เกร็ดเรื่องเล่า จาก “สวนสุธี” วิถีเกษตรอินทรีย์ เมืองจันทบุรี

ค่ำวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564 มีการเสวนาย่อย หัวข้อ ทุเรียนปลอดภัยจากสารเคมีไหม ภายใต้หัวข้อใหญ่จักรวาลทุเรียน จัดโดยมูลนิธิชีววิถี ซึ่งสามารถรับฟัง on line ย้อนหลังได้ที่เพจของ Biothai นะครับ

บางประเด็น เช่น เรื่องทุเรียนสวนเมืองนนทบุรี ผมเคยสรุปมาเสนอไว้บ้างแล้ว สำหรับเสวนาย่อยเรื่องทุเรียนและสารเคมีนี้ เป็นการชวนคนทำสวนทุเรียน นักวิชาการเกษตร และผู้ปฏิบัติงานเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ มานั่งคุยกันถึงสภาวะความเป็นไปได้ของสวนทุเรียนอินทรีย์ในปัจจุบัน ซึ่งก็นับว่าเป็นคำถามที่ท้าทาย ไม่เฉพาะวงการทุเรียนหรอกครับ หากเป็นโจทย์ทางเลือกสำคัญของเกษตรกรในอนาคตด้วย

ถ้าใครได้ลองเข้าไปฟังหัวข้อนี้มาแล้ว คงรู้สึกเหมือนผม ว่าเหมือนเราได้ก้าวเข้าไปเหยียบบนทางสองแพร่งสามแพร่ง โดยมีผู้ที่เหยียบย่างผ่านไปแล้วมาคอยบอกเล่านานาประสบการณ์อย่างออกรส โดยเฉพาะ “คำถามใหญ่” เรื่องความเป็นไปได้/ไม่ได้ ของการทำเกษตรอินทรีย์ในกรณีทุเรียน ผลไม้ที่ดูเหมือนต้องการการดูแลประคบประหงมละเอียดลออทุกขั้นตอน ทั้งมีมูลค่าผลผลิตสูงสุดในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฟัง ผมคิดว่าคงไม่สามารถย่นย่อการสนทนาหัวข้อนี้ลงได้ในพื้นที่จำกัด ทว่าผมกลับเห็นว่ามีประเด็นน่ารู้และชวนคิดต่อ จากคำบอกเล่าของ คุณสุธี ปรีชาวุฒิ เจ้าของสวนทุเรียนอินทรีย์เขาคิชฌกูฎ หรือ Sutee Organic Farm อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

ดูเหมือนคุณสุธีตอบคำถามสำคัญเบื้องต้นของผู้สนใจเกษตรอินทรีย์ได้อย่างชัดเจนมากๆ ตรงที่ว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์” ผมเลยคิดว่า จะขอย่อยเอาเฉพาะเนื้อหาตรงส่วนนี้ของคุณสุธี เท่าที่ผมเข้าใจ มาชวนคุยกันถึงสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “แนวคิดเกษตรอินทรีย์เบื้องต้น” โดยสังเขป เท่าที่พื้นที่จะอำนวยให้ครับ

…………………

สวนทุเรียนอินทรีย์เขาคิชฌกูฎของคุณสุธี เป็นสวนผลไม้และผักยืนต้นปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ เขาเริ่มสรุปสั้นๆ ในการคุยวันนั้นว่า “มันเริ่มตั้งแต่สมัยพ่อ จากทำนา บ้านเราก็มาทำสวน ต้องฉีดยาเคมี ตอนฉีด บ้านเราต้องปิดหน้าต่างเลยนะ ช่วงหนึ่งพ่อผมวูบ จนหมอต้องบอกให้ลดการใช้ยาในสวน เราก็พยายามลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือแค่ใช้ปุ๋ยเคมีกับคลอไพริฟอต แต่ก็ฉีดเฉพาะปีที่มีโรคแมลงเยอะ”

คำถามสำคัญที่คนมักถาม ก็คือเกษตรกรจะเลิกใช้สารเคมี หันมาทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบเลยได้หรือไม่ ผมคิดว่าคุณสุธีตอบได้ชัดเจนดี คือ “หลายคนจะบอกว่า ได้ แต่ตัวเราเองเท่านั้นแหละจะรู้ว่าเราจะเลิกได้แค่ไหน เพราะเราต้องมาวิเคราะห์เงื่อนไขของพื้นที่เราก่อน ว่ามันมีสภาพยังไง มันสมบูรณ์แค่ไหน มีต้นไม้อะไรอยู่บ้าง ไหนจะความรู้ของเราอีกล่ะ ตัวอย่างสมัยพ่อผม อย่างที่บอกว่าเราหยุดใช้ยา หยุดใช้คลอไพริฟอต มันฟังดูเหมือนง่ายนะ แต่ก็ต้องใช้เวลาตั้งกว่า 2-3 ปี เราเริ่มจากความไม่รู้ ก็พยายามเรียนรู้จาก Google แต่ตอนนั้นเรายังไม่เคยประเมินตัวเอง ว่าพื้นที่ต่างกัน สถานการณ์ต่างกัน มันก็ไม่เหมือนกันแล้ว ผมถึงเสนอว่า ถ้าใครคิดจะทำนะ ให้ลองตัดพื้นที่สัก 20% เป็นแปลงทดลองก่อนเลย ดูว่าพื้นที่ของเราพอมีเงื่อนไขอะไรที่จะช่วยลดการใช้ยาเคมีลงได้บ้าง เราต้องให้เวลากับการทดลองความรู้ ให้เวลากับการปรับตัว จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นระบบนิเวศแบบสมรม”

คุณสุธี ยกตัวอย่างสวนมังคุด พื้นที่ 18 ไร่ ที่เพิ่งได้มาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเมื่อตกลงกันในครอบครัวได้แล้วว่าจะทำต่อในระบบอินทรีย์ ก็ต้องมาดูว่า จะสามารถทำด้วยเงื่อนไขอย่างไรที่จะให้สวนดำเนินต่อไปได้ และมีการรองรับผลผลิตอินทรีย์ที่ออกมา

“มังคุดสวนนี้ เดิมเป็นสวนที่ใช้ระบบคราดใบเผาทิ้ง ต้นหญ้าก็ไม่มี ดินแข็ง เป็นคราบขาวๆ คือไม่เคยมีอะไรคลุมหน้าดินเลย เราปรับอยู่ตั้ง 5 ปี กว่าจะใช้ได้”

…………………

“คนมักถามว่าเราทำอะไรกับสวนบ้าง ผมบอกก็แค่ใส่ปุ๋ย รดน้ำ แต่งกิ่ง ทุกอย่างมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เอง” ในสวนปลูกพืชผสมกันเพื่อสร้างสมดุลหลายชนิด มีทั้งลองกอง เงาะ ทุเรียน กระวาน ผักเหลียง เจ้าของสวนบอกว่า หลังจากตัดแต่งกิ่งต้นไม้จนโปร่ง ตัดถนนเล็กๆ ให้เชื่อมต่อถึงกัน “ค้างคาวจะมา”

“ผมสังเกตว่าค้างคาวมันจะมามากขึ้นถ้าสวนเราโปร่ง โล่ง ทีนี้การผสมเกสรของทุเรียนก็จะดีขึ้น นอกจากนี้ การใช้ยาฆ่าแมลงบางทีมันมีผลกระทบต่อพวกผึ้ง ที่เป็นตัวช่วยผสมเกสรนะครับ พอใครใช้ยา ผึ้งจะไม่อยากมาสวนนั้นแล้ว ที่สวนผม ถ้าไม่ใช่มีคนมาแอบตีผึ้งไป จะไม่มีปัญหาเรื่องการผสมเกสรทุเรียนเลยนะ พอถึงข้างขึ้น พวกผึ้งหลวงจะมากินน้ำหวานผสมเกสรช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงสี่ทุ่ม ทุเรียนเราก็จะลูกกลมสวยดีมาก โดยเราไม่ต้องคอยปัดดอกเลยแหละ”

คุณสุธี ยังกล่าวถึง “สมาชิก” อื่นๆ ในสวน “ผมก็ดูว่าทำไมสวนเราหนอนถึงไม่ค่อยมี ปรากฏว่ามันมีทั้งหนอนชนิดที่คอยกินตัวดักแด้แมลง เห็นตัวแมลงหางหนีบเดินออกมาจากรูที่มีตัวหนอน ผมยังเคยขอให้นักกีฏวิทยามาดู เขาบอก ลำพังต้นหมากที่ผมปลูกไว้ ก็มีแมงมุมตั้ง 20 กว่าชนิดแล้ว การปลูกพืชผสม ทำให้พบแมลงถึง 80 กว่าชนิด พวกนี้จะสร้างสภาพสมดุลขึ้นในสวน ถ้าสวนไหนมีปัญหา มักพบแมลงน้อยชนิด แต่พบปริมาณมาก มันจะไม่สมดุลกัน หรืออย่างเรื่องมด ที่ชาวสวนจะมีปัญหามาก ผมพบว่าเมื่อเราทนสัก 2-3 ปี มันจะมีมดกลิ่นเหม็นๆ มาอยู่แทน ผมลองเอารังมดเหม็นนี้ไปเคาะใส่รังมดที่ชอบกัดเรา ปรากฏว่ามดพวกนั้นหนีหมดเลย แล้วถ้าเราเอาไบกอนไปฉีด ไอ้มดเหม็นนี่จะตายนะ ส่วนมดที่กัดเรา กลับไม่ตายเลย

“มดชอบอยู่ในดินซุยๆ สภาพสมบูรณ์ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องบำรุงดิน มันอาศัยกินน้ำหวานจากดอกหญ้า เพราะฉะนั้นถ้าเราฉีดยาฆ่าหญ้า ก็จะมีปัญหาแล้ว ผมยังเห็นพวกมันไปรุมกินหนอนด้วย นอกจากนี้ก็มีไก่ป่าที่ช่วยกินแมลงในดินได้มาก เงาะของผมเคยถูกหนอนคืบสีเขียวกินจนหมดสวน แล้วจากนั้นฝูงไก่ป่าลงกินหนอนพวกนี้เกลี้ยงเลย หนอนนี้มันจะทิ้งตัวลงพื้น ดังนั้นถ้าเราเลี้ยงฝูงเป็ดเทศกึ่งไข่ จะช่วยกำจัดมันได้อีกแรงหนึ่ง ไหนจะนกอีกนะครับ ถ้าในสวนเรามีไม้ยืนต้นสูงระดับ 30 เมตร จะมีนกมาเกาะ สอดส่องหาตัวแมลงกิน”

…………………

จากการพูดคุย คุณสุธี ดูจะเห็นแนวโน้มในทางที่ดี และมีเป้าหมายชัดเจนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้น เขาเล่าว่า สมัยก่อน ถ้าเกษตรกรไม่ใช้ยาเคมี แม่ค้าจะไม่ซื้อผลผลิต เพราะมันไม่สวย ยิ่งผู้บริโภคยิ่งไม่ยอมซื้อเลยทีเดียว แล้วเกษตรกรจะทำอย่างไร ในเมื่อคนกินยังไม่เข้าใจ

“มันก็ต้องสร้างการรับรู้ให้ได้นะครับ” คุณสุธี ยืนยัน “ต้องสื่อสารข้อมูลซ้ำๆ ออกไปบ่อยๆ ว่า ผลไม้ในตลาดมันไม่ได้เพอร์เฟคนะ ถ้าเราสื่อสารกันระหว่างผู้ผลิต – ผู้บริโภคได้มากขึ้น คนกินจะเริ่มเข้าใจ และยอมรับได้ว่าสภาพมันไม่ต้องสวยมากก็กินได้ หรืออาจเริ่มยอมกิน ถ้ารู้ว่าเราใช้แค่ปุ๋ย แต่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แบบนี้ต่อไปการใช้สารเคมีมันจะค่อยๆ ลดลง โดยที่เกษตรกรก็มีทางออก ขายผลผลิตอินทรีย์ได้มากขึ้น เพราะมันไม่มีหรอกที่เกษตรกรรายไหนไปพ่นยามา แล้วบอกว่า ‘ฉันมีความสุขจังเลย ฉัน happy มาก’ ไม่มีหรอกครับ เพียงแต่เราต้องรู้ว่าถ้าเราจะเลิกใช้สารเคมีให้ได้ มันจะได้ด้วยเหตุอะไร มันมีที่ขายของไหม ตลาดเรารองรับแค่ไหน คนซื้อที่พร้อมจะเข้าใจมีมากพอหรือยัง หรือเรามีเวลาปรับตัวแค่ไหน กว่าที่คนจะยอมรับผลผลิตหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ได้ ถ้าเราไม่มีต้นทุนอื่นมารองรับ ‘เวลาที่หายไป’ ในช่วงปรับตัว หรือยังมีหนี้สินอยู่ เราจะทำได้ในพื้นที่แค่ไหนกัน ก็ต้องรู้เขารู้เรา และมีความรู้ที่เหมาะสมครับ”

คุณสุธี ย้ำว่า เกษตรอินทรีย์ต้องอาศัยระบบนิเวศ เชื่อมั่นในพลังธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันของสายลม แสงแดด ต้นไม้ทั้งสูงและต่ำ ต้นหญ้าทั้งที่มีดอกและไม่มีดอก “แต่กว่าจะไปถึงการทำเกษตรอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องผ่านการสังเกต ทดลอง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ประเมินผล ทุกวันนี้ผมก็ทำตัวเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งในแปลง คอยเดินดูว่าเพื่อนๆ เราเขากำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง ถ้าใครอยากจะทำ ผมคิดว่าต้องเริ่มที่การทดลอง ด้วยความเคารพทุกอย่างในธรรมชาติครับ”

ผมคิดว่า อย่างน้อยเราก็คงเห็นประเด็นหนึ่งที่ชัดเจน จากคำพูดของ คุณสุธี ปรีชาวุฒิ คือนอกจากปฏิบัติการของเกษตรกรอินทรีย์แล้ว ความสำเร็จของเรื่องนี้อยู่ที่ผู้บริโภค คือเราๆ ท่านๆ ที่จะเข้าใจ และสนับสนุนผลผลิตในทัศนะใหม่อย่างได้สมดุลกันเพียงใด ค่อนข้างมากทีเดียวแหละครับ   สนใจติดตามเรื่องราวข่าวคราวสวนทุเรียนอินทรีย์เขาคิชฌกูฎ ได้จากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/suteeorganicfarm/นะครับ ผมเองเคยไปสวนของคุณสุธีเมื่อหลายปีที่แล้ว ภาพประกอบในครั้งนี้ จึงขอใช้ภาพปัจจุบันจากแหล่งนี้ครับ