วิธีทำปุ๋ยอินทรีย์จาก “ฟางข้าว” หมักไม่นาน ลดต้นทุนได้จริง

ประเทศไทยใช้ปุ๋ยทุกวันนี้ปีหนึ่ง 4-5 หมื่นล้าน ถ้าเราลดปุ๋ยในนาข้าวได้เมื่อไหร่ ก็คือการลดใช้ปุ๋ยในประเทศได้มาก นอกจากนี้พบว่า ในฟางข้าว ประมาณ 60 ล้านไร่ ที่ทำนาอยู่ ปุ๋ยที่อยู่กับฟางข้าวมีมูลค่า 3-4 หมื่นล้าน แต่เราเผาทำลายไปเกือบครึ่งหนึ่ง

คิดง่ายคร่าวๆ ว่า ในฟางข้าว 1 ไร่ เป็นมูลค่าปุ๋ย NPK เป็นพันบาท ถ้าเราไม่เผาก็ต้องหาทางเลือกให้ชาวบ้าน จริงๆ สาเหตุที่ชาวบ้านเผา หนึ่ง ไม่รู้จะจัดการฟางยังไงให้มันไว เพราะทุกวันนี้ปลูกข้าว 2 ปี 5 รอบ และจากการพัฒนาพันธุ์ที่ดีเกินไป ปลูกยังไงก็ออกดอก นี่เป็นข้อดี แต่ข้อเสียคือสภาพแวดล้อมในประเทศเสียหายมาก ศัตรูพืชก็ระบาด สอง ถ้าใช้วิธีปกติ คือ ไถกลบ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 40-60 วัน

ถ้าใช้วิธีไถกลบแล้วปลูกเลย ตอซังจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถจะย่อยสลายได้ในระยะเวลาอันสั้น ปลูกข้าวไปก็จะเหลือง ไม่โต แคระแกร็น อาการนี้เรียกว่า อาการข้าวเมา เมาตอซัง

ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองอธิบดีกรมการข้าว ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการนำฟางข้าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกข้าว ทั้งฤดูนาปีและนาปรังคร่าวๆ กว่า 66 ล้านไร่

ในการทำนา 1 ไร่ จะให้ฟางข้าวประมาณ 800 กิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วย ปริมาณธาตุไนโตรเจน ประมาณ 5 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส ประมาณ 1 กิโลกรัม และโพแทสเซียม ประมาณ 11 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีจุลธาตุที่เป็นประโยชน์จากการเจริญเติบโตของต้นข้าวอีกไม่น้อย และจากการประมาณการในแต่ละปีประเทศไทยมีฟางข้าวและตอซังข้าว ไม่น้อยกว่า 50 ล้านตัน

ถ้าหากชาวนาในบ้านเราไม่เผาหรือทำลายฟางข้าว แต่ให้ไถกลบฟางและตอซัง หรือไถพรวนตีหมักลงดิน ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว จะทำให้ลดการใช้ปุ๋ยลงได้ส่วนหนึ่ง ถ้าหากดูจากตัวเลข ฟางและตอซังข้าวจำนวน 50 ล้านตัน จะเป็นธาตุไนโตรเจนประมาณ 330,000 ตัน ธาตุฟอสฟอรัส ประมาณ 47,000 ตัน ธาตุโพแทสเซียม ประมาณ 720,000 ตัน กำมะถัน ประมาณ 2,400 ตัน และธาตุอาหารอื่นๆ ถ้าคิดเป็นตัวเลขประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือประมาณ 105 บาท ต่อไร่ ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาลดค่าปุ๋ยลงได้ทันที

แต่สิ่งสำคัญถ้าหากชาวนาไม่เผาฟาง ตอซัง จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ไม่ไปเร่งให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และจะช่วยลดอุบัติเหตุจากควันไฟ นอกจากนี้ฟางข้าวที่ไถกลบหรือไถพรวน จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีที่สุดด้วย

 

โดยมีวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ช่วยย่อยสลายฟางให้เร็วขึ้น โดยให้ปฏิบัติดังนี้

ช่วงก่อนที่จะเกี่ยวข้าว 7-10 วัน ให้ทำน้ำหมัก พด. 2 ทำง่ายๆ โดยการใช้กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม ผสมกับรำหยาบ 15 กิโลกรัม ใส่ถังหมักพลาสติกความจุ 100 ลิตร แล้วเติมน้ำสะอาดลงในถังหมักพลาสติก ให้ได้ปริมาณ 100 ลิตร จากนั้นใส่เชื้อจุลินทรีย์ พด. 2 (ขอได้จากสถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่ง) ซึ่งบรรจุอยู่ในซอง 1-2 ซอง ลงในถังหมัก ใช้ไม้คนให้เข้ากันดีแล้วปิดฝาถังหมัก หมักทิ้งไว้ในที่ร่มประมาณ 7-10 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อจุลินทรีย์น้ำหมัก จะใช้การได้โดยสังเกตจากการเปิดฝาถังหมักจะพบว่ามีเส้นใยเชื้อราจำนวนมาก

ซึ่งก็พอดีเกี่ยวข้าวเสร็จ หากชาวนารีบเตรียมแปลงก็ให้เอาน้ำหมักที่ใช้การได้แล้วนี้ เทใส่ในนาพร้อมกับการเอาน้ำเข้านาที่เกี่ยวแล้ว ในอัตราการใช้น้ำหมัก 10 ลิตร ต่อไร่ น้ำที่ไหลเข้านาจะกระจายน้ำหมักที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายฟางข้าวได้ดีไปทั่วแปลงนา ให้แช่น้ำหมักฟางและตอซังข้าวในระดับท่วมตอซังข้าว โดยแช่หมักนานประมาณ 10-14 วัน ฟางและตอซังข้าวจะเปื่อย สามารถไถพรวนดินตีหมักฟางข้าวได้อย่างสบายๆ ด้วย

วิธีการอย่างนี้ชาวนาจะสามารถทำนาได้มากรอบขึ้น และจะสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ส่วนหนึ่ง และยังส่งผลดีต่อการป้องกันกำจัดข้าววัชพืช ข้าวเรื้อ ข้าวค้างฤดู หรือเมล็ดวัชพืชได้อีกทางหนึ่งด้วย

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2564