รอบรู้ สายพันธุ์มะละกอ 10 กว่าสายพันธุ์

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว หากพูดถึง มะละกอ คนไทยจะคุ้นเคยกับ คำว่า “มะละกอแขกดำ” กันดี มะละกอแขกดำ มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จากนั้นก็กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ มะละกอเป็นพืชที่กลายพันธุ์ง่าย เมื่อนำไปปลูกถิ่นอื่นนานๆ ลักษณะก็จะเปลี่ยนไป เมื่อพบสิ่งที่ดี ผู้ปลูกก็จะเก็บสิ่งนั้นไว้

สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ จังหวัดขอนแก่น นำมะละกอแขกดำไปปรับปรุงพันธุ์ ได้ชื่อว่า “แขกดำท่าพระ”

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีษะเกษ นำแขกดำไปปรับปรุงพันธุ์ ได้ชื่อว่า “แขกดำศรีสะเกษ”

ในแง่ของงานพัฒนาสายพันธุ์มะละกอในบ้านเรามีความก้าวหน้าไม่น้อย แต่ก็มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งภาคราชการและเอกชน

สายพันธุ์มะละกอที่นำมาเสนอต่อไปนี้ ถือเป็นพืชพรรณที่มีคุณค่า ถึงแม้บางสายพันธุ์มีปลูกอยู่ไม่มากนัก

พันธุ์แขกดำ

มีลักษณะทรงพุ่มเตี้ย แข็งแรง ความสูงประมาณ 2-4 เมตร ก้านใบสีเขียวอ่อน ลักษณะสั้นและแข็งแรง ก้านใบตั้งตรง ยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร ใบหนากว่าพันธุ์อื่นๆ มีการออกดอกติดผลเร็ว ผลมีขนาดปานกลาง ส่วนหัวและปลายผลมีขนาดเท่ากัน ผลยาวประมาณ 25-35 เซนติเมตร ผลในขณะที่ยังดิบเปลือกมีสีเขียวเข้ม เปลือกหนา เนื้อหนา ประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ผลสุกมีสีส้มอมแดง เนื้อสีแดงเข้ม มีเปอร์เซ็นต์ความหวาน ประมาณ 9-13 องศาบริกซ์ น้ำหนักผลประมาณ 0.60-1.70 กิโลกรัม เหมาะสำหรับบริโภคสุกและดิบ

มะละกอแขกดำศรีสะเกษ

พันธุ์แขกดำศรีสะเกษ

เป็นมะละกอที่ให้ผลผลิตดกและติดผลไว ให้ผลผลิตสูงกว่ามะละกอแขกดำที่มีปลูกอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ ยังพบว่ามะละกอแขกดำศรีสะเกษมีความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์สูง เริ่มออกดอก เฉลี่ย 130 วัน หลังจากลงหลุมปลูก เมื่อมะละกอเริ่มติดผลแรก ต้นจะมีความสูงประมาณ 1.50 เมตร และเก็บเกี่ยวผลดิบเมื่อผลมีอายุประมาณ 3-4 เดือน หลังจากดอกบานและเก็บเกี่ยวผลสุกเมื่อผลมีอายุได้ 5-6 เดือน น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.28 กิโลกรัม ภายในผลสุกจะมีเนื้อสีแดงอมส้ม ความหนาของเนื้อ 2.5 เซนติเมตร ความหวาน เฉลี่ย 10-13 เปอร์เซ็นต์บริกซ์

มะละกอแขกดำท่าพระ

พันธุ์ท่าพระ 1, 2 และ 3

สถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ผสมขึ้น เป็นลูกผสมระหว่างมะละกอพันธุ์แขกดำ กับ พันธุ์ฟอริดา โทเลอแรนต์ เป็นพันธุ์ต้านทานโรค ใบด่าง ลักษณะเด่น คือ มีความทนทานต่อโรคจุดวงแหวนมะละกอดี ให้ผลเร็ว โดยมีอายุถึงวันดอกแรกบาน เฉลี่ย 85 วัน  อายุถึงวันติดผลแรก 92 วัน และเริ่มเก็บเกี่ยวผลสุกได้ภายใน 6-7 เดือน หลังปลูก ต้นเตี้ย สูงเฉลี่ย 1.3 เมตร ผลมีน้ำหนัก เฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม ผลดิบกรอบ ผลสุกมีสีเหลืองอมส้ม

มะละกอแขกดำดำเนิน

พันธุ์แขกดำดำเนิน

อายุเมื่อดอกแรกบาน 149 วัน ความสูงเมื่อออกดอก 120 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม ดอกตัวผู้มาก ดอกกะเทยน้อย ผลสีเขียวเข้ม รูปร่างยาว โคนเล็ก ตรงกลางค่อนไปทางปลายใหญ่ เนื้อในสีแดงส้ม น้ำหนักของผล เฉลี่ย 0.96 กิโลกรัม ผลผลิตต่อต้น 11.43 กิโลกรัม เนื้อหนา

พันธุ์แขกหลอด

เป็นมะละกอพันธุ์ต้นเตี้ย ติดผลดก ผลทรงกระบอกขนาดเล็กยาว ส่วนหัวคอดเรียวเข้าหาขั้ว ปลายเรียวแหลม ปลายอาจจะงอเล็กน้อย เนื้อหนาแน่น เมล็ดน้อย 1 ผล อาจจะมีเมล็ด 15-20 เมล็ด มีช่องว่างกลางผลเล็กมากคล้ายรูหลอด สีเนื้อแดงเข้ม รสชาติเหมือนแขกดำ สายพันธุ์ดั้งเดิมมาจาก อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เหมาะสำหรับใช้รับประทานผลสุก

พันธุ์ปากช่อง 1

เป็นพันธุ์ที่มีผลขนาดเล็กตรงตามความต้องการของตลาดยุโรป มีเปอร์เซ็นต์ความหวาน ประมาณ 12-14 องศาบริกซ์ น้ำหนักผล 350 กรัม พันธุ์นี้ลักษณะใบมี 7 แฉกใหญ่ ใบกว้าง 50-80 เซนติเมตร ยาว 45-50 เซนติเมตร ก้านใบสีเขียวปนม่วง ยาว 70-75 เซนติเมตร ระยะเวลาปลูกประมาณ 8 เดือน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลได้ให้ผลผลิต 30-35 กิโลกรัม ต่อต้น ในระยะ 18 เดือน และค่อนข้างทนต่อโรคใบด่าง (Ring Spot Virus)

มะละกอโกโก้

พันธุ์โกโก้

เป็นมะละกอพันธุ์เตี้ย ลำต้นแข็งแรง ลำต้นอ่อนมีสีม่วงอยู่ประปราย แต่เมื่อโตแล้วจุดประอาจหายไปหรือยังอยู่ ก้านใบยาวมีสีน้ำตาล สีม่วงเข้ม หรือ สีเขียวอ่อน การออกดอกและติดผลค่อนข้างเร็ว พันธุ์นี้มีดอกตัวผู้มาก และมีดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศเมียน้อย ผลขนาดปานกลาง ผิวผลเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อแน่น แข็ง หนา และกรอบ เมื่อผลสุกเนื้อมีสีแดงอมชมพู มีรสชาติหวาน เมล็ดมีขนาดใหญ่สีเทาถึงเหลือง เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 8-9 เดือน ความหวาน ประมาณ 12 องศาบริกซ์

มะละกอแขกนวล

พันธุ์แขกนวล

เป็นพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์แขกดำ มีการปลูกที่แถบอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อส่งโรงงานแปรรูป ลักษณะเตี้ย ใบสีเขียวเข้ม ผลมีขนาดปานกลาง มีลักษณะกลมยาว น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อผล เมื่อผลสุกเนื้อมีสีเหลืองเข้ม รสหวาน เปอร์เซ็นต์น้ำตาล ประมาณ 13.44 องศาบริกซ์ เมล็ดมีขนาดใหญ่สีดำ

พันธุ์สายน้ำผึ้ง

เป็นมะละกอพันธุ์เตี้ย ก้านใบเขียวปนขาว ก้านใบยาวกว่าพันธุ์แขกดำ แต่แข็งแรงน้อยกว่า ในระยะออกดอกก้านใบมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวปนขาว ก้านใบล่างมีลักษณะเอนลงสู่พื้น ใบมีขนาดกว้าง แต่บาง ที่ลำต้นมีลักษณะข้อยาว ผลมีส่วนหัวเรียวไปสู่ส่วนท้ายที่ใหญ่ ส่วนหัวและปลายผลมีลักษณะแหลม มีความยาว ประมาณ 29 เซนติเมตร อาจถึง 50 เซนติเมตร ผลมีร่องระหว่างพูเป็นเหลี่ยมชัดเจน เปลือกผลมีสีเขียว เนื้อหนา ประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร เมื่อสุกเนื้อมีสีส้ม รสชาติหวาน เหมาะสำหรับบริโภคสุก

พันธุ์จำปาดะ

มีลำต้นขนาดใหญ่ แข็งแรง ใบและก้านมีสีเขียวอ่อน การออกดอกและติดผลค่อนข้างช้ากว่าพันธุ์โกโก้และแขกดำ ผลมีขนาดใหญ่ ลักษณะยาว ผลดิบมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลสุกเนื้อมีสีเหลือง เนื้อค่อนข้างบางกว่าพันธุ์อื่นๆ ลักษณะเนื้อไม่แน่น

พันธุ์โซโล (Sunrise Solo)

เป็นมะละกอพันธุ์ที่นิยมปลูกมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มลรัฐฮาวาย ให้ผลผลิตเมื่ออายุ 12-14 เดือน ผลแรกอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1-1.5 เมตร ผลเกิดจากดอกสมบูรณ์เพศ รูปร่างคล้ายพันธุ์โกโก้แต่ค่อนข้างกลมกว่า ขนาดผลยาวประมาณ 15 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณผลละ 450 กรัม เนื้อมีรสชาติหวาน

พันธุ์ครั่ง พันธุ์ยักษ์

มะละกอพันธุ์ครั่งนี้ เมื่ออายุ 1-3 เดือน จะมีสีแดง อมม่วงอ่อน ตามก้านใบ และเป็นจุดๆ ตามลำต้นสีเหมือนครั่งดิบ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า มะละกอพันธุ์ครั่ง เมื่อติดผล แต่ละช่อจะมี 1-5 ผล มีความยาว เฉลี่ย 47 เซนติเมตร บางผลยาวถึง 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 9 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.9 กิโลกรัม ไม่ใช่มะละกอตกแต่งพันธุกรรม จุดเด่นอีกอย่างคือ แม้จะปลิดจากต้นแล้วทิ้งไว้เป็นสัปดาห์ก็ยังคงความกรอบอยู่ โดยผลดิบ เนื้อจะมีสีขาวขุ่น กรอบ มีรสหวานเล็กน้อย เหมาะสำหรับทำส้มตำ

มะละกอฮอลแลนด์

พันธุ์ฮอลแลนด์

ชื่ออื่น เรดมาราดอล์ ปลักไม้ลาย และ เซกากิ ลำต้นใหญ่สีเขียว ใบมี 11 แฉกใหญ่ กลางใบมีกระโดงใบ 1 ใบ ก้านใบมีสีเขียวตั้งขึ้น ดอกออกเป็นช่อ ติดผลดก รูปทรงกระบอกคล้ายลูกฟักอ่อน อายุเก็บเกี่ยว 8 เดือน น้ำหนักผลประมาณ 800-2,000 กรัม ต่อผล เนื้อสีแดงอมส้ม ไม่เละ เนื้อหนา 2.5-3.0 เซนติเมตร ความหวานวัดได้ 11-13 องศาบริกซ์ ผลผลิตต่อต้น 60-80 กิโลกรัม

มะละกอฟลอริด้า โทเลอแรนต์

พันธุ์ฟลอริด้า โทเลอแรนต์

มะละกอพันธุ์ฟลอริด้า โทเลอแรนต์ ได้มาจากการคัดเลือกของ Dr. R. Conover แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริด้า ระหว่างปี ค.ศ. 1979-1980 มะละกอพันธุ์นี้ เป็นพันธุ์ที่มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่คนละต้น (Dioecious) ลำต้นแข็งแรง ต้นเตี้ย ให้ผลดก ผลเล็ก มีลักษณะกลม น้ำหนัก 400-700 กรัม ผลดิบเนื้อกรอบ เมื่อสุกเนื้อสีเหลืองแกมส้ม เนื้อแน่น มีกลิ่นหอม ผลแรกสุกภายใน 5-6 เดือน หลังย้ายต้นกล้าปลูก ลักษณะเด่นคือมีความต้านทานต่อโรคจุดวงแหวนมะละกอดี

พันธุ์ซันไรท์

เป็นมะละกอผลเล็กกะทัดรัด น้ำหนักเฉลี่ย 400-500 กรัม เนื้อสีแดงเข้ม รสชาติอร่อย มีกลิ่นหอม ความหวานสูง ปัจจุบัน มีเกษตรกรปลูกอยู่ในหลายจังหวัด แต่ที่ทำเป็นอุตสาหกรรม คือ บริษัท ไทฮง ผลไม้ จำกัด ปลูกอยู่ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ผลผลิตที่ได้ส่งไปฮ่องกงและไต้หวัน

แปลงมะละกอเรดเลดี้

พันธุ์เรดเลดี้

เป็นมะละกอที่ให้ผลผลิตเร็ว ลำต้นสูง 80 เซนติเมตร ก็ให้ผลผลิตแล้ว ติดผลเฉลี่ย 30 ผล ต่อต้น ต่อปี น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.5-2 กิโลกรัม ผลสุกมีรสหวาน วัดได้ 13 องศาบริกซ์ เนื้อแข็ง ทนทานต่อการขนส่ง จุดเด่นอยู่ที่เนื้อของผล สีสวย แดงออกชมพู จัดว่าเป็นมะละกอที่จำหน่ายได้ราคาดี

พันธุ์โนนยู เบอร์ 1

เป็นมะละกอที่เหมาะสำหรับทำส้มตำ ต้านทานโรคไวรัสได้ดี ลำต้นอวบหนา แข็งแรง ไม่ล้มง่าย หลังปลูกให้ผลผลิตเร็ว และดก ทรงผลยาว มีขนาดใหญ่ น้ำหนัก 1.6-3 กิโลกรัม ต่อผล เมื่อสุกผลสีเหลือง รสชาติหวาน หอม เหมาะสำหรับทำฟรุตสลัด ค็อกเทล หรือแปรรูป ผลดิบเนื้อกรอบ เหมาะต่อการทำส้มตำ