ลำไยอบแห้งสีทอง แหล่งรายได้แห่งใหม่ของบ้านฝั่งแวน เตรียมส่งขายทั่วประเทศ

ปัจจุบันนี้ผลไม้ตามฤดูกาลมีให้เห็นในทุกวัน เวลาทุกคนไปตลาดในตอนเช้าหรือตามแผงต่างๆ ก็จะพบว่ามีผลไม้มากมายให้เลือกซื้อ แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในไทย ทำให้ในหลายจังหวัดการปลูกผลไม้เห็นทีจะเริ่มขาดทุนมากขึ้น บวกกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในแต่ละภาค ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ต่างเริ่มหาวิธีที่จะแปรรูปให้รับประทานได้อร่อยหรือเก็บไว้ได้นานมากขึ้น เหมือนอย่างที่หมู่บ้านฝั่งแวน หมู่ที่ 11 ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่นอกจากจะมีอาชีพทำนากันแล้วอีกด้านยังมีอาชีพทำสวนลำไยด้วย ด้วยปัจจุบันพบว่าราคาลำไยในแต่ละปีนั้นผันผวนเป็นอย่างมาก บางปีราคาดี บางปีราคาถูก ทำให้ชาวบ้านสวนลำไยเริ่มหาวิธีแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของลำไย

ประวัติลำไย ลำไยเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนของเอเชีย ซึ่งอาจมีถิ่นกำเนิดในลังกา อินเดีย พม่า หรือจีน แต่ที่พบหลักฐานที่ปรากฏในวรรณคดีของจีนในสมัยพระเจ้าเซ็งแทงของจีนเมื่อ 1,766 ปีก่อนคริสตกาล และจากหนังสือ RuYa ของจีนเมื่อ 110 ปีก่อนคริสตกาลได้มีการกล่าวถึงลำไยไว้แล้ว และชาวยุโรปได้เดินทางไปยังประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 1514 ก็เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับลำไยไว้ในปี พ.ศ. 1585 แสดงว่าลำไยมีการปลูกในจีนที่มณฑลกวางตุ้ง เสฉวน มีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฟูเกียน

ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง

ลำไยได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศอินเดีย ลังกา พม่า และประเทศแถบเอเชีย ลังกา พม่า และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าสู่ประเทศอเมริกาในปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ในประเทศไทย ลำไยคงแพร่เข้ามาในประเทศพร้อมๆ กับประเทศในเขตนี้ แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน หลักฐานที่พบเป็นต้นลำไยในสวนเก่าแก่ของ ร.อ. หลวงราญอริพล (เหรียญ สรรพเสน) ที่ปลูกในตรอกจันทร์ ถนนสาธุประดิษฐ์ใกล้วัดปริวาศในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นลำไยที่ขยายพันธุ์มาจากเมล็ดเพาะ แสดงว่าลำไยมีในประเทศไทยมาก่อนแล้วและมีการพัฒนาพันธุ์ตามลำดับตามสภาพภูมิอากาศ

ต่อมาพระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้นำลำไยจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาขยายพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็ขยายพันธุ์สู่ภูมิภาคต่างๆ ในล้านนา โดยการเพาะเมล็ดจนเกิดการแปรพันธุ์ (Mutation) เกิดพันธุ์ใหม่ตามสภาพคุณลักษณะที่ดีของภูมิอากาศที่เหมาะสมและเกื้อกูลต่อการเจริญเติบโตของลำไย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดลำพูน มีสภาพภูมิประเทศที่ดีในลุ่มแม่น้ำใหญ่หลายสาย จนเกิดลำไยต้นหมื่นที่บ้านหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งเก็บผลขายต้นเดียวได้ราคาเป็นหมื่น เมื่อปี พ.ศ. 2511 ผลิตผลต่อต้นได้ 40-50 เข่ง

พัฒนาการของลำไยในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดลำพูน ถ้านับจากการเสด็จกลับล้านนาครั้งแรกของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเมื่อปี พ.ศ. 2457 จนถึงลำไยต้นหมื่นที่หนองช้างคืนเมื่อปี พ.ศ. 2511 ก็พัฒนามาร่วม 60 ปี และถ้านับถึงปีปัจจุบัน มีการพัฒนาพันธุ์ร่วม 107 ปีแล้ว จนขณะนี้มีลำไยมากมายหลายพันธุ์และมีการปลูกมากนับหลายแสนไร่

ประโยชน์ของลำไย เปลือกของต้นมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเทา และมีรสฝาดใช้ต้มเป็นยาหม้อแก้ท้องร่วง ลำต้นมีขนาดใหญ่สูงประมาณ 30-40 ฟุต เนื้อไม้มีสีแดงและแข็งสามารถใช้ทำเครื่องใช้ประดับบ้านได้ ผลลำไยมีเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว ภายในมีเนื้อขาวอมชมพู ขาวอมเหลือง แล้วแต่สายพันธุ์ เนื้อลำไยสามารถบริโภคสด บรรจุกระป๋อง ตากแห้งสามารถทำเป็นชาชงใช้ดื่ม เป็นยาบำรุงกำลังช่วยให้หลับสบาย เจริญอาหาร

พันธุ์ลำไย ลำไยปลูกในหลายประเทศ ที่สำคัญคือ ประเทศจีน มีการปลูกลำไยถึง 26 พันธุ์ คือพันธุ์ที่ปลูกในมณฑลกวางตุ้ง 12 สายพันธุ์ ปลูกในประเทศไต้หวันอีก 15 สายพันธุ์ ปลูกในสหรัฐอเมริกามี 1 สายพันธุ์ คือ พันธุ์โคฮาลา

พันธุ์ลำไยในประเทศไทย จำแนกออกตามลักษณะผล เนื้อ เมล็ด และรสชาติ คือลำไยกะโหลก เป็นพันธุ์ลำไยที่ให้ผลขนาดใหญ่ มีเนื้อหนา รสหวาน มีหลายสายพันธุ์คือ

– พันธุ์สีชมพู ผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก เนื้อมีสีชมพู รสดีมากที่สุด

– พันธุ์ตลับนาค ผลใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบแห้ง เปลือกบางเบี้ยวเขียว ผลใหญ่กลมเบี้ยว เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ แต่พันธุ์หนักร่องเก่ง

– พันธุ์อีดอ ผลขนาดปานกลาง เมล็ดเล็ก รสหวาน แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ อีดอยอดแดง ใบอ่อนมีสีแดง และอีดอยอดเขียว ใบอ่อนมีสีเขียว

– พันธุ์อีแดง สีเปลือกของผลค่อนข้างแดง เป็นพันธุ์กลาง กิ่งเปราะหักง่าย ผลกลมใหญ่ เมล็ดใหญ่ รสหวาน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ อีแดง (อีแดงเปลือกหนา) มีใบป้อมใหญ่ ผลใหญ่ อีแดง (อีแดงเปลือกบาง) ใบยาว ผลเล็กกว่าอีแดงเปลือกหนา

– พันธุ์อีแห้ว ผลใหญ่ ใบดำ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ อีแห้วยอดแดง เมล็ดปานกลาง และอีแห้วยอดขาว ผลกลมใหญ่ หัวเบี้ยว เนื้อกรอบ ไม่หวาน

ลำไยที่นิยมนำมาอบในปัจจุบันคือ ลำไยพันธุ์อีดอ ส่วนพันธุ์อื่นหากนำมาอบจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ

กำนันนพดล เข็มเพชร

กำนันนพดล เข็มเพชร กำนันตำบลเชียงบาน ได้เล่าถึงเรื่องราวในการแปรรูปลำไยสีทองว่า ทุกวันนี้จะพบว่าราคาลำไยนั้นเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ทำให้ผู้ปลูกลำไยเกิดความวิตกในการที่จะปลูกและขายผลผลิตต่อไป บางรายถึงขั้นโค่นต้นลำไยเพื่อหาพืชอย่างอื่นมาปลูกทดแทน ทั้งนี้ ตนเองได้คิดอยากเพิ่มมูลค่าของผลลำไยนี้ให้มีราคามากขึ้น ประกอบกับชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ก็คลุกคลีกับลำไยมานานด้วย ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคิดว่าราคาที่ออกมานั้นจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาทำให้รายได้ที่มาจากการขายลำไยสดหรือรูดร่วงได้น้อยลง ไม่คุ้มค่าในการที่จะซื้อปุ๋ยมาดูแลบำรุงต้นเพื่อให้ติดดอกออกผล หรือการแบกรับภาระหนี้สินที่กู้ยืมมาจากธนาคารด้วย ทั้งนี้ ตนเองได้คิดค้นคว้าวิธีการแปรรูปลำไยด้วยการหาในสื่อโซเชียลและพบว่าการแปรรูปทำลำไยสีทองนั้นหากทำสำเร็จจะมูลค่าสูงมากและยังเป็นความต้องการของผู้บริโภคด้วย ตนเองจึงได้เริ่มคิดทำลงมือทำลำไยสีทองนี้ ซึ่งเริ่มแรกนั้นตนเองได้ขอตู้อบลำไยจากทางเกษตรจังหวัดพะเยาและได้มาจำนวน 1 เครื่อง ทั้งนี้ ตู้ดังกล่าวนอกจากจะอบลำไยได้แล้วยังสามารถอบสิ่งต่างๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ตนเองและทางชาวบ้านได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางอาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายที่ได้มาส่งเสริมและออกแบบซองบรรจุลำไยสีทองให้มีรูปลักษณ์ที่น่าซื้อพร้อมทั้งน่าลิ้มลองมากยิ่งขึ้นด้วย

อุปกรณ์คว้านลำไย

กำนันนพดล กล่าวต่อว่า สำหรับการทำลำไยอบแห้งสีทอง เริ่มแรกจะต้องนำลำไยพันธุ์อีดอเฉพาะขนาด AA มาทำเท่านั้น หากเป็นขนาดอื่นจะมีปัญหาเรื่องการแห้งไม่พร้อมกันและขนาดเมื่ออบเสร็จขนาดก็จะไม่เท่ากันได้เนื่องจากขนาดจัมโบ้หรือ AA เมื่อทำการคว้านแล้วจะได้เนื้อที่หนามากกว่าขนาดอื่นซึ่งตรงนี้ผู้คว้านผลลำไยจะต้องมีความชำนาญที่เอาเมล็ดลำไยออกจากเนื้อด้วย และเบื้องต้นต้องแกะเอาเปลือกข้างนอกออกก่อน ทั้งนี้ ในการคว้านลำไยนั้นตนเองจะต้องจ้างชาวบ้านมาคว้าน โดยเฉลี่ยแล้วมือคว้านเมล็ดจะได้ค่าจ้างอยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการทำให้ชาวบ้านเกิดวิสาหกิจชุมชนมีรายได้จากการทำตรงนี้เพิ่มขึ้น หลังจากนั้น เมื่อทำการคว้านเอาเมล็ดข้างในออกเสร็จแล้วซึ่งจะได้เนื้อลำไยที่ขาวสะอาดและนำไปล้างน้ำให้สะอาดอีกครั้ง หลังจากนั้น ก็นำเนื้อลำไยที่ทำการล้างน้ำแล้วใส่ตะแกรงของตู้อบลำไย ซึ่งก่อนที่จะเอาเข้าตู้อบนั้นจะต้องคว่ำเนื้อลำไยตรงรูที่แกะเมล็ดออกลงให้หมดเพื่อที่จะได้ให้น้ำที่ล้างไหลออกจนหมด

ทั้งนี้ ภายในตู้อบนี้จะมีถาดใส่ลำไยทั้งหมด 17 ถาด โดยตนเองได้มอบหมายให้เป็นของชาวบ้านของแต่ละคนในการรับผิดชอบของแต่ละถาดนี้ ซึ่งแต่ละถาดจะรับน้ำหนักได้ 5-7 กิโลกรัม ในการอบลำไยนั้นจะใช้ทั้งไฟฟ้าและแก๊สเป็นตัวควบคุม

ตู้อบลำไยสีทองแบบลมร้อน

เวลาอบ 2 ชั่วโมงแรกจะใช้อุณหภูมิอยู่ที่ 75-80 องศา หลังจากนั้น จะลดระดับลงเหลือที่ประมาณ 60 องศา ทั้งนี้ จะต้องอบไปอีก 6 ชั่วโมงจึงจะสามารถเปิดเตาได้ แต่ถ้าเปิดเตาแล้วลำไยยังไม่แห้งก็สามารถทำการอบเพิ่มได้ ให้ลำไยแห้งและกรอบนุ่มที่สุด จนมีสีเนื้ออกเป็นสีทองในเวลาต่อมา หลังจากนั้น ก็นำมาใส่ซองที่เตรียมบรรจุ

แต่ละซองจะมีขนาดอยู่น้ำหนัก 250 กรัม จำหน่ายในราคาซองละ 135 บาท เวลานี้ตนเองพบว่าหลังจากที่เริ่มทำอย่างจริงจังของปีนี้เริ่มมีลูกค้าภายในอำเภอและต่างจังหวัดที่รู้ข่าวการผลิตลำไยสีทองนี้ต่างเริ่มสั่งจองกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ในการทำลำไยอบลมแห้งสีทองนี้ตนเองถือว่าเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมทำกันมา อีกทั้งนอกจากที่จะส่งขายแล้ว ชาวบ้านยังสามารถนำไปรับประทานที่บ้านเอง ไม่ว่าจะทำเป็นน้ำชาลำไยหรือเป็นของว่างให้ลูกหลานได้รับประทานกัน ตนเองเชื่อว่าจะสามารถแปรรูปลำไยนี้แล้วส่งออกไปยังต่างจังหวัดให้เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่ออีกอย่างของอำเภอเชียงคำต่อไป คุณนพดล กล่าวทิ้งท้าย

คุณรุณฬ์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงคำ

ด้าน คุณวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงคำ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของทางอำเภอนั้นตนเองจะได้ทำการประชาสัมพันธ์ลำไยอบแห้งสีทองให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพราะถือว่าการทำลำไยสีทองแบบแกะเปลือกและเมล็ดออก ถือว่าเป็นแห่งแรกในอำเภอเชียงคำด้วย นอกจากนี้ การทำลำไยสีทองยังเป็นแนวทางการกระจายผลผลิตอีกทางหนึ่ง จะช่วยพยุงราคาไม่ให้ร่วงลงหนักกว่าลำไยสดด้วย ตนเองจะได้ส่งเสริมให้มีการนำตู้อบลำไยมาเพิ่มให้กับทางชาวบ้านเพื่อที่จะได้ทำให้การผลิตมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการต้องใช้ลำไยสดมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมานิยมการรับประทานผลไม้ที่แปรรูปแล้วรสชาติอร่อย ประกอบกับสามารถเก็บไว้ได้นาน ตนเองเชื่อว่าชาวบ้านฝั่งแวนจะสามารถนำสินค้านี้ออกสู่ตลาดต่างจังหวัดให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายและทำให้อำเภอเชียงคำมีชื่อเสียงในเรื่องของกินของฝากมากขึ้นด้วย

สำหรับผู้ที่อยากจะลองชิมรสชาติของลำไยอบแห้งสีทองบ้านฝั่งแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา หรือศึกษาดูงาน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณนพดล เข็มเพชร หรือ กำนันเอฟ ได้ตลอดเวลา หรือถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงคำ โทรศัพท์ 054-882-216

น้ำชาลำไย
ถูกสุขอนามัย
บรรจุภัณฑ์