เกษตรกรอำนาจเจริญ เนรมิตพื้นที่ 2 ไร่ เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตบ้านทุ่ง ปลูกผัก-เลี้ยงกบ-เลี้ยงปลา สร้างรายได้วันละพัน

ในเมื่อชีวิตต้องดำเนินต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะเดินหน้าไปต่ออย่างไรให้มีคุณภาพและมีความสุข ฉบับนี้ผู้เขียนจึงไม่พลาดที่จะสรรหาและหยิบยกนำเรื่องราวการทำเกษตรดีๆ มาถ่ายทอดเป็นตัวอย่างให้กับทุกท่านที่กำลังท้อแท้กับชีวิตให้กลับมาลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

คุณคำภา ไชยมาตย์ เกษตรกรตัวอย่างยุคโควิด-19

คุณคำภา ไชยมาตย์ อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 2 ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เกษตรกรยุคโควิด-19 และถือเป็นการใช้โอกาสในช่วงเกิดวิกฤตกลับมาทำในสิ่งที่ตนเองรัก แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ นั่นก็คือการเป็นเกษตรกร กลับมาเนรมิตที่ดินจำนวน 2 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ พร้อมเปิดเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตบ้านทุ่ง ให้คนในชุมชนได้เข้ามาเลือกซื้อวัตถุดิบไปประกอบอาหารได้อย่างปลอดภัย ราคาย่อมเยา รวมถึงมีการแบ่งปัน ลด แลก แจก แถม เพื่อช่วยพี่น้องให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันโหดร้ายนี้ไปให้ได้

คุณคำภา เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า ก่อนหน้านี้ตนเองทำงานรับเหมาตัดเย็บกระเป๋าผ้าพื้นเมืองมาก่อน แต่ด้วยเหตุการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบทำให้งานตัดเย็บที่เคยทำก็ไม่มีให้ทำ แต่เงินจำเป็นต้องใช้ทุกวัน จึงได้ลองหันกลับมามองอาชีพเกษตรที่เป็นอาชีพที่ตนเองรักและใฝ่ฝันอยากจะทำมานานแล้ว โดยนำความรู้ที่มีจากตอนที่เคยทำนามาปัดฝุ่นใหม่ ผสมผสานกับแนวคิดที่ได้เรียนรู้จากทั้งในอินเตอร์เน็ตและจากผู้เชี่ยวชาญที่แวะเวียนเข้ามาให้คำปรึกษา นำมาประยุกต์ทำเป็นสวนผสมผสาน บนความตั้งใจแรกที่อยากจะทำแค่ให้พอมีกินในครอบครัว เพื่อลดรายจ่าย เหลือจึงค่อยนำไปแจกจ่ายพี่น้องและคนใกล้ชิด แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนในละแวกใกล้เคียงเข้ามาขอซื้อผลผลิตภายในสวน หลังจากนั้นมาจึงได้ตัดสินใจขยายพื้นที่ทำเกษตรเพิ่มและเปิดจำหน่ายให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งจากวันที่เริ่มต้นทำเกษตรในวันที่ 8 มกราคม 2564 นับเป็นเวลาไม่ถึง 1 ปี ถือว่าตนเองเดินมาไกลมากจากจุดเริ่มต้น จึงอยากที่จะมาเผยแพร่แนวคิดการทำเกษตรผสมผสานทำอย่างไรให้มีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวทุกวัน

พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา
จัดสรรอย่างไร ให้ดูแลทั่วถึง

เจ้าของอธิบายถึงระบบการจัดการพื้นที่ภายในสวนให้ฟังว่า ภายในพื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 22 ตารางวา เป็นการนำความรู้ที่ได้ศึกษามาจากยูทูบและจากผู้เชี่ยวชาญที่คอยเข้ามาแวะเวียนแลกเปลี่ยนความรู้ ให้คำแนะนำ ซึ่งตนเองได้นำเอาแนวความรู้ต่างๆ ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในสวนให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนได้สวนผสมผสานแห่งนี้ขึ้นมา ด้วยการจัดสรรพื้นที่ ดังนี้

1. แน่นอนว่าการทำเกษตรแหล่งน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ตนเองจึงได้วางแผนขุดสระไว้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็นจำนวน 1 สระ โดยสระมีขนาดความกว้าง 16 เมตร ยาว 20 เมตร ลึก 3 เมตร

สระใหญ่เอาไว้กักเก็บน้ำที่ท้ายนา มีปลาหลายชนิดรวมอยู่ด้วย

2. ขุดสระใหญ่ไว้เลี้ยงปลาบ่อรวม ไว้จำนวน 1 สระ ประกอบไปด้วย ปลานิล ปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน และปลาหมอ

3. แบ่งพื้นที่ทำนาข้าวอินทรีย์ไว้จำนวน 1 งาน

นาข้าวอินทรีย์

4. ทำบ่อเลี้ยงปลาหมอแยกจากบ่อรวมไว้อีก จำนวน 2 บ่อ เพื่อให้มีปลาหมอไว้ขายตลอดทั้งปี โดยขนาดของบ่อกว้าง 10 เมตร ยาว 14 เมตร ลึก 1.60 เมตร

5. ทำบ่อเลี้ยงปลานิลแยกจากบ่อรวมไว้อีก จำนวน 1 บ่อ โดยขนาดของบ่อกว้าง 9 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 1.60 เมตร

6. ออกแบบขุดคลองไส้ไก่ในแบบฉบับของตนเอง เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น และสามารถใช้น้ำส่วนนี้มารดพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ได้ และอีกส่วนหนึ่งจะมีการจัดสรรแบ่งทำบ่อเลี้ยงปลาดุกอุยขนาดย่อม โดยขุดบ่อกว้าง 3 เมตร ยาว 30 เมตร ลึก 1.50 เมตร

7. พื้นที่สำหรับทำบ่อเลี้ยงกบ โดยที่สวนอื่นๆ จะนิยมทำเป็นบ่อปูน แล้วเลี้ยงในกระชัง แต่ที่บ่อของตนเองไม่ได้ทำแบบนั้น แต่จะใช้วิธีการเลี้ยงและการทำบ่อแบบอ้างอิงธรรมชาติ คือมีการขุดหลุมลึกประมาณ 40 เซนติเมตร ไว้ตรงกลางบ่อกบเพื่อปลูกข้าวล้อมรอบด้วยกระเบื้อง มีขนาดความกว้างของบ่อ 7 เมตร ยาว 15 เมตร ซึ่งเลี้ยงแล้วได้ผลดี ลูกค้าที่เคยมาซื้อกบจากที่นี่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากบเนื้อแน่น เอาไปทำอาหารอร่อย จนทำให้มีลูกค้าที่อยู่ห่างออกไปจากที่สวนกว่า 20 กิโลเมตร ต้องกลับมาซื้อซ้ำ

บ่อกบ ปลูกข้าวไว้ในบ่อ ล้อมรอบด้วยกระเบื้อง

8. พื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพริก แตงกวา ข่า ตะไคร้ แตงโม มะม่วง มะนาว และพืชผักชนิดอื่นๆ อีกมากมายตามฤดูกาล

ซึ่งวิธีการจัดสรรพื้นที่แบบนี้จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้กันได้เป็นทอดๆ เช่น การเลี้ยงกบในบ่อใหญ่ น้ำเสียของกบจะผันไปลงนาข้าว ในนาข้าวจะมีปลานิล ปลาหมอ ที่ปล่อยไว้ในนาข้าวอยู่แล้ว และภายในบ่อกบจะปล่อยหอยขมลงไปด้วย ทำให้ในตอนที่ให้อาหารกบ ถ้ากบกินไม่หมด หอยขมก็ได้กินต่อ

พืชผักผสมผสาน

การดูแล

หลายท่านอาจสงสัยว่าในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ครึ่ง ใช้เลี้ยงทั้งสัตว์และปลูกพืชไปพร้อมๆ กันแบบนี้ มีวิธีการดูแลจัดการให้ทั่วถึงได้อย่างไร ซึ่งบอกได้เลยว่าไม่ยากหากมีการวางแผนที่ดี อย่างตนเองที่เริ่มต้นทำช่วงแรกๆ ก็ถือว่าเป็นงานที่หนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์ต่างๆ ที่เจอในแต่วันจะช่วยทำให้เราสามารถจัดการกระบวนการคิดและวางแผนให้ทำได้ง่ายขึ้น

“ภารกิจที่ผมทำในแต่ละวัน คือตื่นเช้ามาเป็นการนำเอาอาหารมาให้ลูกอ๊อดที่เกิดใหม่ได้ 3-5 วัน ด้วยการปั้นอาหารเป็นก้อนเล็กๆ ไปวางไว้ตามจุด และต่อด้วยการให้หัวอาหารกบใหญ่ จากนั้นเดินไปรดน้ำดูแลพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ พอตกสายแดดจัดก็จะเข้าบ้านมาทำอาหารก้อนไว้ให้ปลากิน ที่ประกอบไปด้วย รำอ่อน ใบผงชูรส นำมาสับๆ แล้วผสมหัวอาหารปลาดุกลงไปนิดหน่อยเพื่อประหยัดต้นทุน ทำเสร็จก็นำเอาไปโยนให้ปลาบ่อรวมกิน จากนั้นก็ไปตัดผักบุ้งที่ขึ้นอยู่ตามคลองไส้ไก่มาบดโยนให้ปลากินพืช เช่น ปลาหมอ ปลาตะเพียน ปลานิล โดยให้อาหารวันละ 2 ครั้ง รวมๆ แล้วใน 1 วัน จะใช้อาหารเลี้ยงสัตว์ประมาณ 6 กิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นต้นทุนค่าอาหารตกวันละ 20 กว่าบาทเท่านั้นเอง โดยปลาแต่ละชนิดจะมีเวลาการเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน เช่น ปลาหมอใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 4 เดือน ปลานิล 3-4 เดือน ปลาดุกใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 3 เดือน เนื่องจากคนในชุมชนจะไม่ชอบปลาที่ไซซ์ใหญ่เกินไป จะชอบไซซ์ 8-10 ตัวโล”

ปลาดุกอุย

สร้างรายได้ 1,000-2,000 บาทต่อวัน
เด่นที่การขาย ตามใจลูกค้า

คุณคำภา บอกว่า รายได้ในแต่ละวันที่ได้ไม่เท่ากัน บางวันมีรายได้เข้ามาเกือบ 2,000 บาท แต่หากเฉลี่ยรายได้ออกมาแล้วจะมีรายได้ตกประมาณวันละ 1,000 บาท ถือว่าพอใจกับรายได้ตรงนี้มากๆ เพราะไม่ต้องเสียเวลา เสียค่าน้ำมันรถออกไปขายข้างนอก มีคนเข้ามาซื้อถึงในสวน แต่กว่าจะเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ต้องมีจุดเริ่มต้นมาก่อน ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเปิดสวนทำเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตบ้านทุ่ง มีที่มาเกิดจากตอนที่ตนเองเริ่มทำเกษตรแรกๆ ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็จะใช้วิธีการนำเอาพืชผัก ผลไม้ รวมถึงปลาและกบ ของที่สวนใส่รถไปขายตามชุมชนใกล้เคียงก่อน และในระหว่างการขายก็จะมีการโฆษณาบอกกับลูกค้าไปด้วยว่าสวนของตนเองอยู่ที่ไหน หากวันไหนตนเองไม่มาขาย ก็สามารถเข้าไปหาซื้อที่สวนได้เลย ก็ทำแบบนี้ไปสักพักจนช่วงหลังๆ มาไม่ต้องออกไปขายเองเลย มีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาซื้อถึงในสวนตลอด เนื่องจากลูกค้าที่เข้ามาต่างติดใจในคุณภาพและได้สินค้าตามความต้องการ ด้วยกลยุทธ์การขายแบบตามใจลูกค้า ถ้าลูกค้าเข้ามาในสวนแล้วอยากได้ผักอะไร จำนวนเท่าไร จะมากจะน้อยก็สามารถเก็บให้ได้ รวมถึงหากต้องการปลาและกบนำไปประกอบอาหาร หากได้อายุพร้อมขายก็สามารถจับขายให้ได้เลย และสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะเอาตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ตามใจคนซื้อ และที่นอกเหนือไปจากนี้แล้วคือการแบ่งปันหากใครที่เข้ามาสวนแห่งนี้ก็จะได้ผักติดไม้ติดมือกับไปกินโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เพราะถือเป็นปณิธานที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่าอยากปลูกเพื่อกิน และเพื่อแบ่งปันให้คนในชุมชนได้กินด้วย ลูกค้าก็จะได้ซื้อหลักๆ เพียงปลาและกบ ที่มีต้นทุนค่าอาหาร ส่วนผักเล็กๆ น้อยๆ ที่มีก็จะแถมให้ติดไม้ติดมือกลับบ้านกันไป

ชอบแบบไหนชี้เอาเลย

แนะทำเกษตรทางรอดยุคโควิด-19 เริ่มต้นอย่างไร

“การเกษตรถือเป็นทางรอดในยามวิกฤตที่ดีมากอันแรกเลยคือช่วยลดค่าใช้จ่าย ที่ในช่วงแรกรายได้อาจจะยังไม่มากแต่คนในครอบครัวได้อิ่มท้อง ซึ่งผมก็อยากจะแนะนำสำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่สนใจอยากทำแบบผม ให้เริ่มต้นศึกษาแหล่งน้ำก่อน ถ้าแหล่งน้ำพร้อมก็เริ่มวางแผนผังในแบบของตัวเองได้เลย อย่างของผมจ้างรถแบ๊กโฮมาขุดบ่อหมดไป 3,000 กว่าบาท และหากใครสนใจอยากจะเลี้ยงปลา ผมแนะนำให้ขุดบ่อลึกไม่เกิน 1.60 เมตร เพราะถ้าขุดลึกไปกว่านี้ปลาจะไม่โต ตามคำแนะนำของคนที่มีประสบการณ์ที่จากที่ผมเลี้ยงมาได้รู้ว่าปลาเหล่านี้จะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำตื้น หรือมือใหม่ที่จะขุดบ่อไว้เลี้ยงปลาบ่อดิน หากพื้นที่เป็นดินทราย ดินร่วน ผมแนะนำให้ขุดหลุมไม่ต้องลึกแล้วปูผ้ายางรองบ่อไว้แล้วค่อยปล่อยน้ำลงไป ถึงจะเก็บกักน้ำได้อยู่ ส่วนที่ดินของผมด้านบนเป็นดินร่วนประมาณ 60 เซนติเมตร ลึกลงไปด้านล่างเป็นดินเหนียวทั้งหมด เมื่อขุดเสร็จจะใช้ปูนขาวโรยเพื่อฆ่าเชื้อทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ แล้วปล่อยน้ำลงไปครึ่งสระ ให้ดินจะดูดน้ำไปจนแห้ง จากนั้นปล่อยน้ำลงสระไปครั้งที่ 2 สระจะเก็บกักน้ำได้ดีขึ้นแต่ยังไม่มาก น้ำจะเก็บกักได้อยู่ประมาณครั้งที่ 3 แต่จะยังไม่นำปลาใหม่ไปลงเลี้ยงในสระ จะใช้ปลาที่ปล่อยเลี้ยงไว้ในนาข้าวลงไปทดลองดูปฏิกิริยาก่อน หากปลาที่ปล่อยลงไปไม่เป็นอะไรถึงค่อยนำเอาปลาใหม่ลงมาเลี้ยง แล้วปรับสมดุลน้ำด้วยการนำเอาจอก แหน และหาบัวมาปลูกเพิ่มเติม” คุณคำภา กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 096-215-7422 และ 087-720-9667     

 

       

 

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564