หนุ่ม ป.โท ปลูกพืชขาดทุน 3 รอบ สู้ไม่ถอย พลิกชีวิตสู่ธุรกิจเงินล้าน

คุณอิทธิพล กำลังมาก คนรุ่นใหม่ไฟแรง เรียนจบปริญญาโท ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร หันมายึดอาชีพเกษตรกร ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เริ่มจากปลูกพืชตามกระแสตลาด ปลูกได้แต่ขายไม่เป็น ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางทำให้สูญเสียผลกำไร ธุรกิจเจ๊ง 3 รอบ ปรับเปลี่ยนแนวคิด ปลูกพืชผสมผสาน ลดความเสี่ยงพร้อมผันตัวรับซื้อสินค้าเกษตรส่งขายห้างใน กทม. ขายดีจนไม่พอขาย โกยรายได้ทะลุหลักล้าน

ปลูกพืชตามกระแสตลาด
ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนต่ำ

“คุณหนึ่ง” หรือ คุณอิทธิพล กำลังมาก เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ครอบครัวปลูกถั่วลิสงเป็นหลัก และมีรายได้จากการรวบรวมถั่วลิสงจากเกษตรกรเครือข่าย ประมาณ 2-3 พันไร่ ต่อปี ป้อนโรงงานแปรรูป เพื่อส่งออกไปขายประเทศมาเลเซีย

หลังคุณหนึ่งเรียนจบปริญญาด้านบัญชี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในปี 2548 ได้เข้าทำงานบริษัทเอกชน จนถึงปี 2558 คุณหนึ่งเบื่อชีวิตมนุษย์เงินเดือนจึงตัดสินใจลาออก กลับบ้านไปทำอาชีพเกษตรตามรอยพ่อแม่ โดยเริ่มต้นจากใช้เงินลงทุน 400,000 บาท ปลูกดาวเรือง 18 ไร่ ปรากฏว่าขาดทุนก้อนโต คุณหนึ่งกัดฟันสู้ไม่ถอย ใช้เงินหลักแสนลงทุนปลูกหัวไชเท้าก็ยังประสบปัญหาขาดทุนเช่นเดิม ครั้งที่ 3 คุณหนึ่งลงทุนปลูกผักชี ก็ขาดทุนอีกครั้ง สรุปในระยะเวลา 2 ปี หลังก้าวเข้าสู่ชีวิตเกษตรกรมือใหม่ ขาดทุนไปแล้วกว่าล้านบาท

ผักกาดลุ้ย ที่รับซื้อจากชาวเขาในพื้นที่อำเภอพบพระ

“กลับมานั่งคิดว่า ทำไมผมถึงขาดทุนซ้ำซาก ก็ได้คำตอบว่า เพราะผมปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามกระแสตลาด ราคาสินค้าขึ้นลงตามหลักดีมานด์และซัพพลาย สินค้าเข้าตลาดมาก ก็ขายผลผลิตได้ราคาถูก  ยกตัวอย่างเช่น การปลูกดาวเรือง ด้านตลาดต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง จึงได้ผลกำไรไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ผมปลูกพืชได้ แต่ขายไม่เป็น แถมปลูกพืชตามกระแสตลาด ยิ่งทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงสูง และได้ผลตอบแทนต่ำ” คุณหนึ่ง กล่าว

ปลูกพืชผสมผสาน
กระจายความเสี่ยง

ภายหลังคุณหนึ่งได้ค้นพบจุดเสี่ยงที่ทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ จึงปรับเปลี่ยนแนวคิดหันมาทำเกษตรผสมผสาน พร้อมผันตัวเป็นพ่อค้าคนกลางรวบรวมสินค้าเกษตรส่งขายห้างดัง จนประสบความสำเร็จกลายเป็นนักธุรกิจเกษตรที่มีรายได้หมุนเวียนหลักล้านต่อปี

คุณหนึ่ง วางแผนปลูกไม้ผลผสมผสาน บนเนื้อที่ 35 ไร่ ในอำเภอพบพระ โดยแบ่งปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 15 ไร่ โดยจะสามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ในปี 2565 ที่เหลืออีก 20 ไร่ ใช้ปลูกต้นอะโวกาโด โดยตั้งเป้าหมายให้รายได้จากการขายทุเรียนและอะโวกาโดเป็นรายได้หลักสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวในระยะยาว และนำพันธุ์กล้วยหอมทอง กล้วยเล็บมือนาง กล้วยไข่ มาปลูกแซมในสวนผลไม้ดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นรายได้ระยะปานกลาง นอกจากนี้ ยังลงทุนปลูกพืชล้มลุกเป็นรายได้ระยะสั้นไปพร้อมกัน

แปลงปลูกอะโวกาโดในพื้นที่อำเภอพบพระ

ปลูกอะโวกาโดหลากสายพันธุ์
ให้มีผลผลิตป้อนตลาดทั้งปี

อะโวกาโด (avocado) เป็นผลไม้ที่มากคุณประโยชน์และดีต่อสุขภาพ สามารถรับประทานสดได้ มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ประมาณ 8-20 เปอร์เซ็นต์ วิตามินสูง ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อะโวกาโด เป็นไม้ผลยอดนิยมที่ขายได้ราคาดี ปลูกดูแลง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาโรคแมลง ใช้สารเคมีน้อย ต้นอะโวกาโด อายุ 2-3 ปี ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ ทั้งนี้ ต้นอะโวกาโดมักให้ผลผลิตต่อต้นเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุ 7-8 ปีขึ้นไป

ปัจจุบัน คุณหนึ่งปลูกอะโวกาโด 150 ต้น แบ่งเป็นสายพันธุ์พื้นเมือง 50 ต้น ที่เหลือปลูกอะโวกาโดคุณภาพดีหลากหลายสายพันธุ์ผสมผสานกันตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เพราะอะโวกาโดแต่ละพันธุ์ มีช่วงการเก็บเกี่ยวผลไม่พร้อมกัน ทำให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดได้ทั้งปี อะโวกาโดแต่ละสายพันธุ์ มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

อะโวกาโด ที่เตรียมส่งขายตลาด

อะโวกาโดพันธุ์พื้นเมือง มักให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นพันธุ์แรก เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม ราคาขายส่งหน้าสวนสูงสุดอยู่ที่ กิโลกรัมละ 35 บาท ขายปลีกเฉลี่ย 70-80 บาท/กิโลกรัม

อะโวกาโดพันธุ์แฮสส์ (Hass) เป็นอะโวกาโดพันธุ์การค้าอันดับ 1 ของโลก มีไขมัน 20 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะผลรูปไข่ ผิวขรุขระมาก เมื่อแก่ผิวของผลมีสีเขียวเข้ม ผลสุกมีสีดำออกม่วง รสชาติดี เนื้อเหนียว ไม่มีเส้นใย สีของเนื้อมีสีเหลืองเข้ม เมล็ดมีขนาดเล็ก น้ำหนักผลตั้งแต่ 150-250 กรัม อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 9-10 เดือน มีผลผลิตออกขายช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ราคาขายส่งหน้าสวน เฉลี่ย 100-150 บาท/กิโลกรัม ขายปลีก 200-250 บาท/กิโลกรัม

อะโวกาโดพันธุ์แฮสส์

อะโวกาโดพันธุ์บัคคาเนียร์ (Buccaneer) ลักษณะค่อนข้างกลมรีขนาดกลาง เก็บเกี่ยวประมาณเดือนสิงหาคม -ตุลาคม ราคาขายส่งหน้าสวน เฉลี่ย 50 บาท/กิโลกรัม ราคาขายไม่สูงมากแต่ให้ปริมาณผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อต้นมากกว่าอะโวกาโดพันธุ์แฮสส์ โดยทั่วไปอะโวกาโดพันธุ์บัคคาเนียร์ จะให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่ออายุ 4 ปี เฉลี่ยต้นละ 50 กิโลกรัม ปีถัดไปจะให้ผลผลิตมากเท่าตัว ประมาณต้นละ 120-130 กิโลกรัม

อะโวกาโดพันธุ์ปากช่อง 28 (Parkchong 28) ลักษณะเด่น ลูกใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก เปลือกหนา สุกช้ากว่าพันธุ์อื่น เก็บผลผลิตช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม น้ำหนักผล 800 กรัม

ต้นอะโวกาโดพันธุ์แฮสส์เสียบยอด

เร่งพัฒนาคุณภาพอะโวกาโด
รักษาตลาด สู้สินค้าเวียดนาม

คุณหนึ่ง กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้สภาพคล่องทางธุรกิจประสบปัญหา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือน ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศปรับตัวลดลง ทำให้เกษตรกรขายอะโวกาโดลดลงกว่าเดิมเกือบ 50% แถมประสบปัญหาอะโวกาโดราคาถูกจากเวียดนามเข้าตีตลาดไทยอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ เวียดนามเคยส่งอะโวกาโดเข้ามาขายในไทย แต่คุณภาพไม่ดี จึงไม่เป็นที่นิยม ล่าสุดในปีนี้เกษตรกรเวียดนามประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต และขายราคาถูกทำให้สินค้าขายดี โดยเฉพาะพันธุ์ A034 ปัจจุบัน เป็นพันธุ์อะโวคาโดที่ได้รับความนิยมปลูกมากที่สุดในเวียดนาม

อะโวกาโดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่ขายดี

ลักษณะเด่นของอะโวกาโดพันธุ์ A034 คือ เนื้อสีเหลือง น้ำหนักผลเฉลี่ย 300-800 กรัม รสชาติอร่อย เนื้อเนียนหนึบ หอมมัน เข้มข้น มีกลิ่นหอม เปลือกบาง เมล็ดเล็ก เจริญเติบโตได้ดีทั้งในสภาพอากาศเย็นและอากาศร้อน ลำต้นไม่สูง ให้ผลดก หลังปลูกประมาณ 2–3 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิตชุดแรก ทุกวันนี้อะโวกาโดพันธุ์ A034 กำลังเป็นที่นิยม ปลูกในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทย

เกษตรกรไทยบางรายเก็บเกี่ยวผลที่ยังไม่แก่ออกขาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลอะโวกาโดที่ไม่สามารถบ่มให้สุกและรับประทานได้ นับเป็นจุดอ่อนสำคัญของอะโวกาโดของไทย ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโดควรใช้หลักวิชาการ ยกระดับคุณภาพผลผลิตที่มีคุณค่า เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อ โดยเกษตรกรสามารถนับอายุผลหลังจากดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ ของช่อดอกจนถึงเก็บเกี่ยวเป็นวิธีที่ดีที่สุดและมีความแม่นยำในการเก็บเกี่ยวผลอะโวกาโด โดยอายุเก็บเกี่ยวผลในการเก็บเกี่ยว ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสถานที่ปลูกซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและอุณหภูมิ แม้จะเป็นพันธุ์เดียวกันแต่หากปลูกในสภาพแวดล้อมต่างกัน ทำให้ผลแก่เร็วหรือช้ากว่ากันได้ 1-3 สัปดาห์

ต้นอะโวกาโด

ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกอะโวกาโดพันธุ์พบพระ 08 และพันธุ์พบพระ 14 ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์มาจากอะโวกาโดพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งอะโวกาโดพันธุ์พบพระ มีลักษณะเด่นคือ ทนทานต่อโรคใบไหม้ ให้ผลผลิตสูง เนื้อคุณภาพดี เนื้อเหนียวแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำเหมือนพันธุ์พื้นเมืองทั่วๆ ไป

คุณหนึ่ง (ขวา) กับเพื่อนเกษตรกรผู่ปลูกอะโวกาโด “วุฒิชาติ เดชาเศรษฐ”

นอกจากคุณหนึ่งตั้งใจพัฒนาอะโวกาโดพบพระให้เป็นไม้ผลเศรษฐกิจเพื่อยกระดับราคา เพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าชุมชนท้องถิ่นในอนาคตแล้ว คุณหนึ่งยังลงทุนสร้างโรงเรือนคัดบรรจุผัก ที่ตำบลตลุกกลางทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เพื่อรวบรวมผลผลิตสินค้าเกษตรจากเกษตรกรในท้องถิ่น ขนส่งโดยรถห้องเย็นของตัวเอง ขนผักจากจังหวัดตาก ส่งห้างสรรพสินค้าสัปดาห์ละ 2 รอบ นับว่าคุณหนึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการผันตัวสู่นักธุรกิจเต็มตัวได้อย่างน่าชื่นชม

หากผู้อ่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลูกอะโวกาโด สามารถสอบถามข้อมูลจากคุณหนึ่งได้ทางเบอร์โทร. 082-508-0968 

 

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2564