ฝรั่งรัษฎา รสชาติโดดเด่น – ดังไกล 1 ไร่ 1 แสน

ฝรั่งรัษฎา หวาน กรอบ สดจากสวน

เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534 คุณเปรม เอี่ยมอักษร ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เป็นผู้ริเริ่มนำฝรั่งเข้ามาปลูกในพื้นที่เป็นครั้งแรก เป็นพันธุ์กลมสาลี่ และแป้นสีทอง เมื่อปลูกได้สักระยะพบว่า พันธุ์แป้นสีทองเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงกว่า รสชาติหวาน และมีความกรอบเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า ในเวลาต่อมาก็ได้มีเกษตรกรให้ความสนใจมากขึ้น จนขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นในบริเวณใกล้เคียงจนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 ผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ฝรั่งราคาสูงขึ้น จนเกษตรกรรายอื่นๆ ในพื้นที่จึงหันมาปลูกฝรั่งเป็นอาชีพเสริม

ลุงเปรม เอี่ยมอักษร เกษตรกรผู้บุกเบิกปลูกฝรั่งคนแรกในอำเภอรัษฎา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 จากอาชีพเสริมก็กลายเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรในบางราย และได้มีการนำฝรั่งพันธุ์กิมจู เข้ามาปลูกเพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าซึ่งเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดี แต่ฝรั่งพันธุ์แป้นสีทองก็ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่า

ต่อมา สำนักงานเกษตรอำเภอรัษฎา ได้เข้ามาแนะนำและส่งเสริมการผลิตพืช GAP แปลงใหญ่ และได้จัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ฝรั่งรัษฎาขึ้นในปี พ.ศ. 2560 จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ฝรั่งรัษฎา และจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดแปลงใหญ่ฝรั่งรัษฎา เพื่อเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดในปัจจุบัน

ฝรั่งรัษฎา รสชาติโดดเด่น – ดังไกล 1 ไร่ 1 แสนสามารถทำได้จริง

วิธีการปลูกฝรั่ง

ใช้กิ่งพันธุ์จากการตอนกิ่งเพื่อปลูกใหม่ ระยะในการปลูก ระหว่างแถวและระหว่างต้น 3×5 เมตร และ 4×4 เมตร แล้วแต่สภาพพื้นที่ จำนวนต้นจะอยู่ที่ประมาณ 100 ต้น ต่อไร่

เตรียมหลุมปลูก

หลังจากเตรียมแปลงเสร็จแล้วจะใช้วิธีการขุดหลุมปลูกใหม่ ความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร รองหลุมด้วยปุ๋ยคอกที่สามารถหาได้ในพื้นที่ เช่น มูลวัว ไก่ แพะ ค้างคาว หมู รองหลุมไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วหลังจากนั้นถึงจะนำต้นพันธุ์มาปลูก

ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เดินสายออกบู๊ธตามงานต่างๆ

วิธีการดูแลรักษา

ในช่วงที่ปลูกใหม่ต้องดูแลและให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ปลูกได้ประมาณ 1 เดือน จะใส่ปุ๋ยครั้งแรก โดยใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ตามด้วยฉีดยาไล่แมลงทันที การใส่ปุ๋ยต่อครั้งจะเว้นห่างกัน 45-60 วัน ต่อครั้ง ในปีแรกจะเน้นไปที่การบำรุงรักษาเต็มที่จะยังไม่เน้นผลผลิต แต่เมื่อเริ่มเข้าปีที่ 2 จะเริ่มเปลี่ยนการใช้ปุ๋ยเป็นสูตร 15-15-15 จะเริ่มใส่ปุ๋ยในช่วงติดดอก และใส่ทุกๆ 45-60 วัน จนถึงช่วงห่อผลจะเปลี่ยนปุ๋ยอีกครั้งเป็นปุ๋ยสูตร 13-13-21 จนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ระยะเวลาจากเริ่มติดดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 180 วัน

กำจัดวัชพืช

ควรทำอย่างสม่ำเสมอ จะใช้วิธีการตัดหญ้า 3 เดือน ต่อครั้ง ในกรณีวัชพืชโตเร็วอาจจะปรับเปลี่ยนรอบให้เร็วขึ้นเป็น 2 เดือน ต่อครั้ง โดยไม่เน้นการใช้สารเคมี

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ให้กำลังใจกลุ่มแปลงใหญ่ฝรั่งรัษฎา

ตัดแต่งกิ่ง

จะทำทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว การตัดแต่งกิ่งจะช่วยให้ฝรั่งเกิดกิ่งอ่อน และมีช่อดอกออกมาด้วยทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ได้สัดส่วน อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง สะดวกในการเก็บ โดยทั่วไปต้นที่สมบูรณ์จะตัดกิ่งก้านออก 25-30% สำหรับต้นที่ไม่แข็งแรงให้ตัดกิ่งก้านออก ประมาณ 20% นอกจากการตัดแต่งกิ่งแล้วการทำให้ใบร่วงจะทำให้ระยะการเก็บเกี่ยวสั้นลง และการปลิดผลทิ้งให้เหลือประมาณ 2-6 ผล ต่อกิ่ง

การบังคับให้ฝรั่งออกดอก

ใช้วิธีการตัดแต่งกิ่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าตาดอกจะเกิดจากกิ่งอ่อน ดังนั้น การตัดแต่งจะทำให้เกิดการแตกกิ่งอ่อนและช่อดอกได้กิ่งที่จะตัดแต่ง คือ กิ่งที่อ่อนแอ กิ่งที่เป็นโรคและกิ่งที่ไม่ได้รับแสง

ฝรั่งรัษฎา หวาน กรอบ สดจากสวน

ห่อผล

ในช่วงแรกยังใช้กระดาษที่มีหมึกอยู่ ซึ่งบางครั้งไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่หลังจากที่หน่วยงานได้เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้ ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุห่อผลที่เป็นกระดาษขาว (กระดาษไร้หมึก) เป็นการยกระดับคุณภาพผลผลิต และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

แมลงศัตรูฝรั่ง

  1. แมลงวันทอง การทำลายเกิดจากแมลงวันทองวางไข่ที่ใต้ผิวฝรั่งสุก (หรือระยะที่ผิวอ่อน) ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่จะเจริญกินเนื้อฝรั่งเป็นอาหารทำให้ฝรั่งอ่อนนิ่มและเละ ในที่สุดการป้องกันห่อผลในขณะที่ผิวยังแข็ง มีสีเขียว ขนาดเล็ก การห่ออาจห่อด้วยถุงพลาสติกชั้นเดียว หรือ 2 ชั้น และใช้กับดักกาวเหนียวตั้งไว้บริเวณรอบๆ แปลง ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีและเป็นที่พอใจของเกษตรกร
  2. เพลี้ยแป้ง จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบอ่อน กิ่งอ่อน และช่อดอกทำให้แห้งเฉา หรือใบผิดรูปร่าง และผลผลิตลดลง การป้องกัน จะใช้น้ำส้มควันไม้ในการป้องกันกำจัด โดยใช้ทุกๆ 7 วัน

สิ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจคือ การบำรุงรักษาที่เหมือนกัน แต่เมื่อปลูกต่างพื้นที่ (อำเภอใกล้เคียง) ผลผลิตที่ออกมาในเรื่องของรสชาติจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน และผลผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 บาท ต่อกิโลกรัม ดังนั้น ฝรั่งรัษฎา รสชาติโดดเด่น – ดังไกล 1 ไร่ 1 แสน สามารถทำได้จริง

ถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง โทร. 075-260-486