ไร่นาสวนผสม ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของป้าสาวและลุงเนียร นครสวรรค์

มหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงเมื่อปลายปี 2554 ที่มีมวลน้ำก้อนมหึมา ถาถมเข้าใส่พื้นที่หลายจังหวัด นับตั้งแต่ตอนบนของประเทศเรื่อยมาจนถึงกรุงเทพมหานคร ในครั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นใครที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน

ป้าสาวและลุงเนียร

ซึ่งไม่ต่างจากความเดือดร้อนของคู่สามีภรรยาคือ ป้าสาวและลุงเนียร ในยามบั้นปลายของชีวิตที่บอกว่าไม่เคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมร้ายแรงเช่นนี้มาก่อน กระทั่งทำให้พื้นที่ทั้งหมดของตำบลบางม่วง จังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่อีกหลายแห่งต้องจมอยู่กับความสูงของระดับน้ำ 4 เมตร เป็นเวลานานถึง 2 เดือน 

ซาบซึ้งในโครงการหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ลาออกจากงาน เดินหน้าตามโครงการ

ผู้เขียนได้เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบางม่วง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อไปพบกับ ป้าสาว หรือ คุณมันทนา กลิ่นนิ่มนวล และ ลุงเนียร หรือ คุณจำเนียร กลิ่นนิ่มนวล คู่ชีวิตที่เพิ่งผ่านการต่อสู้กับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมมาไม่นาน เพราะทราบมาว่าท่านทั้งสองใช้ชีวิตคู่ด้วยการทำไร่นาสวนผสม ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ป้าสาว ในวัย 70 ปีเศษ เดิมเคยทำงานที่ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ฝ่ายการเงิน แต่เมื่อซาบซึ้งในโครงการหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง คุณป้าจึงตัดสินใจลาออกก่อนวัยเกษียณ 1 ปี เพราะสนใจในโครงการของพระองค์ท่าน แล้วพร้อมน้อมนำมาปฏิบัติในฐานะคนไทย บนผืนดินที่เธอได้รับมรดกแล้วมาปรับเข้ากับแนวทางดังกล่าว จนกระทั่งเกิดเป็นไร่นาสวนผสม เมื่อปี 2546 ส่วนลุงเนียร ในวัยเกือบ 80 ปี ก็เคยทำงานเป็นพนักงานอยู่สายการบินบริติส แอร์เวย์ ได้มีความรู้สึกเดียวกันจึงลาออกมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับภรรยาทันที

มุ่งพัฒนาดิน จนได้เป็นหมอดินอาสา

ความที่เป็นคนตั้งมั่นในอันที่จะนำแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาทำให้สำเร็จตามความต้องการ เธอจึงขวนขวายศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ หนังสือเอกสาร หรือแม้แต่การเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ทางราชการจัดขึ้น เสาะแสวงหาประสบการณ์จริงด้วยการเรียนรู้จากสถานที่หลายแห่ง จากนั้นจึงใช้ผืนดินจำนวน 8 ไร่สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตร มีกิจกรรมหลายชนิด ทั้งเลี้ยงไก่ ปลา เป็ด ห่าน เพาะเห็ด ทำนาอินทรีย์ และปลูกพืชหลายชนิด มีการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ

แหนแดงที่ใส่ในนาข้าว

ด้วยผลแห่งความสำเร็จ ป้าสาวจึงได้รับหน้าที่เป็นหมอดินอาสา จากนั้นได้ออกชักชวนเพื่อนบ้านแต่ละชุมชนร่วมกันทำงานเป็นหมอดินอาสาเพื่อช่วยกันพัฒนาดินให้มีคุณภาพ ในไม่นานเธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านพ่วงอีกตำแหน่ง

ป้าสาวและลุงเนียร ชี้ให้ดูพื้นที่ด้านหน้าส่วนหนึ่งได้ปลูกกล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชร ปลูกไว้ 3 แปลง จำนวน 200 ต้น และกล้วยไข่ที่ปลูกได้ผลผลิตดีมาก ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ส่งขายไม่ทัน เธอบอกว่างานอดิเรกคือปลูกกล้วยไข่ งานหลักคือทำนา เหตุผลที่ปลูกกล้วยไข่เพราะภายหลังน้ำท่วมใหญ่ไม่กล้าทำอะไรที่ต้องลงทุนมาก ยังหวาดกลัวอยู่ เลยหาอะไรก็ได้ที่ลงทุนต่ำทำก่อน เพราะยังไม่แน่ใจว่าอนาคตแนวโน้มว่าน้ำจะเป็นอย่างไร

ปลูกนาแนวอินทรีย์

ช่วยรักษาหน้าดิน ปกป้องมลภาวะแวดล้อม

จากนั้นได้เดินไปชมแปลงนาสาธิตที่คุณป้าบอกว่าเป็นการทำนาแบบอินทรีย์ ด้วยการใส่แหนแดงลงในแปลงนา ใช้ปุ๋ยน้ำหมักจากหัวปลาและหอย รวมไปถึงหน่อกล้วย นำมาหมักเป็นฮอร์โมนส่งไปตามท่อที่ปล่อยน้ำเข้าท้องนา ทำให้รูปร่างและสีของต้นข้าวมีความสวยงามสมบูรณ์ ลุงเนียร เผยว่า รายอื่นที่ใช้วิธีปลูกแบบเดิมจะได้ผลผลิต 70-80 ถังต่อไร่ แต่ของลุงเนียรได้ร่วม 100 ถังต่อไร่ และทำมาแล้วหลายรุ่น

ป้าสาว เผยว่า ความตั้งใจคือการทดลองทำนาด้วยวิธีทางธรรมชาติ ในพื้นที่จำนวน 4 ไร่ 2 งาน ปลูกข้าวเจ้าพันธุ์ 111 ของซีพี โดยวิธีหยอดเมล็ดและไม่ต้องการเผาตอซัง เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบกับดินอย่างมาก จะทำให้ดินเสื่อมลงเรื่อยๆ พยายามทำทุกอย่างเพื่อเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นถึงประโยชน์ สอดคล้องกับความเห็นของลุงเนียรที่บอกว่า ต้องไม่ใช้สารเคมี ดังนั้น จึงต้องทำทุกวิถีทางในการหลีกเลี่ยง แล้วหันมาใช้เป็นอินทรีย์แทน และเผยว่าที่ผ่านมาชาวบ้านยังให้ความสนใจน้อยมาก โดยเฉพาะการเผาตอซังที่ยังคงทำกันอยู่

อุปกรณ์ใช้หยอดเมล็ดข้าว

ป้าสาวตั้งข้อสังเกตที่ชาวนาสนใจเรื่องนี้กันน้อยด้วยเหตุผลคือ ชาวนาไม่มีนาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าและการเก็บค่าเช่านับเป็นครั้ง ซึ่งเมื่อเจ้าของผืนนาต้องการเงินมากก็จะเร่งให้ชาวนาทำ อีกเหตุผลคือความเคยชินในการเผาตอซัง

ปลูกข้าวด้วยวิธีหยอดเมล็ดในอุปกรณ์

สร้างคุณภาพข้าว เพิ่มปริมาณ ลดต้นทุน

ช่องใส่เมล็ดข้าว

ส่วนการปลูกข้าวทั้งลุงเนียรและป้าสาวทำกันเองสองคน โดยหันมาใช้วิธีการหยอดเมล็ดข้าวด้วยอุปกรณ์เครื่องมือแทนการหว่าน ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ ลุงเนียร เผยว่า คุณเลียน อ่อนสุระทุม สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านดงสวรรค์ ตำบลไฮ่หย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ได้แนวคิดจากเครื่องโรยแถวเมล็ดพันธุ์ข้าวแห้ง ได้ริเริ่มประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับโรยเมล็ดข้าวงอกราคาประหยัด

ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมของภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการสนับสนุนของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร ด้วยแนวคิดไม่ก่อมลพิษ ช่วยลดต้นทุนการปลูกข้าว และใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวน้อยลง อีกทั้งเป็นการทดแทนแรงงานปักดำที่มีค่าแรงสูงขึ้น

ปุ๋ยชีวภาพใส่ในนาข้าว บางส่วนรดต้นไม้

ลุงเนียรอธิบายวิธีใช้งานอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวในนาที่ต้องใช้แรงคนว่า ให้ใส่เมล็ดข้าวลงในช่อง ไม่ต้องใส่ให้เต็ม แค่เพียงสัก 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในช่อง จากนั้นให้เดินลากไปตามทางในนา เมล็ดข้าวจะไหลลงตามรูที่เจาะไว้รอบอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ และจะไหลลงตามรูต่อเมื่อมีการหมุนของล้อเท่านั้น

ลุงเนียร บอกว่า วิธีนี้ดีกว่าการหว่านหรือการโยน เพราะจะได้ข้าวที่เป็นแถว แนวอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญประหยัดได้มากกว่า เพราะเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดข้าวเพียง 8 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นการหว่านจะต้องใช้ถึง 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ อุปกรณ์เครื่องมือชนิดนี้สั่งซื้อมาในราคา 1,600 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง)

ปลูกข้าวให้ห่าง

ช่วยเติมแสง อากาศ

ลดโรค สร้างคุณภาพข้าว

เตาเผาถ่านแบบ 2 ช่อง

นอกจากใช้เมล็ดข้าวจำนวนน้อยกว่า ซึ่งถือเป็นการช่วยลดต้นทุนแล้วยังทำให้ได้น้ำหนักมากกว่าด้วย และการปลูกด้วยการหยอดนี้จะช่วยทำให้มีทางเดิน จำนวนข้าวในนาไม่หนาแน่นเกินไปอันนำไปสู่แหล่งสะสมของแมลงศัตรูพืช ป้าสาว บอกว่า ต้นข้าวจะมีระยะห่างที่เท่ากัน ไม่แน่น แสงและอากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก ทำให้กระบวนการในการเจริญเติบโตของพืชมีความสมบูรณ์

“ผลผลิตข้าวที่ได้นำไปขายให้กับโรงสี ล่าสุดได้ผลผลิตมากกว่าไร่อื่น เหตุที่ได้มากกว่าเป็นเพราะไม่มีแมลงมารบกวน ดินสมบูรณ์เพราะไม่ได้เผาตอซัง หรือการนำน้ำหมักชีวภาพมาใส่ในต้นข้าวล้วนแต่มีความสัมพันธ์กัน หรือแม้กระทั่งแหนแดงภายหลังที่ไถแล้วแหนพวกนี้จะจมลงในดิน ถือเป็นการเพิ่มอาหารในดิน”

ลุงเนียร เสริมต่อว่า ตรงไหนที่มีแหนแดงจะสังเกตได้ว่าต้นข้าวมีสีเขียวสด แล้วบอกว่าก่อนน้ำท่วมเคยปลูกปอเทืองไว้รอบคันนาที่แปลงสาธิตแล้วจะไม่มีแมลงมาเกาะที่ต้นข้าวเลย เพราะเวลาแมลงบินมาจะเกาะที่ต้นปอเทืองก่อน ถือว่าเป็นปราการกั้นไม่ให้แมลงมารบกวนต้นข้าว

หมอดินอาสาบอกว่า สิ่งต่างๆ ที่ทำกันภายในสวนหรือในไร่ สามารถนำมาใช้บริโภคได้ทั้งสิ้น หากวันใดมีมากและเกินความต้องการจะแจกจ่ายเพื่อนบ้านหรือบางชนิดสามารถถนอมไว้เพื่อใช้บริโภคในคราวหน้า และยังบอกต่อว่าจะต้องทำความตั้งใจให้เป็นจริงด้วยการพึ่งพาตัวเอง

ปลูกหญ้าแฝก ช่วยสร้างคุณภาพดิน

หญ้าแฝก ปลูกล้อมต้นมะม่วง ช่วยซับความชื้น ไม่ต้องรดน้ำบ่อย

หญ้าแฝก ถือเป็นพืชที่ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ป้าสาว เผยว่า ประโยชน์ของหญ้าแฝกมีมากมายต่อพืชชนิดอื่นตามแนวทางพระราชดำริของในหลวง เพราะกว่า 40 ปีที่ผ่านมาไม่รู้จักว่าพืชชนิดนี้มีคุณค่ามาก จนกระทั่งมาศึกษาความมหัศจรรย์ของพืชชนิดนี้ถึงได้รู้ว่าเหตุใดในหลวงของเราทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในประเทศไทย

“ได้ทดลองปลูกหญ้าแฝกแล้วดึงออก จากนั้นนำพืชชนิดอื่นมาปลูกแทนตำแหน่งหญ้าแฝก เพื่อพิสูจน์และเปรียบเทียบว่าพื้นที่ทั่วไปกับบริเวณที่เคยปลูกหญ้าแฝกนั้นจุดใดทำให้พืชเจริญงอกงามดีกว่ากัน ถ้าได้ผลลัพธ์ที่แท้จริงเมื่อไรจะนำไปเผยแพร่ความรู้นี้แก่ชาวบ้านต่อไป”

นอกจากนั้น ป้าสาวและลุงเนียรยังปลูกหญ้าแฝกไว้ตามริมบ่อหรือปลูกล้อมต้นไม้ หรือหากชาวบ้านสนใจแนวคิดนี้ต้องการจะทำบ้าง ป้าสาวก็มีต้นกล้าหญ้าแฝกไว้แจกจ่ายด้วย อีกทั้งทางกรมพัฒนาที่ดินยังได้สนับสนุนต้นกล้าหญ้าแฝกเพื่อนำมาทดลองปลูกเป็นโครงการนำร่อง เหตุผลของการปลูกหญ้าแฝกเพราะส่วนหนึ่งมาจากการทำหน้าที่หมอดินอาสา ต้องรับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพดินเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน

เศษวัสดุเหลือใช้นำมาเผาถ่าน

เศษหญ้าหมักทำปุ๋ย

ด้านการใช้พลังงาน ลุงเนียร บอกว่า มีเพียงพลังงานแสงสว่างที่ต้องซื้อหาเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากพลังงานความร้อนได้จากการใช้เชื้อเพลิงด้วยการเผาถ่านแทนการใช้แก๊สหุงต้มทำเป็นเตาคู่ ลุงเนียร อธิบายว่า วัสดุที่นำมาเผาจะเป็นวัสดุจากการเหลือใช้ต่างๆ เช่น กะลามะพร้าว หรือเศษไม้ที่ไม่ใช้แล้ว เผาได้ครั้งละ 2 เตา

ประโยชน์จากฟืนนี้นำไปเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้า ส่วนเศษหญ้าที่เป็นวัชพืชตามผิวดินหลายแห่ง จะไม่ใช้สารเคมีราดเพื่อทำลาย แต่จะถางมารวมกันแล้วนำไปหมักเป็นปุ๋ยให้ย่อยสลาย

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ.2564