“ประนอม ใจใหญ่” เกษตรกรต้นแบบอุตรดิตถ์ รู้ลึก รู้จริง พัฒนาผลไม้มาตรฐาน GAP

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองแห่งผลไม้ที่หลากหลายชนิด มีระบบวิถีการเกษตรแบบวนเกษตรไม้ผลที่มีชื่อเสียง ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจสูง แต่เนื่องด้วยลักษณะของการเพาะปลูกแบบวนเกษตรดั้งเดิมกำลังถูกเปลี่ยนมาเป็นระบบพืชเดี่ยว มีการใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชเพื่อเพิ่มผลผลิตด้วยสารเคมีมากขึ้น ผนวกกับลักษณะพื้นที่ปลูกเกือบทั้งหมดอยู่บนภูเขาสูง มีความเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายและเกิดดินถล่มตลอดเวลา และดินมีความเป็นกรดสูง อีกยังมีเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก

หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงได้เข้ามาจัดการถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ตั้งแต่การเตรียมปลูก การกำจัดแมลงและศัตรูพืช จัดการระบบหลังเก็บเกี่ยว แปรรูปสร้างเอกลักษณ์ให้ดึงดูดใจ พร้อมจัดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออก แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

คุณประนอม ใจใหญ่ โชว์แปลงปลูกมะยงชิด

ปัจจุบัน สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ยกย่อง “สวนใจใหญ่ ไร่แลตะวัน” ของ พี่นอม หรือ คุณประนอม ใจใหญ่ เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบดีเด่นของจังหวัดอุตรดิถต์ และเป็นแปลงเกษตรที่ได้รับมาตรฐาน GAP สวนใจใหญ่ ไร่แลตะวัน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 18/1 หมู่ที่ 5 ตำบลแม่พลู อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. 081-042-1410 สวนแห่งนี้ ปลูกพืชหลากหลายชนิด ได้แก่ กล้วยไข่ ทุเรียน ลองกอง มะยงชิด ผักพื้นบ้าน

พี่นอม เป็นลูกเกษตรกรมาตั้งแต่เกิด ช่วยพ่อแม่ทำเกษตรตั้งแต่อายุ 13 ปี การทำสวนสมัยก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ปลูกพืชแบบผสมผสาน ในสวนมีทั้งทุเรียน ลองกอง ลางสาด มังคุด ผลผลิตส่วนใหญ่ขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ทำให้มีรายได้ต่อปีไม่มากนัก พอกินพอใช้ พี่นอมจึงเกิดแนวคิดที่จะนำผลผลิตออกไปขายตรงถึงมือผู้บริโภค เพื่อขายผลผลิตให้ราคาสูงขึ้น พี่นอมขนผลผลิตใส่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างไปขายข้างถนนในเมือง ระยะทางประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร

ตอนแรก ก็ขายไม่ค่อยดีเท่าไร ผ่านไป 1-2 ปี ก็มีลูกค้าขาประจำมากขึ้น เพราะสินค้าที่นำไปขายมีคุณภาพดี เป็นทุเรียนสุกแก่พร้อมทาน รสชาติอร่อย ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหันมารับซื้อผลผลิตถึงสวนพี่นอมเพื่อนำไปขายทำกำไร

ช่วงปี 2549 เกิดปัญหาดินโคลนถล่มในจังหวัดอุตรดิตถ์ สวนผลไม้ที่ปลูกอยู่บนภูเขาพังเสียหาย ดินโคลนถล่มลงมาบนพื้นที่ราบ ทำให้สวนผลไม้ของพี่นอมที่ปลูกทุเรียน ลองกองไว้ตายหมด เหลือแค่ต้นมะยงชิดที่ปลูกไว้ 1 ต้น กินในบ้าน จำนวน 1 ต้น พี่นอมคิดจะปลูกมะยงชิดขึ้นมาทดแทนต้นทุเรียน ลองกอง ที่ล้มตายไป เพราะต้นมะยงชิดมีความแข็งแรง ทนทานต่อปัญหาดินถล่ม ที่สำคัญทนร้อน ทนแล้ง ทนการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดี จึงตัดสินใจปลูกต้นมะยงชิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา

ช่วงจังหวะที่ลงทุนปลูกไม้ผลรอบใหม่ จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียน พี่นอมคิดว่า ตัวเองพอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะแม่ค้าทุเรียนอยู่พอสมควร จึงตัดสินใจเปิดล้ง รวบรวมผลผลิตทุเรียนในท้องถิ่น ส่งขายต่อแม่ค้า ทำให้เกิดรายได้เสริม เป็นเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ลงทุนสร้างสวนมะยงชิด

การปลูกมะยงชิดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในระยะแรกพี่นอมไม่มีความรู้เรื่องการปลูกมะยงชิด จึงต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมว่า จะต้องหาซื้อต้นพันธุ์จากที่ไหน สมัครเข้าร่วมกลุ่มผู้ปลูกมะยงชิด เพื่อเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลการปลูกดูแลมะยงชิดกับเกษตรกรมืออาชีพ พี่นอมวางแผนการปลูกมะยงชิด ในระยะห่าง 8×8 เมตร ซึ่งการกำหนดระยะปลูกดังกล่าว ช่วยให้พี่นอมสามารถปลูก ดูแล เก็บเกี่ยวผลผลิต หรือตัดสางต้นได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ พี่นอมยังลงทุนขุดบ่อน้ำบาดาลและขุดสระน้ำ เพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี และลงทุนทำระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ กระจายการส่งน้ำไปทั่วทุกต้น

คุณประนอม ใจใหญ่ กับ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท

ม.นเรศวร แนะวิธี ผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์

ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก พร้อมคณะ ได้เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว แก่เกษตรกรและผู้สนใจ ณ สวนใจใหญ่

นักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการฉีดพ่นสารละลายแคลเซียม (Ca) – โบรอน (B) การศึกษาจำนวนผลต่อต้นที่เหมาะสม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของผลโดยตรงคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น และเพื่อเพิ่มคุณภาพทางเคมีของผลผลิต เช่น รสชาติ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ

ระหว่างปลูกมีระยะที่ต้องเฝ้าระวังคือระยะแตกใบอ่อน ระยะดอกโรย และช่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อราและกลุ่มแมลงปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมะยงชิด และยังมีโรคและแมลงอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของมะยงชิด ได้แก่ โรคราดำ แมลงวันผลไม้ ด้วงงวงกัดใบมะยงชิด ด้วงเจาะลำต้นมะยงชิด และแมลงค่อมทอง จึงต้องควบคุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

มะยงชิด ของสวนใจใหญ่

การเก็บรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวนั้น นักวิจัยแนะนำให้ใช้สาร 1-เมธิลไซโคลโพรพีน (1-Methylcyclopropene) เคลือบผิวมะยงชิด ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และยังมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปมะยงชิดโดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดใจและมีลักษณะเฉพาะ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออกมะยงชิด โดยการจัดเสวนาหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลาง และกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก

ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล
ทุเรียนหมอนทองอุตรดิตถ์

คัดเกรดขายสินค้าได้ราคาดี

นอกจากนี้ พี่นอม มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมความรู้กับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่องการปลูก ดูแล การให้น้ำ การคัดเกรดผลผลิต ตามคุณภาพสินค้าแบ่งเป็นเกรด B และ C ทำให้สามารถพัฒนาผลผลิตที่ดีขึ้น

สำหรับสินค้าเกรด A ลูกใหญ่ คัดสรรใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เพื่อขายเป็นของขวัญของฝาก เน้นเจาะตลาดออนไลน์ ส่วนเกรด B เน้นจำหน่ายผ่านตลาดขายส่ง และเกรด C เน้นขายตลาดชุมชน และนำไปแปรรูปจากมูลค่าเพิ่ม โดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง การแปรรูปสร้างมูลค่ามะยงชิดจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในลักษณะ มะยงชิดลอยแก้ว ซึ่งพี่นอมทำร่วมกับเกษตรกรอื่นๆ ในรูปวิสาหกิจชุมชน

กล้วยไข่ที่รอการจำหน่าย

แปลง GAP ดีเด่น ของจังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบัน แปลงปลูกมะยงชิดของพี่นอมยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการมาตรฐานสินค้า GAP กับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ กรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยเข้ารับการอบรมความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงแปลง การใส่ปุ๋ย การใช้สารเคมีการเกษตร การจัดการแมลงศัตรูพืชในแปลงเพาะปลูก ฯลฯ พี่นอมเลือกใช้สารเคมีการเกษตรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรแล้วเท่านั้น ไม่ได้ใช้สารเคมีต้องห้าม มีการดูแลจัดการแปลงและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้สวนแห่งนี้ได้ผ่านการรับรองแปลง GAP ดีเด่น ประจำปี 2563 ของจังหวัดอุตรดิถต์ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นแปลง GAP ดีเด่น อันดับ 3 ของภาคเหนือตอนล่างอีกด้วย

คุณประนอม กับผลผลิตลองกองหวาน

ใช้ถ่านชีวภาพ ปรับปรุงบำรุงดิน

ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) และจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้คัดเลือกสวนใจใหญ่ ไร่แลตะวัน ของพี่นอม เข้าร่วมโครงการ “ปรับปรุงบำรุงดินด้วยถ่านชีวภาพร่วมกับสารชีวภัณฑ์ (Biochar)” โดยนำวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น เปลือกทุเรียน ฟางข้าว ซังข้าวโพด กิ่งไม้ ฯลฯ นำมาผ่านกระบวนการด้วยเตาเผาถ่าน 200 ลิตร ที่มีความร้อนสูงประมาณ 400-800 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาการเผาที่รวดเร็ว สามารถนำถ่านชีวภาพไปใช้ในพื้นที่วนเกษตรไม้ผลจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แก่ สวนทุเรียน ลองกอง มะขาม และมะม่วงหิมพานต์

คุณสมบัติเด่นของถ่านชีวภาพคือ ช่วยเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นของพืชผล ทำให้ดินเกิดความชุ่มชื่น และสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผลผลิตด้านการเกษตรที่ปลอดภัยต่อไป โครงการปรับปรุงดินด้วยถ่านชีวภาพร่วมกับสารชีวภัณฑ์ ในพื้นที่วนเกษตรไม้ผลจังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยให้ชุมชนเกษตรกรมีความเข้มแข็ง คุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

คุณประนอม ใจใหญ่ ภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ

“ในวันนี้ พี่นอม มีความภาคภูมิใจที่สุดค่ะ ที่การทำเกษตรตามรอยพ่อพอเพียง สร้างความสำเร็จให้กับครอบครัว ให้มีความสุข และได้แบ่งปันความรู้ให้กับชุมชน สิ่งนี้ทำให้เรามีความสุขมากยิ่งกว่า และยิ้มได้ทุกวันค่ะ” พี่นอม กล่าวในที่สุด

หากใครสนใจอยากซื้อผลไม้สด คุณภาพดีของสวนพี่นอม หรือผลไม้แปรรูป สามารถติดต่อสั่งซื้อผลผลิตได้จากเพจ สวนใจใหญ่ ตามรอยพ่อพอเพียง และเพจ Pranom Jaiyai ได้ตลอดทั้งปี

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2564