เกษตรกรแม่ใจ ตามหาความสุขของชีวิต เป็นเจ้านายตัวเอง เปลี่ยนชีวิตจากโรงงานสู่โรงนา

คุณพศิน ช่วงใหญ่ มีชื่อเล่นว่า “วัฒน์” แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา แต่เป็นคนจังหวัดชัยนาท เขาได้แต่งงานกับ คุณณพัฐอร พักตร์อิงตะวัน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา แต่ไปทำงานอยู่ที่จังหวัดระยอง คุณพศินเองเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาไฟฟ้ากำลัง จากวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท ภายหลังจากเรียนจบเกือบ 20 ปีที่ทำงานเป็นช่างเทคนิค ของบริษัทชื่อดังต่างๆ ของกรุงเทพมหานครและจังหวัดระยอง

คุณพศิน ช่วงใหญ่ กับผู้เขียน
ภาพมุมสูงของบ้านไร่อิงตะวัน

เป็นการทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก แรกๆ นั้นเหมือนจะดี ทุกอย่างลงตัว สนุกกับงานและเพื่อนร่วมงาน ทำงานเสร็จก็สังสรรค์บ้าง จนกระทั่งวันหนึ่งคงถึงจุดอิ่มตัวหรือว่าอย่างไร ล้มป่วยด้วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และออกมาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านพัก ระหว่างที่พักรักษาตัว ทำให้คิดว่างานที่เราทำมันใช่ตัวตนของเราหรือไม่

หนึ่ง ต้องเครียดกับงานที่ต้องวางแผน จะต้องบริหารจัดการคนอื่น

สอง เราทำงานหาเงินเพื่อที่จะนำเงินมารักษาตัว และนำไปซื้ออาหาร แต่ในสมัยวัยเด็กมีชีวิตในชนบท เราสามารถหากินหาอยู่ด้วยตัวเราเอง เราสร้างอาหารเอง ไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น เลยทำให้เริ่มกลับมาคิดทบทวนตัวเองว่าอะไรคือแนวทางความยั่งยืนที่ทำให้เราอยู่ได้อย่างพอเพียงแบบสุขกาย สบายใจ หลังจากฉุกคิดก็เริ่มหาโอกาสเปิดดูคลิปวิดีโอเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ

ลานกลางเต็นท์และสังสรรค์

จนกระทั่งได้เจอเรื่องราวของ “อาจารย์สมศักดิ์ เครือวัลย์” ปราชญ์เกษตรแผ่นดิน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ อาจารย์ยักษ์ หรือ คุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ที่ละทิ้งตำแหน่งเลขาธิการสูงสุด ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษฯ มาเริ่มต้นชีวิตทางการเกษตรจากระดับศูนย์ โดยอาศัยแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นตัวอย่างพิสูจน์และสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรได้เห็นว่าการทำกสิกรรมธรรมชาตินี้สามารถอยู่อย่างมั่งคั่งบนแนวทางที่พอเพียงได้จริงๆ ขนาดอาจารย์ยักษ์ยังละทิ้งตำแหน่งเลขาธิการสูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษฯ แล้วมาใช้ชีวิตเรียบง่ายตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเพราะอะไรกันนะ ก็เกิดความสงสัย เริ่มน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ

ห้องอาบน้ำสไตล์ลมโชย

ต่อเลยมาได้ศึกษาประวัติผู้ประสบความสำเร็จอย่างอาจารย์สมศักดิ์ เครือวัลย์ ประวัติของท่านก่อนหน้านั้นท่านทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่พึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก และกู้เงินจากธนาคารมาลงทุน แต่ประสบกับภาวะขาดทุนจากสภาพพื้นที่เกษตรกรรมไม่เหมาะสมและมีปัญหาโรคพืชจากการผลิตแบบเดิมๆ อีกทั้งยังมีต้นทุนสูง จึงพลิกผันมาทำการเกษตรโดยไม่พึ่งพาสารเคมี ใช้ความรู้ที่ได้จากการไปศึกษาดูงานในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาฟาร์มตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและเป็นแบบอย่างให้คนในชุมชน เป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักที่ว่า “เมื่อเราเอาตัวรอดได้แล้ว เราต้องช่วยแบ่งปันผู้อื่น การเรียนรู้เรื่องแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรียนอย่างไรก็ไม่จบ เพราะศาสตร์การเรียนรู้ของพระองค์สามารถเปลี่ยนแปลงตามพื้นที่ลงมือทำ”

สระน้ำสำหรับใช้ในฟาร์ม

เมื่อเริ่มศึกษาผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ศาสตร์ของพระราชา หลายๆ คน แล้ว ก็เริ่มมีแรงบันดาลใจ มีกำลังใจที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อ จึงปรึกษากับภรรยาและลาออกจากงานแล้วกลับมาซื้อที่นาที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ในปี พ.ศ. 2561 พร้อมกับทุนก้อนหนึ่ง ตอนนั้นที่ตัดสินใจทำแบบนี้ ทางญาติฝ่ายภรรยารวมถึงพ่อตาแม่ยายค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวคุณพศินคิดและตัดสินใจ แต่ภรรยาก็เข้าใจและเคารพในการตัดสินใจของตัวเกษตรกร

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) คุณพศินค่อนข้างโดนแรงกดดัน แรงดูถูกจากคนในชุมชนจำนวนมาก บ้างก็ว่าโง่ บ้างก็ว่าบ้า ด้วยความที่คุณพศินไม่ใช่เกษตรกรมาก่อน ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่รู้จะปรึกษาใคร ขอความช่วยเหลือจากใคร คือเรื่องการเกษตรเริ่มต้นจากศูนย์เลยก็ว่าได้ ครั้งแรกที่คิดจะปลูกข้าว

กล้วยที่ปลูกไว้
คอกปศุสัตว์

คุณพศิน เล่าให้ฟังว่า ต้องใช้เงินจ้างอย่างเดียว แล้วอาศัยเรียนรู้ สอบถาม ครูพักลักจำเก็บเกี่ยวความรู้ แต่พอลองจดบันทึกทำให้รู้ว่าถ้าเอาแต่จ้าง ต้นทุนการผลิตจะสูง ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนเริ่มหมด จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำเกษตรใหม่ เริ่มศึกษามากขึ้น สอบถามผู้รู้มากขึ้น จากสมัยก่อนครั้งทำงานบริษัททำงานกับคนหมู่มาก ใช้ลูกน้องทำบ้าง ตอนนี้ต้องทำเอง ทำคนเดียว ยอมรับว่า มีล้มบ้าง ท้อบ้างช่วงแรก 18 เดือนนั่งมองทางเข้าฟาร์ม ไม่มีคนเดินเข้ามาเลย ทะเลาะกับภรรยาที่ถูกยุยงจากญาติและเพื่อนบ้าน แต่สุดท้ายก็ลุกขึ้นสู้ต่อ พยายามเปลี่ยนแรงกดดันนั้นให้กลายเป็นแรงผลักดัน พิสูจน์ตัวเองเรื่อยมา เริ่มปรับตัวให้เข้ากับชุมชน เริ่มช่วยเหลือสังคม เริ่มแบ่งปัน

จนกระทั่งปัจจุบันความสำเร็จที่เรียกว่า “ความสุขที่ยั่งยืน” ก็เริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้คนในชุมชนให้การยอมรับมากขึ้น มีเพื่อน มีพี่ มีน้อง มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา สำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นต้น แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือนและให้การสนับสนุน และเริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดในทิศทางเดียวกันเข้ามาปรึกษาแลกเปลี่ยนกันทำให้มีเครือข่าย จนในวันนี้ วันที่เราไม่ได้บ้าแค่เพียงลำพังอีกต่อไป เราสามารถอยู่แบบพอเพียง ไม่เบียดเบียนใคร และพร้อมจะแบ่งปันได้อย่างยั่งยืนจริงๆ

มุมพักผ่อน

แนวคิดในการทำงาน ยึดหลักศาสตร์ของพ่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้พระราชดำรัสไว้ว่า “ความพอเพียง” เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวของเราว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ โดยที่เราจะต้องรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช้จ่ายตามกระแสนิยม ไม่ฟุ่มเฟือยซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือตามผู้อื่น เพราะนั่นจะทำให้เราใช้จ่ายเกินตัว สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เรามานั่งกังวลว่าจะต้องหาเงินมาใช้หนี้บัตรเครดิตเท่าไรถึงจะหมด หรือว่าจะต้องไปยืมเงินคนอื่นมาจ่ายอีก ซึ่งถือได้ว่านอกจากจะทำให้เราไม่มีความสุขแล้ว ยังเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นอีกด้วย

ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก

คุณพศินเมื่อสนใจจะทำอะไรสักอย่างจะลงมือปฏิบัติทันที ไม่ว่าเรื่องนั้นจะยากหรือง่ายเพียงใด และแต่ละเรื่องที่ลงมือทำจะทำด้วยความตั้งใจจริง ด้วยรักในอาชีพเกษตรกรรม ตัวคุณพศินเองจะมีมุมมองความคิดที่แตกต่างจากเกษตรกรท่านอื่นคือ จะเน้นทำเกษตรปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะไม่ปิดกั้นตัวเอง แต่จะเปิดใจยอมรับหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษา ทำให้ได้รับความรู้ เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ตลอดเวลา รวมถึงเทคนิควิธีการในการผลิตใหม่ๆ เป็นการช่วยพัฒนาการผลิตอีกด้วย มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพตัวเอง กล่าวคือ มีการใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในครอบครัวและชุมชนเป็นสำคัญ พื้นที่ฟาร์มของคุณพศินสามารถเป็นจุดเรียนรู้เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาดูงานในการทำเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ โดยตั้งชื่อฟาร์มว่า บ้านไร่อิงตะวัน

แนวคิดการแก้ปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากไม่มีประสบการณ์งานด้านเกษตรในระบบเกษตรมาก่อน จึงทำให้ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเองหลายครั้ง แต่สิ่งที่ได้ก็คือ ข้อมูลสำหรับการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป และสามารถกระจายความเสี่ยงได้ โดยสรุปได้ดังนี้

แปลงนา

เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช จากเมื่อก่อนที่ใส่ปุ๋ยตามหลังจากที่ปลูกพืช ปรากฏว่าพืชไม่สามารถได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ จนกระทั่งได้รับคำแนะนำให้ปรับปรุงบำรุงดินให้ดีก่อนแล้วค่อยปลูก ปรากฏว่าพืชที่ปลูกงามและแข็งแรงกว่าเดิม การปลูกพืชที่หลากหลายและหมุนเวียนจะช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดและโรคแมลง ปลูกพืชตามฤดูกาล ทำให้ดูแลง่าย ผลผลิตมีคุณภาพ วางแผนการบริหารจัดการฟาร์มให้สามารถมีผลผลิตได้ทุกวัน สามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายปี

กิจกรรมการผลิตและองค์ประกอบในฟาร์ม มีดังนี้ กิจกรรมที่ทำรายได้คือ การปลูกข้าว เพื่อบริโภคและขายเป็นเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งใช้กับร้านอาหารที่ใช้ฟาร์มเป็นที่ตั้ง

การปลูกมะพร้าวน้ำหอม เริ่มการปลูก ปี 2561 การทำประมงเลี้ยงปลา ชนิดปลาที่เลี้ยง ปลาบึก สวาย นิล ดุก ตะเพียน ยี่สก กดคัง กดเหลือง ปลาเพี้ย (ปลากา) การปลูกกล้วย สำหรับทำแนวกันชน ขายใบตองและผลกล้วย การเลี้ยงหนูพุกยักษ์ เริ่มเลี้ยงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เลี้ยงไว้สำหรับประกอบอาหาร ให้ลูกค้าที่มากินอาหารที่ร้าน ปัจจุบันก็ยังเลี้ยงอยู่ เปิดร้านอาหารตามสั่ง เป็นรายได้หลักช่วงที่รอต้นไม้โต นำเงินเหล่านี้มาบริหารสวน เช่น จ่ายค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่ากิน น้ำมันรถ น้ำมันเครื่องตัดหญ้า ค่าอาหารสัตว์ หนูพุก ไก่ ปลา ห่าน ตุ่น และค่าจ้างคนงานมาช่วยทำงานในสวนต่างๆ

กิจกรรมที่ก่อให้เกิดอาหาร ปลูกข้าวไว้กินเอง การเลี้ยงไก่ มีการสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ แยกเป็นสัดส่วน การปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ มะเขือ พริก โหระพา กระเจี๊ยบเขียว ชะอม ผักบุ้ง มะละกอ มะเขือม่วง ฯลฯ การเลี้ยงปลาในนาข้าว การแปรรูปและการถนอมอาหาร โดยการนำปลาตะเพียนมาแปรรูปเป็นปลาร้าหรือแจ่วบอง

กิจกรรมการปลูกไม้ใช้สอย เช่น ต้นสัก ประดู่ ไผ่รวก ไผ่กิมซุง ไผ่หวาน เป็นต้น การปลูกปอเทือง เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารในดินและลดต้นทุน ทำฐานการเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ ภายในป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เศษใบไม้ เศษฟาง วัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้นำมาทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในฟาร์มต่อไป

การวางแผนการปลูกพืชผักสวนครัว เน้นปลูกทุกอย่างที่กินและต้องเป็นพืชตามฤดูกาล เป็นการปลูกพืชในช่วงที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด พืชจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าอุณหภูมิของอากาศเหมาะสม การถ่ายเทอากาศ น้ำ และแสงสว่างดีก็ทำให้พืชนั้นเจริญเติบโตได้ดี โดยปราศจากโรค แมลง เป็นต้น ระบบการผลิต ยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยจะแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกข้าว 30% สระน้ำ 30% ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ 30% และปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย 10%

วิธีการผลิต การปลูกมะพร้าว แนวคิดในการปลูกมะพร้าวนั้น เพราะคิดว่าในพื้นที่ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ ไม่ค่อยมีใครปลูกมะพร้าวน้ำหอม อย่างมากก็แค่ปลูกไว้กินหรือใช้สอยในครัวเรือน ตัวเกษตรกรจึงเล็งเห็นช่องทาง โอกาสทางการตลาดในการปลูกมะพร้าว จากการสำรวจแหล่งชุมชนที่วางขายในตลาด ขายผลละ 30-35 บาท ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะมะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ ให้ผลผลิตตอบแทนต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี อีกทั้งคู่แข่งน้อย โดยจะปลูกในระบบสวนด้วยการยกร่องแปลงปลูกให้สูง ระหว่างแปลงปลูก จัดให้มีร่องน้ำ รากมะพร้าวจะแผ่ลงริมร่องสวนดูดซับน้ำ ทำให้ต้นเจริญเติบโตดีและได้ผลดก ไม่ต้องคอยรดน้ำ ต่อมาได้ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวตั้งชื่อจุดนี้ว่า อัพวา 2 มีเรือให้น้ำแบบท้องร่องแถบอัพวาให้นั่งด้วย

การปลูกข้าว ปลูกข้าวพันธุ์ กข 15 โดยใช้วิธีหว่านกล้า แล้วปลูกด้วยวิธีการดำ ซึ่งวิธีนี้ระยะห่างของต้นข้าวนั้นจะพอดีไม่เบียดกันทำให้ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งช่วยลดปริมาณแมลงศัตรูพืชลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ ในการปลูกข้าว คุณพศินได้ทดลองเลี้ยงปลาในนาข้าว ซึ่งพบว่าเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีอยู่ เพื่อผลิตอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น ตามวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ปกติ นาข้าวจะมีระดับน้ำลึก 5-25 เซนติเมตร และดินพื้นในท้องนาที่ไม่ได้ใช้สารเคมีจึงค่อนข้างปลอดภัยจากสารพิษ อีกทั้งมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ท้องนาค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอาหารอย่างดีสำหรับปลาที่ปล่อยลงไป ไม่เพียงเท่านั้น ขี้ปลาที่ขับถ่ายออกมายังกลายเป็นปุ๋ยช่วยบำรุงต้นข้าวอีกด้วย

การปลูกป่า คุณพศินใช้พื้นที่บางส่วนสำหรับปลูกป่า ได้แก่ ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้ไผ่บงหวาน ไผ่รวก และแซมด้วยผักสวนครัว เช่น ชะอม โดยหลักการ ต้องการให้ไม้ใหญ่เป็นร่มเงาให้ไม้เล็ก เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นจะคอยทับถมและย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในที่สุด มีการเพาะเห็ดแบบธรรมชาติ

การปลูกต้นกล้วย เนื่องจากต้นกล้วยมีคุณประโยชน์มากมาย ตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ ผล ปลูกง่าย เกษตรกรจึงปลูกต้นกล้วยไว้สำหรับทำแนวกันชนรอบสวนเพื่อป้องกันสารเคมีจากแปลงข้างเคียง ใช้เป็นแนวกั้นลมตามช่องลมได้ และปลูกบริเวณรอบสระน้ำ เพื่อการดูแลง่าย ซึ่งพันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง ซึ่งนอกจากประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผลพลอยได้คือ ได้ขายใบตอง ได้ขายผล ได้แบ่งปันแจกจ่ายคนในชุมชนอีกด้วย

คุณพศินมีความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็น Young Smart Farmer พะเยา ประจำปี 2564 บ้านไร่อิงตะวัน สามารถเป็นศูนย์การถ่ายทอดและเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมไปถึงเป็นสถานที่ศึกษาดูงานได้ สามารถพูดสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กำลังอยากจะกลับมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน อยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนได้เป็นอย่างดี เป็นตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง จนเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ให้คำปรึกษา และถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจในด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่

ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เคยโดนหลอกให้ปลูกกล้วยหอมทอง หมดเงินเป็นแสนแต่ขายไม่ได้ เลยแบ่งปันกล้วยหอมทองให้กับชาวบ้านที่เคยดูถูกไว้ว่าไม่มีทางทำสำเร็จ ในกิจกรรมเกษตรพอเพียง ปลาที่เหลือจากการบริโภค ก็นำไปแจกจ่าย แบ่งปันให้กับคนในชุมชน เพาะเห็ดโคนในป่าใช้สอย ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างก็เอาไปแจก ชาวบ้านก็ถามว่าเอามาจากไหนก็บอกว่าเอามาจากสวนในฟาร์ม เขาไม่เชื่อก็ตามมาดูปรากฏว่ามีจริง ทำให้ชาวบ้านเริ่มยอมรับว่าสามารถสร้างแหล่งอาหารได้เอง เมื่อทำร้านอาหารในฟาร์มเป็นอาหารตามสั่ง เมื่อก่อนก็ขายไม่ค่อยได้เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ไม่ค่อยสั่งอาหารกิน ส่วนใหญ่จะทำกินเองด้วยอาหารง่ายๆ เลยเริ่มต้นที่ส้มตำโดยไปทำส้มตำโรงทานถวายวัดบ้านแม่เย็นใต้ ประมาณ 200 จานหมดด้วยเวลารวดเร็ว จะด้วยฝีมือความอร่อยหรือเพราะเป็นของฟรีไม่ทราบได้ คุณพศินกล่าวติดตลก ต่อมาได้มีคนรู้จักให้ทำส้มตำไปขึ้นโต๊ะจีนในงานมงคลสมรสของเขา ก็ทำให้เป็นที่รู้จัก

ก่อนโควิดมีกรุ๊ปท่องเที่ยวติดต่อมาพักในฟาร์มโดยการกางเต็นท์ แต่ให้ทางคุณพศินเป็นคนทำอาหารเลี้ยง โดยใช้แนวคิดมาเที่ยวแบบมาบ้านญาติ คือมาร่วมด้วยช่วยกันทำ โดยทางฟาร์มเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ รวมทั้งวัตถุดิบซึ่งส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบภายในฟาร์ม อย่างบางเมนูเช่นส้มตำ ทางฟาร์มเพียงแค่เตรียมวัตถุดิบให้นักท่องเที่ยวจะลงมือตำเอง หลังจากมาแล้วต่างติดใจบอกว่าจะกลับมาอีก ซึ่งทางฟาร์มจะให้จองล่วงหน้าเพื่อจัดคิวให้ จนเมื่อเจอสถานการณ์โควิด ลูกค้าจำเป็นต้องยกเลิกไป ก็เหลือกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ที่รู้จักกัน ก็จองเข้ามาเพราะจะต้องจำกัดการให้บริการเพียงช่วงละ 1 โต๊ะ เนื่องจากคุณพศินจะเป็นผู้เตรียมวัสดุและเป็นกุ๊กเอง ชุดกลางวันขอจำกัดเวลาไม่เกินบ่าย 4 โมง ส่วนตอนเย็นเริ่มที่ 5 โมงครึ่ง เพื่อเก็บกวาดชุดกลางวันและเตรียมวัตถุดิบช่วงเย็น

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

คุณพศินจะเน้นให้สิ่งมีชีวิตภายในฟาร์มได้พึ่งพาอาศัยกันมากที่สุด พูดง่ายๆ คือ เกษตรกรพยายามที่จะสร้างระบบนิเวศให้แก่ธรรมชาติมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หลังการเก็บเกี่ยวข้าวเกษตรกรจะหว่านปอเทืองเพื่อปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน การแบ่งพื้นที่ปลูกป่า การปลูกป่านั้นเป็นการให้ต้นไม้ใหญ่เป็นร่มเงาให้ต้นไม้เล็ก และปล่อยให้ใบไม้หล่นมาทับถมกันเพื่อให้จุลินทรีย์ในดินช่วยย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุในดิน การปลูกมะพร้าว ในรูปแบบวิธีการปลูกมะพร้าวแบบยกร่องสูงและปล่อยน้ำให้เต็มร่องสวนนั้น นอกจากเป็นวิธีที่ช่วยให้ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตดีแล้ว ยังช่วยให้ระบบนิเวศภายในน้ำร่องสวนนั้นดีขึ้นด้วย โดยจะสังเกตเห็นกุ้งฝอยและหอยขมที่มาอาศัยอยู่บริเวณเศษหญ้าในน้ำนั่นเอง

การปลูกกล้วยและไม้ป่าเพื่อทำแนวกันชนป้องกันสารเคมีและแนวบังลม การเลี้ยงปลาในนาข้าว ในท้องนาค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีแพลงตอนพืชและแพลงตอนสัตว์ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอาหารอย่างดีสำหรับปลาที่ปล่อยลงไป ไม่เพียงเท่านั้น ขี้ปลาที่ขับถ่ายออกมายังกลายเป็นปุ๋ยช่วยบำรุงต้นข้าวอีกด้วย ทำฐานการเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ ภายในป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

คุณพศิน ทิ้งท้ายฝากถึงเกษตรกรหรือผู้ที่คิดจะทำการเกษตรว่า ให้เน้นลงมือทำ ทำเพื่อกิน อย่าพึ่งหวังรายได้ แบ่งปัน จากนั้นจึงค่อยทำขั้นต่อไป ส่วนความฝันนั้นคุณพศิน อยากจะเห็นฟาร์มหรือบ้านไร่อิงตะวัน เป็นโรงผลิตอาหาร อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านี้ให้กับชาวบ้านว่าทำได้จริงอยู่ได้จริง สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิญที่บ้านแม่เย็นใต้ (ฟาร์มบ้านไร่อิงตะวัน) หมู่ที่ 1 ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

…………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2564