ขิงยิ่งแก่ยิ่งแพง เกษตรกรเพชรบูรณ์ ยกให้เป็น “ขิงนางพญา” ถ้าปลูกได้สร้างกำไรดี แต่ไม่ง่าย

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย “อย่ามาขิง?!?” เสียงลูกชายกำลังจะเข้าวัยรุ่นคุยกับเพื่อน ผมก็งงว่า ขิง ที่วัยรุ่นชอบพูดแปลว่าอะไร สงสัยจนต้องไปหาความหมายกันในอากู๋ Google อืม อย่ามาขิง ของวัยรุ่นแปลว่า อย่ามาอวด โอย เข้าใจยากซะจริงคนรุ่นใหม่ๆ เปิดด้วยขิงฉบับนี้จึงขอพาท่านไปเยี่ยมเยียนพี่น้องเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกขิงไกลถึงเขาค้อ เพชรบูรณ์ ไปดู “ขิง” ที่มีกระแสเสียงเล่าเสียงลือว่าช่วยต้านโควิด-19 ที่กำลังระบาดคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกและโควิด-19 ก็อาจจะคร่าลมหายใจของรัฐบาลมือไม่ถึงในหลายประเทศทั่วโลกลงไปด้วย แต่เอที่เขาค้อหลายคนบอกว่านอนที่นี่ 1 คืนจะอายุยืนไปอีก 1 ปี ผมขับรถผ่านไปผ่านมาหลายเที่ยวหลายคืนสงสัยจะอายุยืนถึง 120 ปี (ฮา) เกริ่นมายาวเหยียดตั้งใจจะพาท่านไปชมขิงจริงๆ ครับ

คุณสมชาติ แสนยากุล และครอบครัว

ขิงมากสรรพคุณ

ผมลองค้นๆ ดูก็พบว่า ขิงนั้นมีสรรพคุณทางยามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ช่วยขับเหงื่อ ไล่ความเย็น ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางยานิยมใช้ขิงแก่ เพราะขิงยิ่งแก่จะยิ่งเผ็ดร้อนและจะมีใยอาหารมาก ขิงรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน รักษาไข้หวัด รักษาอาการไอ ขับเสมหะ โดยนำขิงสดมาคั้นน้ำให้ได้ประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้งประมาณ 1 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 2 ถ้วย ดื่มวันละ 3 ครั้งแก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง ฯลฯ (โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์) แต่เสียงลือในเรื่องการใช้ขิงรักษาอาการโควิด-19 นั้น หน่วยงานราชการประกาศว่า ยังไม่มีข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยว่า น้ำขิงสามารถต้านโควิดได้ (กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก)

ขิงไม่ชอบสภาพน้ำท่วมขัง

พาท่านมาพบกับ คุณสมชาติ แสนยากุล ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 10 ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ คุณสมชาติปลูกขิงมานานแล้วควบคู่กับการทำธุรกิจส่วนตัวที่กรุงเทพฯ

บรรยากาศสวยงามของไร่ขิง ที่เขาค้อ

“ตอนนี้ผมปลูกขิงเอาไว้ 5 ไร่ ปลูกบนเชิงเขาเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดน้ำขังเพราะขิงไม่ชอบสภาพน้ำท่วมขังทำให้เน่าเสียง่าย การผลิตขิงต้องมีความพิถีพิถันในการปลูกและการดูแลจึงทำให้ได้ผลผลิตขิงที่มีราคาดี” คุณสมชาติ เริ่มต้นเล่าให้ฟัง

การปลูกขิงในพื้นที่เข็กน้อย เกษตรกรมักจะเลือกปลูกขิงพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ที่สามารถหาได้ทั่วไปในพื้นที่ ส่วนวิธีการปลูกขิงเนื่องจากขิงมีโรคระบาดค่อนข้างมาก เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องสลับพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ เพื่อลดการระบาดของโรค โดยทำการปลูกขิง 1 ครั้งต้องเว้นพื้นที่ไป 4-5 ปี จึงจะกลับมาปลูกได้ใหม่ ในเขตเขาค้อมีการปลูกขิงมานานแล้ว และต้องขยับย้ายพื้นที่การปลูกไปจังหวัดอื่นๆ อย่างเช่น พื้นที่ทางภาคเหนือ 4-5 ปีจึงกลับมาปลูกในพื้นที่เขาค้อได้อีก การใส่ปุ๋ยเกษตรกรผู้ปลูกขิงที่เข็กน้อยจะเน้นการใช้ปุ๋ยคอกคือ ปุ๋ยขี้ไก่ ใส่ตอนเตรียมดินปลูก หลังจากนั้น จะให้ปุ๋ยเคมีสูตรเร่งราก ปุ๋ยเคมีสูตรเร่งลำต้นและใบ ถัดมาเน้นปุ๋ยเคมีสูตรเร่งหัว

ขิงมีโรคระบาดที่ต้องระวัง

คุณสมชาติ เล่าต่อไปว่า วิธีการปลูกขิงจะปลูกด้วยเหง้า ตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปปลูกในหลุม หลังจากนั้น เว้นไว้ 1-2 เดือนจึงเอาเศษหญ้าคามาคลุมหน้าดินเพื่อบังแสงแดด เมื่อขิงงอกออกมาต้นเริ่มเจริญเติบโตก็จะนำดินมาถมทับรอบกอเพื่อบังคับให้ขิงเกิดการแตกตาแตกหน่อมากขึ้น

ขิงที่กำลังเจริญเติบโตในแปลงปลูก

ช่วงเวลาปลูกขิงจะลงมือปลูกประมาณเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายนและจะสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวขิงอ่อนได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงกันยายน แต่ถ้าปล่อยไว้จนถึงเดือนธันวาคมก็จะต้องเก็บขายในแบบขิงแก่

คุณสมชาติ บอกว่า ขิงมีโรคเยอะและมีการระบาดได้อย่างรวดเร็วในดิน โดยเฉพาะในสภาพที่มีน้ำท่วมขัง วิธีการของเกษตรกรจะสังเกตที่ใบของขิงหากใบมีจุดสีขาวหรือสีที่ผิดปกติจะต้องรีบทำการกำจัดโดยการถอนออกและคลุมดินป้องกันไม่ให้โรคระบาดไปยังต้นข้างๆ หรือแปลงข้างเคียง แต่หากเอาไม่อยู่เกิดการระบาดก็จะต้องโละถอนขิงออกทั้งหมด

ส่วนโรคสาเหตุสำคัญที่ทำความเสียหายให้แก่ขิงเป็นอย่างมาก กรมวิชาการเกษตร โดย ลัดดาวัลย์และคณะ รายงานไว้ว่า คือโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ซึ่งเชื้อสาเหตุของโรคนี้ทำให้การผลิตขิงของไทยเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เนื่องจากเชื้อสามารถอาศัยอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน และยังติดไปกับหัวพันธุ์ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญต่อการผลิตขิง โรคนี้มีการระบาดอย่างรวดเร็ว ผลผลิตเสียหายจนบางครั้งไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกขิงซ้ำที่เดิมได้เพราะการเกิดโรคระบาดรุนแรงในปีต่อมา เกษตรกรต้องเปลี่ยนพื้นที่ปลูกขิงทุกปี

ขิงราคาดี

คุณสมชาติ เล่าว่า การปลูกขิงสร้างรายได้เป็นอย่างดีให้เกษตรกรในพื้นที่เข็กน้อย เกษตรกรบางคนมีพื้นที่ 20 ไร่สำหรับปลูกขิง บางปีขายผลผลิตได้ในราคาไร่ละ 300,000 บาท ส่วนเกษตรกรที่ปลูกขิงแล้วขิงมีสภาพความสมบูรณ์ปานกลางก็อาจจะขายได้ที่ราคาหลักแสนต่อ 1 ไร่ โดยขายกันแบบเหมาทั้งไร่ ในขณะที่การปลูกขิงมีต้นทุนไร่ละประมาณ 30,000-40,000 บาท ในเรื่องปริมาณผลผลิตขิงที่ปลูก 1 ไร่จะได้ผลผลิตประมาณ 3-5 ตัน ขึ้นอยู่กับการดูแลและการจัดการโรคระบาดของเกษตรกร

ส่วนเรื่องตลาดรับซื้อขิงนั้นคุณสมชาติให้ข้อมูลว่า “ราคาของขิงดีมาก ราคาไม่ตกมา 3-4 ปีแล้ว มีตลาดต้องการเยอะ โดยเฉพาะโรงงานขิงดอง และบางประเทศในตะวันออกกลางที่ซื้อขิงในลักษณะของขิงสด

ข้อมูลของคุณสมชาติตรงกับรายงานของศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง ที่รายงานว่า แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศผู้ปลูก แปรรูป และส่งออกขิงมาที่สุดในโลก แต่เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมาทำให้ปริมาณการผลผลิตขิงในประเทศจีนลดลงจนถึงขั้นมีการนำเข้าขิงจากหลายประเทศ รวมทั้งขิงจากไทยเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิต บริโภค และส่งออกขิงสดรายใหญ่ของโลก ทำให้จีนมีความต้องการในการนำเข้าขิงสดจากต่างประเทศในปริมาณที่ไม่มากนัก แต่หากพิจารณาถึงการแปรรูปขิงในตลาดจีนนั้นยังขาดความหลากหลายของสินค้า โดยหากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าจากขิงให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้จะสามารถสร้างมูลค่าการค้าและพัฒนาสินค้าไทยให้มีความแปลกใหม่ของสินค้าไทยในตลาดจีนได้ เช่น น้ำมันนวด น้ำมันหอมระเหยของไทยยังคงมีโอกาสในตลาดจีนอยู่ และนอกจากจะนำขิงมาแปรรูปในรูปแบบน้ำมันแล้ว ยังสามารถนำขิงมาแปรรูปในรูปแบบสินค้าบริโภคได้อีกด้วย เช่น ชาขิงสไตล์ไทย ขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ที่ทำจากขิง เป็นต้น 

ผลผลิตที่พร้อมเก็บเกี่ยวในแบบขิงอ่อน

ขิงนางพญา หรือขิงแก่ราคาดี

คุณสมชาติ บอกว่า ผลผลิตขิงจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่แบบเหมาสวน และในปัจจุบันเกษตรกรสามารถขายออนไลน์ได้โดยจะมีพ่อค้ามาเสนอราคากันแบบออนไลน์ นอกจากนั้น ก็จะมีตัวแทนจากโรงงานแปรรูปมารับซื้อขิงในพื้นที่ด้วย และหากเกษตรกรปลูกขิงเลี้ยงไว้จนได้ขิงแก่ที่ปลอดโรคก็จะทำให้เกษตรกรได้ราคาสูงกว่า 30 บาทต่อกิโลกรัม เพราะขิงแก่จะมีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักเยอะ ขายได้เป็นปริมาณมากกว่ากิ่งอ่อน 7-8 เท่าตัว และยังสามารถขายขิงแก่ในลักษณะของต้นพันธุ์ให้กับเกษตรกรเอาไปปลูกได้อีกทางหนึ่ง

อีกช่องทางการตลาดของคุณสมชาติคือ การขายขิงนางพญาหรือขิงแก่ข้ามปี เป็นขิงที่เรียกว่าแม่ขิงที่เหลือตกค้างอยู่ในสวน จะขุดพร้อมขิงอ่อนขึ้นมาขาย ขิงนางพญาจะมีราคาแพงมากที่สุด แม่พันธุ์ขิงหรือขิงนางพญาราคาจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ความแข็งแรงในสภาพแปลงปลูก การซื้อขายแม่พันธุ์ขิงก็ซื้อแบบเหมาไร่ราคาไร่ละ 200,000-300,000 บาท ซึ่งสามารถทำกำไรได้มากกว่า 10 เท่าถ้าเทียบกับการปลูกขิงอ่อน

แม่พันธุ์ขิงหรือขิงนางพญา จะทำการขุดนำมาล้างแล้วตากแดดไว้

“การขุดแม่พันธุ์ขิงหรือขิงนางพญาจะทำการขุดนำมาล้างแล้วตากแดดไว้ 1-2 วันก่อนจะแพ็กกล่องขายแบบออนไลน์ในราคา 55 บาทต่อกิโลกรัม ตามคำสั่งซื้อออนไลน์จากคนรู้จักทั่วไป”

คุณสมชาติ บอกว่า การปลูกขิงสามารถสร้างมูลค่าได้สูงทั้งตัวเกษตรกรเองและพ่อค้าคนกลาง รวมไปถึงแรงงานรับจ้างทั่วไปที่เข้ามาขุดผลผลิตขิงและดูแลสวนขิง แต่ปัญหาคือทำได้ยากต้องใช้ประสบการณ์ค่อนข้างสูง

เตรียมบรรจุแม่พันธุ์ขิงหรือขิงนางพญาส่งให้ลูกค้าออนไลน์

ใครสนใจขิงนางพญาหรือสนใจการปลูกขิง สอบถามเพิ่มเติมกับคุณสมชาติ ติดต่อไปได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-918-2925 ส่วนฉบับนี้คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย หมดพื้นที่แล้ว ต้องขอลากันไปก่อน ขอให้โชคดี ไม่มีโรคกันทุกท่านทั่วหน้า สวัสดีครับ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2564