สาวเมืองพะเยา ผลิตผักเชียงดา สร้างรายได้อย่างต่ำเดือนละหมื่น

คุณโสภา สุขแสนโชติ หรือ พี่ต้อย ของน้องๆ ลาออกจากราชการ หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือ ผักเชียงดา

พี่ต้อยจบการศึกษาทางด้านการเกษตรจากเกษตรน่าน รุ่นที่ 36 ก็เข้ารับราชการจนเมื่อ ปี 2556 ก็ตัดสินใจอำลาชีวิตราชการ มาทำการเกษตรร่วมกับครอบครัวทั้งสามีและลูกชาย โดยพี่ต้อยช่วยงานทุกคนมาตลอด จนกระทั่งเริ่มผลิตผักเชียงดาอย่างจริงจัง

แกงผักเชียงดา

พี่ต้อย ชอบกินแกงผักเชียงดามาตั้งแต่เล็กๆ ถูกปลูกฝังให้กินผักพื้นบ้านทุกชนิด ที่บ้านเกิดบ้านป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย คุณพ่อ คุณแม่ ได้ปลูกไว้ 4-5 ต้น ตอนเด็กๆ คุณแม่ใช้ให้ไปเก็บผักเชียงดามาประกอบอาหารอยู่เป็นประจำ เช่น แกงใส่ปลาแห้ง ใส่แกงแค เอามาผัดไข่ ลวกกินกับน้ำพริก และตำมะม่วง ทุกคนในครอบครัวจะชื่นชอบมากๆ ผักเชียงดายิ่งเด็ดยอดก็จะยิ่งแตกยอดอย่างรวดเร็ว ญาติๆ และเพื่อนบ้านต่างก็มาเด็ดยอดไปประกอบอาหาร ที่บ้านจะไม่หวงเผื่อแผ่กันไป เพราะบางบ้านเขาก็ไม่มีที่ดินกว้างพอจะปลูกผักกินได้

ที่บ้านสวนไร่แสนสุข มีต้นผักเชียงดาอยู่ต้นเดียวเพียงพอที่จะเด็ดยอดมาแกงสำหรับคนในครอบครัว 4 คน ต่อมาได้ตัดเถามาชำไว้ในโรงเรือนเพาะชำ 50 กิ่ง วันหนึ่งแม่ค้าขาประจำที่มาซื้อมะนาวในสวน แนะนำให้ปลูกผักเชียงดาเยอะๆ เพื่อรับซื้อไปขายต่อ เพราะผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่หายาก บางที่ชาวบ้านเก็บมาขายแค่กำสองกำ คนซื้อจะซื้อไปแกงไม่พอ เพราะมีน้อย ตลาดในตัวเมืองพะเยา  รับซื้อผักเชียงดาจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 70 บาท แล้วนำมาแบ่งเป็นกำๆ ละ 10 บาท ขาย 1ก.ก.มีรายได้ 100 บาท

พี่ต้อยตั้งใจพัฒนา ไร่แสนสุข เป็นแหล่งปลูกผักพื้นบ้านหลายๆ ชนิดที่กินแล้วมีประโยชน์ปลอดภัย อยากใช้ชีวิตหลังเกษียณ กินอยู่ง่ายๆ โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน เช่น ผักเชียงดา ที่กินได้ไม่เบื่อและประกอบอาหารได้หลายๆ อย่าง

พี่ต้อยปลูกผักเชียงดาตามแนวถนนเข้าบ้าน ปลูกเป็น 2 แถว แถวละ 35 ต้น รวมเป็น 70 ต้น 40 ต้น ปักชำเอง จากกิ่งต้นเชียงดาที่มีอยู่หลังบ้านอีก 30 ต้น ได้รับการสนับสนุนจากรุ่นพี่เกษตรน่าน ผอ.สุภาวรรณ กิตติพัฒนวิทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรเชียงใหม่ หรือพืชสวนเชียงใหม่ในขณะนั้น พี่ต้อยเก็บผักเชียงดาขายส่งให้แม่ค้าที่มารับซื้อถึงสวน แต่ละวันมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 350-400 บาท

คุณประโยชน์ของผักเชียงดา

ผักเชียงดา เป็นผักท้องถิ่นของทางภาคเหนือ เป็นพืชผักสวนครัวที่นิยมนำดอกและยอดอ่อนมาทำเป็นอาหาร ผักเชียงดาที่ขึ้นในป่ามีรสชาติขมกว่าชนิดที่ปลูกตามบ้าน ใบมีลักษณะใหญ่กว่าด้วย แต่สีใบจะเข้มน้อยกว่า

ส่วนผักเชียงดาที่ปลูกในบ้านมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ลำต้นสีเขียว ส่วนต่างๆ ที่อยู่เหนือดินมีน้ำยางใสสีขาวคล้ายน้ำนม ใบเป็นใบเดี่ยวสลับ ดอกออกเป็นช่อที่ง่ามใบ ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้มหรือสีเขียว ผลออกเป็นฝักรูปร่างคล้ายหอก

ผักเชียงดา มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้แพ้ แก้หวัด โดยนำใบสดของผักเชียงดามาตำจนละเอียดแล้วใช้พอกบริเวณกระหม่อม ใช้รักษาอาการท้องผูก แก้โรคริดสีดวงทวาร ทำให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น โดยชาวบ้านจะนำผักเชียงดามาแกงกับผักตำลึงและยอดชะอม มีฤทธิ์ช่วยควบคุมการทำงานภายในร่างกาย ให้เป็นไปอย่างปกติ โดยเฉพาะการกินผักเชียงดาในช่วงหน้าร้อนจะช่วยระบายความร้อนในร่างกายได้ดี ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย รวมถึงไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่ในลำไส้ โดยจะควบคุมปริมาณของไขมันในร่างกายให้มีความสมดุล

ชาผักเชียงดา

และช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับอ่อนให้แข็งแรง ทำให้ตับอ่อนทำงานได้อย่างปกติ ช่วยลดน้ำหนัก เนื่องจากผักเชียงดามีฤทธิ์ในการเผาพลาญน้ำตาลได้มากกว่าการสร้างไขมัน จึงไม่มีไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง ยังบรรเทาอาการปวดข้อหรือปวดกระดูกจากโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก ช่วยบรรเทาอาการป่วยจากโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด

ปัจจุบันวงการแพทย์ได้นำผักเชียงดามาผลิตเป็นยาแคปซูล ใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเช่น แก้ปวดหัว ทำให้เจริญอาหาร ลดไข้ ขับเสมหะ ช่วยระงับประสาท ฯลฯ ผักเชียงดาเป็นพืชผักที่ปลูกง่าย ขึ้นเองตามธรรมชาติแล้ว ยังขยายพันธุ์ได้โดยวิธีปักชำกิ่งหรือการเพาะเมล็ด เติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี มักนิยมปลูกอยู่ตามริมรั้วหรือปล่อยให้ขึ้นเลื้อยไม้อื่นก็ได้

ยอดผักเชียงดา

สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ คุณโสภา สุขแสนโชติ เลขที่ 215 หมู่ที่ 2 ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 56000 เบอร์โทรศัพท์ 081-783-4428