ตลาดขายปลีกมะละกอสุก แขกดำ-ฮอลแลนด์ ครองแชมป์

สีเหลืองส้มเป็นมะละกอฮอลแลนด์ ส่วนมะละกอแขกดำมีผิวสีเขียวปนเหลือง

ถ้าพูดถึงไม้ผลใกล้ตัวที่พบเห็นตามบ้าน ชุมชน จนชินตา นอกจากกล้วยแล้ว “มะละกอ” อาจเป็นพืชไม้ผลอีกชนิดที่พบเห็นด้วยเช่นกันเพราะไม้ผลทั้งสองชนิดสามารถเจริญเติบโตง่าย ไม่เลือกสถานที่ แถมยังไม่ต้องการเอาใจจนเกินไปด้วย ดังนั้น ทั้งมะละกอและกล้วยจึงเกิดขึ้นตามแหล่งต่างๆ ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์จากไม้ผลทั้งสองในการประกอบอาหารภายในครัวเรือนอีก

ความสำคัญของมะละกอยังประโยชน์ทางด้านอาหารได้ทั้งสุกและดิบขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงจนทำให้ตลาดมะละกอเกิดความคึกคัก ชาวบ้านหันมาปลูกมะละกอทั้งดิบและสุกเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่จนกลายเป็นอาชีพสำคัญสร้างรายได้ให้ทุกครัวเรือน

มะละกอที่เห็นตามตลาดหรือแหล่งจำหน่ายอาจมาจากสวนที่ผู้ปลูกขายผ่านคนกลาง หรือขายตรงให้แก่ผู้ขายปลีก ซึ่งไม่ว่าจะขายแบบใดกลุ่มผู้ขายปลีกมะละกอนับเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานมะละกออย่างสมหวัง ฉะนั้น ลองมาสำรวจบางส่วนของผู้ขายปลีกมะละกอว่าพวกเขาขับเคลื่อนอาชีพนี้กันอย่างไร

ลุงแซม พ่อค้าผลไม้เร่ตามตลาดนัด

ลุงแซม เป็นชาวลำปาง มีบ้านอยู่ทั้งกรุงเทพฯ และกาญจนบุรี อดีตเคยทำงานเป็นช่างเชื่อมท่อแก๊สในทะเล ภายหลังที่เกษียณงานจึงไปซื้อที่ดินที่เมืองกาญจน์ในตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา เพื่อทำสวนปลูกผัก ผลไม้ อย่างกล้วย มะละกอ มะพร้าว รวมถึงยังเลี้ยงปลา เพื่อไว้รับประทานในครอบครัว จนเห็นว่ามีมากจนรับประทานไม่ทันเลยใส่รถกระบะพร้อมกับรับไม้ผลและผักจากเพื่อนบ้านนำเข้ามาขายตามตลาดนัดใกล้บ้านในกรุงเทพฯ เมื่อต้องการกลับเยี่ยมบ้าน

ลุงแซมเปิดท้ายขายผลไม้หน้าบ้านในยามเย็น

ลุงแซมทำเช่นนี้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี มีรายได้มาก-น้อยตามการขึ้นลงของราคาสินค้าเกษตร แต่นั่นอาจไม่สำคัญเนื่องจากเขามองว่าผัก ผลไม้ทั้งที่ตัวเองปลูกและเพื่อนบ้านปลูกต่างเป็นผลผลิตที่ปลูกแบบแบบธรรมชาติ ไม่หวังใช้สารเคมี จึงมีความตั้งใจให้ผู้บริโภคได้รับประทานสิ่งที่ปลอดภัยในราคาไม่แพง ส่วนรายได้ถือว่าเป็นค่าน้ำมัน

มะละกอสุกเป็นอีกไม้ผลที่ลุงแซมนำมาขาย เป็นมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ที่รับมาจากเพื่อนบ้าน ที่ปลูกไว้เป็นสวนและมีแหล่งจำหน่ายอยู่ในละแวกภายในจังหวัดและจังหวัดอื่นหลายแห่ง เนื่องจากของตัวเองยังไม่พร้อม

ทุกวันนี้ลุงแซมจะรับมะละกอมาขายคราวละ 200-300 กิโลกรัม จากเมื่อก่อนที่เคยรับมาขายสูงถึงเป็นพันกิโลกรัมเพราะเป็นช่วงที่มะละกอฮอลแลนด์ได้รับนิยมมาก โดยแต่ละครั้งจะนำไปขายตามตลาดนัดทั้งนัดเช้าและนัดเย็น ซึ่งจะมีบรรดาลูกค้าขาประจำที่เคยซื้อแล้วติดใจคุณภาพ นอกจากนั้น ยังส่งขายให้แก่สถานที่ดูแลผู้สูงอายุแถวหน้ากองปราบ แล้วยังบอกว่าในบรรดาผลไม้หลายชนิดที่นำมาขายนั้น มะละกอสุกถือว่าขายดีที่สุด

ท้ายรถลุงแซมมีมะละกอฮอลแลนด์ กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก และผลไม้อื่นๆ

ราคามะละกอสุกที่ลุงแซมขาย จะตั้งต่ำกว่าตลาดทั่วไปสักประมาณกิโลกรัมละ 4-5 บาท เพราะเห็นว่ารับซื้อมาขายเองจากสวนในราคาต้นทุนต่ำ อีกทั้งเป็นจังหวะที่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อยู่แล้ว ทั้งนี้ มีน้ำหนักผลละประมาณ 1.20-1.50 กิโลกรัม เป็นขนาดที่ลูกค้านิยมมาก เนื่องจากรับประทานง่าย สะดวก สามารถตักรับประทานได้ทันที แต่ทั่วไปแล้วลูกค้าชอบทุกขนาดเพราะเป็นมะละกอที่มีคุณภาพอร่อยทุกผล

“ในแต่ละครั้งที่รับมาขายจะหมดทุกครั้งไม่มีเหลือ เพราะมีการคำนวณความต้องการไว้จากทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าจร อย่างไรก็ตาม เมื่อผลไม้หมดก็เป็นจังหวะดีที่ต้องเดินทางกลับเมืองกาญจน์ไปดูแลสวนตัวเอง ซึ่งไม่มีความแน่นอน อาจเกือบทุกสัปดาห์ หรือเว้นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือถ้าเป็นช่วงฤดูผลไม้”

 

คุณอ้อย ขายมะละกอที่ตลาดศาลายา

พื้นที่ในเขตจังหวัดนครปฐม ถือเป็นแหล่งที่ปลูกไม้ผลได้อย่างมีคุณภาพเลื่องชื่อหลายชนิด อีกทั้งด้วยระยะทางประกอบกับความสะดวกต่อการเดินทางจึงทำให้ผู้นิยมรับประทานผลไม้ต่างมุ่งเข้าถึงสวนปลูกได้อย่างไม่ยาก หรือบางรายสามารถซื้อได้ตามแหล่งที่ผู้ปลูกมาขายเองในราคาไม่แพง

คุณอ้อย ร้านขายผลไม้ที่ตลาดศาลายา

“ตลาดศาลายา” ตั้งอยู่พุทธมณฑลสาย 4 เป็นอีกแห่งที่นักช็อปผลไม้รู้จักกันอย่างดีทั้งราคาและคุณภาพที่ไว้ใจได้เนื่องจากมีทั้งความใหม่ สด และราคาไม่แพง

“ร้านขายผลไม้คุณอ้อย” ปักหลักอยู่ที่ตลาดศาลายามานานกว่า 10 ปี ผลไม้ที่ขายเป็นหลัก ได้แก่ มะละกอ สับปะรด แตงโม และกล้วย นอกจากนั้น จะเป็นผลไม้ตามฤดูกาล

มะละกอที่ขายเป็นพันธุ์ฮอลแลนด์และแขกดำ คุณอ้อย เผยว่า มะละกอทั้งสองชนิดมีขายตลอดทั้งปี เพียงแต่บางช่วงอาจมีความหวานมาก-น้อยต่างกัน

“มะละกอแขกดำรับมาจากสวนลุงปรุง ที่นครชัยศรี เพราะเป็นสวนเก่าแก่ที่มีคุณภาพ ส่วนฮอลแลนด์รับมาจากตลาดค้าส่งประจำหลายแห่งสลับหมุนเวียนกัน”

คุณอ้อย บอกว่า ขายดีทั้งสองพันธุ์ ขึ้นอยู่กับความชอบของลูกค้า เพราะถ้าบางคนรับประทานฮอลแลนด์ก็ไม่ชอบแขกดำ หรือบางคนรับประทานได้ทั้งสองชนิดเพราะอร่อยต่างกัน แต่ถ้าเป็นลูกค้าที่สูงอายุรุ่นเก่าแก่อาจชอบแขกดำมากกว่า เนื่องจากหารับประทานยาก

ลูกค้าสองท่านนี้ขาประจำมะละกอแขกดำ

“ปัจจุบันมะละกอแขกดำมีจำนวนน้อยลง อีกทั้งชาวบ้านไม่นิยมปลูกจึงทำให้หายาก แต่เมื่อลูกค้ารู้ว่าที่ร้านมีมะละกอแขกดำก็จะแวะมาซื้อตลอด จึงไม่ต้องไปตระเวนหาที่อื่น ทำให้มีกลุ่มขาประจำแขกดำเป็นจำนวนมาก”

คุณอ้อย บอกว่า จำนวนมะละกอที่รับมาขายในแต่ละครั้งถ้าเป็นแขกดำมีจำนวนประมาณครั้งละ 50 กิโลกรัม แล้วจะรับมาบ่อย ส่วนฮอลแลนด์มีจำนวนคนซื้อมากกว่าจึงต้องรับมาทุกวัน วันละประมาณ 40 กิโลกรัม สำหรับราคาขาย (30/4/60) ถ้าเป็นแขกดำกิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนฮอลแลนด์กิโลกรัมละ 40 บาท ทั้งนี้ ราคาอาจปรับเปลี่ยนไปตามกลไกตลาดของมะละกอ โดยตั้งข้อสังเกตว่ามักเกิดขึ้นในช่วงหน้าผลไม้ จากนั้นราคาซื้อ-ขายจะกลับเป็นปกติ

ลูกค้าของคุณอ้อยมีทั้งในกรุงเทพฯ ที่เดินทางมาเที่ยวตามตลาดชานเมืองในวันหยุด หรือคนกรุงเทพฯ ที่ทำงานอยู่แถวพุทธมณฑล นอกจากนั้น จะเป็นลูกค้าที่พักอยู่แถวชานเมือง

อีกกลุ่มเป็นลูกค้าที่ต้องใช้มะละกอจำนวนมากสำหรับจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะมาสั่งมะละกอทั้งสองชนิดไว้ล่วงหน้า และจะระบุว่าต้องการชนิดใด จำนวนเท่าไร ต้องการสุกมาก-น้อย โดยกลุ่มนี้ ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม บริษัท โรงงาน หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา

สีเหลืองส้มเป็นมะละกอฮอลแลนด์ ส่วนมะละกอแขกดำมีผิวสีเขียวปนเหลือง

แม่ค้าขายผลไม้รายนี้บอกว่า ก่อนนำมะละกอขายจะต้องคัดขนาดตามที่ลูกค้าต้องการ อย่างฮอลแลนด์จะต้องระบุเป็นเบอร์ A เพราะมีน้ำหนักประมาณผลละ 1-2 กิโลกรัม ขณะเดียวกัน ลูกค้าบางกลุ่ม เช่น โรงแรม หรือโรงงาน จะชอบผลใหญ่เพราะจะคุ้มค่ากว่า ส่วนแขกดำจะรับตรงมาจากสวน และมีทุกขนาดเพราะลูกค้าไม่เกี่ยงขนาด ขอให้รับประกันคุณภาพว่าเป็นแขกดำจริงเท่านั้น

คุณอ้อย บอกว่า จากประสบการณ์ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่าราคาขายมะละกอสุกมีการขยับมาก อย่างเมื่อก่อนเคยขายกิโลกรัมละ 15-20 บาท ซึ่งโดยมากเป็นแขกดำ แต่มาระยะหลังที่ชาวบ้านเริ่มปลูกแขกดำน้อยลงเพราะเกิดปัญหาด้านการปลูก ขณะเดียวกัน ในพื้นที่บ้านปลักไม้ลายได้นำมะละกอฮอลแลนด์เข้ามาปลูกแทน จนได้รับความนิยม จึงทำให้ที่ร้านลองนำมาขายปรากฏว่าขายดีมาก ดังนั้น ทุกวันนี้จึงขายทั้งสองพันธุ์เป็นหลัก

ร้านผลไม้คุณอ้อย ตั้งอยู่ในตลาดศาลายา ข้างมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา อยู่ล็อก 2 ใกล้โซนอาหาร เปิดขายตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม หากท่านมีโอกาสผ่านย่านพุทธมณฑล ลองแวะซื้อผลไม้กลับบ้านโดยสามารถสอบถามหรือสั่งซื้อมะละกอและผลไม้อื่นได้ที่ โทรศัพท์ (084) 147-3229