ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | การุณย์ มะโนใจ |
เผยแพร่ |
31“เชียงม่วน” จังหวัดพะเยา คือความหมายของเมืองแห่งความสุขสบายใจ ด้วยวิถีวัฒนธรรมและอัธยาศัยผู้คนบรรพชนชาวไทลื้อ และความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธรรมชาติของพื้นที่ต้นแม่น้ำยม อีกทั้งยังเป็นเมืองที่พัก ครึ่งทาง เป็นความสุขชั่วขณะของนักเดินทางจากจังหวัดน่านที่ต้องผ่านเส้นทางภูเขาสูงชันคดเคี้ยว ลงสู่ที่ราบหุบเขาที่ “เชียงม่วน” ก่อนที่จะกลับขึ้นสู่เส้นทางภูเขาสูง คดเคี้ยวอีกครั้งเพื่อไปให้ถึงเมืองพะเยา…
“เชียงม่วน” เมื่อแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ในปี พ.ศ. 2512 ได้แยกการปกครองออกจากอำเภอปง นั้น ยังอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเชียงราย ในยุคที่บ้านเมืองยังเผชิญด้วยภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ ในปี พ.ศ. 2517 จัดว่าเป็นอำเภอที่อยู่ไกลที่สุดจากตัวจังหวัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่ที่พะเยา “เชียงม่วน” จึงได้โอนมาขึ้นกับจังหวัดพะเยา ชุมชนเมืองเชียงม่วนยังคงสภาพเป็นชุมชนชนบท บ้านเรือนหนาแน่นตามวิถีดั้งเดิม อำเภอเชียงม่วน มีสถานที่สำคัญคือ น้ำตกธารสวรรค์ บ่อเหมืองลิกไนต์เก่า แก่งหลวงแม่น้ำยม เป็นต้น
เชียงม่วน แม้จะเป็นอำเภอเล็ก มี 3 ตำบล ตำบลเชียงม่วน ตำบลบ้านมาง และตำบลสระ แต่ก็มีพืชที่ปลูกมากมายไม่แพ้อำเภออื่นของจังหวัดพะเยา และหนึ่งในนั้นคือ ส้มโอ คุณลุงแสงจาย อุ่นตาล บ้านเลขที่ 114 หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งมอก ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ เล่าให้ฟังว่า เริ่มปลูกส้มโอครั้งแรกเมื่อปี 2549 ซึ่งก่อนหน้านั้น น้าของลุงไปดูงานการปลูกส้มโอที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ได้ซื้อต้นส้มโอพันธุ์ขาวพวง กลับมาปลูกที่บ้าน เมื่อติดผล มีโอกาสได้ชิม ปรากฏว่ารสชาติดีมีรสหวาน กุ้งแห้งดี จึงขอตอนกิ่งมาปลูก และเมื่อได้ผลดีจึงขยายปลูก ซึ่งตอนนี้มีพื้นที่ปลูก 5 ไร่ ประมาณ 250 ต้น นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรในหมู่บ้าน รวมทั้งตำบลข้างเคียงปลูกตามอีกเป็นจำนวนมาก โดยสวนของคุณลุงแสงจาย ได้รับใบรับรองเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP อีกด้วย
คุณณัฎฐพร บุณญัษเฐียร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รับผิดชอบตำบลบ้านมาง ศิษย์เก่าสาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ให้ข้อมูลการปลูกส้มโอว่า ส้มโอพันธุ์ขาวพวง ผลมีลักษณะทรงกลมสูง มีจุกสังเกตเห็นเด่นชัด มีจีบบริเวณจุก ผลขนาดโตปานกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 13-14 เซนติเมตร สูง 15-18 เซนติเมตร จุกสูง 1.5-2 เซนติเมตร ด้านก้นผลเว้าเล็กน้อย ต่อมน้ำมันใหญ่อยู่ห่างกัน ผิวเรียบ สีเขียวอมเหลือง ผลหนึ่งจะมีประมาณ 2-14 กลีบ กลีบแยกออกจากกันง่าย เนื้อกุ้งมีสีขาวถึงขาวอมเหลือง น้ำมากแต่ไม่แฉะ รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ความหวานประมาณ 10 องศาบริกซ์ ถ้าแก่จัดรสหวานมากกว่าเปรี้ยว ลักษณะลูกหัวจุกยาว (คล้ายลูกน้ำเต้า) เนื้อสีขาวอมเหลืองอ่อนๆ ส่งออกดีชาวจีนชอบ เพราะเหมือนผลน้ำเต้า เมล็ดไม่มาก นิยมใช้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพราะมีรูปทรงที่สวยงาม เป็นพันธุ์ที่ส่งขายต่างประเทศ
วิธีการปลูกส้มโอ
เกษตรกรนิยมปลูกโดยการใช้กิ่งตอน การซื้อกิ่งพันธุ์จากสวนส้มโอที่ปลอดโรค หรือตอนกิ่งจากสวนของตัวเอง ตอนจากต้นส้มโอที่ไม่เป็นโรคแมลงรบกวน โดยตอนกิ่งที่เป็นกิ่งกระโดง ที่แข็งแรง หรือกิ่งที่แตกใหม่จากต้นแม่ การตอนกิ่งใช้เวลา 45 วัน กิ่งตอนจะออกรากมีสีเหลืองจึงตัดกิ่งตอนเพื่อนำไปปลูก หรือใส่ดินปลูกในถุงไว้ให้แข็งแรงก่อน แล้วจึงนำไปปลูกในแปลงก็จะมีอัตราการเจริญเติบโตดีมาก
การเตรียมพื้นที่ปลูกส้มโอ ถ้าเป็นการปลูกสวนใหม่ ควรปลูกกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยไข่ก่อนปลูกส้มโอ สักประมาณ 4-5 เดือน แล้วจึงปลูกส้มโอจะดีมาก เพราะจะมีไม้พี่เลี้ยง หรือไม้บังร่มป้องกันลมให้กับต้นส้มโอที่ยังเล็กอยู่ได้ดี ทำให้ต้นส้มโอแข็งแรงและโตเร็ว ถ้าเป็นร่องสวนควรยกร่องสูงกว่าระดับน้ำปกติ 80-100 เซนติเมตร การเตรียมหลุมปลูกส้มโอ ขุดหลุมลึก 20×20 เซนติเมตร ระยะห่างหลุมของการปลูกส้มโอควรเป็นระยะ 4×5 เมตร ต่อต้น และต่อระหว่างแถว 1 ไร่ ปลูกได้ 35 ต้น นำปุ๋ยหมักและดินดีผสมให้เข้ากันใส่ให้เต็มหลุมที่ขุดไว้ ขุดหลุมเล็กๆ พอมิดรากกิ่งตอน นำกิ่งตอนหรือต้นส้มโอที่ปลูกในถุงไว้แล้ววางกลางหลุมที่เตรียมไว้ ใช้ดินกลบ ปักไม้ผูกกับกิ่งส้มโอกันลมพัดกิ่งโยกทำให้รากขาดได้ แล้วให้น้ำทุกวันถ้าฝนไม่ตก หรือดูว่าดินชุ่มน้ำแต่ต้องไม่เปียกแฉะ จนกว่ากิ่งส้มโอที่ปลูกใหม่เริ่มแตกใบอ่อนและต้นแข็งแรงดีแล้ว รากเดิมเต็มแล้วก็ควรลดปริมาณการให้น้ำน้อยลงตามความเหมาะสม 5 วัน ต่อครั้งก็ได้
การดูแลสวนส้มโอ
ระยะแรก เริ่มใส่ปุ๋ยหมักผสมปุ๋ยยูเรียเล็กน้อย ปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัม ต่อปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม เมื่อกิ่งส้มโอเริ่มแตกใบอ่อนและให้น้ำทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยหมัก และให้น้ำทุก 7 วัน เมื่อครบ 1 ปี กล้วยน้ำว้าตกผลและเก็บผลได้ ปีที่ 1 ให้ตัดกล้วยออกกอเว้นกอหรือต้นเว้นต้น เพราะส้มโอต้องการแสงแดดมากขึ้น ตัดหญ้าทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน เพื่อล่อแมลงให้มาวางไข่บนใบหญ้าอ่อนแทนการไปวางไข่บนใบส้มอ่อน ก็จะมีกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก งู มากินแมลงเหล่านั้น เป็นการกำจัดแมลงไปด้วย
ปีที่ 2 ก็ต้องตัดต้นกล้วยออกต้นเว้นต้น เช่นเดียวกับปีแรก ใส่ปุ๋ยหมัก 2 เดือน ต่อครั้ง ครั้งละ 2 กิโลกรัมต่อต้นส้มโอ
ปีที่ 3 ส้มโอจะเริ่มออกดอกติดผล ให้ส้มโอติดผลได้ต้นละไม่เกิน 15 ผล ในปีแรกที่ออกผล ใส่ปุ๋ยหมักทุกๆ 2 เดือน ต่อครั้ง ครั้งละ 2 กิโลกรัม ต่อต้น รดน้ำทุก 7 วัน ต่อครั้ง และเริ่มปลูกต้นทองหลางข้างร่อง ร่องละ 3-5 ต้น ตัดหญ้าในสวนส้มโอทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน
ปีที่ 4 ส้มโอเริ่มติดดอกออกผลมากขึ้น ให้ส้มโอติดผลได้คราวละไม่เกิน 20 ผล ต่อต้น ใส่ปุ๋ยหมักทุกเดือน เดือนละ 2 กิโลกรัม ต่อต้น ตัดหญ้าทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน ตัดแต่งกิ่งหลังเก็บผลส้มโอ พร้อมตัดกาฝากก่อนเก็บผล 2 สัปดาห์ ควรหยุดการให้น้ำใส่ปุ๋ยทุก 7 วัน ต่อครั้ง และตัดต้นกล้วยออกให้หมด (ถ้าปลูกส้มโอเป็นไร่ไม่ยกร่อง ให้ปลูกต้นเพกาแทนต้นทองหลาง แถวละ 5-10 ต้น แถวห่าง 40 เมตร และควรปลูกกล้วยแซมระหว่างแถวส้มโอ แถวละ 5-10 กอ)
ปีที่ 5 ส้มโอเริ่มออกผลมากขึ้น ควรให้ส้มโอติดผลคราวละไม่เกิน 50 ผล ต่อต้น ใส่ปุ๋ยหมักทุกเดือน เดือนละ 3-5 กิโลกรัม ต่อต้น ใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูงก่อนเก็บผล 2 เดือน ใส่ทุกเดือน เดือนละ 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น ใส่บริเวณรอบทรงพุ่มส้มโอ ตัดหญ้าทุกครั้งที่ส้มโอแตกใบอ่อน ตัดแต่งกิ่งหรือเก็บเกี่ยวผลส้มโอ พร้อมตัดกาฝากทุกครั้ง ให้น้ำทุกๆ 7 วันครั้ง ถ้าต้นส้มโอมีผลผลิตและอากาศแห้งแล้งมาก ควรให้น้ำทุกๆ 3 วัน วันละครั้ง และหยุดให้น้ำวันที่ฝนตก
วิธีคิดเกี่ยวกับเกษตรธรรมชาติ การปรับปรุงดินโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ คือการใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพทุกเดือน เดือนละ 1-2 กำมือ ต่อ 1 ตารางเมตร และใช้น้ำหมักชีวภาพผสมกากน้ำตาลรดทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ย จะทำให้สภาพดินดีขึ้น วิธีสังเกตว่าดินดีอุดมสมบูรณ์ดูจากการที่มีเห็ดต่างๆ ขึ้นในสวนส้มโอ เหมือนธรรมชาติในป่าที่มีจุลินทรีย์ในดินมากเห็ดจะขึ้นได้ดี เพราะฉะนั้น เห็ดจะเป็นตัวชี้นำความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อย่างดี ดินดีปลูกพืชอะไรก็จะเจริญเติบโตดี ดินเหมือนบ้านของพืชทุกชนิด บ้านดีฉันใด คนอยู่ในบ้านก็มีความสุข และดินดีอุดมสมบูรณ์ พืชก็เจริญเติบโตดีฉันนั้น ปัญหาของดินก็คือ ปัญหาดินตาย ไม่มีจุลินทรีย์ธรรมชาติในดิน เพราะเกษตรกรใช้สารเคมีกันมากเกินไป
การกำจัดศัตรูพืช แบบเกษตรธรรมชาติ
จากสภาพปัญหาศัตรูของส้มโอ ข้อสังเกตส้มโอจะถูกแมลงศัตรูพืชทำลายมาก ในช่วงที่ส้มโอแตกใบอ่อน ช่วงนี้แมลงจะมาวางไข่บนใบอ่อนส้มโอ แล้วฟักตัวเป็นหนอนกัดกินใบอ่อนส้มโอ เช่น หนอนชอนใบ หนอนแก้วกินใบ เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติ โดยไว้หญ้าในสวนส้มโอให้ขึ้นรก และใช้เครื่องตัดหญ้าทุกครั้งที่ส้มโอจะแตกใบอ่อน คือการตัดหญ้าให้ใบอ่อนของหญ้าที่เราตัดแตกใบอ่อนพร้อมๆ กับใบอ่อนส้มโอ จะเห็นว่าเวลาแมลงท้องแก่มาวางไข่ แทนที่จะบินไปวางไข่บนใบอ่อนส้มโอ มันก็จะมาวางไข่ที่ใบหญ้าอ่อนแทน และในขณะเดียวกัน การทำสวนส้มโอที่ไม่ใช้สารเคมีก็จะมีสัตว์ชอบมาอาศัยอยู่ ได้แก่ กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก นก งู หนู และอื่นๆ ก็จะช่วยกินแมลงที่บินมาวางไข่บนใบหญ้าอ่อนที่เราตัดหญ้าไว้ จึงเป็นการกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ โดยใช้ระบบนิเวศในการกำจัดศัตรูพืชที่เราไม่ต้องใช้สารเคมีให้มาทำร้ายเกษตรกรเอง ทำร้ายผู้บริโภคอีกด้วย
ในการตัดหญ้าทุกครั้งให้รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเสริมจุลินทรีย์ในการช่วยสลายเศษพืชที่ตัด ให้กลายมาเป็นปุ๋ยบำรุงสวนส้มโอได้อีกด้วย ฉะนั้น ในการตัดหญ้าทุกครั้งเท่ากับเราได้ใส่ปุ๋ยทุกครั้ง และในการไว้หญ้าในสวนส้มโอให้รกก็ยังเป็นการคลุมดินให้เก็บความชื้นได้ดี เศษหญ้าที่ตัดก็จะช่วยคลุมดิน ทำให้จุลินทรีย์ในดินเจริญได้ดี ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์และพืชสามารถดูดธาตุอาหารไปสร้างความเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นการกำจัดศัตรูพืชแบบเกษตรกรรมธรรมชาติอีกวิธีหนึ่งคือ การเรียนรู้ระบบวงจร ชีวิตของแมลงศัตรูและการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน
วงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืช เริ่มต้นจากการเป็นผีเสื้อที่บินแล้วไปวางไข่บนใบพืช ต่อมาไข่ก็ฟักตัวออกเป็นหนอน กัดกินใบพืช ทำให้เกิดความเสียหายใบพืช เมื่อหนอนเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะปรับตัวเข้าไปเป็นดักแด้ ดักแด้จะสร้างเปลือกหุ้มตัวเองไว้และฝังตัวอยู่ในดิน และพัฒนาตัวกลายเป็นผีเสื้อในฤดูกาลต่อไป ในขณะที่แมลงศัตรูพืชอยู่ในรูปของดักแด้เปรียบเสมือนซากสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ในดิน
จุลินทรีย์ในดินทำหน้าที่อย่างไร จุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ในดินให้เน่าเปื่อย กลายเป็นฮิวมัสหรือปุ๋ย ให้พืชดูดไปสร้างความเจริญเติบโตต่อไป เพราะฉะนั้น เมื่อเราตัดหญ้าทุกครั้งให้พร้อมกับการแตกใบอ่อนของส้มโอ และรดน้ำหมักชีวภาพทุกครั้ง จุลินทรีย์ก็จะช่วยย่อยสลายเศษหญ้าและดักแด้ของแมลงศัตรูพืชที่ฝังตัวอยู่ในดินให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี และยังช่วยกำจัดศัตรูพืชไปพร้อมกันด้วย ชีวิตของดินก็กลับฟื้นชีพ ทำให้พืชผลเจริญงอกงามดี เกษตรกรเจ้าของสวนก็จะได้ลดต้นทุน ลดหนี้สิน แถมมีกำไร ทั้งกำไรชีวิตและกำไรที่เป็นเงินทอง ความร่ำรวย สุขภาพแข็งแรงดีอีกด้วย
วิธีการบังคับส้มโอติดดอกออกผลตลอดปี แบบเกษตรธรรมชาติ
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติก่อน คือสิ่งมีชีวิตทุกอย่างย่อมต้องการอาหารและน้ำเป็นสิ่งสำคัญ พืชผักผลไม้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะต้นส้มโอที่กำลังจะติดดอกออกผลย่อมต้องการอาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอในการบำรุงต้นและผลของส้มโอก่อนที่ส้มโอจะออกดอกติดผล การบำรุงรักษาต้นต้องมีการรดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ต้นส้มโอสมบูรณ์ แข็งแรงเต็มที่ เมื่อผลผลิตที่ได้ถ้าเปรียบกับคนก่อนตั้งท้องก็ต้องมีการบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ต้นส้มโอก็เช่นเดียวกัน
ก่อนที่จะออกดอกติดผลก็ควรมีการตัดแต่งกิ่ง ตัดกาฝาก เตรียมต้นให้พร้อมเสียก่อน และบำรุงต้นให้สมบูรณ์ ต้นส้มโอที่พร้อมที่จะให้ผลผลิตได้อายุตั้งแต่เริ่มปลูกถึงออกผลใช้เวลา 3 ปี และเมื่อส้มโอเริ่มออกผลปีแรกให้ออกดอกติดผลตามธรรมชาติไม่ต้องบังคับ วิธีการบังคับการออกดอกติดผลของส้มโอ สัญชาตญาณของต้นไม้ ถ้ารู้สึกว่ามันจะตายหรือมันถูกทรมาน มันก็จะเริ่มออกดอกติดผลทันที ซึ่งก็มีภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรหลายอย่างที่ทรมานให้พืชผลติดดอกออกผล เช่น ให้อดน้ำ ใช้มีดถากต้นให้เป็นแผล ใช้มีดควั่นกิ่ง ใช้ลวดรัดต้น ใช้ไม้ทุบต้น ความเชื่อเดิมของคนไทยเวลาเกิดจันทรุปราคา พระจันทร์มืดเกษตรกรจะใช้สากตำข้าวไปตำต้นขนุน มะม่วง เพื่อไล่ราหูอมจันทร์ แต่กลับทำให้ขนุน มะม่วงติดดอกดกดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อและประสบการณ์ของเกษตรกรมาช้านานแล้ว แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้ ซึ่งวิธีการนี้ก็ใช้ได้ผลดีถ้าต้นไม้ไม่ตายเสียก่อน
การบังคับส้มโอออกดอกติดผลจะใช้วิธีการงดการให้น้ำต้นส้มโอ ประมาณ 2 สัปดาห์ ในขณะที่ใบส้มโอแก่เต็มที่ เมื่อต้นส้มโอถูกงดการให้น้ำ ต้นส้มโอจะเริ่มเฉา มีใบห่อลง ดูสภาพต้นว่าเริ่มเหี่ยวเฉาเพราะไม่มีน้ำมาเลี้ยงต้น พอหลังจาก 2 สัปดาห์ เราเริ่มให้น้ำพร้อมปุ๋ยหมัก ผสมปุ๋ยเคมีสูตรตัวกลางสูง คือสูตร 15-30-15 (หรือฟอสฟอรัส) เพื่อกระตุ้นตาดอก แต่ถ้าไม่มีปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่หมักจากน้ำมะพร้าวแก่หรือน้ำหมักปลาทะเล รดพร้อมให้น้ำพอประมาณ โดยในวันแรกอย่าให้น้ำมากจนดินแฉะ ต้นส้มโออาจช็อกน้ำได้ วันที่ 2 ให้น้ำมากขึ้นแต่ไม่แฉะ วันที่ 3 ให้น้ำปกติ วันที่ 4 ถ้าดินยังชื้นอยู่ไม่ต้องให้น้ำ ไปให้วันที่ 5 หลังจากนั้นให้น้ำ 3 วันครั้ง ส้มโอจะเริ่มแทงตาดอก ประมาณ 1 สัปดาห์ พร้อมแตกใบอ่อนออกมาพร้อมกับสลัดใบทิ้งไปบ้าง คือมีใบร่วงบ้างเล็กน้อย
เมื่อดอกส้มโอติดเป็นผลอ่อน ก็บำรุงรักษาโดยการใส่ปุ๋ยหมักทุกเดือน ให้น้ำทุก 5-7 วันต่อครั้ง เมื่อส้มโอติดผลได้ 6 เดือน จะใส่ปุ๋ย หว่านโดยใช้ปุ๋ยหมักจากขี้แดดนาเกลือใส่ลงไป 15 วันต่อครั้ง ครั้งละ 3 กำมือต่อพื้นที่รอบต้น ส้มโอ 1 ตารางเมตร จนกระทั่งเก็บผลส้มโอระยะ 8 เดือน ตั้งแต่เริ่มออกดอก แต่ก่อนจะเก็บผลส้มโอ 2 สัปดาห์ ก็จะหยุดการให้น้ำเพื่อให้ต้นส้มโอสะสมอาหารในผล ให้รสชาติหวาน อร่อย เก็บผลส้มโอแล้วรับประทานได้เลย ในขณะที่งดการให้น้ำต้นส้มโอ 2 สัปดาห์นั้น นอกจากจะทำให้คุณภาพของผลส้มโอดีแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ส้มโอติดดอกออกผลในรุ่นต่อไปอีกด้วย จึงทำให้ต้นส้มโอมีผลส้มโอเก็บได้ตลอดปี
การตัดแต่งกิ่งส้มโอ
ในการดูแลรักษาต้นส้มโอในแต่ละปีหลังจากปลูกต้นส้มโอแล้ว 1 ปี ควรมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อกำหนดทรงพุ่มให้สวยงาม ไม่มีกิ่งเล็กกิ่งน้อย ควรเป็นกิ่ง 2 กิ่งใหญ่ หรือ 3 กิ่งใหญ่ ทำให้ทรงพุ่มแข็งแรง ส้มโอเจริญเติบโต ปีที่ 2 ก็ควรมีการตัดแต่งกิ่งแห้งที่เป็นโรคแมลงทิ้งไป และเมื่อส้มโอเข้าสู่ปีที่ 3 ส้มโอก็จะติดดอกออกผล การตัดกิ่งก็คงตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้สมดุลกัน และตัดกิ่งแห้ง กิ่งแก่ กิ่งที่มีกาฝากขึ้นทิ้งไป กิ่งที่เป็นโรค กิ่งกระโดงที่ทำให้ทรงพุ่มเสียดุลตัดทิ้งไป และมีข้อสังเกตซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นว่า กิ่งที่ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีคือ กิ่งที่แตกกระโดงขนานกับพื้นดิน หรือกิ่งที่แตกออกจากต้นแม่ทะแยง 45 องศา กับพื้นดิน กิ่งกระโดงที่ตั้งตรงจนถึงยอดจะไม่ค่อยติดผล หรือติดผลก็คุณภาพไม่ดี เปลือกหนา เป็นส้มเบา ไม่มีเนื้อ
วิธีการขยายพันธุ์ส้มโอ
เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ซึ่งการตอนกิ่งส้มโอก็ทำไม่ยาก แต่ก็มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการตอนกิ่งส้มโอเช่นกัน คือการตอนกิ่งส้มโอของเกษตรกร อุปกรณ์ มีขุยมะพร้าวแช่น้ำ 7-15 วัน ถุงพลาสติกหนา เชือกพลาสติก กะปิเคย (ฮอร์โมน) มีดควั่นกิ่งตอน วิธีตอนกิ่งส้มโอ ใช้มีดควั่นกิ่งส้มโอ โดยคัดเลือกกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่แตกใหม่ที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป กิ่งยาวไม่เกิน 2 ฟุต ควั่นกิ่งส้มโอบริเวณตรงข้อของกิ่งด้านบนและด้านล่างห่างกัน 1 นิ้ว (อย่าควั่นกิ่งคล้องข้อกิ่ง) เพราะจุดเจริญที่แตกรากจะอยู่บริเวณข้อตาของกิ่งส้มโอ ใช้มีดควั่นกิ่งเอาเปลือกกิ่ง รอยแผล 2 รอยออก แล้วใช้กะปิเคยแท้ทาบริเวณรอยควั่นกิ่งทิ้งไว้ 1 วัน
จากนั้นให้นำขุยมะพร้าวที่แช่น้ำแล้วใส่ถุงพลาสติกอัดให้แน่น ใช้เชือกพลาสติกผูกปากถุง และให้เหลือเชือกไว้มัดกับกิ่งส้มโอ ยาวข้างละ 2 นิ้ว และใช้มีดผ่าถึงขุยมะพร้าวที่อัดแน่นแล้วแหวกขุยมะพร้าวในถุง แล้วนำไปหุ้มกิ่งส้มโอที่ควั่นไว้ 1 วัน แล้วมัดให้แน่น ทิ้งไว้ประมาณ 50-60 วัน ส้มโอก็จะออกรากและรดน้ำที่กิ่งตอนจนรากส้มโอมีสีเหลืองและมีรากเต็ม จึงตัดกิ่งตอนนำไปปลูกได้ ควรตอนกิ่งในฤดูฝนจะทำให้ส้มโอออกรากได้ดีและไม่ต้องคอยรดน้ำ ไม่ควรตอนกิ่งส้มโอในฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงต้นไม้พักการเจริญเติบโตและอากาศแห้งแล้ง
งานเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอ
อายุนับตั้งแต่วันที่ออกดอกและดอกเริ่มบาน ให้นับไป 8 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถ้าได้มีการดูแลอย่างสม่ำเสมอ วิธีการสังเกตหรือดูว่าส้มโอแก่และเก็บผลได้ มีวิธีสังเกต 3 อย่าง คือ 1. สังเกตจากต่อมน้ำมันของผิวส้มโอ ต่อมน้ำมันของผิวส้มโอจะห่าง และสีผลมีสีเหลืองอ่อน 2. สังเกตจากการกดที่กั้นของผลส้มโอขาวใหญ่ ใช้นิ้วหัวแม่มือกดดูจะรู้สึกนิ่ม ก็บอกได้ว่าผลส้มโอแก่จัดเก็บผลได้แล้ว เนื่องจากส้มโอแก่จัดในของผลจะขยายออกเป็นโพรงเล็กๆ บริเวณก้นผลส้มโอ 3. สังเกตจากการนับอายุตั้งแต่ดอกส้มโอเริ่มดอกบานถึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อายุ 8 เดือน
ข้อควรระวังในการเก็บผลผลิต
เกษตรกรจะไม่เก็บผลผลิตครั้งเดียวหมดต้นหรือเก็บผลในวันเดียวหมดต้น จะทำให้ต้นส้มโอขาดสมดุล การส่งน้ำและอาหารของส้มโอได้ และอาจทำให้ส้มโอเกิดอาการช็อก ต้นส้มโอจะเหี่ยวเฉา และต้นส้มโออาจตายได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาเก็บเกี่ยวผลส้มโอไม่ควรเก็บผลส้มโอครั้งเดียวหมดต้น ต้องค่อยๆ เก็บและเหลือผลส้มโอไว้บนต้นอย่างน้อย 5-10 ผล สุดท้ายจึงเก็บได้หมดต้น การเก็บส้มโอรับประทานส่วนใหญ่แล้วชาวสวนส้มโอจะเก็บไว้ 1-2 วัน จะทำให้ส้มโอรสชาติหวาน ที่เขาเรียกว่าเก็บให้ส้มโอลืมต้นเสียก่อน เพื่อผลส้มโอจะได้สะสมอาหารได้เต็มที่ ทำให้รสชาติหวานขึ้น
การดูแลสวนส้มโอขาวใหญ่ หลังการเก็บเกี่ยว
หลังจากที่ได้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอแล้ว ก็ควรมีการตัดแต่งกิ่งส้มโอออกเสียบ้าง หรือบางครั้งชาวสวนส้มโอเรียกว่า “การทำสาว” คือการคืนสภาพแข็งแรงให้กับต้นส้มโออีกครั้ง โดยการตัดแต่งกิ่งแก่ กิ่งกระโดง กิ่งแห้งออก แล้วให้ส้มโอแตกกิ่งใหม่มาแทนกิ่งที่แตกใบใหม่ จะมีท่อน้ำ ท่ออาหารใหม่ ทำให้การส่งน้ำและอาหารเลี้ยงต้นได้ การเจริญเติบโตของต้นส้มโอก็จะแตกใบใหม่ ปรุงอาหารได้ดีขึ้น ทำให้ต้นส้มโอมีสภาพแข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมที่จะออกดอกติดผลในฤดูต่อไปได้อย่างดี และควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักทุกเดือน รดน้ำบำรุงดินทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมตัดกิ่งที่มีกาฝากออกและเมื่อส้มโอแตกใบอ่อนก็อย่าลืมตัดหญ้าคลุมดินและให้หญ้าแตกใบอ่อนล่อแมลงมาวางไข่ ก็จะถูกศัตรูธรรมชาติกำจัดแมลงเหล่านั้นแทนเราได้อีกด้วย
ส้มโอหรือพืชตระกูลส้มมีความได้เปรียบพืชอื่นข้อหนึ่งคือ สามารถรอการเก็บเกี่ยว หรือเก็บเกี่ยวแล้วรอการจำหน่ายได้เป็นเวลานาน แต่ศัตรูสำคัญคือแมลงวันทอง ซึ่งสามารถใช้การล่อมาทำลายด้วยกับดักสารล่อได้แต่ควรติดกับดักบริเวณรอบสวน ไม่ควรล่อให้เข้ามาในสวน เพราะหากล่อไว้รอบสวนแมลงวันทองจะเจอกับดักก่อน แต่หากล่อในสวนหรือในทรงพุ่มส้มโอแมลงวันจะเจอผลส้มโอก่อนและเจาะเข้าทำลายได้โดยไม่ได้เข้าไปในกับดักสารที่ติดตั้งไว้ สนใจศึกษาเรียนรู้หรือทดลองชิมรสชาติส้มโอขาวพวง เชิญได้ที่สวนคุณลุงแสงจาย อุ่นตาล ที่บ้านทุ่งมอก อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ได้เลย
ถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงม่วน โทร. 054-495-096
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2564