คนเมืองเพชร ดัดแปลงพื้นที่รอบบ้าน ปลูกผักสวนครัว-ผักสลัด มีรายได้ทุกวัน

คุณพีระพล เศรษฐพลอย หรือ พี่โจ๊ก อยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ประกอบอาชีพหลักเป็นพ่อค้าขายอุปกรณ์โทรศัพท์ ผันตัวเป็นเกษตรกรสร้างรายได้เสริมยุคโควิด ดัดแปลงพื้นที่รอบบ้าน ปลูกพืชผักสวนครัว และผักสลัดอินทรีย์ สร้างรายได้เสริมจุนเจอครอบครัว ในขณะที่อาชีพหลักต้องหยุดไป ก็ยังมีรายได้จากการขายผักเข้ามาทุกวัน จนตอนนี้ผลิตไม่ทันขาย

พี่โจ๊ก เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตร ว่า เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตนได้ลาออกจากงานประจำแล้วกลับมาอยู่ที่บ้านกับภรรยา ซึ่งในตอนที่ย้ายมาอยู่ที่บ้านกับภรรยา ก็ยังไม่ได้มีอาชีพอื่นใดมารองรับ อาศัยเพียงความเป็นนักสู้ของตนเอง เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นพ่อค้า เปิดท้ายขายอุปกรณ์โทรศัพท์ตามตลาดนัดในตัวเมืองเพชรบุรี จนกระทั่งได้มีโรคระบาดไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น ส่งผลกระทบถึงรายได้ที่หดหาย เพราะออกไปขายของไม่ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตนได้มาสวมบทเป็นเกษตรกรเพื่อความอยู่รอด โดยอาศัยความรู้ที่เรียนจบมาทางด้านพืชศาสตร์ มาประยุกต์ดัดแปลงพื้นที่รอบบ้านที่มีอยู่มาใช้เพื่อทำงานเกษตร บนแนวคิดปลูกเพื่อกิน และลดรายจ่ายในครอบครัว เหลือจึงขาย แต่เมื่อปลูกไปแล้วกลับได้ผลผลิตที่ดีเกินคาด จนได้เริ่มคิดวางแผนขยับขยายพื้นที่ปลูกเพื่อสร้างรายได้ในลำดับถัดมา

คุณพีระพล เศรษฐพลอย หรือ พี่โจ๊ก

ใช้พื้นที่รอบบ้าน 150 ตารางวา
ปลูกผัก สร้างรายได้เข้ากระเป๋าทุกวัน

เจ้าของบอกว่า บริเวณบ้านของตนมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 250 ตารางวา พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นบ้านพักอาศัย และอีกส่วนหนึ่งแบ่งไว้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว และผักสลัดอินทรีย์ เพื่อสร้างรายได้ ประมาณ 150 ตาราง เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ใช้พื้นที่น้อย หาตลาดง่าย สามารถวางแผนจัดการปลูกให้มีผลผลิตออกขายได้ทุกวัน ที่สำคัญคือมีวิธีการปลูกการดูแลที่ไม่ยุ่งยากมากนัก จะแตกต่างกันตรงที่ผักสลัดจะต้องใช้ความพิถีพิถันในการดูแลมากกว่าผักสวนครัวสักหน่อย แต่ในด้านของราคา ผักสลัดจะขายได้ราคาดีกว่าผักสวนครัว ถือว่ามีข้อดีข้อเสียไปคนละแบบ

โดยจะเลือกปลูกผักสวนครัวชนิดที่ตลาดนิยมสูง เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง และ เคล เป็นต้น และจะมีวิธีการจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับผักแต่ละชนิด เน้นใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการดัดแปลงวัสดุปลูกให้เข้ากับพื้นที่ในแต่ละโซน หากพื้นที่ส่วนไหนแคบ ก็จะใช้วิธีการทำเป็นชั้นปลูกผักแนวตั้ง รวมถึงการนำวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นกระถางปลูกผักขนาดย่อม เพื่อวางไว้ในบริเวณตรงที่มีพื้นที่แคบ และยังเหลือพื้นที่ให้พอเดินเข้าไปดูแลได้ทั่วถึง ส่วนบริเวณที่มีพื้นที่โล่งกว้างก็จะจัดการทำเป็นแปลงปลูกผักขนาดยาว โดยใช้อิฐบล็อกเป็นโครงสร้างหลักสำคัญในการทำแปลงปลูก โดยความกว้างของแต่ละแปลง  มีความกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เมตร หรือแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละพื้นที่ เพราะขนาดของแปลงไม่ได้มีผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิต

แปลงปลูกผักสลัด ทำแปลงง่ายๆ ด้วยอิฐบล็อก

วิธีการปลูก

สิ่งสำคัญที่สุดในการปลูกพืชมาเป็นอันดับแรกก็คือ ดิน ถ้าดินดีมีอาหารพืชเพียงพอ การปลูกผักให้สวย และมีคุณภาพก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ส่วนปัจจัยแวดล้อมด้านอื่นๆ เช่น วัสดุปลูก หรือรูปแบบของการปลูกไม่เป็นปัญหาในการให้ผลผลิต ยกตัวอย่างของที่สวนจะเริ่มจากการมองหาวัสดุเหลือทิ้งในบ้านมาทำเป็นกระถางทดลองปลูกก่อน แล้วหลังจากนั้นไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาต่อยอดก็จะตามมาเอง

“เมื่อก่อนตอนเริ่มปลูกผมจะทำแปลงปลูกแบบยกพื้นสูง ซึ่งวิธีนี้จะมีปัญหาตรงที่ต้องคอยกำจัดวัชพืชเป็นประจำทำให้เสียเวลา ต่อมาผมจึงได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดในการทำแปลงปลูกใหม่ จากที่เคยยกพื้นสูงเปลี่ยนมาทำเป็นแปลงเตี้ยติดพื้น โดยใช้อิฐบล็อกปูพื้นเพื่อกันไม่ให้วัชพืชขึ้นมารบกวนผักที่ปลูกได้ หรือถ้าหากพื้นที่ตรงไหนแคบก็จะทำเป็นชั้นวางกระถางแนวตั้งเพื่อที่จะได้ใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ย้ายต้นกล้าผักสลัดลงแปลงปลูก

การเตรียมดิน ผักสวนครัวและผักสลัดของที่สวนจะมีสูตรผสมดินปลูกแบบเดียวกัน ซึ่งเป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นมาเองจากประสบการณ์ที่สะสมมา โดยส่วนผสมของดินที่ใช้ปลูกมีดังนี้ 1. แกลบดิบ 2. แกลบดำ 3.   ขี้วัว และ 4. ดินร่วน นำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วหมักดินทิ้งไว้อย่างต่ำ 15 วัน แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำว่าให้หมักดินทิ้งไว้อย่างน้อย ประมาณ 1 เดือน โดยในระหว่างการหมักทุกๆ 5 วัน จะมีการเทจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงลงไปรดในกองดินหมักด้วย ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีการหมักดินก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกให้ผลดีมากขึ้น ส่งผลให้การเจริญเติบโตของพืชเป็นไปในแนวทางที่ดี และในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อกำจัดสิ่งที่ตกค้างอยู่ภายในดินที่ไม่ต้องการให้ย่อยสลายหายไป พืชได้สารอาหารที่ครบถ้วน

การปลูก นำดินที่หมักไว้มาลงแปลงปลูก จากนั้นให้นำฟางมาคลุมดินเพื่อรักษาความชื้น ซึ่งในส่วนของผักสวนครัวค่อนข้างที่จะมีความแข็งแรงมากกว่าผักสลัดอยู่แล้ว จะใช้วิธีการหว่านเมล็ด แต่ถ้าเป็นผักสลัด จะต้องมีการเพาะต้นกล้าก่อนที่จะลงแปลงปลูก เพื่อให้ต้นแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี

การดูแล ผักสลัด สำคัญคืออย่าให้ขาดน้ำ ขาดอาหาร อย่างที่สวนจะมีการรดน้ำผักวันละ 3-4 ครั้ง และรดแบบนี้เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้น้ำเข้าถึงรากจะขยายตัวได้เร็ว จะทำให้ผักสลัดมีใบเยอะขึ้น ซึ่งถ้าหากใครมีพื้นที่ไม่มาก แนะนำว่าให้ใช้วิธีการเดินรดน้ำ เพื่อที่จะได้เดินสังเกต ตรวจเช็กปัญหาต่างๆ ไปในตัว และยิ่งถ้าหากพื้นที่มีอากาศร้อนจัด จะส่งผลทำให้เกิดโรคใบไหม้ได้ง่าย เพราะฉะนั้นควรต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี

โรคแมลง สำหรับผักสลัดของที่สวนจะไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องของแมลงศัตรูพืชมากนัก แต่ถ้าหากมีก็จะกำจัดด้วยวิธีการใช้กาวดักแมลง เป็นวิธีที่ทำง่ายและเห็นผล เพียงนำกาวดักแมลงไปตั้งวางไว้ตามจุดต่างๆ ในแปลง เช่น ถ้าหากขนาดแปลงปลูกยาวประมาณ 4 เมตร ก็ให้นำกาวดักไปวางไว้ประมาณ 3 จุด แต่ถ้าแปลงปลูกมีขนาดสั้นกว่า 3 เมตร ก็ลดลงมาเหลือ 1-2 จุด ตามความเหมาะสมของพื้นที่

ระยะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว สำหรับผักสลัดใช้เวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 45-50 วัน ของที่สวนจะใช้เวลาในการเพาะต้นกล้าก่อนลงแปลงปลูก ประมาณ 25 วัน แล้วนำมาลงแปลงปลูกอีก 25 วัน รวมระยะการปลูก 50 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และถ้าหากเป็นผักสลัดเรดโอ๊ค จะยืดเวลาการเก็บออกไปได้อีก แต่ถ้าเป็นผักสลัดกรีนโอ๊ค หรือคอส ต้องปลูกและเก็บให้ตรงเวลา เพราะถ้าปล่อยไว้นานไปจะทำให้รสชาติเปลี่ยนเป็นขมได้

ผลผลิตต่อแปลง ขนาดความกว้างและความยาวของแปลงปลูกผักที่สวนแต่ละแปลงโดยประมาณ จะมีความกว้างอยู่ที่ 70 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร สามารถเก็บผลผลิตขายได้เป็นเงินประมาณ 400 บาท ต่อ  1 แปลง โดยการแบ่งขายเป็นถุง ราคาถุงละ 20 บาท เป็นราคาที่ขายง่ายได้เงินเร็ว วันนึงจะมีรายได้จากการขายผักไม่ต่ำกว่าวันละ 400-500 บาท ถือเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ดีมากพอสมควร ซึ่งในอนาคตมีการวางแผนที่จะมาทำเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากมองเห็นตลาดในอนาคตยังไปได้อีกไกล ผักสลัดเป็นผักที่ทานง่าย ไม่ต้องนำไปปรุงเป็นอาหาร และเป็นอาชีพที่ตอบรับเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น ทุกคนต่างพยายามเลือกสรรหาสิ่งที่ปลอดภัยให้กับตัวเอง

ตลาด เริ่มจากการนำไปแจกจ่ายให้กับเพื่อน ญาติมิตร คนรู้จัก และคนในหมู่บ้านใกล้เคียงได้ลองชิมก่อน หากเขาติดใจเขาก็จะกลับมาเป็นลูกค้าเราได้ไม่ยาก และอีกส่วนหนึ่งคือมีตลาดเดินเข้ามาหาเอง ด้วยความที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ผู้คนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงผ่านไปผ่านมา เห็นแปลงผักสวยๆ เขาก็จะเข้ามาถามขอซื้อว่าผักที่ปลูกอยู่ขายไหม เราก็ได้ลูกค้าเพิ่ม และหลายคนก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำ เพราะติดใจกับคุณภาพผักที่ได้ไปในราคาเพียงถุงละ 20 บาท ยิ่งทำให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาซื้อซ้ำ ทำให้ตอนนี้มีผลผลิตไม่พอขาย

มุมมองอาชีพเกษตร

“หลายคนส่วนใหญ่จะมองว่าอาชีพเกษตรกรเป็นงานหนัก ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่จะหนักแค่ในช่วงแรกเท่านั้น แต่พอได้ทำไปสักพักทุกอย่างเริ่มลงตัวงานก็จะเบาขึ้น มีความสุขกับงานที่ทำทุกวัน ได้เป็นเจ้านายตัวเอง และเป็นอาชีพที่มั่นคงทางด้านอาหาร มีกินอิ่มท้องได้ทุกวัน และสามารถเอื้อเฟื้อต่อคนรอบข้างได้อีกด้วย ก็อยากฝากถึงมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นทำเกษตรแต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ ว่ามีพื้นที่น้อยไม่ใช่ปัญหาในการเริ่มต้น ขอเพียงมีใจเท่านั้น” พี่โจ๊ก กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 062-839-8382

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2564