เผยแพร่ |
---|
กล้วยนาก หนึ่งในสายพันธุ์กล้วยโบราณหายาก ที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จัก ความจริง ตระกูลกล้วยนากที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ชนิดแรก เรียกว่า กล้วยนากทั่วไป ชนิดที่สองเรียกว่า กล้วยนากยักษ์ หรือ กล้วยนากทองผาภูมิ
1.กล้วยนากทั่วไป นิยมปลูกกันตามสวนหรือบริเวณบ้าน กล้วยนากมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กล้วยกุ้ง กล้วยกุ้งแดง หรือกล้วยครั่ง ก็เรียกกันกล้วยนากชนิดนี้บางทีเรียกว่ากล้วยนากธรรมดา ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 28-35 เซนติเมตร สูง 300-420 เซนติเมตร ส่วนกาบมีสีแดงปนเขียว แผ่นใบกว้างและหนา มีสีเขียวอมแดงในหนึ่งเครือมี 4-5 หวี
กล้วยนากทั่วไปแต่ละหวีมี 14-18 ผล ขนาดผลกว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 14 เซนติเมตร ผลดิบมีสีแดงสดใส เมื่อแก่จัดสีเขียวอมแดง และผลสุกมีสีแดงอมส้ม ผลมีลักษณะกลม ก้านสั้น เนื้อสีส้ม รสหวาน ตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่จัด ใช้เวลา 95-110 วัน นิยมนำผลมารับประทานสด เช่นเดียวกับกล้วยหอม ส่วนผลดิบใช้ทอดและฉาบน้ำตาล บริโภคหรือขาย
- กล้วยนากยักษ์ หรือ กล้วยนากทองผาภูมิ พบมีปลูกกันตามบริเวณชายแดนไทยพม่า จากแม่ฮ่องสอนลงมาจนถึงกาญจนบุรี กล้วยนากยักษ์ ชนิดนี้มีขนาดผลใหญ่กว่า และมีจำนวนหวีมากกว่ากล้วยนากทั่วไป ลำต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 28-35 เซนติเมตร สูง 320-400 เซนติเมตร ส่วนของกาบลำต้นสีแดงคล้ำใบค่อนข้างยาว แผ่นใบกว้าง สีเขียวอมแดงค่อนข้างหนา ร่องใบกว้าง ก้านใบมีสีแดงอมชมพู ในหนึ่งเครือจะให้ 7-11 หวี
กล้วยนากทองผาภูมิ แต่ละหวีมี 14-18 ผล ขนาดของผลกว้าง 4.5 เซนติเมตร ยาว 18-12 เซนติเมตร ผลดิบมีสีแดงสดใส ผลแก่จัดสีเลือดหมู แต่เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม ลักษณะผลโค้งงอคล้ายกล้วยหอม ก้านยาวกว่ากล้วยนากทั่วไป เนื้อสีส้มค่อนข้างแข็ง รสหวานกลิ่นฉุนเมื่อสุกงอม ตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่ ใช้เวลาใกล้เคียงกับกล้วยนากทั่วไป คือ 95-110 วัน ผล ใช้รับประทานสด ส่วนผลดิบฝานบาง ๆ ทอด พร้อมอบเนยจะให้สีเหลืองเข้มน่ารับประทาน