เกษตรกร จ.กระบี่ ต้นตำรับปลูกกล้วยรสผลไม้

คุณสงวน มงคลศรีพันเลิศ เกษตรกรจังหวัดกระบี่ เปิดบ้านเป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลหนองทะเล, ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านเขากลม ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

คุณสงวน เป็นเกษตรกรต้นแบบที่ได้รับรางวัลมากมาย เป็นเกษตรกรดีเด่น ปี 2548 สาขาปศุสัตว์, รางวัล 76 คนดีแทนคุณแผ่นดินปี 2552, รางวัลการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านประชาชนทั่วไป ปี 2550 และได้รับรางวัลศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรชนะเลิศอันดับ 1 ระดับจังหวัดปี 2550 ฯลฯ

เดิมคุณสงวนทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในจังหวัดปราจีนบุรี มีรายได้ถึงเดือนละ 28,000 บาท แต่ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บ คิดถึงคำสอนในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องกินก่อนคิดเรื่องเงิน จึงตัดสินใจลาออกกลับบ้านเกิดที่จังหวัดกระบี่ เริ่มต้นศึกษาเรื่องการทำเกษตรแบบพอเพียง เริ่มจากสร้างโรงปุ๋ยก่อน โดยใช้ทางปาล์มซึ่งชาวสวนต้องตัดทิ้งอยู่แล้ว นำมาเข้าเครื่องบดเป็นอาหารให้วัวที่มีอยู่ 4 ตัว เมื่อวัวถ่ายออกมา นำมูลของมันหมักในบ่อก๊าซชีวภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม ส่วนขี้วัวที่เหลือยังไปทำเป็นอาหารปลาและปุ๋ยหมักได้ โดยมีการคำนวณว่ามูลวัว 1 ตัว จะมีปริมาณถึง 2 ตัน ต่อเดือน ได้แก๊สชีวภาพ 15-16 กิโลกรัม

คุณสงวน แบ่งที่ดิน 5 ไร่ทำไร่นาสวนผสมแล้ว และจัดตั้งเป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลหนองทะเล, ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านเขากลม ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนหลายหมื่นคนเข้ามาอบรมดูงาน รวมทั้งนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ มาฝึกงานเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยมีจุดเรียนรู้ 22 จุด

คุณสงวน มงคลศรีพันเลิศ

จุดที่ 1 การเลี้ยงวัว, แพะ (สัตว์ 4 กระเพาะ) ครบวงจรโดยไม่กินหญ้า ใช้ทางปาล์มน้ำมันมาบดและหมักเพื่อใช้เป็นอาหารแพะและวัวแทนหญ้า

จุดที่ 2 การทำปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศ

จุดที่ 3 การปลูกผักระบบใต้ดิน (ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ)

จุดที่ 4 การผลิตอาหารสัตว์จากทางปาล์มน้ำมัน

จุดที่ 5 การปลูกพืชผสมผสาน จำนวน 5 ไร่ แก้จน

จุดที่ 6 การเลี้ยงปลาแบบบ่อ 3 ด้าน โดยการทำบ่อปลาติดผนังบ้าน หรือโรงเรือนต่างๆ เพียง 3 ด้าน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

จุดที่ 7 การทำน้ำส้มควันไม้ครบวงจร ได้จากการสกัดน้ำจากควันไม้ ประเภทส้ม

จุดที่ 8 การอบสมุนไพร

จุดที่ 9 การทำและการเลี้ยงจุลินทรีย์โดยใช้ภูมิปัญญาไทย

จุดที่ 10 การเลี้ยงเป็ด, ไก่ (คอล่อน)

จุดที่ 11 การทำเตาก๊าซชีวภาพกลายเป็นแก๊สหุงต้มโดยใช้มูลสัตว์

จุดที่ 12 การทำน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้ภูมิปัญญา

จุดที่ 13 ตู้อบสมุนไพร

จุดที่ 14 การทำน้ำยาล้างจาน

จุดที่ 15 การทำอาหารปลาดุก

จุดที่ 16 การทำน้ำมันนวด

จุดที่ 17 การทำเห็ดอบโอ่ง

จุดที่ 18 การปลูกพืชตีกลับ คือการปลูกกล้วย โดยนำเอาส่วนยอดลงเพื่อเพิ่มจำนวนของหน่อที่จะเกิดขึ้น

จุดที่ 19 การเพาะถั่วงอก

จุดที่ 20 การทำถังแก๊สขนาดย่อม

จุดที่ 21 การทำปลาเค็มอบดิน และ

จุดที่ 22 การทำน้ำจุลินทรีย์หน่อกล้วย

จุดที่น่าสนใจในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ได้แก่ การปลูกพืชตีกลับ โดยนำหน่อชี้ฟ้าเอาส่วนต้นที่มีใบลงดินว่า ถ้าปลูกกล้วยโดยนำหน่อหรือโคนลงดินเหมือนที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปจะได้ต้นกล้วย 1 ต้น เมื่อออกลูกจะได้เครือหนึ่งประมาณ 7-8 หวี แต่ถ้าปลูกเอาปลายลง จะได้ต้นกล้วย 3-4 ต้น ได้กล้วย 3-4 เครือ แต่ละเครือจะได้กล้วยถึง 10 หวี วิธีนี้สามารถใช้ได้กับกล้วยได้ทุกชนิด

คุณสงวนยืนยันว่า ปลูกแบบนี้พืชไม่ตายเพราะธรรมชาติของต้นกล้วยเมื่อเจอปัญหาประมาณ 15 วัน มันจะรีบขึ้นมาอย่างน้อย 3-4 ต้น พร้อมกันเลย พอมันขึ้นมาแล้ว มันจะพึ่งตัวเองคือมันจะกินตัวมันเองที่มีจุลินทรีย์เราไม่ต้องใส่ปุ๋ย ต้นกล้วยที่ได้มีความสูงไม่เกิน 1.50 เมตร และจะออกเครือเร็วกว่ากล้วยที่ปลูกด้วยการนำหน่อลงดิน ที่สำคัญขนาดของลูกจะใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ คุณสงวนยังมีวิธีการเพิ่มมูลค่าของกล้วยด้วยวิธีการแต่งกลิ่นเข้าไป อยากได้กล้วยรสทุเรียน  รสสตรอเบอรี่ รสวานิลลา หรือรสสะละก็สามารถทำได้ตามใจชอบ จากเดิมขายกล้วยได้หวีละไม่กี่สิบบาท แต่พอแต่งกลิ่นและรสชาติพวกนี้แล้วสามารถขายได้ถึงหวีละ 70 บาท

สำหรับวิธีการทำนั้นคุณสงวนบอกว่าไม่ยากเลย พอตอนกล้วยออกปลีก็ไปเจาะหรือกรีดลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยมจนถึงไส้ทำให้เกิดแผล จากนั้นนำหัวเชื้อเข้มข้นและกลิ่นต่างๆ ที่ต้องการ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในท้องตลาดจำพวกเดียวกับที่ใช้ทำกลิ่นไอศกรีม ตกขวดละ 10 กว่าบาท นำมาชุบสำลีแล้วยัดเข้าไปในไส้ต้นกล้วย จากนั้นปิดไส้ต้นกล้วยให้เหมือนเดิม สักสองเดือนกล้วยก็สุกและจะได้กล้วยตามกลิ่นที่ใส่เข้าไป

คุณสงวนให้ข้อคิดว่า “ประเทศไทยโชคดีที่เรามีพ่อ คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่มีแนวคิดการพึ่งตนเองเป็นหลัก ซึ่งเราต้องมองตัวเองให้ออก บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น กลับมาพึ่งตนเองให้ได้ ตั้งความคิดให้ถูก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจพอเพียงที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ต้องมีวิชาการและภูมิปัญญาควบคู่กัน แนวทางพึ่งตนเองนั้น เราจะต้องเตรียม 4 อย่าง คือ 1. เตรียมตัวก่อนตาย 2. เตรียมกายก่อนแต่ง 3. เตรียมน้ำก่อนที่จะแล้ง 4. เตรียมแรงก่อนที่จะทำงาน แต่ทั้งหมดนี้ต้องควบคุมด้วย ความรู้ ที่อยู่บนพื้นฐานความจริงกำกับด้วยคำว่า พอ”

ปัจจุบันเขามีรายได้เหลือปีละล้านกว่าบาท โดยมาจากรายได้ของผลผลิตบนผืนดิน 8 ไร่ ซึ่งในแต่ละเดือนมีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านเขากลมจำนวนมาก ทำให้เขาสามารถขายผลผลิตทางการเกษตรได้ด้วย และยังนำผลผลิตมาเลี้ยงผู้เข้าร่วมอบรม สนใจอยากศึกษาดูงานศูนย์ดังกล่าว ติดต่อคุณสงวนได้ที่โทร. 089-590-6738

 

เมื่อวันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564