีนว่า เป็นเคล็ดลับที่ทำแล้วได้ผลดี และมีขั้นตอนการทำที่ง่ายแสนง่าย ซึ่งวิธีการทำ “ปุ๋ยหมักสูตรซีฟู้ด” และ “ปุ๋ยหมักสูตรโต๊ะจีน” มีกระบวนการทำเหมือนกัน ต่างกันที่วัตถุดิบเท่านั้น โดยหากเป็นปุ๋ยหมักซีฟู้ด จะมีวัตถุดิบหลักเป็นปลา ส่วนถ้าเป็นปุ๋ยหมักโต๊ะจีน จะใช้เศษอาหารที่เหลือจากงานต่างๆ มาทำ

โดยขั้นตอนการทำ เพียงนำเอาเศษปลาเหลือทิ้งจากตลาดหรือนำเศษอาหารทั้งคาวและหวาน มาหมักกับเศษขี้เลื่อย จากนั้นราดด้วยอีเอ็มขยายที่ทำจากน้ำซาวข้าวและกากน้ำตาล เพื่อดับกลิ่นและช่วยย่อยสลายปุ๋ยหมักได้ดีขึ้น โดยหมักทิ้งไว้ในบ่อปูนจนกว่าจะเปื่อย และที่สำคัญต้องเจาะรูระบายน้ำที่บ่อหมักด้วย เพื่อช่วยระบายน้ำจากขยะเปียกที่ไหลออกมา

จากนั้นให้เตรียมถังมารองน้ำปุ๋ยหมักที่ไหลออกมาจากบ่อหมักปุ๋ย แล้วเอาสาดกลับไปในบ่อแบบเดิม เพื่อไม่ต้องการให้น้ำจากบ่อไหลลงดิน เป็นการทำลายระบบนิเวศ

เศษปลาจากตลาดนำมาทำปุ๋ยหมักซีฟู้ด

วิธีการนำไปใช้
เมื่อปุ๋ยที่หมักไว้แห้งแล้ว ให้นำมาผสมกับมูลสัตว์ โดโลไมท์ และขี้ถ่าน ก่อนนำไปใช้บำรุงผลไม้ในสวน ซึ่งนอกจากปุ๋ยทั้ง 2 สูตรนี้จะช่วยปรับปรุงบำรุงดินได้แล้ว ยังถือเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีก 1. ในด้านของการกำจัดขยะต้นทาง ไม่ให้ไปกองรวมกันที่หลุมขยะอย่างเดียว เพราะหากถ้าเป็นคนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะรู้กันดีว่า หลุมขยะขนาดใหญ่อยู่ที่มะเร็ต 2. เป็นปุ๋ยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ดินเสีย ทำให้ดินกลับมามีชีวิต 3. ประหยัดต้นทุน ไม่ใช้สารเคมี และไม่มีต้นทุนอะไรมากมาย ปลาไม่ต้องซื้อ มีเพียงค่าแรงงาน ค่าน้ำมันรถเท่านั้น

บ่อหมักปุ๋ย

ปลูกทุกอย่างไว้ในสวนเดียวกัน
ดูแลให้ทั่วถึง “ระบบน้ำสำคัญ”

แน่นอนว่าตอนนี้สวนผสมผสานของป้านุ้ยเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ป้านุ้ยบอกว่า การที่จะดูแลสวนอินทรีย์ให้ดีให้ทั่วถึงนั้น ระบบน้ำคือสิ่งสำคัญ ซึ่งข้อนี้ถือเป็นจุดเด่นแรกของที่นี่ ทำแบบไม่เอาเปรียบธรรมชาติ ไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ และไม่เอาเปรียบสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

ส่วนการดูแลยังไงให้ทั่วถึง ป้านุ้ย บอกว่า การทำสวนผสมไม่จำเป็นต้องดูแลมากมาย ปล่อยให้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติกันเอง เพราะพืชทุกชนิดที่ปลูกลงไปจะอาศัยเกื้อกูลกันเองได้อยู่แล้ว อย่างเช่น การใส่ปุ๋ยของที่สวน หากใส่ปุ๋ยให้มังคุด ส้มและกล้วยก็ได้กินปุ๋ยไปด้วยเพราะปลูกอยู่ใกล้กับมังคุด หรือใส่ปุ๋ยให้ทุเรียน อะโวกาโดและสับปะรดก็จะได้กินปุ๋ยไปด้วยเพราะอยู่ใกล้ทุเรียน ก็จะเป็นระบบพึ่งพากันไปแบบนี้

เครื่องปั่นไฟพลังน้ำ

ระบบน้ำ…คือจุดเด่นของที่สวนเกษตรอินทรีย์ของป้าเลยก็ว่าได้ ถือเป็นสุดยอดการบริหารจัดการระบบน้ำ จนที่สวนไม่รู้จักคำว่าแล้ง ด้วยการทำฝายไว้บนภูเขา ระยะห่างประมาณ 600 เมตร จากสวน แล้วทำการเดินท่อส่งน้ำมายังสวน โดยที่สวนจะทำอ่างเก็บน้ำไว้บรรจุได้ประมาณ 80,000 ลิตร และที่สวนจะไม่ใช้น้ำต้นทุนแต่จะใช้น้ำล้น เพื่อที่จะเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ยามจำเป็น และยังมีการใช้ประโยชน์จากร่องน้ำธรรมชาติมาทำไฟฟ้าพลังงานน้ำอีกด้วย โดยในช่วงหน้ามรสุมจะสามารถปั่นไฟไว้ใช้ได้ 24 ชั่วโมง หากถ้าเป็นหน้าแล้ง จะปั่นไฟไว้ใช้ได้ประมาณ 4 ชั่วโมง โดยจะใช้ประโยชน์จากไฟพลังงานนี้ไว้ใช้ให้บ้านคนงานกว่า 5 ครัวเรือน

ทุเรียนก้านยาวอินทรีย์ พระเอกของสวน

ผลผลิต…ที่สวนจะไม่ได้วัดผลผลิตเชิงปริมาณ แต่จะวัดเป็นตัวรายได้มากกว่า ซึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการจดบันทึกรายได้ไว้ จากทุเรียนประมาณ 5 แสนบาท มังคุดประมาณล้านกว่าบาท ส่วนพืชผักชนิดอื่นเป็นรายได้ไว้ใช้จ่ายระหว่างวัน ซึ่งรายได้ตรงนี้ถือว่ามีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะที่สวนทำแบบไม่ทำลายธรรมชาติ และที่สำคัญเมื่อเทียบกับต้นทุนตอนที่ใช้สารเคมีกับตอนที่เลิกใช้แล้ว จะเห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

การตลาด ผลผลิตไม่เคยล้นตลาด…เนื่องจากคนเกาะสมุยรู้กันดีว่าหากเป็นพืชผักผลไม้ที่ออกมาจากสวนของป้าแล้ว แปลว่าปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าหากมีอุปสรรคแมลงและสัตว์มารบกวน มีกระรอกมาเจาะผลทุเรียนก็จะนำเนื้อส่วนที่ไม่เสียหายมาเข้ากระบวนการแปรรูปทำทุเรียนกวน เพราะฉะนั้น จะมีส่วนที่ต้องทิ้งเสียหายน้อยมาก

บรรยายให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ

“นิยามเกษตรสร้างชาติ” ป้านุ้ย-ลุงเจตน์

“สำหรับนิยามของเกษตรสร้างชาติของป้ากับลุงเจตน์ คือต้องเป็นเกษตรที่พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่เบียดเบียนตัวเอง เท่านี้ก็เป็นเกษตรสร้างชาติได้ และที่สำคัญให้ทำเกษตรแบบพอเพียง ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร เราทำอาชีพเกษตรให้เป็นอาชีพที่สบายใจ อย่ามองให้เป็นเรื่องธุรกิจมากนัก เพราะเมื่อทำเกษตรให้เป็นธุรกิจเมื่อไร ก็จะต้องมีการแข่งขัน แข่งกันเด่น แข่งกันดัง แต่ถ้าทำเพื่อความสุข สร้างรายได้ให้พอกิน เราก็ไม่ต้องไปแข่งกับใคร แข่งแค่กับหัวใจตัวเองว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้มันดีขึ้น ให้มาตรฐานดีมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนต่ำลง” ป้านุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 081-086-0647

ผลไม้ภายในสวน

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2564