คนนนทบุรี สู้โควิด เพาะเห็ดบนกำแพงบ้าน เห็ดสดไม่พอขาย แปรรูปออเดอร์ล้น

วิกฤตการณ์ขณะนี้ สอนให้ทุกคนรู้จักการเอาตัวรอด แต่ต้องดำรงชีพอยู่ให้ได้ แม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด

คุณฐิติพร ขีระจิตร และ คุณกรกฤช สุภาเทียน สองสามีภรรยา ผู้เคยผ่านการทำงานประจำเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ประกอบอาชีพอิสระหลากหลาย อาชีพล่าสุดของทั้งคู่คือ ธุรกิจเสื้อผ้า แม้จะไปได้ดี แต่วันหนึ่งที่คุณฐิติพร เกิดอุบัติเหตุข้อมือหัก ทำให้ต้องพักฟื้นร่างกายกลับสู่สภาวะอยู่บ้านเฉยๆ แนวคิดที่ทั้งคู่วางอนาคตไว้ว่า อยากมีที่ดินสักผืนไว้ทำการเกษตรแบบพอเพียง ก็ผุดเข้ามา

คุณฐิติพร เป็นหญิงสาวที่ไม่นิ่งเฉยต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะประสบเหตุการณ์ใด เธอจะมองทุกอย่างให้เป็นโอกาส และแสวงหาเพื่อให้เกิดโอกาส

ครั้งนี้ก็เช่นกัน คุณฐิติพร คิดว่า ในระหว่างที่ข้อมือหักต้องพักอยู่บ้านเฉยๆ น่าจะปลูกผักหรือทำเกษตรเล็กๆ ในบ้าน เอาไว้เป็นพื้นที่สำหรับสวนครัว ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากภายนอก ที่ไม่รู้ว่าจะมาพร้อมกับสารเคมีตกค้างหรือไม่

“ตอนแรกพี่แค่คิดว่าเราเคยไปอบรมเกี่ยวกับการทำการเกษตรอะไรมาบ้าง ที่นึกได้ก็มีเรื่องเห็ด ทำให้คิดว่า ลองเอาเห็ดมาเพาะเอาไว้ทำกินดีไหม เลยสั่งก้อนเชื้อเห็ดกับคนที่รู้จัก 100 ก้อน คิดไว้ว่า ถ้าเพาะน้อยกว่านี้ เวลาเก็บมาประกอบอาหารอาจจะน้อยไป และถ้ามีมากก็แบ่งปันเพื่อนบ้านแล้วกัน”

เห็ดนางฟ้าภูฏาน เป็นชนิดเห็ดที่คุณฐิติพรเลือก เพราะเห็นว่ารับประทานง่าย ประกอบอาหารได้ทั่วไป

สั่งก้อนเชื้อเห็ด จำนวน 100 ก้อน แต่เมื่อถึงวันมาส่ง กลับได้ก้อนเชื้อเห็ดจำนวน 500 ก้อน

คุณฐิติพร บอกว่า คงเป็นเพราะสั่งกับคนรู้จัก จึงส่งก้อนเชื้อเห็ดมาให้มากเกินจำนวนที่สั่ง เมื่อจำนวนก้อนเชื้อเห็ดมาก การทำเพียงมุ้งคลุมเพื่อเพาะคงไม่ได้ น่าจะต้องทำคล้ายโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างที่เคยศึกษาก่อนหน้านี้

โรงเรือนเห็ด อยู่ชิดกำแพงบ้าน

“ตอนแรกได้มา พี่ก็เรียงๆ เอาไว้หลังบ้าน มีแท่นปูนอยู่ก็วางๆ เรียงไว้ก่อน ช่วงนั้น 1-2 วันก็รีบทำโรงเรือนเห็ดเพิ่ม มีหลังคา มีซาแรนคลุม ยังไม่ได้ศึกษาอะไรมากมาย แค่คิดว่าเอาง่ายๆ ก่อน”

วิธีทำโรงเรือนเพาะเห็ดของคุณฐิติพร บนพื้นที่บ้านจัดสรร 70 ตารางวา และมีพื้นที่บริเวณบ้านไม่มากนัก จำเป็นต้องประหยัดพื้นที่ใช้สอยให้มากที่สุด จึงเลือกใช้กำแพงบ้านเป็นเสมือนผนังโรงเรือนด้านหนึ่ง และทำหลังคาให้ ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ใช้ซาแรนปิดให้ทึบ แต่สามารถเปิดเข้าไปภายในโรงเรือนได้

ขนาดโรงเรือนเพาะเห็ด หน้ากว้าง 3 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร

พื้นที่บ้าน 70 ตารางวา

การดูแล คุณฐิติพร ใช้ความรู้เท่าที่เคยศึกษาอบรมมา ก็ทำให้เห็ดออกดอกอย่างง่ายดาย ไม่ถึงครึ่งเดือน ก้อนเชื้อที่ซื้อมาออกดอกจำนวนมาก เธอเก็บมาประกอบอาหาร และแบ่งปันไปยังเพื่อนบ้านในชุมชน ปัญหาที่พบขณะนั้นคือ เมื่อเห็ดสดออกจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้เห็ดสดที่ระบายออกไปไม่ทัน เริ่มเน่าเสียภายใน 2 วันหลังเก็บ

หลังจากที่เห็ดสดจำนวนมากถูกแบ่งปันไปยังเพื่อนบ้านในชุมชนหลายหลังคาเรือน ทำให้เป็นที่รู้จักว่าบ้านของคุณฐิติพร เป็นบ้านที่มีเห็ดนางฟ้าภูฏานสดๆ แบ่งออก ปากต่อปาก ส่งผลให้มีคนมาถามขอซื้อ เป็นที่มาของการเก็บเห็ดนางฟ้าภูฏานขาย

แบ่งพื้นที่ทำโรงเรือนเห็ด

ทำให้ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เก็บเห็ดนางฟ้าภูฏานสดขาย กิโลกรัมละ 50 บาท น้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อถุง เมื่อคุณฐิติพรคิดถึงต้นทุนที่ต้องลงแรงไป การขายเห็ดนางฟ้าภูฏานออกไป ก็ทำให้มีรายได้เข้ามา คงเหลือกำไรได้เช่นกัน

คุณฐิติพร บอกว่า ถามว่าพี่รู้สึกอย่างไร ต้องบอกว่า สนุก พี่ชอบการเกษตรอยู่แล้ว พอได้มาลงมือทำจริงๆ เราอยู่ได้ เราทำงานที่บ้านเราได้ เราแค่ต้องบริหารจัดการให้ดี ดูตลาดให้เป็น และเห็ดที่เราเพาะแน่นอนว่า ไม่มีสารเคมีตกค้าง เป็นเห็ดสดๆ ที่ส่งตรงถึงผู้บริโภค แต่ด้วยตัวพี่เองเป็นคนไม่อยู่นิ่ง เลยมองต่อไปว่า ถ้าเห็ดสดเหลือเกิน 2 วัน ก็ขายไม่ได้แล้ว เราควรทำอย่างไรเพื่อให้เกิดมูลค่า

ข้างใน เรียงแบบนี้

“พี่เป็นคนอำเภอหัวหิน ครอบครวที่บ้านเก่งเรื่องการแปรรูป พี่เลยลองเอาสูตรจากที่บ้านมาทำ แปรรูปเป็นน้ำเห็ดสด เห็ดตากแห้งปรุงรส เราเรียกว่าเห็ดสวรรค์ คือการฉีกเห็ดสดตากแดดแล้วก็นำมาปรุงรส ลองถามขายกับลูกค้า ได้รับการตอบรับดีมาก”

จากก้อนเชื้อเห็ดในโรงเรือน จำนวน 500 ก้อน เมื่อผู้บริโภคถามหา ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนก้อนเพื่อผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีก้อนเชื้อเห็ดมากถึง 2,500 ก้อน ซึ่งถามกับคุณฐิติพรว่า จะขยายเพิ่มอีกหรือไม่ เนื่องจากลูกค้าส่งสัญญาณว่ายังมีความต้องการทั้งเห็ดสดและแปรรูปไม่เพียงพอ คุณฐิติพร บอกว่า ด้วยพื้นที่บ้านจัดสรรที่มีอยู่จำกัด การทำโรงเรือนเห็ดกับกำแพงบ้าน ก็ถือเป็นการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าแล้ว และกำลังการผลิตมีเพียงคุณฐิติพรและสามี ความสามารถในการผลิตจึงทำได้เท่านี้

ยิ่งเมื่อกระแสรักษ์สุขภาพมาแรง เห็ดสดเป็นสินค้าที่ขายดีมาก ระยะหลังมีร้านจำหน่ายผักสดติดต่อขอซื้อประจำ ทำให้เห็ดสดที่ออกดอกเก็บขายได้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ คุณฐิติพร จึงประเมินสถานการณ์ความต้องการและมูลค่าของผลผลิตที่ได้ พบว่า การแปรรูปเห็ดได้มูลค่าที่สูงกว่าการจำหน่ายเห็ดสด จึงแบ่งสัดส่วนของเห็ดสดไว้ไม่มากนัก แต่พุ่งเป้าไปที่การแปรรูปมากกว่า

คุณฐิติพร บอกว่า การทำโรงเรือนเห็ดในพื้นที่บ้านจัดสรร หรือสำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด สามารถทำได้ตามที่คุณฐิติพรทำ ประหยัดพื้นที่ ได้ผลผลิตเช่นเดียวกับการทำโรงเรือนเห็ดทั่วไป ซึ่งการดูแลเห็ดให้ผลผลิตนั้น ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ธรรมชาติของเห็ดว่าชอบอากาศ ความชื้น แสง ลักษณะใด หากเข้าใจดี การดูแลเห็ดให้ออกผลผลิตตามต้องการไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้ ตามบ้านคนที่คิดจะทำโรงเรือนเล็กๆ ขนาด 100-200 ก้อน ก็สามารถดูแบบอย่างแล้วนำไปใช้ได้ ไม่หวง

ดอกสวยๆ สดๆ

ปัจจุบัน ด้วยความต้องการของผู้บริโภคเห็ดสดมากขึ้น แต่คุณฐิติพรผลิตเห็ดสดและแบ่งผลผลิตไว้จำหน่ายสดเพียงเล็กน้อย คุณฐิติพร เล็งเห็นถึงการกระจายรายได้สู่ครัวเรือนหรือชุมชน ตามแนวทางการดำรงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง จึงประสานไปยังชุมชนใกล้เคียงที่พอมีพื้นที่ นำความรู้เรื่องการเพาะเห็ดเข้าไปให้ และแนะนำเรื่องการทำโรงเรือนเห็ดขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด หรือหากรายใดสามารถเพาะเห็ดได้ปริมาณมากก็ไม่จำกัด แต่ขอให้ผลิตเห็ดนางฟ้าภูฏานส่งให้กับทางคุณฐิติพร เพื่อนำมาแปรรูป

“ทุกวันนี้ พี่กับสามีช่วยกันแปรรูปเห็ด เป็นงานโฮมเมด ทำทุกวัน ผลผลิตแล้วเสร็จก็มีคนมารับ หรือถ้าได้เห็ดสดแผงผักที่ติดต่อจองไว้ก็มารับไปจำหน่าย เป็นการทำงานอยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปเร่ขายเองข้างนอก ส่วนน้ำเห็ดสด ไม่ได้ใส่สารกันบูดและพาสเจอไรซ์ เพราะเป็นกิจการเล็กๆ ในครัวเรือน ทำงานกันเพียงสองคน จึงผลิตน้ำเห็ดเฉพาะเมื่อมีออเดอร์เท่านั้น”

ลูกค้าแย่งออเดอร์
น้ำเห็ดสมุนไพร

ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเห็ด ได้แก่ น้ำเห็ด เห็ดสวรรค์ 4 รส รสเม็ดผักชี รสงาขาว รสพริกไทยดำ และรสหมาล่า แหนมเห็ด และเมื่อการปรุงรสดี ทำให้ผู้บริโภคติดใจ จึงเพิ่มเนื้อสัตว์เข้าไป เป็นหมูสวรรค์แดดเดียว และไก่สวรรค์แดดเดียว เป็นทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น

วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้คุณฐิติพร เห็นชัดว่า เกษตร เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง แม้จะอยู่ในชุมชนใกล้แหล่งเมือง แต่ก็สามารถทำเกษตรได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องผลิตเพื่อจำหน่าย แต่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน ก็ช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่หากมีปริมาณมากแบ่งให้เพื่อนบ้าน หรือมีมากกว่าก็สามารถจำหน่าย และแบ่งแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ด้วย

ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ไม่มีวางจำหน่ายที่ใด นอกเสียจากสั่งตรงกับคุณฐิติพร สามารถดูผลิตภัณฑ์และสั่งตรงได้ที่ คุณกรกฤช สุภาเทียน และ คุณฐิติพร ขีระจิตร โทรศัพท์ 080-816-9449 Line ID : kwansensei หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ เฮ็ดเห็ด และ http://hedhed.lnwshop.com/