สาวปัตตานี ปลูกไผ่กิมซุง 6 ไร่ พลิกชีวิต “รอดมะเร็ง” ได้อาชีพใหม่ที่มั่นคง

คุณคอลีเยาะ ลาเตะ หรือ พี่คอลี เจ้าของสวนไผ่ยิ้ม ออร์แกนิก อยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์สาวใต้ที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย ชีวิตใกล้หมดหวัง พลิกกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเพราะอาชีพเกษตร ปลูกไผ่กิมซุง สร้างรายได้แบบครบวงจร ทั้งขายลำไผ่ ขายหน่อไม้ และขายน้ำไผ่ สร้างรายได้หมุนเวียนไม่รู้จบ

พี่คอลี เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรว่า ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกรปลูกไผ่ ตนเองประกอบอาชีพทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไหล่ยนต์มาก่อน ต่อมาตนเองต้องมาประสบกับปัญหาสุขภาพ เป็นมะเร็งตับอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งหมอได้บอกกับตนเองว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 1 เดือน เป็นสาเหตุให้ต้องเลิกทำธุรกิจอะไหล่ยนต์เพื่อกลับมาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ที่บ้าน แต่พอหลังจากกลับมาอยู่บ้านเป็นระยะเวลาได้เกือบ 2 ปี ตนเองก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ในขณะที่เงินเก็บเริ่มหดหายเพราะไม่ได้ทำงาน จึงทำให้ตนเองกลับมาฮึดสู้อีกครั้งเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ด้วยการพยายามมองหาอาชีพใหม่ที่เหมาะกับคนสุขภาพไม่ค่อยดีอย่างตนเอง จนวันหนึ่งได้ไปเปิดเจอวิดีโอที่สอนเกี่ยวกับการทำเกษตร การสร้างอาชีพโดยที่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ ด้วยแนวการสอนเริ่มจากการให้เลือกปลูกพืชที่เหมาะกับพื้นที่ เหมาะสมกับสภาพดิน น้ำ อากาศ และความชอบของตนเอง

คุณคอลีเยาะ ลาเตะ หรือ พี่คอลี เจ้าของสวนไผ่ยิ้ม ออร์แกนิก

ซึ่งหลังจากนั้นตนเองก็ได้นำพืชตัวเลือกที่เหมาะปลูกในสภาพพื้นที่เป็นดินทรายของที่สวน ได้แก่ มะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว และไผ่ ที่เป็นพืชที่ตอบโจทย์ที่สุดในขณะนั้น เนื่องจากได้ไตร่ตรองมาแล้วว่าหากเลือกปลูกมะพร้าว หากถึงเวลาที่ต้องเก็บผลผลิตก็ต้องอาศัยคนอื่นมาเก็บให้ แต่ถ้าเลือกปลูกเป็นมะม่วงหิมพานต์ก็คิดว่าไม่เหมาะกับนิสัยของตนเอง สุดท้ายจึงได้มาลงเอยที่การปลูกไผ่ เพราะไผ่สามารถนำมาทำประโยชน์ได้ทุกส่วน อย่างน้อยหากเก็บหน่อไม่ทันก็ยังมีลำให้ขาย หรือถ้าในสถานการณ์ที่หน่อไม้สดล้นตลาดก็สามารถเก็บไว้ทำหน่อไม้แปรรูปไว้ขายนอกฤดูได้ และที่พิเศษไปกว่านั้นคือการต่อยอดทำน้ำไผ่ขายให้สำหรับกลุ่มลูกค้าทางเลือกใหม่ได้อีกด้วย

 

ต่อสู้กับโรคร้าย ด้วยจิตใจที่เป็นนักสู้
“ปลูกไผ่กิมซุง 6 ไร่” สร้างรายได้ไม่รู้จบ

เจ้าของบอกว่า สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรมาก่อนเลยอย่างตนเองถือว่าการปลูกไผ่เป็นเรื่องยาก เริ่มต้นจากความล้มเหลว ลงทุนซื้อต้นพันธุ์ไผ่มาปลูก 100 ต้น ก็ตายหมดเลย 100 ต้น แต่ก็ไม่คิดจะยอมแพ้ พยายามหมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งจากมืออาชีพด้านการปลูกไผ่และศึกษาด้วยตนเองในช่องยูทูปแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ละขั้น จนประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้

โดยสายพันธุ์ที่เลือกปลูกเป็นไผ่กิมซุง เนื่องจากได้ทำการศึกษารายละเอียดก่อนปลูกแล้วว่าในแต่ละส่วนของไผ่กิมซุงสามารถนำมาสร้างรายได้อย่างไรได้บ้าง ซึ่งประโยชน์ของไผ่กิมซุงก็ตอบโจทย์ความต้องการทุกอย่างคือ 1. ในส่วนของลำไผ่สามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ 2. ส่วนของหน่อนำมารับประทานอร่อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เพราะไม่มีเสี้ยน คนป่วยสามารถรับประทานได้ และ 3. พิเศษที่สุดคือไผ่กิมซุงสามารถเก็บน้ำไผ่ขายได้ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค

สภาพภายในสวนไผ่ยิ้ม ออร์แกนิก

จึงได้ลงมือปรับพื้นที่ดินที่มีอยู่ 6 ไร่ ปลูกไผ่กิมซุงทั้งหมด โดยช่วงแรกของการสร้างรายได้จะเน้นไปที่การขายหน่อไม้ แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาต่อยอด เน้นมาเป็นการขายหน่อไม้แปรรูปนอกฤดูและเน้นขายน้ำไผ่เป็นหลักแทน ด้วยรายได้จากการขายหน่อไม้สดและการขายน้ำไผ่มีความแตกต่างกันชัดเจน เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือถ้าหากขายหน่อไม้สดได้กิโลกรัมละ 25 บาท แต่ถ้าทำน้ำไผ่ขาย 1 ลิตร นำมาบรรจุใส่ขวดได้ 18 ขวด สามารถทำเงินได้ประมาณ 300 บาท และสามารถเก็บขายได้ทุกวัน หากวันนั้นไม่มีมรสุม ไม่มีพายุ น้ำไผ่ก็จะให้ผลผลิตตลอด แต่น้ำไผ่จะไม่สามารถเก็บได้ในช่วงที่มีน้ำขัง ซึ่งใน 1 ปี จะเกิดเหตุการณ์น้ำขังเพียง 1 ครั้ง

 

เทคนิคการปลูก

การเตรียมดิน สำหรับเกษตรกรมือใหม่ควรมีการไถปรับพื้นที่ให้ดีก่อนปลูก แต่สำหรับสวนไผ่ของตนเองในตอนนั้นเริ่มต้นทำด้วยเงินทุนที่มีไม่มาก การเตรียมดินจึงมีแค่การถางป่า แล้วลงต้นพันธุ์ปลูกเลย แต่จะมาให้ความสำคัญในเรื่องของระบบน้ำแทนเพราะไผ่เป็นพืชที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมได้ดี แต่ช่วงที่ปลูกใหม่ๆ ก็ต้องการน้ำที่สม่ำเสมอเช่นกัน

การปลูก ขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก แต่ด้วยสภาพดินที่สวนมีลักษณะเป็นดินทรายจะไม่นิยมใช้ปุ๋ยขี้วัวรองก้นหลุมจะทำให้หนอนทรายมีเยอะขึ้น ส่งผลให้ต้นยังไม่ทันโตก็ถูกหนอนกินรากไผ่จนหมด ดังนั้น วิธีแก้ไขคือที่สวนจะทำการหมักปุ๋ยจากเศษผักผลไม้มารองก้นหลุม จากนั้นลงต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงหลุมปลูก โดยให้วางต้นพันธุ์เอียงประมาณ 45 องศา เพื่อไม่ให้หน่อไม้แทงหน่อลงไปลึกมาก ทำให้ง่ายต่อการเก็บและทำให้โอกาสที่ต้นจะเกิดต้นตายมีน้อยลง

ระยะห่างระหว่างกอประมาณ 3×3 เมตร

ระยะห่างระหว่างต้น ที่เหมาะสมคือระยะ 6×6 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ระหว่างกออัดกันแน่นจนเกินไป ควรมีช่องให้แสงส่องลงมาถึง และยังสามารถปลูกพืชแซมระหว่างร่องได้ด้วย

การดูแล ด้วยสภาพพื้นดินของที่สวนเป็นดินทรายจำเป็นต้องขยันรดน้ำ ให้ปุ๋ยมากเป็นพิเศษกว่าพื้นที่อื่น โดยที่สวนจะทำการรดน้ำทุกวัน รดจนกว่าไผ่จะแตกหน่อ หลังจากนั้น จึงค่อยเว้นระยะการรดน้ำลงมาเป็น 2 วันรดครั้ง ด้วยระบบสปริงเกลอร์ เนื่องจากที่สวนเน้นการเก็บหน่อไม้นอกฤดูและเน้นการเก็บน้ำไผ่ จึงจำเป็นต้องทำให้ดินมีความชุ่มชื้นเพื่อที่จะได้หน่อไม้และน้ำไผ่ที่ออกมามีความสมบูรณ์และมีคุณภาพที่สุด

ปุ๋ย เน้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลักอย่างเดียว โดยช่วงเริ่มปลูกแรกๆ ใส่ปุ๋ยทุกๆ 10-15 วัน โดยใช้เทคนิคการใส่ปุ๋ยแบบสลับ คือมีการใส่ปุ๋ยหมักน้ำที่ทำมาจากเศษอาหาร เศษผักผลไม้เหลือทิ้ง สลับกับปุ๋ยหมักแห้งที่ทำมาจากใบไผ่นำมาผสมกับขี้แพะ โดยมีอัตราการผสมที่ น้ำเปล่า 10 ลิตรต่อปุ๋ยหมัก 1 ลิตร ละลายไปพร้อมกับระบบน้ำทุกสัปดาห์ ส่วนปุ๋ยหมักแห้งจะใส่ที่กอ 2-3 เดือนครั้ง

ผลผลิต เน้นแปรรูปขายนอกฤดูและการทำน้ำไผ่เป็นหลัก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ดี น้ำไผ่สามารถเก็บขายได้ทุกวันและถือเป็นเครื่องดื่มสำหรับกลุ่มทางเลือกใหม่ มีกลุ่มลูกค้าต่อเนื่อง โดยต้นไผ่ที่จะเหมาะแก่การเจาะน้ำขายต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไป 1 กอที่สวนสามารถเจาะน้ำไผ่ออกมาได้ประมาณ 2 ลิตร เนื่องจากกอไผ่ของที่สวนไม่ใหญ่ ไว้กอละ 5-6 ลำ แต่ถ้าหากสวนไหนมีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย มีลำต้นที่สมบูรณ์ ลำใหญ่ ลำเยอะ ก็จะสามารถเจาะน้ำไผ่ได้ปริมาณมากกว่านี้

เตรียมขุดหน่อไม้ไปขาย

วิธีหาตลาด เริ่มจากความกล้า
สลัดความกลัวทิ้งไป

พี่คอลี เล่าถึงประสบการณ์การเริ่มต้นหาตลาดให้ฟังว่า การเริ่มต้นหาตลาดของตนเองนั้นไม่ง่าย เนื่องจากไม่เคยทำอาชีพเกษตรมาก่อน แล้วต้องมาสวมบทเป็นแม่ค้าขายหน่อไม้ ถือเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับตนเอง ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่ผลผลิตของที่สวนออก ก็ยอมรับตรงๆ ว่าตนเองเป็นคนขี้อายมาก ไม่กล้าเอาหน่อไม้ไปขาย ไม่กล้าออกไปหาตลาด แต่ด้วยสถานการณ์บังคับทำให้ต้องยอมสลัดความกลัวทิ้งไป แล้วเริ่มต้นเดินหาตลาดด้วยตนเอง โดยการนำผลผลิตของตนเองไปเสนอให้กับแม่ค้าในตัวเมืองปัตตานีให้ได้รับรู้ว่าตอนนี้ที่สวนของตนเองปลูกไผ่อยู่จำนวน 6 ไร่ มีผลผลิตเป็นจำนวนเยอะ มีคุณภาพแบบนี้ สนใจอยากจะซื้อไหม ซึ่งก็ได้ผลตอบรับจากแม่ค้าค่อนข้างดีให้ความสนใจและหาตลาดได้ในที่สุด จนได้สลัดความกลัวทิ้งไปและถือคติว่าในเมื่อเราทำงานสุจริตและของที่เราขายมีคุณภาพ ก็ไม่ต้องไปอายใคร

จนถึงปัจจุบันสามารถสร้างช่องทางการตลาดได้ทั้ง 3 ช่องทางด้วยกัน คือ 1. แม่ค้าตลาดสดรับซื้อเป็นประจำ 2. ลูกค้าที่เป็นชาวประมงจะนิยมซื้อหน่อไม้แปรรูปลงเรือไปไว้รับประทาน และ 3. ตลาดออนไลน์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม โดยกลุ่มลูกค้าออนไลน์จะเป็นลูกค้าซื้อต้นพันธุ์และน้ำไผ่เป็นหลัก เป็นกลุ่มลูกค้าทางเลือกใหม่ที่สนใจดื่มเพื่อสุขภาพ ดื่มเพื่อสร้างความสดชื่น สร้างรายได้ดีและตอบสนองความต้องการของตนเองได้

เตรียมส่งลูกค้าประจำ

ฝากถึงนักสู้มือใหม่ทุกท่าน

“หากอยากจะเริ่มทำเกษตรจริงๆ ขั้นแรกคืออยากให้ศึกษารายละเอียดในสิ่งที่จะทำให้ละเอียด ศึกษาให้รู้แจ้ง รู้จริง เพราะถ้าหากทำโดยปราศจากความรู้ก็จะทำให้การลงทุนสูญเปล่าไปง่ายๆ ไม่ได้อะไรกลับคืนมา แต่ถ้าใครมีเงินเยอะก็สามารถลองผิดลองถูกได้บ่อยหน่อย แต่สำหรับท่านใดที่มีทุนน้อยก็ต้องศึกษาหาความรู้ก่อน แล้วถามตัวเองว่าเรารักกับสิ่งที่ทำไหม อย่าทำตามกระแสเพราะการปลูกต้นไม้ต้องใช้ความใส่ใจและการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ถามตัวเองพร้อมลุยไหม ถ้าพร้อมก็ลุยเลย” พี่คอลี กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-328-3860

 

เจาะน้ำไผ่ไปขาย
น้ำไผ่ไหลออกมาได้เต็มถุง
ผลิตภัณฑ์น้ำไผ่ สินค้าสร้างรายได้หลักของสวน
เลี้ยงผึ้งสร้างระบบนิเวศ
ให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักแก่ผู้ที่สนใจ