“ผู้ใหญ่อ๊อฟ” เกษตรกรดีเด่นชลบุรี ปลูกอ้อยแบบประยุกต์ 15 ตัน ต่อไร่

“อ้อยโรงงาน” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชลบุรี เนื้อที่ปลูก รวม 1.4 แสนไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 10 ตัน ต่อไร่ ทั้งนี้ พบว่าอ้อยโรงงานมีแนวโน้มลดลงจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาภัยแล้ง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ การบริหารจัดการไร่อ้อยที่ขาดประสิทธิภาพ รวมทั้งพื้นที่การเกษตรที่ลดลงจากการขยายตัวของชุมชนเมือง

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี ดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย เพื่อให้เกษตรกรนำไปประยุกต์พัฒนาการเพาะปลูกอ้อย ให้มีผลผลิตและเกิดรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งรณรงค์ลดการเผาอ้อยในช่วงฤดูตัดอ้อย เพราะนอกจากสร้างมลภาวะต่อสภาพอากาศและสุขภาพร่างกายแล้ว ยังทำให้ดินเสื่อมโทรมส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรงอีกด้วย

ผู้ใหญ่อ๊อฟ พาเจ้าหน้าที่ สนง.เกษตรจังหวัดชลบุรี ชมเครื่องจักรกล

YSF ชวการ ช่องชลธาร

เกษตรกรดีเด่น ปลูกอ้อยโรงงาน

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่และยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพตนเอง ตลอดจนเป็นเกษตรกรต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาผลงานจากตัวอย่างจริงของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านการประกอบอาชีพการเกษตร เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรต่อไป

ด้านสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3 จ.ระยอง) ได้ตัดสินให้ นายชวการ ช่องชลธาร Young Smart Farmer จังหวัดชลบุรี เป็นเกษตรกรดีเด่นอาชีพทำไร่ ระดับเขต ประจำปี 2564 เนื่องจาก นายชวการ เป็นเกษตรกรที่มีวิสัยทัศน์ด้านการทำงานที่ “มุ่งพัฒนา เพิ่มเทคโนโลยี ลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ บนเนื้อที่ปลูกอ้อยโรงงาน กว่า 60 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 15 ตัน ต่อไร่ เมื่อเทียบกับผลผลิตโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 10-13 ตัน ต่อไร่เท่านั้น

ผู้ใหญ่อ๊อฟ เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการปลูกอ้อยแก่ผู้สนใจ

นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3 จ.ระยอง)  กล่าวว่า นายชวการ ได้ปรับสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยแบบร่องคู่ ทำให้สะดวกในการบริหารจัดการแปลงเพาะปลูก กำจัดวัชพืชด้วยรถไถระหว่างร่องและใส่ปุ๋ยในคราวเดียว ทำให้ลดต้นทุนการใช้สารกำจัดวัชพืช เก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดอ้อย ควบคู่เครื่องอัดใบอ้อยจึงไม่ต้องเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในรอบต่อไป

นอกจากนี้ นายชวการ ยังได้นำแผงโซล่าเซลล์มาปรับใช้ ให้น้ำในแปลงไร่อ้อยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งรับจ้างอัดใบอ้อย ตัดอ้อย ให้กับเกษตรกรที่สนใจรายอื่นๆ สร้างรายได้กว่า 800,000 บาท ต่อรอบการผลิต นับเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดการแปลงปลูก เพื่อลดปัญหาการเผาเศษซากอ้อยในช่วงเก็บผลผลิตช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน นายชวการ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 12 ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี และเป็นคณะกรรมการ Young smart farmer ระดับจังหวัด พร้อมเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงแก่เกษตรกรและผู้สนใจอีกด้วย

ใช้แทรกเตอร์พ่วงต่อโรตารี่ไถพรวนดินกำจัดวัชพืชในแปลง

ผู้ใหญ่อ๊อฟ ไร่ชวการ

เกษตรกรนักประดิษฐ์

นายชวการ ช่องชลธาร หรือที่หลายคนรู้จักดีในชื่อ ผู้ใหญ่อ๊อฟ โทรศัพท์ 092-542-6197 เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ทำงานบริษัทเอกชนสักระยะหนึ่ง เขาคิดว่า จะช้าหรือเร็ว อย่างไรก็ต้องกลับมาช่วยครอบครัวทำอาชีพเกษตร จึงตัดสินใจลาจากงาน เพื่อกลับมาช่วยครอบครัวดูแลกิจการ “ไร่ชวการ” ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน

ผู้ใหญ่อ๊อฟ ดำเนินอาชีพเกษตรโดยยึดหลักการทำงาน 4 M คือ Man, Machine, Money และ Management เน้นบริหารจัดการโดยมุ่งลดจำนวนแรงงาน นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรมาประยุกต์ใช้ทดแทนแรงงานคน พร้อมดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องจักร เช่น เครื่องโรยขี้ไก่ เครื่องอัดใบอ้อย เครื่องตัดอ้อย รถไถ และเครื่องใส่ปุ๋ยเคมี ทั้งวางแผนการผลิตให้ตรงกับสภาพอากาศและความต้องการของตลาด

ผู้ใหญ่อ๊อฟ โชว์แปลงผลิตปุ๋ยหมักที่อยู่ด้านหลัง
รถแทรกเตอร์พ่วงต่อเครื่องโรยปุ่ย

การปลูกดูแลไร่อ้อย

ผู้ใหญ่อ๊อฟ บริหารไร่อ้อยด้วยแนวความคิดของเกษตรกรรุ่นใหม่บวกกับความรู้ความสามารถ รวมทั้งความมุ่งมั่นในการฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ผู้ใหญ่อ๊อฟ ใช้หลักแนวคิดวิเคราะห์ในการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาแทนการใช้แรงงาน จึงลดต้นทุนและให้ได้ผลผลิต เฉลี่ยถึง 15 ตัน ต่อไร่ เรียกได้ว่าเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการปลูกอ้อยในจังหวัดชลบุรีโดยตรง ตัวจริงเสียงจริง

ก่อนเริ่มฤดูการผลิต ผู้ใหญ่อ๊อฟต้องตรวจสอบสภาพภูมิอากาศก่อนว่า ปีนี้จะมีปริมาณฝนมากน้อยอย่างไร หากดินมีปริมาณความชื้นเพียงพอ ก็เริ่มเตรียมดิน โดยไถพรวนดินด้วยผาลเจ็ด และโรยปุ๋ยในแปลงอ้อย ตามด้วยไถกลบ ใช้เครื่องปลูกอ้อยร่องคู่เพื่อให้ดูแลจัดการวัชพืชได้ง่าย  หลังจากนั้นฉีดยาคุมวัชพืช รอฝนตก กำจัดวัชพืชด้วยรถไถ ระหว่างร่องพร้อมใส่ปุ๋ย เช็กว่ามีวัชพืชหรือเปล่า หากมีก็ฉีดยาคุมวัชพืช ผ่านไปอีกประมาณ 4 เดือน ก็ไถออกอีกทีครั้ง เมื่อต้นอ้อยเติบโตก็ไม่ต้องฉีดยา ผ่านไป 7-8 เดือน ก็ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผู้ใหญ่อ๊อฟ ใช้รถเข้าเก็บเกี่ยวและส่งผลผลิตเข้าโรงงานทันที แต่ละวันตัดอ้อยเข้าโรงงาน 100 ตัน

ตรวจเช็กสภาพอุปกรณ์ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืช
ผู้ใหญ่อ๊อฟ กำจัดวัชพืชด้วยรถไถระหว่างร่อง

ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่อ๊อฟเป็นแกนนำรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในท้องถิ่น ร่วมกันแบ่งปันความรู้เรื่องการปลูกดูแลอ้อยให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพตามความต้องการของโรงงานแล้ว ยังรวมกันซื้อปุ๋ยสั่งตัด ทำให้ปุ๋ยคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เนื่องจากเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองกับโรงงาน โดยยินยอมให้กลุ่มเกษตรกรเอาปุ๋ยไปใช้ก่อน ค่อยหักเงินหลังขายผลผลิตได้โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับกลุ่มเกษตรกร

ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่อ๊อฟยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับกลุ่มเกษตรกร ส่งเสริมการตัดอ้อยสดส่งโรงงาน หยุดเผาอ้อยในพื้นที่เกษตร โดยใช้เทคโนโลยีรถตัดอ้อยควบคู่กับเครื่องอัดใบอ้อย โดยนำไปใช้ทำปุ๋ยหมัก เพิ่มอินทรียวัตถุดิบในพื้นที่การเพาะปลูกแล้ว นอกจากนี้ ผู้ใหญ่อ๊อฟยังลดความเสี่ยง โดยหันมาปลูกอ้อยคั้นน้ำเพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำอ้อยพร้อมดื่มจำหน่ายในท้องตลาด สร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

ใช้เครื่องอัดใบอ้อย หรือฟางข้าวโดยไม่ต้องเผา
รถแทรกเตอร์เก็บเกี่ยวอ้อยสด ก่อนส่งขึ้นรถบรรทุก

“อาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง อาชีพเกษตร เป็นผู้ผลิตอาหาร ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ อ้อยที่ผมปลูก แปรรูปเป็นน้ำตาล ทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้หลากหลายชนิด ผมมีความสุขและภาคภูมิใจมากที่ได้ทำอาชีพเกษตร เป็นผู้ผลิตแหล่งอาหารสำหรับทุกคนครับ” ผู้ใหญ่อ๊อฟ กล่าวในที่สุด