เกษตรกรแพร่ รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ศึกษาเอกลักษณ์ ส้มโอขาวน้ำผึ้ง สู่ไม้ผลอัตลักษณ์ของจังหวัด

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมให้นักวิชาการและเกษตรกรคัดเลือกพืชในพื้นที่ขึ้นมาเป็นผลไม้อัตลักษณ์ เพื่อพัฒนาความรู้ทั้งด้านการผลิต การตลาด และส่งเสริมให้เป็นผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562

แผนที่อำเภอลอง

ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2564 สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ได้เลือก “ส้มโอ” ซึ่งมีเกษตรกรปลูกกันมาเมื่อหลายสิบปีก่อน และจังหวัดแพร่ มีแนวทางในการพัฒนาและการปลูกส้มโอคุณภาพ

ดังนั้น เริ่มจากต้นปี พ.ศ. 2564 สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ และสำนักงานเกษตรอำเภอลอง ได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ ในเรื่องอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ที่จะเกาะเกี่ยวร่วมมือกับทางราชการ ในการผลักดันเรื่องดังกล่าว ผลที่เกิดขึ้นหลังการฝึกอบรม เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอตื่นตัวในการร่วมผลักดันให้ส้มโอเมืองลองได้รับการส่งเสริมและจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indications) ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาอัตลักษณ์/ภูมิปัญญาท้องถิ่นส้มโอเมืองลอง จำนวน 7 คน

การดูแลส้มโอทั้ง 12 เดือน

ประกอบด้วย คุณสังวาล ทิน่าน ประธานคณะทำงาน คุณวิโรจน์ ท้วมแก้ว รองประธานคณะทำงาน คุณบุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ เลขานุการคณะทำงาน คุณบุญเนย ชัยเลิศ คณะทำงาน คุณจงศิลป์ สีตลาภินันท์ คณะทำงาน คุณสามารถ นวลอูป คณะทำงาน และ คุณปิยะนัน สวัสดิ์กุล คณะทำงาน

คณะทำงานฯ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ด้วยการลงพื้นที่ดูแปลงปลูกส้มโอของคณะทำงาน แต่ละคน จัดทำแบบสอบถาม และดูแปลงส้มโอของเกษตรกรอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลด้านพื้นที่ หรือแหล่งปลูกส้มโอ พันธุ์ส้มโอ การดูแลส้มโอระยะต่างๆ จนเก็บผลผลิตขาย ตลาด ปัญหาอุปสรรค

คุณประภาส สานอูป กับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่

จากนั้น ได้จัดทำผลการศึกษาเบื้องต้น อัตลักษณ์/ภูมิปัญญาท้องถิ่นส้มโอเมืองลอง ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการศึกษาเบื้องต้นที่น่านำมาเล่าสู่กันดังนี้

คำนิยาม คุณลักษณะส้มโอเมืองลอง

คุณวิโรจน์ ท้วมแก้ว กับผลผลิตคุณภาพ

คำนิยาม ส้มโอเมืองลอง หมายถึง ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ผลค่อนข้างกลมแป้นเล็กน้อย เนื้อ (กุ้ง) สีคล้ายสีน้ำผึ้ง รสชาติหวานอมเปรี้ยว (เปรี้ยวเล็กน้อย) เนื้อกุ้งใหญ่ เนื้อแน่น สีเปลือกเมื่อแก่สุกมีสีเขียวอมเหลือง

คุณลักษณะเฉพาะของส้มโอเมืองลอง

ระบบน้ำ
ขยายพันธุ์ปลูกกันในกลุ่ม

พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง

ลักษณะทางกายภาพ

น้ำหนักผล 1.2-2.0 กิโลกรัม

ขนาดผลเส้นรอบวง 20-22 นิ้ว

รูปทรง ผลค่อนข้างกลมแป้นเล็กน้อย

ผิวเปลือก สีเขียวอมเหลือง นุ่มไม่มีขน

เนื้อ สีคล้ายสีน้ำผึ้ง เนื้อแน่น เนื้อกุ้งใหญ่

รสชาติหวานอมเปรี้ยว (เปรี้ยวเล็กน้อย)

แลกเปลี่ยนเรียนรู้

มีเอกลักษณ์ด้านเนื้อสีคล้ายสีน้ำผึ้ง รสชาติ 3 ไม่ คือไม่เฝื่อน ไม่ซ่า ไม่ขม ปลูกในพื้นที่อำเภอลอง ประกอบด้วยตำบลแม่ปาน ห้วยอ้อ ปากกาง บ้านปิน และตำบลทุ่งแล้ง ส่วนใหญ่มีอาณาบริเวณใกล้ริมฝั่งแม่น้ำยม หรือลำน้ำสาขา ซึ่งเป็นดินตะกอน หรือดินน้ำไหลทรายมูล การระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุทับถมริมชายฝั่ง สภาพอากาศไม่ร้อนจัด มีเทือกทิวเขาและผืนป่าโอบล้อม (ตามแผนที่)

กระบวนการผลิต

การปลูก

ใช้กิ่งพันธุ์จากการตอน

ขุดหลุมกว้าง x ยาว x ลึก = 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก ร่วมกับแร่ธาตุฟอสเฟต สูตร 0-3-0 แล้ววางกิ่งพันธุ์ กลบดินใช้ไม้ปักลงดิน ใช้เชือกผูกให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม

ระยะปลูก 8×8 เมตร

การคลุมโคนต้นด้วยฟาง หรือหญ้าแห้ง กรณีปลูกในฤดูร้อน

แหล่งน้ำ

การดูแล

การบำรุงดิน ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก สารปรับสภาพดิน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต และตัดแต่งกิ่งแล้ว ไม่ใช้สารเคมีกำจัดหญ้าแต่ใช้การตัด ปลูกหญ้าแฝกรักษาความชื้น

การให้น้ำ

ต้นส้มโอต้นเล็ก ให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง

ต้นที่ตั้งตัวได้แล้ว ให้น้ำ 2 สัปดาห์/ครั้ง

ระยะก่อนออกดอก ต้องการน้ำน้อย

ระยะติดผลถึงแก่สุก ต้องการน้ำเพิ่มขึ้น

ระยะก่อนเก็บ 2 สัปดาห์ งดน้ำเพื่อให้รสชาติหวานขึ้น

ดักแมลงวันทอง

การให้ธาตุอาหาร

ให้ปุ๋ยเคมี สูตรต่างๆ ตามพัฒนาการของต้น ใบ ดอก ผล เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้ส้มโอด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม

ให้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงดิน ทั้งจากปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก

ให้น้ำหมักชีวภาพ เพื่อปรับสภาพดินและส่งเสริมกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน

การตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้เกิดการโปร่ง แจ้ง แสงแดดส่องถึงโคนต้น ตัดแต่งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ช่วงให้ผลผลิต

รุ่นที่ 1 เดือนสิงหาคม-กันยายน

รุ่นที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

การจัดการวัชพืช ใช้เครื่องตัดหญ้า ไม่ใช้สารเคมี เพราะส้มโอมีระบบรากตื้น

ส้มโอด่าง

การป้องกัน/กำจัด โรคและแมลง เริ่มจากการสำรวจตรวจสอบการแพร่ระบาดก่อน ถ้ามีใช้สารชีวภัณฑ์หรือน้ำหมักสมุนไพรจากวัตถุดิบในท้องถิ่น แต่ถ้าพบการระบาดหนัก จะใช้สารเคมีเฉพาะกลุ่ม เฉพาะโรค ใช้เมื่อจำเป็น อัตราตามกำหนดข้างกล่องอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

การปฏิบัติก่อนถึงกำหนดเก็บ สำรวจความแก่สุก ตรวจนับจำนวนผลโดยประมาณเพื่อประเมินราคา

วิธีการเก็บ ใช้กรรไกรตัดขั้วผลแบบหนีบผล มีภาชนะรองรับกันกระแทก

คุณภาพและมาตรฐาน เกี่ยวข้องกับปัจจัยการจัดการตั้งแต่การเตรียมต้น การดูแลช่วงแตกใบอ่อน ดอก และพัฒนาการของผล การเก็บผลที่แก่สุก คุณภาพผลใหญ่ เปลือกบาง รสชาติอร่อย หวานอมเปรี้ยว ไม่เฝื่อน ไม่ซ่า ไม่ขม มาตรฐาน รูปทรงสวย ขนาดเส้นรอบวง 20-22 นิ้ว น้ำหนักดี ผลละ 1.2-2.0 กิโลกรัม

คุณประภาส สานอูป

ความสัมพันธ์ระหว่างส้มโอเมืองลอง กับแหล่งภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิประเทศ อำเภอลอง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา คล้ายแอ่งกระทะ มีบริเวณภูเขาจำนวนมากล้อมรอบทุกทิศ มีแม่น้ำยมไหลผ่าน แนวทิศเหนือ-ใต้ และมีลำน้ำสาขาหลายสายไหลลงสู่แม่น้ำยม เพียงแต่ยังขาดระบบการกักเก็บน้ำและการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

ลักษณะดิน เป็นดินตะกอน ที่ทับถมตามริมชายฝั่งแม่น้ำ และลำน้ำสาขา ที่เรียกว่าดินตะกอน หรือดินน้ำไหลทรายมูล มีอินทรียวัตถุทับถมริมชายฝั่ง

แหล่งน้ำ

จากน้ำฝน ปริมาณเฉลี่ยปีละ 1,200 มิลลิเมตร ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้นส้มโอตลอดทั้งปี

แม่น้ำยม และลำน้ำสาขา

เกษตรกรขุดสระน้ำขึ้นมาใช้กันเอง

ผลดก ต้องค้ำยัน

น้ำบาดาล

อุณหภูมิ เฉลี่ยที่ 30-35 องศาเซลเซียส ลักษณะอากาศแบบฝนเมืองร้อน ซึ่งมีผลต่อการแก่สุกของส้มโอ และผิว ส่งผลให้ส้มโอเมืองลอง มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว (รสเปรี้ยวเล็กน้อย) เมื่อเก็บจากต้น

ประวัติความเป็นมา

ย้อนอดีตไปเมื่อหลายสิบปีก่อนพบพื้นที่ปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้ง จากการนำมาปลูกของเกษตรกร แล้วขยายแพร่พันธุ์ ไปในวงกว้างหลายตำบล เกือบครอบคลุมทั่วอำเภอลอง จากแหล่งที่มาของ

นายวงค์ ชมภูมิ่ง (เสียชีวิต) ได้นำต้นพันธุ์ส้มโอขาวน้ำผึ้งมาปลูกที่สวนในตำบลปากกาง เมื่อปี พ.ศ. 2508 และได้อนุญาตให้คนงานในสวนทำการตอนกิ่งไปปลูกในพื้นที่ของตน จากนั้นก็ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้งออกไปอีกหลายตำบล

คุณสังวาล ทิน่าน โทร. 084-485-4846

นายพรมมา มะโนมูล (เสียชีวิต) อยู่หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยอ้อ ได้นำกิ่งพันธุ์มาจากจังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ. 2518 ลงปลูกในพื้นที่บ้านคอกช้าง และได้มีเกษตรกรมาขอกิ่งพันธุ์นำไปลูกในหลายพื้นที่

นายจงศิลป์ สีตลาภินันท์ ชาวจังหวัดสมุทรสาคร มาตั้งหลักปักฐานที่อำเภอลอง ได้นำกิ่งพันธุ์ส้มโอขาวน้ำผึ้ง มาจากอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มาปลูกที่สวนตำบลห้วยอ้อ เมื่อปี พ.ศ. 2525 และได้มีเกษตรกรขอแบ่งปันกิ่งพันธุ์ไปปลูกยังพื้นที่โดยรอบตำบลห้วยอ้อ บ้านปิน และอีกหลายตำบล

พื้นที่ปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้งทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของส้มโอเมืองลอง ส่วนใหญ่จะปลูกอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม หรือลำน้ำสาขา ซึ่งเป็นดินตะกอน หรือดินน้ำไหลทรายมูล ผลผลิตจึงต้องด้วยลักษณะเด่นทั้งด้านรสชาติ กลิ่น เนื้อ น้ำหนักผล 

คุณวิโรจน์ ท้วมแก้ว โทร. 082-180-5509

ภูมิปัญญา ที่นำมาใช้ในสวนส้มโอเมืองลอง

การอนุรักษ์ดิน โดยการปรับพื้นที่รอบทรงพุ่มของต้นส้มโอ เป็นแอ่ง มีคันดินล้อมรอบ ป้องกันการพังทลายของดิน เพิ่มประสิทธิภาพในการใส่ปุ๋ยไม่ให้ละลายไปกับน้ำ และปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาหน้าดินและความชื้น

พื้นที่ดอน หรือพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวแบบขั้นบันได เมื่อเปลี่ยนพืชจากข้าวมาเป็นส้มโอ ยังคงสภาพพื้นที่แบบขั้นบันได มีคันดินล้อมรอบพื้นที่ลดหลั่นกันไป

ผลิตน้ำหมักชีวภาพหลายชนิดตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ได้แก่ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จุลินทรีย์หน่อกล้วย น้ำหมักจากเศษปลาและผลไม้ (สับปะรด) ฮอร์โมนไข่ อีเอ็ม (EM) เพื่อทดแทนและลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี

คุณบุญเนย ชัยเลิศ โทร. 086-007-0157

ผลิตน้ำหมักสมุนไพรป้องกันโรคและแมลง โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ได้แก่ น้ำหมักฝักคูน น้ำหมักเปลือกมังคุด น้ำหมักจากยาสูบ เพื่อทดแทนและลดการใช้สารเคมี พื้นที่ที่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำ หรือลำน้ำสาขา จากที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง มีการติดตั้งแอร์แว (Airware) เป็นอุปกรณ์เพิ่มแรงดันน้ำ ประหยัดพลังงาน สามารถส่งน้ำไปได้ไกลๆ

ส้มโอเมืองลอง ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในด้านการสร้างการรับรู้ องค์ความรู้เรื่องต่างๆ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ โทร. 054-511-214 และสำนักงานเกษตรอำเภอลอง โทร. 054-581-486 มาตั้งหลายปีดีดักแล้ว ปัจจุบัน ทั้งสองหน่วยงานได้ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นเกษตรแบบแปลงใหญ่ (ส้มโอ) และส่งเสริมให้ส้มโอเมืองลองเตรียมการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

คุณจงศิลป์ สีตลาภินันท์ โทร. 089-516-0975

เกษตรกรได้รับแรงหนุนเสริมจาก เกษตรจังหวัดแพร่

คุณประภาส สานอูป เกษตรจังหวัดแพร่ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก (area-based approach) ดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ในทุกกิจกรรมตลอด ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)

วัตถุประสงค์

เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต การบริหารจัดการร่วมกันและรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพได้มาตรฐาน

เพื่อให้เกษตรกรสามารถเป็นผู้จัดการบริหารจัดการการผลิต ผลผลิต และการตลาดได้

หลักการดำเนินการเกษตรแปลงใหญ่ มีขนาดการผลิตที่คุ้มค่าต่อการลงทุน : Economy of Scale

พื้นที่เหมาะสมสอดคล้องกับ : AGRIMAP มีกระบวนการกลุ่มอยู่ก่อน : สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน มีแหล่งน้ำชัดเจน/ปริมาณน้ำเพียงพอ มีตลาดรองรับ

คุณสมาน นวลอูป โทร. 086-438-1158

การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่กำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติที่ชัดเจน/มีแผนธุรกิจของตนเอง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร

กำหนดมาตรฐานการผลิต ผู้จัดการแปลงที่มีความสามารถ ผู้จัดการแปลงร่วมกับคณะกรรมการ ในการบริหารจัดการแปลงใหญ่ ต้องมีเงื่อนไข : พื้นที่และจำนวนเกษตรกรตามหลักเกณฑ์

คุณประภาส สานอูป ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มีหลักการในการกำหนดพื้นที่แปลงใหญ่อยู่ว่า พื้นที่อยู่ชุมชนที่ใกล้เคียงกัน ขนาดพื้นที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการ เพียงพอให้เกิดอำนาจในการต่อรอง กรณีข้าว พืชไร่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ไม่น้อยกว่า 300 ไร่ และเกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 ราย

กรณีไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ปศุสัตว์/แมลงเศรษฐกิจ ประมง และพืชอื่นๆ พื้นที่ไม่น้อยกว่า 300 ไร่ หรือเกษตรกรไม่น้อยกว่า 30 ราย

มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนา 5 ด้าน ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ใช้สารชีวภัณฑ์หรือสารธรรมชาติที่สามารถผลิตเองได้ทดแทน ลดการใช้แรงงานคน ใช้เครื่องจักรกลทดแทน เป็นต้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การพัฒนาวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในระบบการผลิต เพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และจำนวนที่มากขึ้น พัฒนาคุณภาพ การพัฒนาการผลิตให้ได้การรับรองมาตรฐาน GAP หรืออินทรีย์

การตลาด มีการเชื่อมโยงการตลาดหลากหลายช่องทางเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย นำหลักการตลาดนำการผลิตมาใช้เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด

การบริหารจัดการ สร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มแปลงใหญ่ มีการบริหารจัดการการผลิต จนถึงการตลาดอย่างเป็นระบบ

แม้ในภาวะวิกฤติการระบาดของโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนา “โควิด-ไนน์ทีน” (Covid-19) คณะทำงานศึกษาอัตลักษณ์/ภูมิปัญญาท้องถิ่นส้มโอเมืองลอง ก็มิได้หยุดนิ่งที่จะหารือกันในการพบปะกัน เราจะใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อดังกล่าว ในการขับเคลื่อนภารกิจให้เกษตรแบบแปลงใหญ่ (ส้มโอ) ไปสู่แนวทางที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรได้มีอาชีพที่ยั่งยืน และมีรายได้ที่มั่นคง